โดย: Candyx

5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น

มาดูวิธีการดูแลและเลี้ยงน้องหมาขาสั้นอย่างถูกต้องกันเถอะ

14 ตุลาคม 2557 · · อ่าน (17,953)
2,876

SHARES


2,876 shares

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น

     ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ กระแสความนิยมในการเลี้ยงน้องหมาสายพันธุ์ขาสั้นในประเทศไทยเริ่มได้รับความสนใจจากเหล่าคนรักสุนัขมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากน้องหมาสายพันธุ์ขาสั้น เช่น สุนัขพันธุ์คอร์กี้ , ดัชชุน , บาสเซ็ต ฮาวด์ , น้องหมากลุ่มเทอร์เรีย ฯ เป็นน้องหมาที่มีความน่ารักเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ใครพบเห็นแล้วต่างก็ต้องตกหลุมรัก โดยเฉพาะสายพันธุ์ยอดฮิตอย่าง คอร์กี้ ที่มีขาสั้น ลำตัวยาว ขนปุกปุย ใบหน้าแหลมยาวเหมือนสุนัขจิ้งจอก หางสั้นกุด หูตั้งใหญ่ปลายหูโค้งมนเหมือนกระต่าย และมีดวงตากลมโตสดใส จึงทำให้ใครหลาย ๆ คนตกหลุมรักและเลือกรับน้องหมาขาสั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว ... แต่ถึงอย่างไร น้องหมาขาสั้นที่มีลำตัวยาวเหล่านี้ ก็มีข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลที่แตกต่างจากสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งผู้เลี้ยงจำเป็นที่จะต้องดูแลใส่ใจน้องหมาสายพันธุ์ขาสั้นเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อสุขภาพที่ดีของน้องหมา

     เทคนิคการเลี้ยงการดูแล ในวันนี้ ปังปอนด์ก็เลยนำข้อควรระวังในการดูแลน้องหมาขาสั้นสุดรักของเพื่อน ๆ อย่างถูกต้องมาฝากกันค่ะ ไม่รอช้า เราไปดูกันเลย ...

 
 

การกินกับปัญหาน้ำหนักส่วนเกิน

 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น
 

     ปัญหาน้ำหนักส่วนเกินหรือโรคอ้วน เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสุนัข ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาน้ำหนักส่วนเกินในน้องหมา มักเกิดขึ้้นจากวิธีการจัดการเรื่องโภชนาการอาหารที่ไม่ถูกต้องของผู้เลี้ยง (ให้อาหารตามใจน้องหมา , ใจอ่อนเมื่อเวลาน้องหมาขออาหาร , ให้น้องหมากินอาหารหรือขนมที่มีไขมันมาก ฯลฯ) ซึ่งการที่น้องหมามีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว มักจะส่งผลให้น้องหมามีปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ โรคผิวหนัง โรคเนื้องอกและมะเร็ง โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) โรคตับอ่อนอักเสบ มีความเสี่ยงในการวางยาผ่าตัดมากกว่าน้องหมาทั่วไป และทำให้น้องหมามีอายุสั้นลงอีกด้วย

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้องหมาพันธุ์ขาสั้น เช่น น้องหมาดัชชุนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง น้องหมาคอร์กี้ที่มีโรคอ้วนเป็นประจำสายพันธุ์ (10 สายพันธุ์สุนัขที่เสี่ยงเป็นโรคอ้วน) ผู้เลี้ยงก็จำเป็นที่จะต้องดูแลและพิถีพิถันเรื่องโภชนาการอาหารให้กับน้องหมาขาสั้นเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมาเกิดภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งจะส่งผลต่อการรับน้ำหนัก ทำให้เกิดปัญหาที่กระดูกสันหลังของน้องหมาได้ โดยผู้เลี้ยงควรเลือกให้อาหารสำเร็จรูปที่มีสารอาหารครบคุณค่าเหมาะกับน้องหมา เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3,6 DHA ที่ช่วยบำรุงผิวหนังและเส้นขน  แอล-คาร์นิทีน ที่จะช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกาย กลูโคซามีน ป้องกันไขข้ออักเสบ ฟอสฟอรัส ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กลูตามีน เสริมสร้างระบบทางเดินอาหารให้ดูดซึมสารอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิตามินดี แคลเซียม ที่เสริมสร้างให้สุนัขมีสุขภาพแข็งแรง มีโครงสร้างที่ได้สัดส่วนและรักษาสมดุลของกล้ามเนื้อ ฯ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะช่วยให้น้องหมามีสุขภาพดีค่ะ
 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น
 

     ส่วนในน้องหมาขาสั้นที่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้ว ระบบร่างกายต่าง ๆ ของน้องหมาจะเริ่มเสื่อมถอยลง น้องหมาจะใช้พลังงานน้อย ทำกิจกรรมระหว่างวันน้อยลงแต่ใช้เวลาไปกับการนอนมากขึ้น จึงทำให้มีความต้องการพลังงานจากอาหารลดน้อยลงกว่าเดิมประมาณ 20% ผู้เลี้ยงจึงต้องดูแลและควบคุมปริมาณอาหารให้น้องหมาสูงวัยเป็นพิเศษ โดยผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของน้องหมาด้วยการลดอาหารประเภทไขมันที่มีพลังงานสูงลงและเปลี่ยนมาให้อาหารที่กินง่ายย่อยง่าย เพิ่มกากใยมากขึ้น เช่น เนื้อปลา ไก่ ผัก ผลไม้ ฯลฯ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำหนักตัวที่จะส่งผลต่อข้อและกระดูกที่ต้องรับน้ำหนัก และส่งผลต่ออายุของน้องหมา

     หรืออาจจะเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปสูตรสุนัขสูงวัยที่พัฒนาและมีส่วนประกอบ ที่เหมาะสมกับน้องหมา ที่มีการเติมสารเสริมอาหารที่ช่วยในการรักษาสมดุลและเสริมสร้างส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กลูโคซามีน ที่ช่วยในการบำรุงข้อต่อให้น้องหมาเคลื่อนไหวดีขึ้น กรดไขมันโอเมก้า-3 มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ฟอสฟอรัส ช่วยการทำงานของไต วิตามินซีและวิตามินอี ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ ที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่น้องหมาสามารถกินได้ง่ายแทนนะคะ
 ( อ่านบทความเพิ่มเติม หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยง เพื่อการลดน้ำหนักของสุนัขที่ได้ผล)
 


สุนัขขาสั้นต้องระวังทุกย่างก้าว

 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น

     ในน้องหมาสายพันธุ์ขาสั้นและมีลักษณะลำตัวยาว เป็นน้องหมาที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับข้อต่อ กระดูกสันหลัง ซึ่งอาจทำให้น้องหมากลายเป็นอัมพาตได้สูงกว่าน้องหมาสายพันธุ์ทั่วไปที่มีรูปร่างสมส่วน เนื่องจากการมีหลังที่ยาวกว่าปกติจะมีโอกาสเสี่ยงทำให้ได้รับบาดเจ็บที่กระดูก เกิดการงอระหว่างกระดูกสันหลังได้ง่ายเมื่อถูกกระแทกแรง ๆ โดยจะแสดงอาการเมื่อน้องหมาอายุที่เพิ่มมากขึ้น  ผู้เลี้ยงจึงต้องระมัดระวังและคอยดูแลน้องหมาในกลุ่มนี้ให้อยู่ในสายตาอย่างใกล้ชิด

     แนะนำว่า ให้ผู้เลี้ยงดูแลน้องหมา ไม่ควรปล่อยให้น้องหมาวิ่งขึ้นลงบันไดเร็ว ๆ การเล่นกระโดดขึ้น ๆ ลง ๆ จากที่สูง หรือเลี้ยงในบ้านที่มีพื้นต่างระดับหรือพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ มากเกินไป เพราะการที่น้องหมาวิ่งขึ้นบันไดเร็ว ๆ หรือกระโดดขึ้นลงจากที่สูงบ่อย ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของน้องหมาได้รับบาดเจ็บ และยังส่งผลต่อข้อต่อของน้องหมาถูกกระแทก ทำให้น้องหมาเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้เร็วกว่าปกติ และในน้องหมาที่อายุมาก อาจพบอาการอัมพาตของขาหลัง เนื่องจากหมอนรองกระดูกไปกดไขประสาทสันหลังได้ และหากผู้เลี้ยงพาน้องหมาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ก็อย่าลืมสำรวจและประเมินความปลอดภัยของเส้นทางว่า มีพื้นต่างระดับหรือหลุมลึกไหม เพราะน้องหมาขาสั้นบางตัวอาจเดินสะดุดหรือเดินตกหลุมได้ค่ะ
 
 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น


     ทางที่ดีผู้เลี้ยงควรห้ามปรามน้องหมาตั้งแต่น้องหมายังเด็ก โดยการพูดห้ามและออกคำสั่งว่า “อย่าทำ” “ไม่ได้” ด้วยเสียงโทนต่ำ เพื่อบอกน้องหมาได้รู้ว่า การวิ่งขึ้นลงบันได การกระโดดขึ้นลงจากที่สูงเป็นสิ่งผิดที่น้องหมาทำไม่ได้ รวมถึงผู้เลี้ยงอาจใช้วิธีกั้นคอก จำกัดพื้นที่ให้น้องหมา ในช่วงเวลาที่ผู้เลี้ยงไม่อยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงที่น้องหมาจะวิ่งเล่นซนจนเกิดอุบัติเหตุ เมื่อผู้เลี้ยงกลับบ้านก็ค่อยปล่อยให้น้องหมาออกวิ่งเล่น โดยคอยระวังและดูแลน้องหมาให้อยู่ในสายตาตลอดเวลาด้วยนะคะ


ดูแลป้องกันโรคผิวหนัง

 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น
 

     สำหรับผู้ที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์ขาสั้น การดูแลความสะอาดร่างกาย ดูแลสุขภาพผิวหนังให้น้องหมาเป็นประจำถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้เลี้ยงไม่ควรมองข้ามเลยค่ะ เพราะในน้องหมาขาสั้นจะมีรูปร่างเตี้ยทำให้ผิวหนังช่วงอก ท้อง และช่วงขา สัมผัสกับพื้นดิน หญ้า และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย โดยเฉพาะกับน้องหมาเพศผู้ มักจะพบปัญหาคราบเหลืองบริเวณใต้ ซึ่งเกิดจากปัสสาวะของน้องหมาเปรอะเปื้อน เกาะตัวเป็นคราบเหลือง แข็ง ทำให้อับชื้น และมีกลิ่นเหม็น หากไม่ได้รับการดูแลก็อาจทำให้เกิดตุ่มแดง คัน เกิดกลิ่นตัว และเป็นโรคผิวหนังได้
ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องคอยดูแล โดยจับน้องหมามาเช็ดทำความสะอาดบริเวณใต้ท้องและอวัยวะส่วนอื่น ๆ  เพื่อป้องกันการเกิดโรคผิวหนังในน้องหมา หรืออาบน้ำโดยใช้ผลิตภัณฑ์แชมพสูตรสำหรับสุนัขมีกลิ่นสาบ หรือแชมพูสูตรสมุนไพรที่มีสารสกัดธรรมชาติที่อ่อนโยนต่อผิวหนังที่บอบบางของน้องหมา เช่น น้ำมันมะกอก สารสกัดจากเปลือกสน ว่านหางจระเข้  ฯ โดยทุกครั้งหลังจากสุนัขอาบน้ำเสร็จ ผู้เลี้ยงต้องใช้ไดร์เป่าขนสุนัขจนแห้งสนิท ไม่ควรปล่อยให้ขนสุนัขแห้งเอง เพราะจะทำให้ขนจับตัวเป็นกลุ่มก้อน เกิดความอับชื้น เกิดกลิ่น และโรคผิวหนังได้ค่ะ
 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น

 
     รวมถึงในน้องหมาที่ใบหูยาว อย่าง น้องหมาพันธุ์บาสเซ็ต ฮาวด์ ที่มีลักษณะใบหูพับตกลงมาจะมีแนวโน้มที่จะมีการติดเชื้อในช่องหูได้หลากหลายชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ และไรในหู ฯลฯ ทำให้เป็นโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบได้ โดยน้องหมาที่มีการติดเชื้อในหูจะแสดงอาการในเบื้องต้นคือ สั่นศีรษะ สะบัดหัวบ่อย พยายามเกาหู มีขี้หูสีเข้ม หูมีกลิ่นเหม็น มีของเหลวสีเหลือง น้ำตาล หรือของเหลวปนเลือดไหลซึมออกมา เดินวน หรือในบางรายก็อาจมีการทรงตัวผิดปกติ

     ถ้าหากน้องหมา ที่แสดงอาการเหล่านี้บ่อย ๆ มากกว่า 5-10 ครั้งต่อวัน ผู้เลี้ยงก็ควรพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ เพราะหากน้องหมาเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาก็จะเกิดการอักเสบและกลายเป็นการ ติดเชื้อเรื้อรังที่รักษาได้ยาก ซึ่งเจ้าของก็ควรหมั่นทำความสะอาดหูของน้องหมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการ ป้องกันดีกว่ามาแก้ไขในภายหลังที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างมากค่ะ  (อ่านบทความเพิ่มเติม 4 วิธีรับมือปัญหาช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัข)


ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ
 

 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น

 
     นอกจากที่ผู้เลี้ยงจะดูแลควบคุมเรื่องโภชนาการอาหารที่เหมาะสมให้กับน้องหมาเพื่อไม่ให้น้องหมาเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนแล้ว ผู้เลี้ยงก็ยังจำเป็นต้องจัดตารางการออกกำลังกายให้กับน้องหมาควบคู่กับการควบคุมอาหารให้กับน้องหมาเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นประจำเช่นกัน ...

     อย่างที่เราทราบกันแล้วว่า น้องหมาสายพันธุ์ขาสั้น มีลำตัวยาว เป็นน้องหมาที่เสี่ยงเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกได้มากกว่าน้องหมาทั่วไป ผู้เลี้ยงจึงต้องระมัดระวัง และเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับน้องหมา การออกกำลังกายที่เหมาะสมควรเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดการกระทบกระแทกน้อยที่สุด ได้แก่ การว่ายน้ำ วิ่งเหยาะๆ การเดินออกกำลังกายบนลู่วิ่ง ฯ ซึ่งผู้เลี้ยงอาจจะขอคำปรึกษาและวิธีการจัดตารางการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสัตวแพทย์ก็ได้ค่ะ
 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น


     นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงก็ควรเลือกช่วงเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสม โดยไม่ควรพาน้องหมาไปออกกำลังกายในช่วงที่มีแดดจัด หรือพาน้องหมาไปวิ่งออกกำลังกายบนพื้นปูนซีเมนต์ที่มีไอร้อนเพราะอาจทำให้อุ้งเท้าน้องหมาเกิดแผลพุพองจากความร้อนที่พื้น และอาจเป็นฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดได้ แนะนำว่า ให้ผู้เลี้ยงพาน้องหมาไปออกกำลังกายในช่วงเช้าและเย็นหลังพระอาทิตย์ตกเพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนจะดีที่สุดค่ะ  ...  (อ่านบทความเพิ่มเติม 5 พฤติกรรมของผู้เลี้ยงในเมืองที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพสุนัข แบ่งเวลา ... เติมความรักให้น้องหมาอย่างถูกวิธี )
 

Dogilike.com :: 5 ข้อควรระวังในการเลี้ยงดูแลสุนัขขาสั้น


     หากเพื่อน ๆ คิดจะรับเลี้ยงน้องหมาขาสั้นให้เข้ามาอยู่ในบ้านแล้ว ผู้เลี้ยงก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาข้อมูลสายพันธุ์น้องหมาและวิธีการเลี้ยงดูแลน้องหมาที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องอุปนิสัย พฤติกรรม โรคประจำสายพันธุ์ การกิน การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับน้องหมา รวมถึงข้อระวังที่ได้บอกไปแล้วข้างต้น เพื่อน้องหมาจะได้มีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวปราศจากโรคภัยต่าง ๆ ค่ะ
 


บทความโดย : Dogilike.com
http://www.dogilike.com/

ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
http://www.veterinarypartner.com/Content.plx?P=A&A=3495&S=0&SourceID=28
http://www.sacbee.com/2013/09/24/5761480/pet-connection-spinal-alert.html

ภาพประกอบ :
https://www.flickr.com/photos/lukema/8566591759
https://www.flickr.com/photos/vagawi/3156138990
https://www.flickr.com/photos/evocateur/8526324984
https://www.flickr.com/photos/78428166@N00/3658725398
https://www.flickr.com/photos/78428166@N00/3881905533
https://www.flickr.com/photos/nao-cha/16648868
https://www.flickr.com/photos/evocateur/8525201323
http://barkpost.com/obie-obese-dachshund/