โดย: พริกขี้หนู

ความจริงที่คาดไม่ถึง! ของลูกสุนัขต่างไซส์วัยเดียวกัน

ลูกสุนัขทุกตัวใช่ว่าจะเหมือนกันไปหมด เพราะแท้จริงแล้วพวกเขามีความแตกต่างทั้งทางร่างกายและพลังงานค่ะ

6 สิงหาคม 2558 · · อ่าน (10,854)
0

SHARES


0 shares

Dogilike.com ::  ความจริงที่คาดไม่ถึง! ของลูกสุนัขต่างไซส์วัยเดียวกัน

     เวลาเอ่ยถึงลูกสุนัข เพื่อน ๆ มองเห็นภาพในจินตนาการว่าอย่างไรกันบ้างคะ....ใช่สุนัขตัวเล็กขนปุกปุย อ่อนนุ่ม ตัวเบา อุ้งเท้านุ่มนิ่ม ดวงตากลมใส หูตูบ ชอบวิ่งเล่น อยู่ไม่สุข มองไปมองมาเหมือนตุ๊กตาน้องหมามีชีวิตหรือเปล่าเอ่ย.....ซึ่งแน่นอนค่ะว่า ภาพติดตาเหล่านี้เกิดมาจากประสบการณ์ที่จดจำมาตั้งแต่วัยเด็ก บ้างก็มาจากการ์ตูน ภาพยนตร์ที่เคยเห็น ทำให้เรามักมีความเข้าใจถึงลูกสุนัขว่าคล้ายคลึงกันไปหมด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ลูกสุนัขแต่ละตัวมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย แล้วความแตกต่างนี้เองที่ส่งผลให้มีวิธีการเลี้ยงการดูแลพวกเขาที่ต่างกัน... มาดูกันค่ะว่ามีความแตกต่างอะไรบ้างที่เราอาจมองข้ามไปค่ะ


 
1. อายุเท่ากันแต่การเติบโตของแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน

    เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ลูกสุนัขมีช่วงวัยของการเติบโตแตกต่างกันตามขนาดของสายพันธุ์ อย่างลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่เราเห็นว่าตัวโตเร็วแม้อายุยังน้อยก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าพวกเขาเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยเร็วกว่าลูกสุนัขพันธุ์เล็กค่ะ เพราะในความจริงแล้ว ลูกสุนัขพันธุ์เล็กตัวจิ๋วจะโตเต็มวัยได้เร็วกว่าลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่เสียอีก ซึ่งโดยมาตรฐานสายพันธุ์ ลูกสุนัขพันธุ์เล็กและพันธุ์กลางจะเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยเมื่ออายุได้ 12 เดือนหรือ 1 ปี แล้วจะเข้าสู่ช่วงสูงวัยเมื่ออายุได้ 8 ปี ส่วนสุนัขพันธุ์ใหญ่จะเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยเมื่ออายุได้ 18 เดือน และจะเข้าช่วงสูงวัยเมื่ออายุได้ 6 ปีค่ะ
 
     วิธีการเลี้ยงการดูแล 

     เนื่องจากร่างกายของลูกสุนัขแต่ละสายพันธุ์มีช่วงวัยการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ผู้เลี้ยงจึงควรให้อาหารที่เหมาะสมทั้งตามช่วงวัยและขนาดของสายพันธุ์ อย่างลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่หรือสายพันธุ์ยักษ์ก็ควรได้รับอาหารสำหรับลูกสุนัขไปจนถึงช่วงอายุ 18 หรือ 24 เดือน ไม่ควรเปลี่ยนเป็นอาหารสำหรับสุนัขโตเต็มวัยเพียงแค่เห็นว่าพวกเขาตัวโต หรือมีอายุครบ 12 เดือนแล้วนะคะ เพราะจะทำให้พวกเขาได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่ครบถ้วนตามความต้องการของช่วงวัยพวกเขานั่นเอง 


 
2. น้ำหนักแตกต่างกันมากในช่วงวัยเดียวกัน

     ลูกสุนัขแต่ละตัวมีน้ำหนักแตกต่างกันอยู่แล้วขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และขนาดของพ่อแม่นะคะ อย่างลูกสุนัขพันธุ์เล็กในช่วงวัย 4 เดือน เช่น ชิวาวา น้ำหนักจะอยู่ที่ 1 กิโลกรัม พอโตเต็มวัย น้ำหนักตามมาตรฐานสายพันธุ์จะอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลกรัมไม่เกินกว่านั้นค่ะ แต่สำหรับพันธุ์ใหญ่ เช่น เยอรมันเชฟเพิร์ด ในวัย 4 เดือนจะอยู่ที่ 35-37 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มวัยจะอยู่ที่ประมาณ 44 กิโลกรัม ในกรณีลูกสุนัขพันธุ์ยักษ์อย่างมาสทีฟฟ์ 4 เดือนจะมีน้ำหนักมากกว่า 35 กิโลกกรัม โตเต็มวัยจะมีน้ำหนักมากกว่า 45 กิโลกรัม โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 75-100 เกือบ ๆ 90 กิโลกรัม บางตัวก็มากกว่า 100 กิโลกรัมเลยล่ะค่ะ   

     ซึ่งน้ำหนักที่แตกต่างกันนี้สามารถส่งผลต่ออายุขัยของสุนัขได้อีกด้วยนะคะ เพราะจากงานวิจัยของ University of Göttingen ได้ระบุไว้ว่า ทุก ๆ การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวที่ประมาณ 1.98 กิโลกรัมของน้ำหนักตัวสุนัข ส่งผลให้อายุขัยลดลง 1 เดือน ด้วยเหตุนี้เองสุนัขพันธุ์ใหญ่จึงมักเสียชีวิตเร็วกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก เนื่องจากร่างกายของพวกเขาเติบโตเร็วกว่าเมื่อเทียบกับช่วงของการเจริญเติบโตค่ะ 
 
     วิธีการเลี้ยงการดูแล 

     อย่างที่บอกไปนะคะว่า อายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่ออายุขัยของสุนัข ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรให้อาหารลูกสุนัขตามปริมาณของน้ำหนักตัว (สามารถดูปริมาณได้ตามข้างถุงอาหารนะคะ) นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงไม่ควรตามใจเรื่องการกินจนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เพราะนอกจากจะทำให้อ้วนแล้ว ยังมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคได้ง่าย สุขภาพไม่แข็งแรง และอาจอยู่กับเราได้ไม่นานค่ะ 

 

3. ขนาดอวัยวะและความแข็งแรงของอวัยวะแตกต่างกัน
   
     อันที่จริงแล้ว เพียงเห็นด้วยตาก็พอรู้ได้ว่าลูกสุนัขแต่ละตัวมีขนาดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ แต่หากได้รู้ลึกถึงขนาดของอวัยวะต่าง ๆ ภายใน จะพบถึงความแตกต่างที่ส่งผลต่อสุขภาพพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่าง ลูกสุนัขสายพันธุ์เล็กนั้นจะมีขากรรไกรเล็กกว่า ค่อนข้างเปราะบาง แต่กลับมีฟันซี่ใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของขากรรไกร จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันเรียงตัวกันหนาแน่น เบียดชิดจนเกยกันส่งผลให้มีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องฟันได้ง่าย และทำความสะอาดได้ยาก ทำให้ฟันผุ มีกลิ่นปากนั่นเองค่ะ ในขณะที่ลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ขากรรไกรใหญ่กว่า กรามแข็งแรง ฟันมีขนาดซี่พอดีกับขากรรไกรจึงเรียงตัวกันสวยงามมีช่องว่างระหว่างฟันง่ายต่อการทำความสะอาด 

     ส่วนขนาดของลำไส้ลูกสุนัขสายพันธุ์เล็กจะมีลำไส้ยาวเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดลำตัวที่ดูเล็กกะทัดรัด ระบบการย่อยอาหารก็ดีกว่า เผาผลาญได้รวดเร็ว สูญเสียพลังงานน้อย แต่สำหรับลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ลำไส้จะสั้นกว่าเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ระยะเวลาย่อยอาหาร ใช้เวลานาน จึงมักมีปัญหาเรื่องระบบการย่อยอาหารหรือโรคกระเพาะบิดได้ค่ะ
 
    วิธีการเลี้ยงการดูแล

     ผู้เลี้ยงควรใส่ใจเรื่องของอาหารที่เหมาะสมตามสรีระของลูกสุนัขโดยเลือกอาหารที่มีขนาดเม็ดพอดีกับขนาดปากลูกสุนัข ในกรณีที่ลูกสุนัขเป็นสายพันธุ์ใหญ่ย่อยอาหารได้ช้าก็ควรเลือกอาหารที่ย่อยง่ายนะคะ นอกจากนี้ ควรเลือกอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัยและสายพันธุ์อย่างเช่น วิตามินอี ดีเอชเอและโคลีน แคลเซียมและฟอสฟอรัส เพื่อที่ร่างกายจะสามารถดูดซึมสารอาหารได้ครบถ้วนจะได้เติบโตแข็งแรงห่างไกลโรคภัยค่ะ
 


4. พลังงานแตกต่างกันสวนทางกับขนาดตัว

     เห็นลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ตัวโตกว่าลูกสุนัขสายพันธุ์เล็กหลายคนก็คงคิดว่าพวกเขามีพลังงานสูงใช่ไหมล่ะค่ะ แต่นั่นเป็นความเชื่อที่ผิดเลยล่ะค่ะ เพราะโดยธรรมชาติของสุนัขแล้ว สุนัขตัวยิ่งใหญ่พลังงานก็ยิ่งต่ำ เหนื่อยง่าย เนื่องจากต้องอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต้องทำงานอย่างหนัก เพราะเมื่อเทียบกับสรีระที่ใหญ่โตของพวกเขาแล้ว อวัยวะภายในร่างกายกลับมีสัดส่วนที่เล็กกว่าขนาดตัวอยู่มากค่ะ ในขณะที่ลูกสุนัขพันธุ์เล็กมักตื่นตัว กระโดดโลดเต้นได้ทั้งวันไม่มีเหนื่อยนั่นก็เพราะอวัยวะภายในร่างกายมีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัว จึงไม่ทำงานหนักเกินตัวค่ะ อีกทั้งการเผาผลาญดีเยี่ยม จึงกินได้บ่อยกว่าลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ รายนั้นกินเยอะไปจะอ้วนเอาได้ง่าย ๆ เลยนะคะ
 
     วิธีการเลี้ยงการดูแล

     เรื่องของพลังงานสัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องการกินและการออกกำลังกายค่ะ ลูกสุนัขพันธุ์เล็กกินน้อย อิ่มง่าย แต่พลังงานเผาผลาญได้ดีเยี่ยมก็จะกินได้เรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ที่ต้องกินเพียงน้อยมื้อ ไม่ควรกินจุกจิก เพราะเผาผลาญพลังงานช้าอาจทำให้น้ำหนักเกินได้ค่ะ สำหรับการออกกำลังกาย ลูกสุนัขพันธุ์เล็กควรหากิจกรรมให้เล่นให้ได้เผาผลาญพลังงานในระหว่างวัน ส่วนสายพันธุ์ใหญ่ให้พาเดินเหยาะๆ ช่วงเช้า เย็น สัก 10 นาที ไม่ควรหักโหมเพราะพลังงานของพวกเขาน้อย และร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ค่ะ
 


5. มีปัญหาสุขภาพเชิงโครงสร้างแตกต่างกัน

      สุนัขแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีความผิดปกติของสรีระที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม ซึ่งถ้าดูแลไม่ดีอาจเกิดโรคได้ตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข โดยลูกสุนัขสายพันธุ์เล็กจะมีขากรรไกรเล็ก ทำให้ฟันน้ำนมเบียดแน่นมาก จนทำให้เกิดการหมักหมมของแบคทีเรีย มีแนวโน้มเป็นโรคเกี่ยวกับฟันและเหงือกได้ นอกจากนี้ ยังมีกระดูกขาที่เล็ก ได้รับการถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย ทำให้เป็นโรคสะบ้าเคลื่อน ส่วนลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ก็ไม่น้อยหน้าค่ะ ล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับสะโพก ช่วงขาท่อนหลัง หากออกกำลังกายหนักเกินไป อยู่บนพื้นลื่น ๆ รวมทั้งได้รับสารอาหารที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมก็อาจส่งผลทำให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมได้นั่นเอง  
   
     การเลี้ยงการดูแล

        ผู้เลี้ยงควรศึกษาโรคประจำสายพันธุ์ของลูกสุนัขที่กำลังเลี้ยง เพื่อเตรียมตัวป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างถูกวิธี ถ้าเลี้ยงลูกสุนัขสายพันธุ์เล็กควรให้กินอาหารแห้งเพื่อช่วยขัดฟัน แปรงฟันเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงการให้กระโดดหรือวิ่งเล่นจากที่สูง พื้นลื่น ๆ ส่วนลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ก็ให้พาออกกำลังกายแต่พอดี ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการวิ่งเดินบนพื้นลื่น ๆ เช่นกันค่ะ และให้กินอาหารที่มีสารกลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต เพื่อช่วยบำรุงข้อต่อ เพียงเท่านี้ก็เป็นการช่วยให้พวกเขาอยู่กับเราไปอีกนานแล้วล่ะค่ะ
 
      เห็นไหมคะว่า เพียงขนาดร่างกายที่แตกต่างกันของลูกสุนัขก็สามารถส่งผลต่อการใช้คุณภาพชีวิตของพวกเขาอยู่ไม่น้อย ผู้เลี้ยงจึงไม่ควรมองข้ามความแตกต่างในทุกรายละเอียด เนื่องจากทุกความแตกต่างจะเป็นดั่งกุญแจสำคัญของการเสริมสร้างการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของลูกสุนัขให้เติบโตแข็งแรงอย่างสมบูรณ์นะคะ 
 

 
บทความโดย : Dogilike.com