โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว
ดูแลหัวใจสุนัขให้ดี ... มารู้จักโรคหัวใจในสุนัขกัน
อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร และมีสาเหตุมาจากอะไรไปติดตามกัน
7 กุมภาพันธ์ 2555 · · อ่าน (73,149)
เมื่อวันก่อนพาเกาลัดไปพบคุณหมอตามนัด ไปถึงคุณหมอจับเจ้าตัวดื้อขึ้นตราชั่ง โดยชั่งได้ 4.5 กก. ซึ่งคุณหมอบอกว่าเพื่อเปรียบเทียบสายพันธุ์กับอายุแล้ว ถือว่าสมดุลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ไม่ปล่อยให้สุนัขมีน้ำหนักมากจนเกินไป เพราะถ้าหากไม่มีการควบคุมน้ำหนัก ปล่อยให้สุนัขกินตามใจปากจนอ้วนเป็นหมู สุนัขของเราอาจจะเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคร้ายหลายๆ โรค รวมไปถึง "หัวใจ" ด้วย ตอนแรกฟังแล้วยังงงๆ อยู่ว่าสุนัขสามารถป่วยเป็นโรคหัวใจได้ด้วยเหรอ แล้วอาการของโรคนี้จะเป็นยังไง? ... ก็เลยลองขอความรู้จากคุณหมอมาค่ะ คุณหมอบอกว่าจริงๆ แล้วโรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นกับหมาได้เช่นเดียวกับในคนนั่นแหละค่ะ โดยวิธีการตรวจหาโรคหัวใจในสุนัขนั้นยังใช้เทคนิคการตรวจที่เหมือนกัน เช่น ฟังการเต้นของหัวใจ การวัดคลื่นหัวใจ (ECG) วัดความดัน ถ่ายเอ็กซเรย์ แม้กระทั่งตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ดก็ตามทีค่ะ นอกจากนี้ก็ยังใช้ยารักษาโรคหัวใจเหมือนในคนอีกด้วยล่ะค่ะ สำหรับโรคหัวใจในสุนัขนั้นแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ประเภทแรก เป็นโรคหัวมาแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจเป็นรู การค้างของหลอดเลือดแดง ฯลฯ ส่วนประเภทที่สอง เป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ลิ้นหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจโต ฯลฯ ซึ่งโดยทั่วไปมักพบว่าโรคหัวใจมีการพัฒนาขึ้นในช่วงกลางชีวิต โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง เป็นลักษณะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอายุมาก สำหรับโรคหัวใจที่มักจะพบในสุนัขบ่อยๆ จะแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ 1. โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ โดยมีการปิดไม่ดี ทำให้มีการรั่วไหลย้อนของเลือด ส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในสุนัข 2. โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ อาการผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัว (ซึ่งพบบ่อยในแมว) หรือที่เรียกว่า Hypertrophic Cardiomyopathy (HCM) หรือความผิดปกติกล้ามเนื้อหัวใจอีกชนิด คือผนังกล้ามเนื้อหัวใจบางกว่าปกติและมีความอ่อนแอ ที่เรียกว่า Dilated Cardiomyopathy (DCM) มีผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง (ซึ่งกรณีนี้มักพบในสุนัข) ในสุนัขหรือแมวจะเป็นตรงกันข้ามกัน โรคหัวใจทั้งสองชนิด จะค่อยพัฒนาขึ้นโดยใช้ระยะเวลา แต่ผลในที่สุดคือ ก่อให้เกิดภาวะที่มีความรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า "หัวใจล้มเหลว" (Heart Failure) เกิดหัวใจวายและเสียชีวิตในที่สุด ผู้เลี้ยงหลายคนอาจจะมีความกังวลว่าสุนัขของตัวเองจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ และถ้าเกิดเป็นแล้วต้องรักษายังไง และอีกหลายๆ ความกังวลที่เกิดขึ้น ... จริงๆ แล้วโรคหัวใจในสุนัขนั้นสามารถสังเกตอาการป่วยในขั้นเริ่มแรกได้ก่อนที่จะพาไปพบสัตวแพทย์ โดยอาการเบื้องต้นที่เราอาจจะตั้งข้อสงสัยได้ว่าสุนัขของเราจะป่วยเป็นโรคหัวใจก็คือ สุนัขจะมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าที่ควรหรือที่เคย เช่นเดินขึ้นบันได วิ่งเล่นไม่กี่นาทีก็หอบมาก เหงือกซีดเขียวรวดเร็ว มีการไอ หายใจลำบาก ท้องบวมโตขึ้น หรือเรียกว่าท้องมาน เกิดลักษณะบวมน้ำที่อุ้งเท้าและขาหลัง บางครั้งอาจเกิดขึ้นใต้ผิวหนังทั่วไป หากคลำชีพจรดูจะพบว่ามีการเต้นเร็วมากแต่มักแผ่วเบาหรือบางรายก็เต้นแรงมากเกินปกติ ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยค่ะว่าสุนัขของเราอาจจะป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่ ดังนั้นควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเลยค่ะ สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจในสุนัขนั้น ในกรณีที่สุนัขไม่ได้เป็นโรคหัวใจมาตั้งแต่เกิด สาเหตุที่ทำให้สุนัขป่วยเป็นโรคหัวใจได้ในภายหลัง อาจจะเกิดจากปัจจัยในด้านอายุ สุนัขที่อายุมาก ย่อมมีโอกาสเรื่องเป็นโรคหัวใจสูงเช่นเดียวกับสุนัขที่อ้วนมากๆ หรือสุนัขสายพันธุ์ที่มีอัตราการออกกำลังกายหรือใช้งานที่หักโหม รวมไปถึงสุนัขที่มีปัญหาความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรีย พันธุกรรม ฯลฯ ส่วนเรื่องวิธีการรักษานั้น โรคหัวใจในสุนัขสามารถรักษาได้ทั้งวิธีการใช้ยาและการผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้การรักษาด้วยยา แต่สิ่งที่สำคัญที่ผู้เลี้ยงควรจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็คือ ผู้เลี้ยงจะต้องมีวินัยในการให้ยาสุนัขอย่างสม่ำเสมอตรงเวลา และจะต้องพาสุนัขไปพบสัตว์แพทย์ตามนัด และควรจะให้สุนัขออกกำลังกายภายใต้การควบคุมของผู้เลี้ยงในปริมาณที่พอดี รวมไปถึงอีกสิ่งที่สำคัญคือ จะต้องควบคุมอาหารและน้ำให้มีปริมาณพอดีไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เพื่อให้สุนัขได้รับสารอาหารครบถ้วน และควบคุมไม่ให้มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ค่ะ
รู้แบบนี้แล้ว ถ้าหากใครกังวลว่าสุนัขของตัวเองอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจได้ล่ะก็ ให้ลองสังเกตอาหารของเขาดูนะคะ ถ้าพบว่ามีลักษณะอาการหลายๆ อย่างที่เข้าข่าย ก็ควรรีบพาไปพบสัตว์แพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการทันทีเลยนะคะ จำไว้ว่ายิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายได้สูงนะคะ ... ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน : หนังสือ คลายกังวล คนรักสัตว์ เขียนโดย ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร นิตยสาร Dogazine ภาพประกอบ : http://www.pukpuiclub.com/โรคอ้วนในสุนัข/ http://ecpd-vetnurse.com/2012/01/19/canine-heart-disease-online-vet-nurse-cpd/ http://blog.cognifit.com/2011_07_01_archive.html http://healthypets.mercola.com/sites/healthypets/archive/2010/07/14/dont-let-your-dog-be-the-next-casualty-of-this-deadly-disease.aspx |
SHARES