โดย: Tonvet

โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก

ทำความรู้จักกับโรคสะบ้าเคลื่อนในน้องพันธุ์เล็กพร้อมเรียนรู้เทคนิคการดูแลหลังผ่าตัดแบบง่ายๆ

7 พฤศจิกายน 2555 · · อ่าน (89,184)
586

SHARES


586 shares

Dogilike.com :: โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก


     หากพูดถึง "สะบ้า" หรือ "ลูกสะบ้า (patellar)" หลายคนก็จะทราบว่ามันเป็นกระดูกที่มีลักษณะกลมรี แบนๆ อยู่บริเวณหัวเข่า น้องหมาก็มีกระดูกนี้เหมือนกัน แต่ขนาดไม่ใหญ่เท่าที่เข่าของเรา ยิ่งในน้องหมาพันธุ์เล็กด้วยแล้ว หากไม่ได้สัมผัสก็อาจจะไม่ทันได้สังเกตเห็น 
 
     ตามปกติลูกสะบ้านี้วางอยู่บนร่องกลางหัวเข่า โดยมีเอ็นรวมของกลุ่มกล้ามเนื้อ quadriceps ที่เรียกว่า patellar ligament พาดผ่านคอยกักเก็บลูกสะบ้าไว้ให้อยู่ในร่อง trochlear  sulcus  เพื่ออำนวยความสะดวกเวลาน้องหมายึด-หดขา ซึ่งลูกสะบ้านี้ก็จะเคลื่อนที่ขึ้น-ลงไปมาในร่องดังกล่าว
 
     ความผิดปกติของลูกสะบ้าที่เกิดขึ้นในสุนัขพันธุ์เล็ก ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นลักษณะของการเคลื่อนหลุดออกมาจากร่อง เรียกว่า โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation) โดยพบว่าลูกสะบ้าจะเคลื่อนออกไปทางด้านใน (medial) มากกว่าเคลื่อนออกไปทางด้านนอก (lateral) ของร่องกระดูกต้นขาหลัง 
 
     ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมาแต่กำเนิด โดยเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบในสุนัขอายุน้อยกว่า 1 ปี หรืออาจเกิดขึ้นมาภายหลังจากการกระทบกระเทือนก็ได้ สุนัขพันธุ์เล็กที่พบโรคสะบ้าเคลื่อนได้บ่อย ได้แก่ พันธุ์ปอมเมอเรเนียน (พบมากที่สุด) พันธุ์ชิวาวา  พันธุ์ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย พันธุ์ออสเตรเลียนเทอร์เรีย พันธุ์ทิเบตันสเปเนียล พันธุ์เจเปนนิส-ชิน พันธุ์มิ-กิ พันธุ์บอสตันเทอร์เรีย พันธุ์นอร์ฟ็อกเทอร์เรีย พันธุ์ปักกิ่ง พันธุ์พูเดิ้ลทอย พันธุ์มอลตีส พันธุ์ชิสุ ฯลฯ เราสามารถแบ่งเกรดตามระดับความรุนแรงของโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัขได้ ดังนี้ครับ

Dogilike.com :: โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก

     เกรด 1 ลูกสะบ้ายังคงอยู่ในร่องอยู่ อาจเคลื่อนออกมาจากร่องเป็นบางครั้ง เวลาใช้มือจับดันสามารถเลื่อนหลุดออกมาได้ง่าย แต่เมื่อปล่อยก็จะเด้งกลับมาอยู่ในร่องเดิมได้อยู่ น้องหมาอาจยังไม่แสดงอาการ ไม่ร้องปวด หรือเดินผิดปกติ
 
     เกรด 2 ลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดออกมาบ่อยครั้งขึ้น เวลาหลุดออกมาจะค้างอยู่บริเวณนอกร่อง บางครั้งอาจร้องปวดและเดินยกขาหลัง สุนัขที่มีลูกสะบ้าเคลื่อนในระดับนี้เป็นเวลานาน อาจพบกระดูกอ่อนที่ผิวข้อถูกทำลาย จากการที่ลูกสะบ้าเสียดสีกับสันกระดูก และอาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้
 
     เกรด 3 ลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดออกมาตลอดเวลา และอาจพบการบิดของกระดูกขาด้วย โดยบิดอยู่ประมาณ 30-50 องศา สุนัขไม่สามารถเหยียดขาได้ จึงอยู่ในท่ายกขางอข้อเข่า ไม่ยอมลงน้ำหนักและมีอาการเจ็บปวดตลอดเวลา แต่อาจสามารถดันลูกสะบ้ากลับได้ด้วยการเหยียดข้อเข่าและบิดกระดูกได้  แต่ถ้ามีการงอหรือมีการใช้ขาอีก ลูกสะบ้าก็จะเคลื่อนกลับออกไปอยู่นอกร่องเหมือนเดิม
 
     เกรด 4 ลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดไปอยู่นอกร่องอย่างถาวร ไม่สามารถดันกลับได้แล้ว กระดูกขาก็จะบิดไปมากกว่า 50-90 องศา ร่องที่รองรับลูกสะบ้าอาจตื้นหรือหายไปเลย สุนัขจะร้องปวดตลอดเวลา ไม่สามารถเหยียดข้อเข่าได้ และเดินขาลาก
 
     หากน้องหมาเพิ่งเริ่มเป็นเกรดต่ำๆ เจ้าของอาจยังไม่ทราบ และสังเกตไม่พบอาการ เพราะน้องหมายังคงเดินได้ปกติ ถึงแม้จะมีเคลื่อนออกก็สามารถกลับเข้าร่องได้เอง จนเมื่อใดที่น้องหมาแสดงอาการร้องปวด เดินยกขา ขาบิดจนโก่งงอ ไม่สามารถเหยียดข้อเข่าและลงน้ำหนักที่เท้าได้แล้ว เมื่อนั้นอาการของโรคก็พัฒนาไปไกลเป็นเกรดสูงๆ แล้ว  

Dogilike.com :: โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก

     หากน้องหมาของเพื่อนๆ แสดงอาการตามข้างต้น หรือยังไม่แสดงอาการแต่เป็นพันธุ์เสี่ยงและอยู่ในช่วงอายุดังกล่าว เพื่อนๆ สามารถพาไปตรวจกับคุณหมอได้ครับ หากเป็นพันธุ์เสี่ยงสามารถพาไปตรวจได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งวิธีการตรวจจะเริ่มจากการตรวจร่างกายทางกายภาพ คุณหมอจะสังเกตท่าทางการนั่ง ลุก ยืน เดิน วิ่ง เพื่อดูตำแหน่ง การใช้ขา การวางเท้า และคลำตรวจข้อเข่า หากพบความผิดปกติจะทำการถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์) เพื่อยืนยันการเคลื่อน และประเมินการผิดรูปของกระดูก ตลอดจนดูการเสื่อมของข้อไปด้วย
 
     สำหรับน้องหมาที่เป็นโรคสะบ้าเคลื่อน การรักษาจะขึ้นอยู่กับเกรดความรุนแรงของโรคครับ โดยหากเป็นไม่มากเกรด 1 อาจจะใช้วิธีการรักษาทางยา ร่วมกับการทำกายภาพ และควบคุมน้ำหนัก ยาที่กินอาจเป็นยาแก้ปวด และยาบำรุงข้อ ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่หากเป็นมากขึ้นตั้งแต่เกรด 2 ขึ้นไป อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดร่วมด้วย โดยวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี แต่ละวิธีจะมีจุดประสงค์เพื่อจัดแนวของลูกสะบ้าให้อยู่ในร่อง สำหรับน้องหมาที่เป็นรุนแรงเกรดสูงๆ  อาจต้องผ่าตัดโดยใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเนื้อเยื่ออ่อนรอบข้อและการผ่าตัดกระดูก
 
     แต่ไม่ว่าการผ่าตัดจะเลิศเลอแค่ไหน หากแต่การดูแลหลังผ่าตัดเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า เนื่องจากน้องหมาหลังผ่าตัดมักจะไม่ยอมใช้ขา ไม่ยอมลงน้ำหนักขาข้างที่ได้รับการผ่าตัด การทำกายภาพบำบัดภายหลังการผ่าตัดกระดูก จึงมีส่วนช่วยลดความเจ็บปวด ช่วยเสริมสร้างโครงสร้างและส่งเสริมการหายของแผล ทั้งยังเป็นการช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ช่วยให้การทำงานของข้อต่อดีขึ้น ซึ่งทำให้น้องหมากลับมาใช้ขาได้เร็วขึ้นด้วย
 
     หลังผ่าตัดเจ้าของต้องควบคุมการใช้ขา งดกระโดดและเดินขึ้นลงบันได หลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นลื่น เป็นระยะเวลา 3-4 สัปดาห์ ขบวนการอักเสบจะเกิดขึ้นใน 3 วันแรกหลังการผ่าตัด ช่วงนี้เจ้าของอาจใช้วิธีประคบเย็นบริเวณโดยรอบแผลผ่าตัดที่เกิดการอักเสบ โดยประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง ระหว่างทำให้สังเกตสีผิวด้วย สีผิวต้องไม่ซีดลง และควรหลีกเลี่ยงการประคบบริเวณที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย ทำเช่นนี้ร่วมกับการป้อนยาลดปวด-แก้อักเสบใน 3 วันแรก

Dogilike.com :: โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก
ทำท่า Passive Range of Motion (P-ROM)

     ภายหลัง 24-72 ชั่วโมงหลังผ่าตัด จึงเริ่มทำการกายภาพบำบัดเบื้องต้น โดยจับน้องหมาให้อยู่ในท่านอนตะแคง แล้วทำการยืดหดข้อขา (ทุกข้อ) ของขาหลังอย่างช้าๆ กระทำด้วยความนุ่มนวล ยืดหดได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ช่วงแรกๆ อาจใช้เวลาไม่นานครั้งละ 5 นาทีวันละ 2-3 ครั้ง จากนั้นค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาขึ้นเป็น 10 นาที 15 นาที ตามลำดับ เพื่อช่วยคงสภาพและมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ป้องกันการเกิดข้อยึด วิธีนี้เรียกว่า Passive Range of motion (P-ROM)
 
     หลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้ว อาจเพิ่มวิธีการทำกายภาพ ด้วยการใช้วิธี P-ROM ร่วมกับการทำ Stretching คือ ทำการยืดขาแล้วค้างไว้ 1 นาที ข้อดี คือ เป็นการช่วยจัดเรียงกล้ามเนื้อและคอลลาเจน ลดการสร้างพังผืด ซึ่งช่วงแรกๆ น้องหมาจะไม่ค่อยยอมให้เรายืดมากนัก เนื่องจากเจ็บ ซึ่งเราก็ไม่ควรฝืน ได้แค่ไหนเอาแค่นั้นเช่นกัน 
 
     เมื่อน้องหมามีการตอบสนองต่อการทำกายภาพดีขึ้น เพื่อนๆ อาจเพิ่มท่าปั่นจักรยาน (Bicycling) โดยให้น้องหมานอนท่าตะแคงเช่นเดิม จากนั้นทำการยืดหดขาร่วมกับการแกว่งขาไปข้างหน้าแล้วดึงมาข้างหลังคล้ายการปั่นจักรยาน ซึ่งสามารถทำในท่ายืนได้ด้วย 
 
     การฝึกการลงน้ำหนักหรือการทรงตัว จะเริ่มในสัปดาห์ที่ 3-5 หลังผ่าตัด เพื่อนๆ อาจลงทุนซื้อ Balance Board มาหัดให้น้องหมายืน โดยช่วยประคองตัวในช่วงแรก และพยายามให้ลงน้ำหนักทั้ง 4 ขา โดยพยายามเน้นข้างที่ได้รับการผ่าตัดมา เพื่อให้น้องหมารู้จักการวางตำแหน่งของขาข้างนั้น หรือฝึกให้เริ่มลงน้ำหนักของขาข้างที่ได้รับการผ่าตัด โดยทำการยกขาฝั่งตรงข้ามก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีการว่ายน้ำหรือให้เดินบนสายพานในน้ำด้วยก็ได้ โดยจะทำก็ต่อเมื่อแผลผ่าตัดหายดีแล้ว เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้อต่อและขาให้ดีขึ้น 

Dogilike.com :: โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก
ขณะหัดยืนทรงตัวบน Balance board

     เมื่อลงน้ำหนักได้ดีขึ้นแล้ว (ประมาณสัปดาห์ที่ 5-8 หลังการผ่าตัด) จึงเริ่มใช้วิธี Active therapeutic exercise เช่น ทำท่า Dancing exercise โดยการยกขาหน้าทั้งสองขึ้น ประคองให้น้องหมายืนด้วยขาหลังทั้งสอง แล้วให้เดินไปมาคล้ายกับการเต้นรำลีลาศ ทำวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที หรือใช้วิธี Sit to stand exercise โดยการสั่งให้ลุกนั่ง ด้วยการใช้ขนมล่อ แต่ต้องเป็นขนมที่มีพลังงานต่ำด้วยนะครับ หรืออาจจะหัดให้เดินขึ้นลงบันได้อย่างช้าๆ ขั้นสั้นๆ อาจเพียง 5-7 ขั้น โดยอย่าให้กระโดดขึ้นลงเป็นแบบท่ากระต่าย ให้เดินขึ้นลงโดยการก้าวเดินด้วยขาทั้งสี่ 
 
     หลังจากการผ่าตัด 12 สัปดาห์ไปแล้ว หากผลตอบสนองต่อการรักษาดี ข้อต่อที่ได้รับการผ่าตัดแข็งแรงดีแล้ว จึงค่อยให้น้องหมาออกกำลังกายได้ตามเดิม   อย่างไรก็ดี วิธีการทำกายภาพและระยะเวลาที่กล่าวไป อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับน้องหมาแต่ละตัว ซึ่งควรให้คุณหมอเป็นผู้ประเมินและแนะนำวิธีการทำกายภาพที่เหมาะสมกับน้องหมาตัวนั้นๆ ครับ
 
     สำหรับแนวทางการป้องกันและชะลอความความรุนแรงของโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัขพันธุ์เล็ก สามารถทำได้ ดังนี้ครับ
 
     1. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือเล่นที่อาจส่งผลต่อกระดูกข้อเข่า เช่น การกระโดดขึ้นๆ ลงๆ ที่สูง หรือวิ่งขึ้นลงบันไดเร็วๆ การเล่นแรงๆ ที่อาจไปกระทบกระแทกข้อเข่า 
     2. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือการเดินบนพื้นลื่นๆ เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นปาร์เก้ พื้นหินอ่อน ฯลฯ 
     3. พยายามตัดขนที่ฝ่าเท้าให้เรียบ อย่าให้ยาวจนมาปกคุลมฝ่าเท้า เพราะจะทำให้ลื่นเวลาก้าวเดิน คล้ายกับการที่คนเราสวมถุงเท้าแล้วเดินบนพื้นลื่นๆ
     4. ต้องควรคุมน้ำหนักอย่าให้มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพราะจะส่งผลให้ข้อรับน้ำหนักมากเกินไป
     5. เลือกอาหารที่มีส่วนผสมของสารบำรุงข้อ เช่น กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต เพื่อช่วยซ่อมแซมและรักษาผิวข้อ และเพิ่มการสร้างน้ำไขข้อ ซึ่งเป็นสารหล่อลื่นช่วยลดแรงกระแทก ป้องกันโรคข้อเสื่อมที่จะตามมา สารเสริมอื่นๆ ได้แก่ พวกโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบของข้อ หรือสารต่อต้านอนุมูลอิสระต่างๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี ฯลฯ ช่วยป้องการการเสื่อมของกระดูกและข้อได้ ทั้งนี้หากจะเสริมอะไรควรปรึกษาคุณหมอก่อนก็จะดีครับ
    

Dogilike.com :: โรคสะบ้าเคลื่อน ... อันตรายที่(อาจ)เกิดได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก
ทำท่า Dancing Exercise


     6. ให้ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น พาเดินหรือวิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ สร้างความแข็งแรงช่วยในการรองรับน้ำหนักและทำให้การเคลื่อนไหวมั่นคงยิ่งขึ้น เจ้าของที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์เล็ก อาจซื้อสระยางแบบเป่าลมของเด็ก มาให้น้องหมาหัดว่ายน้ำก็ได้ครับ
     7. สำหรับสุนัขพันธุ์เสี่ยงควรพาไปตรวจกับคุณหมอตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้แสดงอาการแล้วค่อยพาไป อย่างที่บอกว่าหากยังเป็นไม่รุนแรง การรักษาก็จะง่ายกว่า การฟื้นตัวภายหลังการรักษาก็จะง่ายกว่า
 
     โรคสะบ้าเคลื่อนจัดเป็นอีกโรคหนึ่งที่แฝงอยู่ในตัวน้องหมา โดยเฉพาะน้องหมาพันธุ์เล็ก ในระยะเริ่มต้นโรคนี้อาจจะยังไม่แสดงอาการ หากไม่สังเกตก็คงเป็นเรื่องยากที่เราจะทราบถึงความผิดปกติดังกล่าว การเลี้ยงดูที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยชะลอไม่ให้โรคเกิดเร็วขึ้น เพราะหากเป็นแล้ว จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของน้องหมาเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องรอให้แสดงอาการ ไปตรวจก่อน ... รู้ก่อน ... แก้ไขได้ก่อน ... ก็รอดก่อนครับ





บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 4-6 จาก
 Dogilike.com
www.blog.penelopetrunk.com
www.torringtonorthopaedics.com
www.findavet.us
www.blog.naver.com