โดย: Tonvet

โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2

มาศึกษาต่อกับโรคสำคัญในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนกันครับ

12 มีนาคม 2557 · · อ่าน (32,662)
278

SHARES


278 shares

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2


     เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มุมหมอหมา ได้นำเสนอโรคที่พบบ่อยในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนกันไปแล้ว 3 โรค ซึ่งได้แก่ โรคสะบ้าเคลื่อน โรคหลอดลมตีบ และโรค Alopecia x (หรือที่รู้จักในชื่อโรค Black skin disease) รวมทั้งได้ให้คำแนะนำการสังเกตอาการ การป้องกัน ตลอดจนแนวทางการรักษาของโรคดังกล่าวไปแล้ว สัปดาห์นี้มาตามกันต่อครับว่า โรคในน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนที่เหลือนั้นจะมีโรคอะไรบ้าง แต่ละโรคส่งผลกับน้องหมาอย่างไร และเราจะมีวิธีในการรับมือกับโรคเหล่านั้นอย่างไร อย่ารอช้า...มาลุยต่อกันเลยครับ


ภาวะอัณฑะทองแดง (cryptorchidism)


     ภาวะอัณฑะทองแดง (cryptorchidism) คือ ภาวะที่ลูกอัณฑะค้างอยู่ในช่องท้องหรือบริเวณขาหนีบ ไม่ลงมาอยู่ในถุงหุ้มอัณฑะตามปกติ ซึ่งตามปกติลูกอัณฑะควรจะลงมาครบทั้งสองข้างตั้งแต่อายุ 2-6 เดือน ภาวะนี้จัดเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง (sex-limited, autosomal recessive trait) ซึ่งพบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนเช่นกัน ในการศึกษาย้อนหลังปัญหาเนื้องอกอัณฑะในสุนัขระหว่างปี พ.ศ. 2545-2548 ของ รศ.น.สพ.ดร.นริศ เต็งชัยศรี และคณะ พบว่ากลุ่มประชากรสุนัขที่ศึกษาและมีภาวะอัณฑะไม่ลงถุงนี้ เป็นสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน 3.75% (3/80)

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2


     หากเราสังเกตหรือคลำบริเวณถุงหุ้มอัณฑะของน้องหมาที่เป็น จะพบว่ามีลูกอัณฑะไม่ครบทั้งสองข้าง บางรายมีเพียงข้างเดียว หรือบางรายไม่มีเลยทั้งสองข้าง ที่สำคัญลูกอัณฑะที่ค้างอยู่นี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเนื้องอกมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นคุณหมอจึงมักจะแนะนำให้ เจ้าของพาน้องหมาที่เป็นภาวะอัณฑะทองแดงไปผ่าตัดทำหมันเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเอาอัณฑะข้างที่ค้างออก จะได้ลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอก และยังเป็นการป้องกันการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังรุ่นถัดไปด้วยครับ


โรคต้อกระจก (Cataract)


     โรคต้อกระจก (Cataract) เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตามรายงานของ Genetic Committee of the American College of Veterinary Ophthalmologists 2009 คาดว่าโรคต้อกระจกในน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนนี้ มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมเช่นกัน ยกเว้นบางรายอาจเกิดได้จากโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน โรคภายในลูกตา ฯลฯ หรือความเสื่อมของเลนส์ตาตามอายุ เราสามารถพบโรคต้อกระจกในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนได้ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2


     น้องหมาที่เป็นจะเกิดการขุ่นมัวของเลนส์ตา ทำให้มองเห็นไม่ชัด จนกระทั่งถึงกับตาบอดได้ เจ้าของจะสังเกตพบว่า เลนส์ตาของน้องหมาจะขุ่นขาวขึ้น (ลองสังเกตในตำแหน่งตรงกลางดวงตา โดยมองผ่านชั้นตาดำเข้าไป) ซึ่งอาจเป็นเพียงแค่ตาข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ สำหรับการรักษาจะใช้การหยอดยาเพื่อชะลอการขุ่นของเลนส์ตา หรืออาจพิจารณาผ่าตัดโดยการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง หรือเอาเลนส์ตาออก แล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ครับ


ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Hydrocephalus)


     ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Hydrocephalus) เกิดจากการคั่งของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) ภายในบริเวณช่องว่างของสมอง (ventricular system) มากผิดปกติ ทำให้ความดันในสมองและกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ไปกดเนื้อสมอง ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น มีกะโหลกศีรษะโตผิดปกติ (dome-shaped head) มีอาการชัก การทรงตัวผิดปกติ เดินวน เดินอย่างไร้จุดหมาย รูม่านตาขยาย ตอบสนองต่อแสงช้าผิดปกติ ตากระตุก ตาเข ลูกตามองลงต่ำหรือตาเหล่ไปด้านข้าง เรียกอาการนี้ว่า “sunset gaze” หรือ “downcast eye gaze” บางรายอาจตาบอด หูหนวก รวมถึงมีการเจริญเติบและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ช้ากว่าสุนัขวัยเดียวกัน ฯลฯ

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2


     ในน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนที่เป็นเป็นภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง ส่วนมากเป็นความผิดปกติมาแต่กำเนิด (Congenital hydrocephalus) อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดจากการพัฒนาของโครงสร้างที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันการไหลเวียน หรือมีการสร้างของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังออกมามากเกินไป จึงทำให้ระบายออกไม่ทัน น้องหมาบางตัวอาจแสดงอาการตั้งแต่กำเนิด บางตัวอาจเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุ 2-3 เดือน โดยช่วงแรก ๆ เจ้าของก็อาจสังเกตไม่พบความผิดปกติใด บางตัวก็อาจแสดงอาการให้เห็นเมื่ออายุมากกว่า 6 เดือนแล้วก็มี

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2


     สำหรับการวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การถ่ายภาพรังสี การทำอัลตร้าซาวด์ ทำ CT scan หรือ MRI ส่วนรักษาจะใช้การรักษาทางยา ได้แก่ ยาขับน้ำ ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ (หากมีการติดเชื้อ) ยาระงับชัก (ถ้ามี) วิตามินบำรุงสมอง ฯลฯ ร่วมกับการรักษาไปตามอาการ บางรายอาจพิจาณาผ่าตัดรักษาให้ ขึ้นกับแต่ละกรณี (หากสามารถทำได้) ซึ่งสุนัขที่ป่วยเป็นภาวะนี้ส่วนใหญ่จะมีอายุสั้น แต่หากได้รับการรักษาก็อาจยืดอายุได้ บางรายสามารถอยู่ได้มากกว่า 2 ปีครับ


Patent ductus arteriosus (PDA)


     สำหรับโรคนี้ต้องขอเล่าเท้าความขณะที่ลูกสุนัขยังอยู่ในท้องของแม่ ซึ่งในขณะนั้นร่างกายจะมีการสร้างเส้นเลือดเส้นหนึ่ง เชื่อมระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ไหลออกจากหัวใจ (aorta) กับเส้นเลือดที่ไหลจากหัวใจไปยังปอด (pulmonary artery) เส้นเลือดที่ว่านี้มีชื่อว่า ductus arteriosus ซึ่งหลังจากที่น้องหมาคลอดออกมาแล้ว เส้นเลือดที่ว่านี้จะค่อย ๆ ฝ่อไป แล้วถูกปิดอย่างสมบูรณ์ประมาณอายุ 8 วันหลังคลอด กลายเป็นเพียงแค่เส้นเอ็น (ผังผืด) ธรรมดา

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2

 
     แต่ในน้องหมาที่เป็นโรค PDA นั้นเราพบว่า เส้นเลือดที่ว่านี้กลับไม่ฝ่อไป ทำให้มีเลือดบางส่วนไหลออกจากเส้นเลือด aorta รั่วเข้าสู่เส้นเลือด pulmonary artery ผ่านเส้นเลือด ductus arteriosus ที่ยังคงอยู่ เลือดที่รั่วเข้ามานี้ บางส่วนไหลไปยังปอด ปริมาณเลือดเข้าปอดจึงสูงกว่าปกติ เกิดแรงดันเลือดในในปอดเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมปอดตามมา และบางส่วนก็ไหลกลับเข้าสู่หัวใจห้องล่างขวา ส่งผลให้หัวใจห้องล่างขวาทำงานหนัก จึงโตขยายใหญ่ขึ้น

     สำหรับสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนที่เป็นโรค PDA จะสามารถแสดงอาการตั้งแต่อายุ 6-12 สัปดาห์ ซึ่งอาการที่เจ้าของจะสังเกตพบก็ ได้แก่ เหนื่อยง่าย อ่อนแรง มีเหงือกสีม่วง ไอบ่อย ๆ มีเสียงหัวใจเต้นผิดปกติตั้งแต่อายุยังน้อย ในรายที่น้ำท่วมปอด จะพบว่าหายใจลำบากร่วมด้วย ฯลฯ ซึ่งการรักษาจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แต่สำหรับรายที่เป็น PDA เพียงเล็กน้อย อาจไม่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ น้องหมายังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติครับ

Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2


     นอกจากโรคที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่มีรายงานพบในน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism) โรค Haemophilia A ซึ่งส่งผลให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติไป โรคลมชัก โรค Sick sinus syndrome ซึ่งส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ ปัญหาที่ข้อศอก (Elbow dysplasia) และหัวไหล่ (Shoulder luxation) และปัญหาหนังตาม้วนเข้า เป็นต้น

     จึงอยากให้ผู้ที่เลี้ยงหรือผู้ที่กำลังคิดจะเลี้ยงน้องหมาพันธุ์นี้ ได้ศึกษาทำความเข้าใจกับโรคต่าง ๆ เหล่านี้เอาไว้ จะได้หาทางป้องกันและรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ แม้โรคบางโรคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ อย่าลืมใส่ใจสุขภาพให้กับน้องหมาปอมเมอเรเนียนสุดรักของเรานะครับ



Dogilike.com :: โรคต้องระวัง !! ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ตอนที่ 2




 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
Alex Gough and Alison Thomas. Breed Predispositions to Disease in Dogs and Cats.
 John Wiley & Sons. Page 155-156
Stephen J. Birchard and Michael Nappier. Cryptorchidism.
Compendium: June 2008. page 325-337
นริศ เต็งชัยศรี ไชยยันต์ เกษรดอกบัว อนุสรณ์ กลิ่นขจร อนันต์ ทองคงอ่วม และเกษกนก ศิรินฤมิต. 2550. การศึกษาเปรียบเทียบชนิดเนื้องอกอัณฑะในสุนัขที่มีอัณฑะปกติและอัณฑะทองแดง. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 45 : สาขาสัตวแพทยศาสตร์.
กรุงเทพฯ. หน้า 386-392
Ocular disorders presumed to be inherited in purebred dogs . Genetic Committee of the American College of Veterinary Ophthalmologists 2009: 5th edition.
 
 
รูปภาพประกอบ:
www.yourswallpaper.com
www.vetnext.com
www.careandactionsforstrays.blogspot.com
www.vetnext.com
www.niagaraspca.org
www.clivir.com
www.puppytales.com.au