โดย: พริกขี้หนู
5 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนทำนวดบำบัดให้น้องหมาสุดรัก [ตอนที่ 2]
ก่อนไปลงมือนวดบำบัดให้น้องหมาคลายเครียด ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนนะคะ มิเช่นนั้นจะหาว่าไม่เตือน!!!
20 พฤศจิกายน 2555 · · อ่าน (23,351)น้องหมาแต่ละตัวมีลักษณะนิสัย บุคลิก ความต้องการและการตอบสนองที่แตกต่างกัน บางคนเลี้ยงน้องหมามาตั้งแต่น้องหมายังเล็กๆ กลับถูกน้องหมางับมือเสียดื้อๆ อุตส่าห์นวดให้น้องหมาด้วยความหวังดีแท้ๆ ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หรือจริงๆ แล้วไม่ควรนวดน้องหมากันแน่นะ
หากใครที่เคยเกิดปัญหาขณะนวดให้น้องหมา หรือกำลังคิดจะนวดให้น้องหมาอยู่ละก็ บทความนี้จะช่วยเรื่องการเตรียมพร้อม วอร์มอัพ ก่อนนวด เพราะถึงแม้จะเป็นการนวดง่ายๆ ให้น้องหมาที่บ้านคลายเครียดก็ไม่ควรมองข้าม 5 เรื่องต่อไปนี้ ที่ ต้อง รู้ก่อนนวดบำบัด มิเช่นนั้น อาจจะเครียดเพิ่มขึ้นทั้งน้องหมาและตัวเราเองค่ะ
1.ต้องรู้.....โครงสร้างร่างกายและกล้ามเนื้อน้องหมาระดับพื้นฐาน
การนวดให้น้องหมาเองที่บ้านแม้ไม่จำเป็นต้องรู้ลึกว่ากล้ามเนื้อน้องหมามีอะไร อยู่ตำแหน่งไหน แต่การรู้บ้างเพียงน้อยนิดมหาศาลค่ะ เพราะจะทำให้เรารู้ว่ากล้ามเนื้อส่วนไหนควรระมัดระวังในการนวดเป็นพิเศษ และส่วนใด ที่สามารถสบายใจไร้กังวล
โดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างการเติบโตทางร่างกายของน้องหมาเกิดจากการ ขยายใหญ่ และแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ และเส้นเอ็น ซึ่งระยะเวลาการเติบโตของกระดูกแต่ละกลุ่มสายพันธุ์ไม่เท่ากันอีกค่ะ อย่างในกลุ่มน้องหมาสายพันธุ์ตุ๊กตา (Toy) กระดูกจะเติบโตเต็มที่ภายใน 8-12 เดือน ในขณะที่กลุ่มสายพันธุ์ใหญ่ เช่น มาสเทิฟฟ์ (Mastiff) ใช้เวลา 16-18 เดือน ดังนั้นการนวดให้น้องหมาช่วงเวลาก่อนกระดูกและกล้ามเนื้อโตเต็มวัยจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกได้ดีขึ้นค่ะ
อย่างไรก็ตาม การนวดน้องหมาก็จำเป็นจะเป็นต้องรู้ว่าอวัยวะใดเปราะบางต่อการบีบกด เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการลงน้ำหนักที่อาจจะมากเกินไป เพราะถึงแม้น้องหมาจะมีกระดูกซี่โครงจะช่วยปกป้องอวัยวะภายในที่เปราะบางมากอย่างเช่น หัวใจ หรือ ปอด แต่ก็มีบางบริเวณบนร่างกายที่ต้องระมัดระวัง ดังนี้ค่ะ
หน้าท้อง ไม่มีโครงกระดูกป้องกัน มีเพียงกล้ามเนื้อหน้าท้องตรึงอวัยวะให้อยู่ภายใน จึงควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการกดทับด้วยน้ำหนักแรงจนเกินไป
หน้าอก เชื่อมกระดูกซี่โครงเข้าหากัน มีจุดเชื่อมแนวซี่โครงที่เปราะบางมาก จึง ไม่ควรกดหรือแบบนวดลงน้ำหนัก เพราะอาจทำให้ส่วนเชื่อมซี่โครงได้รับความเสียหาย
ศีรษะ ควรระมัดระวังลักษณะศีรษะของน้องหมาบางพันธุ์ อย่างเช่น ชิวาวา ถ้ากระโหลกศีรษะยังไม่ปิด การกดนิ้วลงไปในช่องโบว๋กลางศีรษะอาจทำให้พวกเขาได้รับอันตรายได้ค่ะ
รอบดวงตา เป็นส่วนที่เปราะบางมากๆ โดยเฉพาะน้องหมาบางสายพันธุ์ที่ตาโตโปน ยิ่งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ทางที่ดีไม่ควรนวดบริเวณนั้นค่ะ
กระดูกสันหลัง ให้ระวังเรื่องแรงกดหรือนวดแรงจนเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้ค่ะ
สะโพก ทั่วไปแล้วสามารถนวดได้ค่ะ แต่อาจต้องระวังสำหรับน้องหมาบางสายพันธุ์ที่โรคประจำสายพันธุ์เสี่ยงต่อเป็นโรคสะโพกเสื่อม พยายามหลีกเลี่ยงการกดลงไปบริเวณข้อตอของสะโพก แค่นวดช่วงกล้ามเนื้อด้วยน้ำหนักเบาๆ ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าน้องหมาเป็นโรคสะโพกเสื่อม การนวดควรอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ค่ะ ส่วนอวัยวะอื่นๆ สามารถนวดได้ตามความพึงพอใจทั้งของผู้เลี้ยงและน้องหมาเลยค่ะ
2. ต้องรู้...ข้อห้ามในการนวดน้องหมา
ปกติแล้วเวลาเราจะนวดใครก็ต้องถามเขาก่อนว่า อยากนวดไหม ถ้าเขาต้องการถึงจะนวดให้ น้องหมาก็เหมือนกันค่ะ ทว่าน้องหมาไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ว่าอยากไม่อยาก ชอบไม่ชอบ หากเขาไม่ต้องการให้นวด หรือ การนวดของเราไปทำความรำคาญใจให้เขาก็อาจทำให้เขาอารมณ์ไม่ดี แว้งกัดเราก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงต้องรู้ข้อห้ามในการนวดเพื่อสวัสดิภาพของตัวเราค่ะ
-ไม่บังคับน้องหมา หากรู้สึกว่าน้องหมาไม่ต้องการ อย่าบีบคั้นบังคบขู่เข็น แม้เขาจะไม่ขู่หรือกัดก็ตาม ต้องเคารพพื้นที่และความเป็นส่วนตัวของเขาค่ะ เพราะถึงทำไปทั้งๆที่เขาไม่เต็มใจ ก็ไม่ได้ช่วยทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาเลย
-ไม่นวดน้องหมาที่ไม่รู้จักดี ไม่ควรนวดให้น้องหมาที่เราไม่รู้จักนะคะ หรือถ้าจะนวดให้ก็ควรทำความรู้จักกับเขา เพื่อสร้างความคุ้นเคยกันก่อน
- อย่านวด ถ้าน้องหมาอารมณ์ไม่ดี เพราะการนวดของเราอาจยิ่งไปทำให้เขาหงุดหงิด รำคาญกว่าเดิม
-ไม่ควรดึงหู หาง หนวด ขน หรือแตะต้องอวัยวะส่วนตั๊วส่วนตัวของเขานะคะ เขาก็หวงเป็นเหมือนกัน เดี๋ยวจะแว้งกัดขึ้นมาได้
-ห้ามใช้การนวดแทนการรักษาของสัวแพทย์ ถ้าจะนวดให้น้องหมาที่ป่วย หรือได้รับการผ่าตัดเอง ควรได้รับการอนุมัติจากสัตวแพทย์ก่อนค่ะ
3.ต้องรู้...ปฏิกริยาที่ไม่เป็นมิตรของสุนัข
เนื่องด้วยน้องหมาไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ว่า เฮ้! วันนี้อารมณ์ไม่ดี อย่ามาแตะตัวฉันนะ หรือบอกว่า จั๊กจี๋ที่ท้อง เค้าไม่ชอบ ออกไปไกลๆ ที่สำคัญ ไม่ใช่น้องหมาทุกตัวจะชอบให้นวด ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องคอยสังเกตปฏิกริยา และอาการของน้องหมาว่าเป็นอย่างไร อยู่ในอารมณ์พร้อมนวดไหม หรือถ้านวดไปแล้วเขามีปฏิกริยาทางลบดังต่อไปนี้ ควรหยุดนวดทันที ไม่มีหยุดคิด เพราะน้องหมาประสาทไวมาก ถ้าเรายังฝืนทำต่อไปอาจถูกกัดได้ค่ะ
-ขู่ คำรามใส่ ผงะ หรือ ร้องเอ๋ง เป็นสัญญาณแสดงว่า เขารู้สึกไม่ปลอดภัย แล้วพร้อมสู้หรือไม่ก็วิ่งหนี
-ตอด งับ ขบ มือของเรา แม้จะเหมือนจะงับเล่นๆ ไม่ควรนวดต่อแล้วค่ะ เพราะจะกลายเป็นงับจริงในเวลาต่อมา
- สะบัดหู เลิกคิ้ว เหลือบตา กรอกตา เหลือบตามองมือของเรา ไอ้ตาขาวๆนี่แหละ กำลังบอกว่า ไม่ไว้ใจนะ รำคาญนะหยุดนวดได้แล้ว
- กลั้นหายใจ ตึงเครียด เกร็งกล้ามเนื้อ แสดงว่าเขาไม่รู้สึกไม่สบายตัว และไม่พร้อมสำหรับการนวดค่ะ
- เดินหนี ปฏิกริยาที่รู้ได้ทันทีว่า ไม่ต้องการ เราไม่ต้องเดินตาม หรือลากเขามานวดนะคะ การนวดคือเวลาแห่งการผ่อนคลาย ไม่มีการบังคับค่ะ เพราะอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมปกติในแง่ลบ เราก็ต้องปล่อยวาง ไว้ลองทำครั้งต่อไปนะคะ
4. ต้องรู้...วิธีการเข้าหาสุนัขอย่างถูกวิธี
การสัมผัสร่างกาย หรือการนวด ถือว่าเป็นการเข้าไปในเขตพื้นที่ส่วนตัวของน้องหมา จากหนังสือ dog massage ของ Maryjean Ballner ได้กล่าวถึงการการเข้าหาน้องหมาได้ ไว้ดังนี้ค่ะ
- ต้องเริ่มต้นด้วยการนวดด้วยเสียงก่อน ซึ่งก็คือพูดคุยทักทายเขา ด้วยโทนเสียง อยู่ที่การใชที่มีจังหวะจะโคนในลักษณะปลอบประโลม เชิญชวนให้กำลังใจ เป็นคำพูในเชิงบวก ไม่ควรใช้เสียงสูงจากนั้นค่อยนวดด้วยการสัมผัสอย่างช้าๆ ค่ะ
- สำหรับน้องหมาที่ไม่คุ้นเคย การสัมผัสเริ่มแรกควรให้มืออยู่ระดับเดียวกับสายตาน้องหมา หรือต่ำกว่านั้นเสมอ เคลื่อนมือเข้าไปช้าๆ ให้เขาตั้งตัว จำได้ และยอมรับ
- ให้สังเกตปฏิกริยาว่าเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตร หากเห็นท่าไม่ดีก็ไม่ควรเซ้าซี้นวดเขานะคะ
- รู้ตำแหน่งการวางมือที่เหมาะสม คือ ให้วางในตำแหน่งที่ปลอดภัย และไม่เปราะบางหรืออ่อนไหวสำหรับน้องหมา ซึ่งก็คือบริเวณหัวไหล่ (เหมือนเรกิเลยนะคะ) เมื่อเขาโอเคเซย์เยสก็นวดให้ช้าๆ อย่างนุ่มนวลค่ะ
5. ต้องรู้...น้ำหนักและจังหวะของการนวดที่พอดี
ไม่ว่าจะการสัมผัสหรือการนวด หากนวดผิดเวลา ผิดจังหวะก็อาจทำให้ผู้ได้รับรู้สึกไม่สบายตัวไม่สบายใจได้ ความพอเหมาะ พอดี จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำบำบัด ไม่ควรคิดแทนน้องหมานะคะ ว่าเราชอบนวดกดน้ำหนักลงแรงๆ แล้วน้องหมาจะชอบแรงๆ เหมือนกัน อย่าลืมนะว่าประสาทสัมผัสน้องหมาไวกว่าคนหลายเท่า ดังนั้นน้ำหนักหรือแรงกดไม่ควรจะแรงจนเกินไปจนเขารู้สึกเจ็บ หรือไม่เบาเสียจนเขารู้สึกจั๊กจี๋ น่ารำคาญ จังหวะควรเริ่มจากเบาๆ ช้าๆ เช่น หมุนรอบแก้ม หรือลากยาวที่ลำตัว ก็ควรเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ ในส่วนของความเร็ว ควรมีช้าบ้าง เร็วบ้าง เพื่อให้เขารู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ก็ยังคงเป็นความเร็วที่พอเหมาะพอดี เท่านี้เขาก็รู้สึกสบายตัว หลับปุ๋ยแล้วล่ะค่ะ (ในบทความต่อๆ ไปจะบอกนะคะ ว่าตำแหน่งไหน ควรเร็ว หรือช้าเมื่อไหร่ อย่างไร ติดตามอ่านนะคะ)
เป็นอย่างไรบ้างคะ สิ่งที่ต้องรู้ก่อนนวดให้น้องหมา อาจจะดูจุกจิก มีรายละเอียดและข้อพึงระวังเยอะมากจนชักกังวลว่าจะเป็นอันตรายไหม จะนวดให้ได้จริงๆ หรือเปล่า ไม่ต้องห่วงนะคะ เพราะในตอนต่อๆ ไปพริกจะมาบอกวิธีการนวดน้องหมาอย่างปลอดภัย ถูกตำแหน่ง น้ำหนัก และจังหวะ เริ่มด้วยตำแหน่งที่ปลอดภัย สบายใจที่สุดบนร่างกายน้องหมา นั่นก็คือ การนวดไหล่และหลังค่ะ ซึ่งถ้าเพื่อนๆ ได้ลงมือนวดจริงๆ ก็จะเห็นว่าการนวดได้ไม่ยากอย่างที่คิด แถมทั้งตัวเราและน้องหมายังรู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลายอีกด้วย ยิงทีเดียวได้นก 2 ตัว ดังนั้น ต้องไม่พลาดบทความตอนต่อไปนะคะ ^^
บทความโดย : Dogilike.com
ข้อมูลอ้างอิง :
http://www.caninemassagemidlands.com/content-9.asp
http://www.vitaminsforpitbulls.com/dog_muscle_anatomy.html
http://dogtime.com/massage.html
หนังสือ Dog Massage เขียนโดย Maryjean Ballner
ภาพประกอบ :
ภาพประกอบ :
http://jusani.com/blog/animal-massage-know-basics
http://www.wagsworthmanor.com/html/massage.htm
http://www.ilovedogs.com/2012/05/dog-bite-prevention-week-dont-become-a-statistic/
http://www.petsugar.com/Dog-Massages-18041672
http://csuvets.colostate.edu/pain/articles.htm
http://www.whigham.org/baby/2009/September/index.asp
http://animalslook.com/tips-to-avoid-dog-bites/
SHARES