โดย: Tonvet

3 อาการป่วยที่เจ้าของสุนัขมักสับสน

มาดูหลักในการแยกลักษณะอาการสำรอก (ขย้อน) การอาเจียน และการขากเสมหะของสุนัขกัน

10 ธันวาคม 2557 · ชอบ  (1)
  • Chomphu Phothichan
  • ชอบสิ่งนี้
· แสดงความคิดเห็น (37) · อ่าน (455,822)
4,326

SHARES


4,326 shares

Dogilike.com :: 3 อาการป่วยที่เจ้าของสุนัขมักสับสน

     
     เวลาที่สุนัขป่วย แน่นอนว่าน้องหมาไม่สามารถอธิบายอาการป่วยของตัวเองให้คุณหมอฟังได้ จึงเป็นหน้าที่เจ้าของที่จะต้องเป็นผู้เล่าอาการให้คุณหมอฟังแทน และบ่อยครั้งที่เจ้าของจะสับสนกับอาการบางอย่างที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน เช่น การสำรอก (ขย้อน) กับ การอาเจียน หรือการอาเจียน กับ การขากเสมหะ ส่งผลให้เจ้าของแจ้งอาการป่วยของน้องหมาผิด ทำให้คุณหมอต้องทำการซักประวัติอาการเพิ่มเติม และบางทีก็ต้องทำท่าทางสาธิตอาการให้เจ้าของดู เพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลอาการป่วยแท้จริงของน้องหมา
 
     วันนี้ มุมหมอหมา จึงได้รวบรวมเอาอาการป่วยของสุนัขที่เจ้าของมักสับสนกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสำรอก (ขย้อน) การอาเจียน และการขากเสมหะ เพื่อน ๆ จะได้นำไปใช้อธิบายอาการป่วยของน้องหมากับคุณหมอได้อย่างถูกต้องกันครับ  
 

Dogilike.com :: 3 อาการป่วยที่เจ้าของสุนัขมักสับสน

.
 

1 สำรอก (ขย้อน) 

 
     การสำรอกกับการอาเจียนนั้น เป็นอาการที่เจ้าของมักจะสับสนกันเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยน้องหมามีการขับสิ่งบางอย่างที่กินเข้าไป (ingested material) หรือของที่อยู่ในทางเดินอาหารออกมาทางปากเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแจ้งคุณหมอว่า น้องหมาอาเจียน แต่พอซักถามลักษณะอาการเพิ่มเติมกลับพบว่า น้องหมาทำการสำรอก ไม่ใช่การอาเจียน แล้วสำรอกกับอาเจียนต่างกันอย่างไร... หัวข้อนี้ขออธิบายในส่วนของการสำรอกก่อนนะครับ  
 

Dogilike.com :: 3 อาการป่วยที่เจ้าของสุนัขมักสับสน

 
     สำรอก (ขย้อน) ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Regurgitation ซึ่งคำนี้ ยังหมายความถึง การไหลทวนหรือไหลย้อนกลับ หากนำมาใช้อธิบายอาการของการสำรอก ก็พอจะกล่าวได้ว่า เป็นการไหลย้อนกลับขับเอาสิ่งของที่กินเข้าไป (ingested material) ออกมาจากส่วนของหลอดอาหารก่อนที่จะผ่านกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร (esophageal sphincter) ลงไป โดยไม่ได้ใช้กำลังของกล้ามเนื้อท้องและกระบังลมในการขับออก (passive expulsion) และไม่พบอาการคลื่นไส้  (nausea) ก่อน ซึ่งเราจะสังเกตพบว่า น้องหมามักจะแสดงการสำรอกไม่นานหลังจากที่ได้กินอาหารเข้าไป ซึ่งลักษณะสิ่งของที่ขับออกมานั้น มักจะเห็นเป็นรูปแท่งตรงทรงกระบอก กินอะไรเข้าไปก็มักจะออกมาอย่างนั้น ยังไม่ทันได้ผ่านการย่อยจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารแต่อย่างใด จึงไม่พบน้ำย่อยหรือน้ำดี (bile) ปะปนออกมาด้วย

Dogilike.com :: 3 อาการป่วยที่เจ้าของสุนัขมักสับสน

 
     ซึ่งสาเหตุของการสำรอกนั้น มักจะเกี่ยวข้องกับรอยโรคบริเวณตำแหน่งหลอดอาหารหรือตำแหน่งโดยรอบหลอดอาหาร ได้แก่ โรคหลอดอาหารขยายใหญ่ (คลิก) หลอดอาหารอักเสบ หลอดอาหารอุดตัน เป็นมะเร็งที่หลอดอาหาร หรือมีก้อนมะเร็งบริเวณใกล้เคียงแล้วมากดเบียดหลอดอาหาร ฯลฯ ส่วนการอาเจียนนั้นเรามักจะพบว่าน้องหมาจะมีอาการคลื่นไส้ ผะอืดผะอม มีการใช้กำลังขับ (active expulsion) เอาสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้นออกมาอย่างรุนแรง และสิ่งที่อาเจียนออกมาอาจเป็นอาหารที่ผ่านการย่อยแล้วหรือมีน้ำดีปะปนออกมาด้วย ซึ่งจะได้อธิบายอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไปครับ

 

2 อาเจียน 

 
     อาเจียน เป็นการขับเอาของที่อยู่ในทางเดินอาหารออกมาทางปาก (บางครั้งก็ทางจมูกด้วย) โดยมีการใช้กำลังของกล้ามเนื้อท้องและกระบังลมในการขับออกมา (active expulsion) เจ้าของจะสังเกตพบว่า น้องหมาจะมีอาการคลื่นไส้ ผะอืดผะอม หรือเลียปาก ก่อนที่จะเกิดการขยับของกล้ามเนื้อท้องและกระบังลมอย่างรุนแรงเป็นจังหวะ หลังจากนั้นจะมีการขับเอาของที่อยู่ในทางเดินอาหารออกมาทางปาก  ซึ่งอาจเป็นอาหารที่ยังไม่ย่อยหากเพิ่งกินเข้าไปไม่นาน แต่จะไม่เป็นรูปแท่งตรงทรงกระบอก หรืออาจเป็นแค่ของเหลว หรือเป็นอาหารเละ ๆ ที่ผ่านการย่อยแล้ว และมักพบน้ำย่อยหรือน้ำดีสีเขียว ๆ เหลือง ๆ ปะปนออกมาด้วย 

 

     

     การอาเจียนนั้น เกิดจากส่วน Vomit center ในสมองได้รับสัญญาณมากระตุ้น โดยเป็นการทำงานร่วมกันของสมองและทางเดินอาหาร เช่น เกิดความผิดปกติในทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุทางเดินอาหารอักเสบ ติดเชื้อ มีแผล เกิดการอุดตัน ไม่ทำงาน ถูกกดเบียด ฯลฯ หรือความผิดปกติในส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคทางเมตาบอลิก เบาหวาน (คลิก) โรคตับ โรคตับอ่อน (คลิก) โรคไต (คลิก) การเมารถ (คลิก) ฮีทสโตรก (คลิก) หรือการได้รับยาหรือสารเคมีบางอย่างไปกระตุ้น 
 
 
     ซึ่งนอกจากแยกการอาเจียนได้แล้ว สิ่งที่เจ้าของต้องสังเกตเพิ่มเติมก็คือ ลักษณะสิ่งที่อาเจียนออกมาเป็นอย่างไร มีอะไรปนออกมาบ้าง มีหนอนพยาธิ เลือด หรือหญ้าปนหรือไม่ หรือพบเพียงน้ำดีเขียว ๆ เหลือง ๆ เฉย ๆ ไม่มีอะไรปนออกมาเลย การอาเจียนนั้นเกิดหลังจากการกินนานแค่ไหน หรือสัมพันธ์กับอาหารที่กินเข้าไปหรือไม่ น้องหมากินอะไรเข้าไป การอาเจียนนั้นเป็นมานานแค่ไหนแล้ว อาเจียนวันละกี่รอบ (ถ้ามากกว่า 3 รอบต่อวัน ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที) การอาเจียนมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน และมีอาการอื่นใดร่วมด้วยกับการอาเจียนหรือไม่ เช่น ท้องเสีย ท้องผูก กินน้ำมาก ปัสสาวะมาก ปัสสาวะไม่ออก เดินเซ อ่อนแรง ฯลฯ เพื่อนำมาแจ้งกับคุณหมอ สำหรับใช้ในการวินิจฉัยโรคต่อไปครับ

Dogilike.com :: 3 อาการป่วยที่เจ้าของสุนัขมักสับสน

 
 

3 ขากเสมหะ 

 
 
     การขากเสมหะกับการอาเจียน ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่เจ้าของมักจะสับสนเช่นกัน เจ้าของส่วนใหญ่มักจะแจ้งคุณหมอว่า สุนัขมีการอาเจียนแต่ไม่เห็นมีอะไรออกมา บางรายทึกทักว่า น้องมาตัวเองคงแอบไปกินกระดูกมา สงสัยว่ากระดูกจะติดคอขับไม่ออก เลยพามาให้คุณหมอช่วยตรวจดู 
 
 
     ความจริงแล้วทั้งสองอาการนี้ มีสาเหตุและตำแหน่งรอยโรคแตกต่างกัน อาเจียนนั้นมักเกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร ส่วนการขากเสมหะนั้นมักเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เสมหะเกิดจากการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหลอดลม หรือถุงลมในปอด เวลาที่น้องหมาหายใจเอาสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเข้าไป ร่างกายจึงมีการสร้างเสมหะออกมาเพื่อดักจับไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย จากนั้นจะมีการไอเพื่อขับเอาเสมหะ (expectoration) เหล่านั้นออกมาทางปาก เราเรียกการไอลักษณะนี้ว่า ไอแบบมีเสมหะ (Productive cough) แต่ทว่าเสมหะที่ร่างกายน้องหมาสร้างขึ้นมานี้ มีความเหนียวแน่นพอสมควร ทำให้ขับออกได้ยาก บางครั้งเราจึงเห็นว่า น้องหมาไอแล้วทำท่าขากเสมหะคล้ายกับน้องหมากำลังอาเจียน 
 

Dogilike.com :: 3 อาการป่วยที่เจ้าของสุนัขมักสับสน

     
     สำหรับโรคที่ทำให้น้องหมามีเสมหะได้นั้น ก็มีอยู่หลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดลมอักเสบติดต่อหรือหวัดในสุนัข (คลิก) โรคหลอดลมของปอดอักเสบเรื้อรัง (คลิก) โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ โรคปอดอักเสบจากการสำลัก เป็นต้น ซึ่งถ้าน้องหมาแสดงการขากเสมหะออกมา จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
 
 
     การแจ้งอาการป่วยของน้องหมาที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากนะครับ เพราะจะเห็นได้ว่า แต่ละอาการนั้นสามารถใช้บอกตำแหน่งของรอยโรคได้ เจ้าของจึงจำเป็นที่จะต้องแยกแยะอาการให้ถูกต้อง เพื่อให้น้องหมาได้รับการวินิจฉัยได้ตรงจุด และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปครับ 
 
 
 
 
 
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
 
รูปภาพประกอบ:
www.puppytoob.com
www.criticalcaredvm.com
www.dog-health-guide.org
www.moderngamekeeping.com
www.youtube.com/watch?v=iRjRiEno8SM
www.1.bp.blogspot.com
www.leospetcare.com