โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

รู้ทันโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

รู้เอาไว้ป้องกันไม่ให้น้องหมาป่วย

21 กุมภาพันธ์ 2555 · · อ่าน (126,176)
840

SHARES


840 shares
Dogilike.com :: รู้ทันโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

     ... จากเมื่อตอนที่แล้ว มะเหมี่ยวได้นำเรื่องราวของอาการโรคหัวใจในสุนัข คือโรคลิ้นหัวใจรั่ว และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ กันไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ก็มีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจในสุนัขอีกโรคหนึ่งมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังกันต่อค่ะ
 

มารู้จักโรคพยาธิหนอนหัวใจกัน

Dogilike.com :: รู้ทันโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

     โรคหัวใจในสุนัขอีกโรคหนึ่งที่น่ากลัวก็คือ โรคพยาธิหนอนหัวใจ นั่นเองค่ะ ... สำหรับโรคพยาธิหนอนหัวใจนั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัข โดยมียุงเป็นพาหนะ การติดเชื้อเกิดขึ้นได้เนื่องจากยุงกินเลือดสุนัขที่มีตัวอ่อนของเชื้ออยู่ ซึ่งตัวอ่อนนนั้นจะพัฒนาในตัวยุง จากนั้นจะปล่อยตัวอ่อนระยะติดเชื้อให้สุนัขตัวอื่นที่ยุงกินเลือด ซึ่งสุนัขที่ถูกยุงตัวนั้นกัดก็จะได้รับถ่ายทอดพยาธิตัวแก่ (ตัวแก่พยาธิหนอนหัวใจ เกิดจากเชื้อ Dirofilaria immitis สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า จะมีรูปร่างยาวเรียว) เข้าไป ส่วนใหญ่แล้วพยาธิตัวแก่ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพยาธิหนอนหัวใจนั้น จะอาศัยอยู่ในหัวใจห้องล่างขวา หลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปสู่ปอดและหลอดเลือดดำใหญ่

     สำหรับพยาธิหนอนหัวใจมักจะพบได้ทั่วไปในเขตที่มีอากาศอบอุ่นและแถบเมืองร้อนทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย ... นี่เองจึงเป็นสาเหตุให้พบว่าสุนัขในประเทศไทยมีโอกาศเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจพบได้มาก
 

อาการของโรคพยาธิหนอนหัวใจเป็นอย่างไร

     ส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคนี้มันจะแสดงเมื่อสุนัขมีอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป โดยจะพบว่าสุนัขที่ติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจนั้นจะมีอาการ ซึม เหนื่อยง่าย หายใจหอบ ร่างกายอ่อนเพลีย ไอแห้งๆ และบางตัวจะมีเลือดออกมาด้วยเมื่อไอ ในระยะต่อมาจะบวมน้ำและท้องมาน และเสียชีวิตในที่สุด

     แต่ถ้าหากสุนัขติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจจำนวนไม่มาก อาจจะไม่พบอาการเด่นชัด แต่จะสังเกตได้ง่ายถ้าเป็นสุนัขใช้งาน สุนัขจะมีอาการเหนื่อยง่าย เขาจะมีอาการหอบเมื่อเราให้เขาออกกำลังกาย ซึ่งถ้าเขาเหนื่อยมากอาจทำให้เขาหัวใจวายและเสียชีวิตได้


วงจรชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจ

Dogilike.com :: รู้ทันโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

     ตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจอาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือดใกล้เคียง ยุงตัวเมียจะปล่อยตัวอ่อนเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งเชื้อโรคจะถูกถ่ายทอดต่อไปยังยุงตัวเมียอีกตัวในขณะที่กินเลือดสุนัขที่ติดเชื้อนี้ แล้วตัวอ่อนจะพัฒนาในตัวยุงกลายเป็นตัวอ่อนระยะติดเชื้อโดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และไปอยู่ที่ปากของยุง

     เมื่อยุงที่มีตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจไปดูดเลือดสุนัขที่ปกติก็จะปล่อยตัวอ่อนให้กับสุนัขตัวนั้น ตัวอ่อนจะเคลื่อนที่จากเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังของสุนัขและมีการพัฒนาอีก 2 ครั้งจนกลายเป็นตัวแก่ระยะแรกในหัวใจและหลอดเลือด จากนั้นจะถ่ายทอดสู่ปอดภายในเวลา 3-4 เดือน และในระยะ 6 เดือน จะพบตัวอ่อนในกระแสเลือด เมื่อยุงกัดสุนัขที่มีเชื้อพยาธิหนอนหัวใจยุงก็จะได้รับตัวอ่อนและตัวอ่อนจมีการพัฒนาในยุง เมื่อยุงตัวนั้นไปกัดสุนัขปกติตัวอื่นก็ทำให้ติดเขื้อพยาธิหนอนหัวใจได้  ตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจมีชีวิตอยู่ได้หลายปีและสามารถปล่อยตัวอ่อนได้นาน ถึง 5 ปี


สิ่งที่ต้องระวังคือ "โรคแทรกซ้อน"

     อาการแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจมีการพัฒนาโตจนอยู่ในระยะตัวแก่ในหัวใจและหลอดเลือดที่ปอด ซึ่งอาการป่วยของสุนัขจะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิตัวแก่ที่อยู่ในร่างกาสุนัข ถ้าหากมีพยาธิตัวแก่อยู่จำนวนน้อยก็จะไม่พบอาการป่วย แต่ถ้าหากพบว่ามีอยู่จำนวนมากก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบหมุนเวียนโลหิตได้ เช่น เชื้อโรคอาจจะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดจนถึงขึ้นเกิสภาวะหัวใจวายได้ หรืออาจจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

     นอกจากนี้พยาธิตัวแก่ที่ตายแล้วอาจจะไปอุดตันหลอดเลือดที่นำเลือดไปสู่ปอด จึงทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดอาการหัวใจวายได้


วิธีการดูแลรักษาสุนัขที่ป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ

Dogilike.com :: รู้ทันโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

     เนื่องจากยาที่ใช้ฉีดทำลายตัวแก่พยาธิหนอนหัวใจมี ความเป็นพิษสูง ดังนั้นก่อนที่จะใช้ยานี้ในการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจต้องตรวจสุขภาพสุนัข ให้ละเอียด รวมทั้งการตรวจค่าโลหิตวิทยาเพื่อดูการทำงานของตับและไต ในบางรายอาจจำเป็นต้องถ่ายเอ็กซเรย์ช่องอกเพื่อดูสภาพของหัวใจและปอดด้วย ถ้าสุขภาพไม่ดีก็จำเป็นที่จะต้องให้การบำรุงไปก่อน ถ้าสุขภาพอยู่ในขั้นที่จะฉีดยารักษาได้ก็ให้การรักษาทันที

     ในปัจจุบันยา ที่ใช้ในการรักษาโรคนี้มีราคาแพงมาก จึงควรที่จะป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคนี้จะดีกว่า นอกจากนี้สุนัขที่ฉีดยารักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจอาจจะตายได้ เนื่องจากตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจที่ตายอุดหลอดเลือด ดังนั้นจึงควรขังสุนัขที่ฉีดยารักษาไว้อย่างน้อย 2-6 สัปดาห์

     หลังจากฉีดยาทำลายตัวแก่แล้วประมาณ 4 สัปดาห์ จึงควรให้กินหรือฉีดยาทำลายตัวอ่อน และให้กินหรือฉีดยาป้องกันตามโปรแกรมที่แนะนำให้โดยสัตวแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นโรคนี้ขึ้นมาได้อีก


รู้ไว้ควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

Dogilike.com :: รู้ทันโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

     การควบคุมโรคพยาธิหนอนหัวใจโดยการป้องกัน ไม่ให้ยุงที่มีเชื้อพยาธิหนอนหัวใจมากัดนั้นกระทำได้ยาก เพราะประเทศไทย อยู่ในเขตร้อนและมียุงตลอดปี จึงต้องใช้วิธีการป้องกันโดยการกินหรือฉีดยาทำลายตัวอ่อนในเลือดสุนัขเพื่อ ไม่ให้พัฒนาไปเป็นตัวแก่ในหัวใจสุนัข แต่การฉีดยาป้องกันจะสะดวกและประหยัดกว่าการให้กิน เพราะถ้าให้กินยาต้องให้กินทุกเดือน แต่ถ้าฉีดให้ฉีดให้ทุก 2 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่สุนัขอายุ 3 เดือน

      ถ้าจะใช้โปรแกรมการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ในขั้นแรกต้องทำการตรวจเลือดก่อนว่ามีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจอยู่หรือไม่ ถ้าตรวจไม่พบตัวอ่อนก็เข้าโปรแกรมป้องกันได้เลย แต่ถ้าตรวจพบตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจ แสดงว่ามีตัวแก่อยู่ในหัวใจ ต้องฉีดยาทำลายตัวแก่ก่อน จากนั้นจึงเข้าโปรแกรมป้องกันโรคนี้

     ส่วนสุนัขที่ต้องการจะเข้าโปรแกรมการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ แต่เคยได้รับยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจมาแล้ว แต่ไม่ได้รับต่อเนื่องตามโปรแกรมที่แนะนำโดยสัตวแพทย์ หรือเคยประยุกต์ใช้ยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจมาใช้ในการกำจัดเห็บและขี้เรื้อน ในทั้งสองกรณีนี้จำเป็นต้องทำการตรวจทางวิทยาภูมิคุ้มกัน เพื่อหาแอนติเจนของพยาธิตัวแก่ในเลือดเสียก่อน เพราะถึงแม้จะตรวจเลือดไม่พบตัวอ่อน แต่ก็อาจจะมีตัวแก่ในหัวใจได้ ถ้าผลการตรวจเป็นลบ แสดงว่าไม่มีพยาธิหนอนหัวใจตัวแก่ สามารถเข้าโปรแกรมการป้องกันได้เลย แต่ถ้าผลเป็นบวกแสดงว่ามีตัวแก่อยู่ในหัวใจ ต้องฉีดยาทำลายตัวแก่ก่อน จากนั้นจึงเข้าโปรแกรมการป้องกัน






บทความโดย:  Dogilike.com

ขอบคุณข้อมูลทางการแพทย์:  สัตวแพทย์หญิง ภิรญา พัฒนจินดากุล วีแคร์เพ็ทคลินิก


ภาพประกอบ: http://www.petonearth.com/?p=1481
http://www.123rf.com/photo_8290007_sick-dog-facing-wide-angle-camera-on-white-background.html
http://www.crittercures.com/Newsletters/April-2011-Pet-Health-News.html