โดย: Candyx

รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014

เจาะลึกดูแลอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของน้องหมาที่มักเกิดปัญหา

9 ธันวาคม 2557 · · อ่าน (11,038)
682

SHARES


682 shares

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014

 
     ในช่วงปีที่ผ่านมา เหล่าคนรักน้องหมาได้หันมาให้ความสนใจกับเรื่องของสุขภาพและการดูแลน้องหมากันมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการที่เพื่อน ๆ คนรักน้องหมาได้เข้ามาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องปัญหาสุขภาพและวิธีการดูแลน้องหมาที่ถูกต้องกันเป็นจำนวนมาก ทั้งในเว็บไซด์ Dogilike.com และทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ Dogilike โดยผู้เลี้ยงทุกคนต่างก็มีความหวัง อยากให้น้องหมาของตัวเองมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง

      ... เทคนิคการเลี้ยงการดูแล วันนี้ ปังปอนด์ก็เลยรวบรวม สุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดีในปี 2014 ที่นอกเหนือจากการดูแลน้องหมาขั้นพื้นฐานที่ผู้เลี้ยงดูแลน้องหมากันอยู่เป็นประจำ ได้แก่ การดูแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการตรวจสุขภาพประจำปี แต่มาเน้นการเจาะลึกดูแลอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของน้องหมาที่มักเกิดปัญหาและทำให้น้องหมาเจ็บป่วยมาฝากเพื่อน ๆ คนรักน้องหมาไว้นำไปดูแลน้องหมาให้มีสุขภาพดีกันค่ะ จะมีอะไรบ้างเราไปดูกันเลย

 

การดูแลข้อศอกด้านในน้องหมา

 

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014


     สำหรับคนรักสุนัขแล้ว เชื่อว่าใคร  ๆ ต่างก็อยากให้น้องหมาของตัวเองมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงทั้งจากภายในและภายนอก โดยเฉพาะกับน้องหมาพันธุ์ขนสั้นที่นิยมเลี้ยงในเมืองไทยที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี ซึ่งน้องหมาเหล่านี้มักจะพบปัญหาเรื่อง “ข้อศอกดำและด้าน” ทำให้น้องหมาหมดความน่ารักและหมดสง่าราศีลงไป ... ปัญหาข้อศอกดำและด้านในน้องหมาขนสั้น ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิตของน้องหมา แต่ก็ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่กวนใจคนรักน้องหมาที่อยากให้น้องหมามีรูปร่าง และลักษณะภายนอกที่ดูสวยงามค่ะ

     สาเหตุการเกิดข้อศอกด้านในน้องหมามักเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ลักษณะการเลี้ยงของผู้เลี้ยง ลักษณะที่อยู่อาศัย น้ำหนักตัวของน้องหมา พฤติกรรมการใช้ชีวิตของน้องหมา  ฯ โดยส่วนมากแล้วน้องหมาที่พบปัญหาข้อศอกด้านจะเป็นน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่และมีขนสั้น เช่น โดเบอร์แมน , ร็อตไวเลอร์ , เกรทเดน , ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ ฯ และในน้องหมาที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักส่วนเกิน เนื่องจากน้องหมาขนสั้นจะมีโอกาสที่ผิวหนังและขนที่สั้นของน้องหมาจะเสียดสีกับพื้นได้ง่าย เมื่อนอนบนพื้นที่มีลักษณะหยาบและแข็ง เช่น พื้นปูนซีเมนต์ พื้นกระเบื้อง พื้นไม้ หรือพื้นดินขระขรุ  ฯ น้ำหนักตัวของน้องหมาก็จะกดทับทำให้ผิวหนังระคายเคืองและทำให้เกิดรอยด้านขึ้นบริเวณส่วนข้อขาที่มีกระดูดนูนออกมา โดยเฉพาะบริเวณข้อศอกของน้องหมาค่ะ (ในสุนัขสายพันธุ์ขนยาวก็สามารถเกิดปัญหาข้อศอกด้านได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่าน้องหมาขนสั้น เพราะขนที่ยาวของน้องหมาจะที่ทำหน้าที่ป้องกันและช่วยลดการเสียดสี แรงกดทับได้ดีกว่าน้องหมาขนสั้นนั่นเองค่ะ)
 

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014

 
     ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้องหมามีข้อศอกดำ หยาบด้าน หมดความน่ารักลงไป ผู้เลี้ยงจึงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพของน้องหมารวมถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยเริ่มจาก จัดพื้นที่โล่งโปร่งให้น้องหมาพร้อมกับหาเบาะนอนที่มีความหนาและนุ่มให้น้องหมาแทนการนอนบนพื้นกระเบื้องที่มีความแข็ง ควบคุมน้ำหนักน้องหมาให้สมส่วนได้มาตราฐานตามสายพันธุ์ ให้อาหารที่มีส่วนผสมช่วยบำรุงผิวหนังและเส้นขนของน้องหมา เช่น กรดไขมันโอเมก้า , อโวคาโด ออยล์ , DHA ที่จะช่วยบำรุงผิวหนังชุ่มชื้น ลดการหลุดร่วงของขน ทำให้ขนเงางามนุ่มสลวยมากยิ่งขึ้น และอาจหาวาสลีนหรือครีมบำรุงสำหรับข้อศอกน้องหมาที่มีส่วนผสมของเชียบัตเตอร์ น้ำมันมะกอก เมล็ดโกโก้ น้ำมันมะพร้าว ฯ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม ไม่เป็นหยาบแห้ง ป้องกันการเกิดรอยด้านในน้องหมาค่ะ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ ข้อศอกด้าน ปัญหากวนใจที่มักพบในน้องหมาขนสั้น)
 

การดูแลเล็บและนิ้วติ่ง

 

 

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014

 
     เรื่องเล็บของน้องหมาไม่ใช่เรื่องเล็ก !! ... เล็บของน้องหมาถือเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มักไม่ค่อยสนใจดูแลเพราะคิดว่า เล็บเป็นอวัยวะที่ไม่ค่อยเกิดปัญหาต่อสุขภาพของน้องหมา แต่รู้ไหมคะว่า การที่เราละเลยการดูแลสุขภาพเล็บ อาจทำให้น้องหมาเจ็บป่วยและเป็นโรคต่าง ๆ ในระยะยาวได้ เพราะในทุกวันน้องหมาจะสัมผัสกับพื้นดิน พื้นหญ้าโดยตรง ทำให้ส่วนอุ้งเท้า เล็บ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้องหมาที่มีนิ้วติ่งหรือนิ้วโป้งที่เกินออกมา อาจเกิดการกระแทกในขณะวิ่งเล่น ทำให้เล็บฉีดขาดเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ ...

     ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงควรให้ความสำคัญกับเล็บและนิ้วติ่งของน้องหมาอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องหมั่นทำความสะอาดบริเวณอุ้งเท้า ดูแลตัดเล็บให้น้องหมาเป็นประจำ ทั้งเล็บที่งอกยาวออกมาจากนิ้วเท้าปกติและเล็บที่งอกออกมาจากนิ้วติ่ง เพราะหากผู้เลี้ยงละเลยการตัดเล็บ หรือลืมตัดเล็บที่งอกออกมาจากนิ้วติ่งเป็นเวลานาน เล็บก็จะยาวงอกม้วนทิ่มเข้าเนื้อน้องหมา ซึ่งจะทำให้น้องหมาเจ็บปวด เกิดการอักเสบและอาจเกิดการติดเชื้อ ซึ่งบางรายอาจจะถูกตัดนิ้วทิ้งไปเลยก็ได้ค่ะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ วิธีตัดขนอุ้งเท้าและเล็บเท้าน้องหมาที่ถูกต้องด้วยตัวเอง [Clip] )
 

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014

 
     สำหรับการดูแลนิ้วติ่งหรือนิ้วโป้งของน้องหมา แนะนำว่า หากผู้เลี้ยงมีลูกหมาเกิดใหม่ที่มีนิ้วติ่งและตั้งใจว่า จะส่งประกวดในเวทีการประกวดต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมให้ขาของน้องหมาดูเรียว ตรง สวยงามขึ้น หรือไม่อยากให้น้องหมาเกิดปัญหานิ้วติ่งอักเสบในอนาคต ก็ควรพาน้องหมาแรกเกิดที่มีอายุ 48-72 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 7 วัน ไปตัดนิ้วติ่งกับสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า หากน้องหมาไม่มีนิ้วติ่งนี้ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติ โดยไม่เป็นอุปสรรคหรือมีผลข้างเคียง และยังช่วยป้องกันไม่ให้นิ้วของน้องหมาที่โตขึ้น ซึ่งอาจถูกกระแทกจนเกิดการอักเสบได้ง่ายอีกด้วยค่ะ

     ข้อดีของการตัดนิ้วติ่งให้น้องหมาตั้งแต่แรกเกิดคือ น้องหมาที่มีอายุไม่เกิน 7 วัน จะไม่ค่อยเจ็บ เลือดออกน้อย ได้นอนพักทำให้แผลหายไว และอันตรายน้อยกว่าน้องหมาโตเต็มวัย ที่ผู้เลี้ยงไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเมื่อผ่าตัดแล้วน้องหมาอาจจะวิ่งซนไปกระแทกสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจทำให้แผลที่ถูกเย็บอยู่เกิดการอักเสบได้ (อ่านเพิ่มข้อมูลเติมในบทความ นิ้วติ่งสุนัข ... อวัยวะที่ต้องการการดูแล)
 

ชมคลิปวิธีการตัดนิ้วติ่งในลูกสุนัข

 




การดูแลต่อมเหม็นข้างก้น

 

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014


     น้องหมาของผู้เลี้ยงเคยมีพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น เอาก้นไถไปกับพื้นเหมือนพยายามเช็ดก้น เลียก้นตัวเองบ่อยผิดปกติ มีของเหลวหรือเมือกกลิ่นเหม็นไหลออกจากก้น หรือน้องหมาไม่ถ่ายอุจจาระหรือเปล่าคะ? ... หลาย ๆ ครั้งผู้เลี้ยงก็มักจะมองข้ามพฤติกรรมบางอย่างของน้องหมาไปและเห็นเป็นเรื่องขำขันเมื่อเห็นน้องหมานั่งเอาก้นถูไปกับพื้น แต่รู้ไหมคะว่า พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้คืออาการเริ่มแรกของความผิดปกติของต่อมเหม็นข้างก้นที่เริ่มเกิดการอุดตัน ซึ่งเจ้าต่อมเหม็นข้างก้นของน้องหมานี้จะมีรูปร่างรีเป็นถุง 2 ข้าง ในตำแหน่ง 9 นาฬิกาและ 3 นาฬิกา อยู่บริเวณใต้ผิวหนังข้างรูทวารหนักที่ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ ...

     สำหรับต่อมก้นของน้องหมาจะมีหน้าที่เก็บของเหลวที่มีลักษณะเหนียวข้น สีเหลืออ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้มออกดำ และมีกลิ่นเหม็นคาวฉุนเอาไว้ เมื่อน้องหมาเกิดความกลัว ตกใจหรือต้องเผชิญหน้ากับอันตรายต่าง ๆ ต่อมก้นก็จะทำงานโดยขับของเหลวที่อยู่ภายในออกมา แต่ในน้องหมาบ้านที่ถูกเลี้ยงให้อาศัยอยู่ภายในบ้านที่สงบ ปลอดภัย ไม่ค่อยอยู่ในภาวะกดดัน หรือเจอเหตุการณ์ตื่นเต้น ก็จะไม่สามารถขับของเหลวที่อยู่ในต่อมเหม็นนี้ออกมาได้ ทำให้เกิดการสะสมของของเหลวมากเกินไป  (Anal Sac Impaction) จึงอาจทำให้เกิดการอุดตัน ส่งกลิ่นเหม็น และอาจเกิดการอักเสบที่ต่อมก้น  (Anal Sacabscess) หรืออาจทำให้เกิดฝี และถ้าหากเป็นมาก ๆ ฝีก็อาจแตกออกเป็นแผลข้างก้นได้ค่ะ
 

 Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014


   ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องหมั่นสังเกตก้นของน้องหมาอยู่เสมอ เมื่อเห็นน้องหมาเริ่มเอาก้นถูไถกับพื้น ผู้เลี้ยงก็สามารถช่วยเอาของเหลวที่อุดตันอยู่ภายในออกมาได้โดยการบีบต่อมก้นให้น้องหมาอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของต่อมก้นไม่ให้เกิดการอักเสบ ส่วนในผู้เลี้ยงพาน้องหมาไปเข้ารับบริการอาบน้ำตัดขนในร้านกรูมมิ่ง ส่วนมากก็มักจะมีบริการบีบต่อมก้นให้กับน้องหมา ซึ่งถ้าบีบด้วยแรงที่เหมาะสมและถูกตำแหน่งก็มักจะไม่มีไม่มีปัญหาอะไร  แต่ถ้าบีบโดยใช้แรงมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบตามมาได้ค่ะ (อ่านเพิ่มเติม เทคนิคง่าย ๆ กับการบีบต่อมก้นให้สุนัข)

     แต่ในกรณีที่ต่อมก้นของน้องหมามีเมือกหรือของเหลวออกมามากผิดปกติ เกิดการอักเสบ หรือเป็นฝีจนแตก แนะนำให้พาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที โดยสัตวแพทย์อาจจะทำการบีบเอาของเหลว หนอง เลือดที่อยู่ภายในต่อมข้างก้นออกมา ในกรณีมีการติดเชื้อ อักเสบเป็นหนอง อาจควบคุมการติดเชื้อด้วยยาปฏิชีวนะที่สามารถออกฤทธิ์เข้าไปในต่อมข้างก้น เช่น Vibravet , Marbocyl , Marbocyl , Marbocyl โดยสัตวแพทย์จะให้ยาตามน้ำหนักตัวของน้องหมา พร้อมกับให้กลุ่มยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบ ยาลดบวม แต่ในรายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการให้ยา  สัตวแพทย์อาจจะพิจารณาการผ่าตัดเอาต่อมข้างก้นออก  โดยจากการศึกษาพบว่า หากน้องหมาถูกผ่าตัดเอาต่อมก้นออกไป น้องหมาก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ โดยไม่มีอุปสรรคในอนาคตค่ะ  
 

ชมคลิป

 



การดูแลรอยย่นในน้องหมาขนสั้น

 

 

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014

 
      ในน้องหมาสายพันธุ์ขนสั้นและมีลักษณะผิวหนังยับย่น เช่น ปั๊ก ชาเป่ย อิงลิชบูลด็อก เฟรนช์บูลด็อก บ็อกเซอร์ ฯลฯ มักจะพบปัญหาเรื่องโรคผิวหนังได้ง่ายกว่าน้องหมาที่มีลักษณะผิวหนังเรียบ เนื่องจากน้องหมาสายพันธุ์เหล่านี้จะมีร่องของรอยย่นที่มีความลึก เมื่อไม่ได้รับการดูแลผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ ผิวหนังของน้องหมาก็จะกลายเป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรกต่าง ๆ เกิดความอับชื้น ทำให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อยีสต์เกิดการเจริญเติบโตจนพัฒนากลายเป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เป็นหนอง รวมถึงเกิดการเสียดสีกันเองของผิวหนังบริเวณรอยพับย่นในน้องหมาก็เป็นอีก หนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณผิวหนังได้เช่นกันค่ะ

     โดยตำแหน่งที่มักพบปัญหาผิวหนังอักเสบในน้องหมาขนสั้นที่ผิวมีลักษณะยับย่น ได้แก่ รอยย่นบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก คอ หาง บริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศของสุนัขเพศเมีย และยังพบปัญหาผิวหนังอักเสบในน้องหมาที่มีลักษณะหางม้วน น้องหมาอ้วน ซึ่งในน้องหมาที่มีปัญหาผิวหนังอักเสบ ผู้เลี้ยงจะสามารถสังเกตุได้ง่าย ๆ โดยน้องหมาจะแสดงอาการคัน พยายามเกาบริเวณที่เป็น ขนร่วง ผิวหนังแดง เปียกชื้น มันเยิ้ม แฉะ และมีกลิ่นเหม็น ฯ
 

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014


     ดังนั้น ผู้เลี้ยงที่เลี้ยงน้องหมาที่มีผิวหนังยับย่นก็จำเป็นต้องดูแลผิวหนัง รอยย่นของน้องหมามากเป็นพิเศษ โดยผู้เลี้ยงควรตรวจเช็คผิวหนังของน้องหมาเป็นประจำ เน้นดูตามอวัยวะจุดสำคัญ ๆ ที่มักเกิดปัญหาผิวหนังอับเสบได้ง่ายว่า มีผื่น รอยแดง มีหนอง หรือน้องหมาเกาผิวหนังตามจุดเสี่ยงเป็นโรคผิวหนังอักเสบหรือไม่ หากผู้เลี้ยงพบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นบนผิวหนังของน้องหมา แนะนำให้ผู้เลี้ยงพาน้องหมาไปตรวจและขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ทันที เพราะปัญหาผิวหนังของน้องหมาที่มีรอยย่นมักจะลุกลามได้ง่าย รวดเร็ว และมักจะใช้เวลาในการรักษานานกว่ากว่าน้องหมาทั่วไปที่มีผิวหนังเรียบเนียนค่ะ

     นอกจากนี้ผู้เลี้ยงก็ควรดูแลความสะอาดน้องหมาเป็นประจำ โดยใช้แชมพูสูตรอ่อนโยนที่ผ่านการรับรอง ปราศจาคสารระคายเคือง และอ่อนโยนกับผิวหนังบริเวณใบหน้าและดวงตาของน้องหมาอาบน้ำให้กับน้องหมา หลังอาบน้ำทุกครั้งก็ควรเช็ดขน เป่าไดร์จนขนน้องหมาแห้งสนิทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอับชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหากลิ่นตัวแรงและโรคผิวหนังค่ะ

     รวมถึงผู้เลี้ยงจะต้องให้อาหารที่มีประโยชน์ที่มีคุณภาพสูงกับน้องหมา (ไม่แนะนำให้ผู้เลี้ยงให้อาหารคนหรือขนมแก่น้องหมา เพราะอาหารคนและขนมมักจะมีพลังงานที่มากเกินความต้องการในแต่ละวันของน้อง หมา ทำให้เกิดการสะสมเป็นไขมันส่วนเกิน) หมั่นพาน้องหมาออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักของน้องหมาขนสั้นที่มีลักษณะผิวหนังพับย่น ให้ได้อยู่ในเกณฑ์ตามมาตราฐานของสายพันธุ์น้องหมาอยู่เสมอ เพราะหากเราไม่ควบคุมน้ำหนักให้น้องหมาหรือปล่อยให้น้องหมามีภาวะน้ำหนัก เกินหรืออ้วนเกินกว่ามาตราฐานของสายพันธุ์ ผิวหนังของน้องหมาจะเกิดรอยพับเพิ่มขึ้นจากปกติ ทำให้ผิวหนังเบียดเสียดสีกัน และก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบตามมาได้ รวมถึงการที่น้องหมามีน้ำหนักมากเกินไป ยังจะส่งผลให้ข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้น้องหมาเสี่ยงเป็นโรคข้อเสื่อมได้เร็วกว่าปกติได้ค่ะ (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ 5 วิธีดูแลรอยย่นของน้องหมาขนสั้น ให้ห่างไกลโรคผิวหนัง )

 

Dogilike.com :: รวมสุดยอดเทคนิคการดูแลสุนัขให้สุขภาพดี ประจำปี 2014


     หากผู้เลี้ยงต้องการให้น้องหมามีสุขภาพที่ดีตลอดปี ... นอกจากที่ผู้เลี้ยงจะดูแลน้องหมาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การดูแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว ผู้เลี้ยงยังต้องเจาะลึกดูแลสุขภาพของน้องหมาแต่ละตัวว่า น้องหมาของผู้เลี้ยงต้องการดูแลอวัยวะส่วนไหนเป็นพิเศษ เพื่อน้องหมาจะได้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงกันยังไงล่ะคะ ^_^

 

บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/

ภาพประกอบ :
http://weezyschannel.hubpages.com/hub/Calluses-On-Large-Dogs-Elbows-How-To-Treat
http://www.thelabradorsite.com/dog-beds-and-blankets/
https://borderlinegirlliveshere.wordpress.com/2012/08/17/dogs-ass/
http://www.aplacetolovedogs.com/tag/bulldogs/page/18/
https://www.flickr.com/photos/40765798@N00/2949360818