โดย: Candyx

เปิดความลับ! 4 เทคนิคเลี้ยงน้องหมาอย่างไรให้ซื่อสัตย์ นิสัยดี

เพราะน้องหมาเป็นมากกว่า เพื่อนที่ดีที่สุด ...

28 มิถุนายน 2559 · · อ่าน (35,148)
2,271

SHARES


2,271 shares

Dogilike.com :: เปิดความลับ! 4 เทคนิคเลี้ยงน้องหมาอย่างไรให้ซื่อสัตย์ นิสัยดี


     อย่างที่บอกไปในบทความตอนที่แล้วว่า ในปัจจุบันคนรักสัตว์ไม่ได้เห็นน้องหมาเป็นแค่สัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าบ้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เลี้ยงน้องหมาเหมือนลูก เหมือนพี่น้อง เป็นสมาชิกคนสำคัญในครอบครัว  … และแน่นอนค่ะว่า ถ้าหากเราตัดสินใจรับน้องหมาสักตัวหนึ่งมาอยู่ในบ้านเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราแล้ว เพื่อน ๆ ทุกคนก็คงอยากให้น้องหมาตัวนั้นมีนิสัยดี ซื่อสัตย์ เป็นที่รักของทุกคน และคงไม่มีใครอยากให้น้องหมาของตัวเองมีนิสัยดื้อ ซน ก้าวร้าว เข้ากับสังคมไม่ได้ และมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาทำให้เราและคนรอบข้างหนักใจ

     เทคนิคการเลี้ยงการดูแล ในวันนี้ ปังปอนด์ก็เลยจะมาเผยความลับดี ๆ ในการเลี้ยงน้องหมากับ 4 เทคนิคง่าย ๆ ที่ทำแล้ว น้องหมาของเพื่อน ๆ จะมีนิสัยดี น่ารัก และเป็นที่รักของทุก ๆ คนเลยค่ะ จะมีเทคนิคอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย ....


ใส่ใจ ให้เวลาและความรักไม่ขาด

 

Dogilike.com :: เปิดความลับ! 4 เทคนิคเลี้ยงน้องหมาอย่างไรให้ซื่อสัตย์ นิสัยดี

     สำหรับการเลี้ยงน้องหมา นอกจากที่เราจำเป็นจะต้องมีความพร้อมในเรื่องการดูแลน้องหมาในทุก ๆ ด้านแล้ว ยังมีอีก 3 สิ่งสำคัญที่จะจำเป็นที่เราจะต้องมอบให้น้องหมาก็คือ การให้ความรัก ให้เวลา และความใส่ใจค่ะ เพราะทั้ง 3 สิ่งนี้เป็นถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันดับต้น ๆ ที่น้องหมาต้องการจากเจ้าของ โดยเฉพาะในลูกหมาและน้องหมาที่มักถูกปล่อยให้อยู่บ้านเพียงลำพังบ่อย ๆ เพราะน้องหมาเหล่านี้ หากไม่ได้รับการดูแลใกล้ชิด ก็อาจทำให้เค้ารู้สึกโดดเดี่ยว ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ อาจจะส่งผลให้น้องหมาเหงา เกิดความเครียด และอาจส่งผลให้น้องหมาเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว กัดข้าวของเพื่อเรียกร้องความสนใจก็เป็นได้ค่ะ

     ถ้าถามว่า เราจะให้ความรัก ให้เวลา และความใส่ใจกับน้องหมาได้อย่างไร? ตอบได้ง่าย ๆ เลยค่ะ เพียงแค่เราต้องเคลียร์ตัวเอง แบ่งเวลาจากการทำงาน หรือการเรียนมาจัดสรรเวลา ให้ความรัก ให้ความใส่ใจกับน้องหมา อาจจะเลือกช่วงเช้าก่อนไปเรียน ไปทำงาน หรือช่วงหลังกลับจากเรียน กลับจากทำงานมานั่งเล่น ลูบตัว กอด ชวนน้องหมาคุย หรือเอาแปรงขนมาหวีขน ตัดเล็บ เช็ดคราบน้ำตา ทำแบบนี้ทุก ๆ วัน วันละ 1-2 ชั่วโมง ก็จะทำให้เจ้าของกับน้องหมาได้ใกล้ชิดกัน เชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้มากขึ้น

     เวลาที่ผู้เลี้ยงได้สัมผัสตัวน้องหมา ก็จะช่วยให้ผู้เลี้ยงได้มีเวลาสังเกตว่า น้องหมามีสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง มีความผิดปกติของร่างกายตรงจุดไหนหรือเปล่า ซึ่งก็เหมือนเป็นการตรวจเช็คสุขภาพน้องหมาแบบคร่าว ๆ นั่นเองค่ะ และการใช้มือสัมผัสตัวน้องหมาก็จะช่วยให้น้องหมารู้สึกผ่อนคลาย จิตใจสงบ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ ทำให้น้องหมามั่นใจ อุ่นใจที่มีเราอยู่ข้าง ๆ อีกด้วยค่ะ
 


อารมณ์ดี สุขภาพจิตก็ดีตาม
 

Dogilike.com :: เปิดความลับ! 4 เทคนิคเลี้ยงน้องหมาอย่างไรให้ซื่อสัตย์ นิสัยดี

     หากเราสังเกตกันดี ๆ จะพบว่า น้องหมาที่มีนิสัยดี น่ารัก เชื่อฟังคำสั่ง เป็นมิตรกับทั้งคนและสัตว์ชนิดอื่น ๆ มักจะเป็นน้องหมาที่มีอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดีทั้งสิ้นค่ะ ... ซึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้น้องหมามีอารมณ์ดี สุขภาพจิตดี ไม่ก้าวร้าวนั้น สิ่งสำคัญคืออยู่ที่วิธีการเลี้ยงผู้เลี้ยงค่ะ โดยเราจะต้องเลี้ยงน้องหมาอย่างเข้าใจ ไม่ฝืนสัญชาตญาณธรรมชาติของพวกเค้าค่ะ

     ก่อนอื่นเราต้องสังเกตตัวเองก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังยัดเยียดสิ่งต่าง ๆ ที่ฝืนธรรมชาติให้กับน้องหมาอยู่หรือเปล่า? เช่น จำกัดการเรียนรู้ของน้องหมาด้วยการจับเค้าใส่รถเข็น เป้อุ้มสำหรับสุนัข จับแต่งตัวด้วยชุดแฟนซี ใส่รองเท้าซึ่งทำให้น้องหมาเกิดความเครียด รำคาญ เพราะต้องก้าวเดินแบบผิดธรรมชาติ หรือกักขังให้อยู่ในกรงตลอดเวลา ลงโทษน้องหมาด้วยการทุบตี ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวนี้อาจมักจะส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของน้องหมาให้กลายเป็นน้องหมาขี้กลัว ขี้หงุดหงิด ก้าวร้าวได้นั่นเองค่ะ  (อ่านเพิ่มเติม รู้ยัง! เทรนด์เลี้ยงน้องหมา Back To The Basic กลับมาฮิตแล้วนะ)

     ซึ่งวิธีที่จะทำให้น้องหมามีอารมณ์ดี สุขภาพจิตดีได้นั้น ต้องเริ่มจากการที่เพื่อน ๆ ต้องมีสุขภาพจิตใจที่ดีก่อนแล้วค่อยส่งมอบความรัก ส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับน้องหมา ศึกษานิสัยส่วนตัวของน้องหมาว่า น้องหมาของเราชอบหรือไม่ชอบอะไร รวมถึงเราจะต้องให้ความเป็นอิสระกับน้องหมา ให้น้องหมาได้เล่น ผ่อนคลาย หรืออาจชวนน้องหมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อาบน้ำ ตัดขน ตัดเล็บ พาน้องหมาไปออกกำลังกายปลอดปล่อยพลังงาน วิ่งเล่นในสวนสาธารณะ พบปะสุนัขตัวอื่น ๆ เพื่อเรียนรู้การเข้าสังคม … การทำแบบนี้จะช่วยให้น้องหมารู้สึกไม่อึดอัด ได้เป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นคงทางอารมณ์ และแน่นอนว่า น้องหมาจะมีอารณ์ที่ดี สุขภาพจิตดีอย่างแน่นอนค่ะ



ฝึกทักษะด้วยกฏการเสริมแรงทางบวก

 

Dogilike.com :: เปิดความลับ! 4 เทคนิคเลี้ยงน้องหมาอย่างไรให้ซื่อสัตย์ นิสัยดี

     หากจะฝึกทักษะและระเบียบต่าง ๆ ให้กับน้องหมา เพื่อน ๆ ใช้วิธีในการฝึกกันยังไงบ้างคะ? ... หลายคนอาจจะเลือกใช้วิธีดุ ตี เพื่อให้น้องหมาทำตามคำสั่งหรือทำในสิ่งที่เราต้องการ แต่รู้หรือไม่คะว่า การใช้วิธีการฝึกแบบนี้จะทำให้น้องหมาหวาดกลัว รู้สึกไม่มั่นคง เกิดความเครียด สุขภาพจิตย่ำแย่ และอาจมีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดขึ้นในอนาคตได้

     เพื่อเป็นการฝึกทักษะอย่างได้ผลและไม่ทำเกิดความเครียดที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของน้องหมา แนะนำว่า ผู้เลี้ยงควรฝึกน้องหมาโดยใช้วิธีที่สร้างความรู้สึกดีให้แก่น้องหมาในช่วงเวลาฝึกทักษะ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า การใช้กฏการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) มาใช้ฝึกน้องหมา โดย วิคตอเรีย สติลเวลล์ (Victoria Stilwell) ผู้ฝึกและแก้ปัญหาพฤติกรรมสุนัขจากประเทศอังกฤษ ก็ได้ใช้กฏการเสริมแรงทางบวกในการฝึกและแก้ปัญหาพฤติกรรมไม่ดีของน้องหมาเช่นกัน โดยวิธีการฝึกของเธอจะไม่ดุ ฝึกวินัยอย่างเข้มงวด หรือใช้ความรุนแรงในทุกกรณี แต่จะเพิ่มพลังทางบวกคอยเสริมแรงจูงใจให้น้องหมาทำตามคำสั่ง ตามกฏระเบียบแทนค่ะ

     โดยใช้การเสริมแรงทางบวกนี้ เพื่อน ๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ยาก เพียงแค่เพื่อน ๆ ใช้ความอ่อนโยน ความอดทน และความใจเย็นเข้ามาเป็นตัวช่วยในการฝึกทักษะต่าง ๆ ให้กับน้องหมา โดยอาจนำขนม ของเล่นสุดโปรดของน้องหมามาล่อเพื่อให้น้องหมาทำตามคำสั่ง เมื่อน้องหมาทำตามคำสั่งก็ให้มอบคำชม ซึ่งจะทำให้น้องหมารู้สึกดีในการฝึก มีอารมณ์มั่นคง และรู้สึกมีคุณค่าขึ้นมานั่นเองค่ะ

     ... แต่ในกรณีที่น้องหมาทำพฤติกรรมที่ไม่ดีก็ให้ผู้เลี้ยงเพิกเฉย หรือเลิกทำกิจกรรมที่ทำอยู่ทันที น้องหมาก็จะรับรู้ได้ว่า หากไม่ทำตามคำสั่งก็จะไม่ได้รับอาหาร น้องหมาก็จะค่อย ๆ เรียนรู้และยอมทำตามคำสั่งเพื่อให้ได้รางวัลในครั้งต่อ ๆ ไปโดยที่เราไม่ต้องบังคับ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยสานความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่น้องหมากับเพื่อน ๆ ได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ

 

อยู่ดี … กินอิ่ม นอนหลับ
 

Dogilike.com :: เปิดความลับ! 4 เทคนิคเลี้ยงน้องหมาอย่างไรให้ซื่อสัตย์ นิสัยดี


      เป็นข้อสำคัญข้อสุดท้ายที่เจ้าของน้องหมาต้องให้ความใส่ใจมาก ๆ เลยค่ะ สำหรับเรื่องความเป็นอยู่ของน้องหมา ทั้งเรื่องการกิน และการนอน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เจ้าของน้องหมาหลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามไป เช่น ให้น้องหมากินอาหารง่าย ๆ กินของเหลือจากเรา ทิ้งอาหารไว้ให้น้องหมากินตลอดทั้งวัน หรือให้น้องหมานอนตรงไหนก็ได้โดยไม่จัดระเบียบความเป็นอยู่ … แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้สำคัญมาก ๆ เลยค่ะ เพราะหากน้องหมาถูกละเลยเป็นประจำ จะทำให้น้องหมาไม่มีระเบียบ นาฬิกาชีวิตสับสน ส่งผลให้น้องหมามีสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ ป่วยง่าย และจิตใจไม่มั่นคง ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมโดยตรงเลยค่ะ

     ดังนั้น เพื่อน ๆ จึงต้องใส่ใจในการดูแลน้องหมาให้มากขึ้น เลือกอาหารที่มีคุณภาพ มีสารอาหารครบคุณค่าต่อความต้องการของร่างกายน้องหมา ให้อาหารให้ตรงเวลาเพื่อน้องหมาจะได้มีระเบียบวินัย ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นเวลา รวมถึงหมั่นดูแลรักษาความสะอาดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของน้องหมาให้ถูกสุขลักษณะ ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ก็จะช่วยทำให้น้องหมามีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงได้ค่ะ อย่างการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยของน้องหมาหลัก ๆ ควรเน้น 3 จุดก็คือ

     - กรงน้องหมา ควรทำความสะอาดกรงน้องหมาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะตามซอกกรงอาจเป็นที่เพาะพันธุ์เห็บหมัดได้ และควรเปลี่ยนถาดรองฉี่ที่อยู่ด้านล่างกรงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของน้องหมา

     - เบาะหรือที่นอน ตรวจดูเบาะเป็นประจำ หากพบอึ หรือมีกลิ่นฉี่ของน้องหมาก็ควรถอดเบาะออกไปซักและตากจนแห้งสนิท ไม่ควรปล่อยให้น้องหมานอนทับอึ ฉี่ของตัวเองเพราะจะเกิดการหมักหมมของเชื้อโรค และฉี่อาจจะกัดผิวหนังของน้องหมาจนเกิดแผลอักเสบ เป็นโรคผิวหนังได้

     - ถ้วยน้ำ ชามอาหาร ควรทำความสะอาดถ้วยน้ำ ชามอาหาร และเปลี่ยนน้ำสะอาดให้น้องหมาเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันการเกิดแหล่งเพาะเชื้อโรคที่อาจส่งผลให้น้องหมาเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ท้องเสีย โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร รวมถึงไม่ควรทิ้งอาหารปรุงสุกไว้ข้ามคืน เพราะอาหารอาจบูด เน่าเสียได้

 

 Dogilike.com :: เปิดความลับ! 4 เทคนิคเลี้ยงน้องหมาอย่างไรให้ซื่อสัตย์ นิสัยดี


     เพราะน้องหมาเป็นมากกว่าเพื่อน เราจึงต้องดูแลน้องหมา ให้ความใส่ใจน้องหมาให้มีทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงนะคะ น้องหมาจะได้เป็นน้องหมาที่มีจิตใจแจ่มใส อารมณ์ดี เป็นน้องหมาที่น่ารัก และซื่อสัตย์กับเราตลอดไปค่ะ  ^_^
 

บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/

ภาพประกอบ :
https://www.flickr.com/