โดย: Tonvet

รู้หรือไม่ น้องหมาก็สายตาสั้นได้นะ

ถ้าน้องหมาสายตาสั้น เราจะทราบได้อย่างไร และมีวิธีช่วยเหลืออย่างไรมาดูกัน

24 เมษายน 2556 · · อ่าน (19,601)
1,432

SHARES


1,432 shares

Dogilike.com :: รู้หรือไม่ น้องหมาก็สายตาสั้นได้นะ

     เพื่อน ๆ เคยสงสัยบ้างไหมครับ ว่าน้องหมาของเราจะมีโอกาสมีสายตาสั้นได้หรือไม่ แล้วถ้าสายตาสั้นได้จริง เราจะทราบได้อย่างไร และมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ลองจิตนาการภาพดูสิครับ หากน้องหมาสายตาสั้น แล้วต้องสวมแว่นสายตา คงดูพิลึกไม่น้อยเลยว่ามั้ยครับ อย่ารอช้า มุมหมอหมา ขอเฉลยเลยแล้วกัน ว่าน้องหมาก็สามารถสายตาสั้นได้เช่นกันครับ
 
     การเกิดสายตาสั้น (Myopia or Nearsightedness) เกิดจากการที่ลูกตามีขนาดความยาว “เกินกว่า” ขนาดโฟกัสของเลนส์ตาและกระจกตา ทำให้ภาพจากวัตถุในระยะไกลจะตกก่อนถึงจอประสาทตา อย่างในคนเราจะทำให้เห็นภาพลักษณะพร่ามัวและมองเห็นไม่ชัด คาดว่าในสุนัขก็คงเช่นกัน เพราะจากประวัติน้องหมาที่เป็น เจ้าของมักจะสังเกตพบว่า น้องหมามักจะทำกิจกรรมน้อยลง เดินชนโน่นชนนี่ มองไม่เห็นสิ่งของที่เจ้าของยื่นให้ ต้องเอาเข้าไปใกล้ ๆ จึงจะเห็น บางครั้งอาจก้าวขึ้นลงบันไดพลาด หรือเวลามีคนเดินผ่านไปมาก็จะเห่า แต่พอคนเดินเข้ามาใกล้ ๆ กลับหยุดเห่า เพราะเห็นและจำได้ 

Dogilike.com :: รู้หรือไม่ น้องหมาก็สายตาสั้นได้นะ

ที่มาที่ไปของปัญหาสายตาสั้น

 
     สำหรับปัจจัยที่ทำให้น้องหมาสายตาสั้นนั้น ขึ้นกับพันธุ์ อายุ และรวมถึงความผิดปกติของดวงตาอื่น ๆ ที่มีอยู่ โดยจากการศึกษาพบว่า สุนัขพันธุ์ Labrador Retriever จะมีปัญหาสายตาสั้นอยู่ประมาณ 8-15 % ซึ่งสุนัขที่มีสายตาสั้น จะมีช่องว่าง Vitreous chamber ซึ่งอยู่หลังเลนส์ตาภายในลูกตา “ยืดยาว” กว่าปกติ นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในพันธุ์ Chesapeake Bay retrievers, golden retrievers, Cocker spaniels, Rottweiler, Miniature Schnauze และ Poodle toy ด้วย
 
     และในสุนัขที่มีอายุมาก (มากกว่า 7 ปีขึ้นไป) ก็สามารถพบการเกิดสายตาสั้นได้เช่นกัน ซึ่งมักจะเกิดในรายที่มีปัญหา Lenticular nuclear sclerosis ที่เลนส์ (crystalline lens) หรือเกิดภาวะกระจกตาขุ่นขาว ทำให้การสะท้อนแสงของกระจกตาเกิดมากกว่าปกติ (excessive refractive power) และมีการหักเหของแสงมากกว่าปกติด้วย จึงทำให้แสงจากวัตถุที่มาตกกระทบนั้น “ตกใกล้” ไม่ถึงจอประสาทตา เช่นเดียวกับน้องหมาที่มีความผิดปกติที่ตาอื่น ๆ อย่างเช่น ต้อกระจก (Cataract) ทำให้กระจกตาขุ่นมัวจึงมองเห็นไม่ชัด ซึ่งอาจพบได้ในรายที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ด้วยครับ

Dogilike.com :: รู้หรือไม่ น้องหมาก็สายตาสั้นได้นะ

การตรวจวัดสายตาในน้องหมา

 
     สำหรับวิธีการตรวจวัดสายตา ที่ให้ผู้ป่วยอ่านตัวอักษรขนาดต่าง ๆ ตามระยะห่างที่กำหนดให้นั้น ลืมไปได้เลยครับสำหรับน้องหมา เพราะคงเป็นไปได้ยากที่น้องหมาบอกกับเราได้ว่าเห็นชัดหรือไม่ชัด คุณหมอจึงใช้วิธีการตรวจด้วยเครื่อง Retinoscopy เพื่อระบุปัญหาดังกล่าวแทนครับ
 
 

แนวทางแก้ไข

 
     ถ้าเป็นคนที่สายตาสั้นก็คงแก้ไขด้วยการสวมแว่นตาหรือไม่ก็ใส่คอนแทคเลนส์ แล้วถ้าเป็นน้องหมาหล่ะจะใช้วิธีไหนดี คำตอบก็ คือ ใส่คอนแทคเลนส์ครับ ฟังดูแล้วออกจะเป็นเรื่องแปลกสักนิด แต่ไม่ต้องตกใจหรอกนะครับ อันที่จริงวิธีนี้มีใช้มานานแล้ว ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1966 ที่ประเทศอังกฤษ คุณหมอ Michael Jags ก็เคยใช้คอนแทคเลนส์สวมให้กับ “ยูริ” สุนัขพันธุ์ Boxer วัย  4 ปี ที่มีปัญหาสายตาสั้นเช่นกัน จนเป็นข่าวดังในหนังสือพิมพ์ The News and Courier เลยทีเดียว 

Dogilike.com :: รู้หรือไม่ น้องหมาก็สายตาสั้นได้นะ

     ในการเลือกคอนแทคเลนส์มาใส่ให้กับน้องหมานั้น ควรเป็นเลนส์ชนิด Therapeutic soft contact lenses ( TSCLs) โดยให้เลือกคอนแทคเลนส์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่สักหน่อย แต่ให้พอดีกับความโค้งของกระจกตาของสุนัข และควรเป็นแบบที่ออกซิเจนสามารถผ่านได้ เพื่อลดโอกาสของการติดเชื้อ ปัจจุบันมีคอนแทคเลนส์ที่ผลิตมาสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ หรืออาจเอาคอนแทคเลนส์ของคนมาประยุกต์ใช้กับน้องหมาก็ได้ โดยให้เลือกชนิดที่เป็น high-water-content lenses เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นกับดวงตาของน้องหมา สำหรับน้องหมาที่ใส่คอนแทคเลนส์นั้น เจ้าของต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์ให้เป็นอย่างดีด้วยครับ
 
     นอกจากสายตาสั้นแล้ว น้องหมาก็สามารถสายตายาว (hyperopia) ได้ด้วยนะครับ ซึ่งการตรวจและแนวทางการแก้ไขก็คล้ายกัน อาการเหล่านี้ถ้าเราไม่หมั่นสังเกตอาการ ก็จะไม่ทราบถึงความผิดปกติที่เป็นอยู่ ต่อไปนี้ใครที่ยื่นของให้น้องหมาระยะไกล ๆ แล้วเค้าทำเป็นไม่สนใจ ก็ไม่ต้องดุว่าน้องหมาหรอกนะครับ ก็แหม ...  มันไม่เห็นจริง ๆ นี่นา
 


 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
ส.พญ.ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา. สายตาสั้นและสายตายาว ปัญหาสายตาสุนัขที่ไม่ควรมองข้าม. 
นิตยาสารรายเดือนสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 121 : ตุลาคม 2555
http://www.iovs.org/content/49/11/4784.full.pdf
http://www.iovs.org/content/33/8/2459.full.pdf
http://dogpsychology.dog-articles.net/articles/Myopia-in-Dogs.html
http://www.dogchannel.com/dog-vet-library/eareye/article_314.aspx
 
รูปภาพประกอบ:
www.jscms.jrn.columbia.edu
www.favim.com
www.biology-forums.com
www.kencastor.com
http://news.google.com/newspapers?nid=2506&dat=19660314&id=uMdJAAAAIBAJ&sjid=hwoNAAAAIBAJ&pg=2559,3140698