โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น

ทำไมถึงต้องพาสุนัขไปจดใบเพ็ดดีกรี และใบเพ็ดดีกรีมีประโยชน์อย่างไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง ตามไปหาคำตอบกัน

22 พฤษภาคม 2555 · · อ่าน (204,601)
220

SHARES


220 shares
Dogilike.com :: ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น

     เวลาที่เราจะเลือกลูกสุนัขมาเลี้ยงสักตัว ลูกสุนัขที่เราอยากได้ก็จะต้องมีคุณสมบัติครบตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสายพันธุ์ รูปร่าง ลักษณะ อุปนิสัย รวมไปถึงสุขภาพที่แข็งแรง ... แต่คำถามก็คือ เราจะสามารถรู้ได้ยังไงว่าลูกสุนัขที่เรากำลังจะซื้อนั้นมีคุณสมบัติตรงตามที่เราต้องการหรือไม่?


     คุณสมบัติบางอย่างเราสามารถสังเกตได้เอง เช่น รูปร่าง ลักษณะ พฤติกรรม ความร่าเริง ฯ ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลคร่าวๆ และสังเกตดูลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมของลูกสุนัขได้ แต่คุณสมบัติเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อลูกสุนัขโตขึ้น
 
     แต่เรื่องของที่มาสายพันธุ์นั้นบางครั้งผู้ซื้อเองก็ไม่สามารถทราบได้ว่าสุนัขตัวที่เรากำลังจะนำมาเลี้ยงนั้นจะเป็นสุนัขที่ตรงตามสายพันธุ์ที่เราต้องการหรือเปล่า เพราะบางทีด้วยความที่เป็นลูกสุนัข บางครั้งอาจจะสังเกตได้ยากว่าเป็นพันธุ์อะไร นอกจากนี้ยังมีสุนัขหลายพันธุ์ที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกัน

... เอ แล้วแบบนี้จะมีอะไรเป็นตัวช่วยที่จะบอกถึงข้อมูลของสุนัขที่เราจะนำมาเลี้ยงได้บ้างนะ?

     สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยให้ทั้งผู้เลี้ยงสุนัขอย่างเราๆ ทราบถึงที่มาที่ไปของสุนัขที่เราจะนำมาเลี้ยงได้ก็คือ ใบเพ็ดดีกรี ( pedigree) หรือ ใบประวัติ ค่ะ


Dogilike.com :: ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น

ใบเพ็ดดีกรีคืออะไร?

     ใบเพ็ดดิกรี หรือใบรับรองพันธุ์ประวัติ (Certificate Pedigree) จะบอกถึงบรรพบุรุษ (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด) ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของลูกสุนัข ที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรม ลักษณะเด่น ด้อย มาจากบรรพบุรุษมากน้อยเพียงใด โดยจะมีตั้งแต่ 3 ช่วงอายุ จนถึง 5 ช่วงอายุ ดังนั้นใบเพ็ดดีกรีจึงสามารถบอกถึงสายเลือดหรือสายพันธุ์ของสุนัขตัวนั้นได้

     หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าการที่สุนัขมีใบเพ็ดดีกรี จะหมายความสุนัขตัวนั้นเป็นพันธุ์แท้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่สุนัขมีใบเพ็ดดีกรี ไม่ได้แปลว่าเป็นพันธุ์แท้เสมอไปค่ะ เพราะใบเพ็ดดีกรีเป็นใบที่จะบอกถึงที่มาที่ไปของสุขนัขตัวหนึ่งเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ว่าจะเป็นสายพันธุ์แท้หรือไม่แท้ ต้องพิจารณจากประวัติบรรพบุรุษของสุนัขตัวนั้นค่ะ


ทำไมต้องสุนัขของเราต้องมีใบเพ็ดดีกรี?

     ใบเพ็ดดีกรีสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาสายพันธุ์สุนัขหรือต้องการสุนัขสายพันธุ์ดี เพราะใบเพ็ดดีกรีจะเป็นสิ่งบอกเราได้ว่าสุนัขตัวนี้เป็นลูกสุนัขที่เกิดจากพ่อแม่ตัวไหน เกิดจากากรผสมแบบใด (ผสมสาย
เลือดชิด การผสมในสายเลือด หรือการผสมข้ามสายเลือด) เราสามารถศึกษาถึงลักษณะเด่นและลักษณะด้อยของสุนัขแต่ละตัวที่สามารถถ่ายทอดให้ลูกหลานผ่านใบเพ็ดดีกรีที่มีการบันทึกรายละเอียดต่างๆ ไว้


Dogilike.com :: ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น

ใบเพ็ดดีกรีมีประโยชน์อะไรกับสุนัขของเรา?

     - ใบเพ็ดดีกรีจะมีประโยชน์มาก สำหรับการศึกษาที่มาที่ไปของสายพันธุ์ของสุนัขที่เราจะเลี้ยง ทำให้เราทราบถึงลักษณะเด่นลักษณะด้อยของสุนัขได้โดยระเอียด รวมไปถึงโรคต่างพันธุกรรมต่างๆ ที่อาจถูกถ่ายทอดมาทางสายเลือดด้วย

     - ใบเพ็ดดีกรีจะมีประโยชน์ในการเลือกคู่ให้สุนัขของเรา ทำให้เราสามารถเลือกสุนัขพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ที่จะมาผสมพันธุ์กับสุนัขของเราได้อย่างเหมาะสม
 
     - ใบเพ็ดดีกรีเป็นตัวช่วยในการพิสูจน์ความสามารถในการถ่ายทอดสายเลือดของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

     - ใบเพ็ดดีกรีจะช่วยป้องกันการผสมพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการทำลายสายพันธุ์หรือการเสื่อมของสายเลือด เช่น ช่วยป้องกันการผสมพันธุ์กับคู่ที่มีสายเลือดเดียวกัน หรือสายเลือดชิดกัน ซึ่งจะส่งผลต่อลูกสุนัขที่เกิดมาทำให้สายพันธุ์ไม่พัฒนา เกิดลักษณะด้อย ฯ

     - ใบเพ็ดดีกรีจะเป็นสิ่งที่การันตีถึงความสามารถและความตั้งใจของผู้ผสมพันธุ์(BREEDER)


รู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น!

     ใบเพ็ดดีกรีจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดค่ะ คือ ...

     1. UNCERTIFIED PEDIGREE เพ็ดดีกรีประเภทนี้เป็นเพ็ดดีกรีที่ผู้ผสมพันธุ์(BREEDER) เป็นผู้ออกให้ผู้ซื้อ ทราบที่มาของบรรพบุรุษของสุนัขตัวนั้นๆ โดยเพ็ดดีกรีชนิดนี้เป็นการรับรองกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเพื่อการรับรองโดยสมาคมฯได้

     2. CERTIFIED PEDIGREE เพ็ดดีกรีชนิดนี้เป็นเพ็ดดีกรีที่ออกโดยสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข( ประเทศไทย) ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากบรรดาสมาชิกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเพ็ดดีกรีชนิดนี้ เป็นการรับรองระหว่างสมาคมฯกับสมาชิก นอกจากนี้เพ็ดดีกรีชนิดนี้ทางสมาคมฯได้แบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ

     2.1 COMPLETE PEDIGREE หรือที่หลายๆท่านเรียกว่า เพ็ดดีกรีเต็มใบ เพ็ดดีกรีชนิดนี้จะระบุบรรพบุรุษของสุนัขทั้งสายพ่อและสายแม่ เต็ม 3 ช่วงอายุ ขณะนี้ทางสมาคมฯได้ใช้เพ็ดดีกรีชนิดนี้เป็นสี ม่วงอ่อนและมีสัญญลักษณ์ของสมาคมฯ, A.K.U. และ F.C.I.อยู่ในเพ็ดดีกรี

Dogilike.com :: ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น

     2.2 INCOMPLETE PEDIGREE หรือ UNCOMPLETE PEDIGREE หรือที่หลายๆท่านเรียกว่า เพ็ดดีกรีครึ่งใบ เพ็ดดีกรีชนิดนี้จะระบุบรรพบุรุษของสุนัขที่เป็นสายพ่อสายแม่ไม่ครบ 3 ช่วงอายุ หรือสายพ่อครบ 3 ช่วงอายุแต่สายแม่ไม่ครบ 3 ช่วงอายุ หรือสายพ่อไม่ครบ 3ช่วงอายุแต่สายแม่ครบ 3 ช่วงอายุ โดยทางสมาคมฯ จะใช้เพ็ดดีกรีชนิดนี้เป็นสี เขียวอ่อน และมีเพียงสัญญลักษณ์ของสมาคมฯ อยู่ในเพ็ดดีกรีเพียงอย่างเดียว

     3.CERTIFIED EXPORT PEDIGREE เพ็ดดีกรีชนิดนี้เป็นเพ็ดดีกรีที่ทางสมาคมฯ ออกให้ เพื่อการส่งออกสุนัขไปยังต่างประเทศ (สุนัขที่มีบรรพบุรุษไม่ครบ 3 ช่วงอายุทางสมาคมฯ จะไม่ออกให้) โดยเพ็ดดีกรีชนิดนี้เป็นการรับรองระหว่างสมาคมฯ (ในประเทศ)ต่อสมาคมฯ (ต่างประเทศ) ซึ่งสมาคมทั้งสองต้องเป็นสมาชิกร่วมองค์กรเช่น F.C.I หรือ A.K.U. หรือต่างองค์กรกันแต่มีศักยภาพ เช่น A.K.C.,K.U.,A.N.K.C. เป็นต้น แต่ในบางประเทศเช่น A.K.C.,A.N.K.C. ใช้CERTIFIED PEDIGREEและ EXPORT PEDIGREE เป็นใบเดียวกัน


  ถ้าอยากขอจดใบเพ็ดดีกรีให้สุนัขต้องทำยังไง? 

     ในการขอจดใบเพ็ดดีกรีนั้นจะต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้เพาะพันธุ์ และ กรณีเป็นผู้ซื้อลูกสุนัข

กรณีที่คุณเป็นผู้เพาะพันธุ์

     ขั้นที่ 1. คุณต้องเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) เสียก่อน โดยจะเสียค่าสมัครปีละ 200 บาท โดยใช้สำเนาบัตรประชาชน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องเป็นหลักฐานการสมัคร

     ขั้นที่ 2. ต้องดูว่าแม่พันธุ์ของคุณเคยจดทะเบียนหรือมีใบเพ็ดดีกรี แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีอะไรเลยคุณสามารถจดทะเบียนตัวให้กับสุนัขแม่พันธุ์แบบ No Record ได้ แต่ในกรณีนี้ในใบเพ็ดดีกรีจะปรากฏเฉพาะชื่อ
แม่พันธุ์ของคุณ อย่างเดียวไม่มีชื่อพ่อแม่หรือปู่ย่าตาทวด (ให้ท่านนำสุขไปฝังไมโครชิพ ถ่ายรูปหน้าตรง และด้านข้างของสุนัขตัวนั้น แล้วนำสุนัขของท่านพร้อมรูปถ่ายไปติดต่อที่สมาคมฯ) ถ้าสุนัขมีใบเพ็ดดีกรีที่ออกโดยสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) อยู่แล้ว และได้ทำการโอนสุนัขตัวนั้นเป็นของคุณเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถทำขั้นต่อไปได้เลย ถ้าท่านนำสุนัขมาจากต่างประเทศ และมีใบเพ็ดดีกรี ประเภท Export
และเป็น Pedigree ที่ได้รับการรับรองจาก FCI ก็นำมาจดทะเบียนได้เลยเช่นเดียวกัน

     ขั้นที่ 3. นำสุนัขไปผสมพันธุ์ กับตัวผู้ ตัวผู้จะต้องเป็นสุนัขที่มีการขึ้นทะเบียนกับทางสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) เช่นกัน และต้องตรวจสอบว่าสุนัขตัวนั้นเป็นของเจ้าของคนที่ท่าติดต่อขอผสมจริงหรือไม่ เพราะการผสมจะต้องมีการลงนามในเอกสารการแจ้งผสมทั้งเจ้าของตัวผู้และตัวเมีย (ทุกครั้งที่มีการผสมจะต้องนำแบบฟอร์มใบแจ้งผสมไปให้เจ้าของตัวผู้กรอกข้อมูลสุนัขตัวผู้ และลงชื่อรับรองการผสม สามารถโหลดแบบฟอร์มนี้ได้ที่ http://www.kcthailand.com)

Dogilike.com :: ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น

     ขั้นที่ 4. เจ้าของตัวเมียก็ทำการกรอกข้อมูลขอท่าน และสุขตัวเมียของท่าน และลงชื่อเช่นกัน

     ขั้นที่ 5. เสร็จแล้วก็นำแบบฟอร์มไปยื่นกับสมาคมฯ ตามขั้นตอนและเงื่อนเวลาดังนี้
     1. ต้องแจ้งผสมพันธุ์ภายใน 45 วัน หลังจากวันผสม
     2. ต้องแจ้งเกิดลูกสุนัข และตั้งชื่อลูกสุนัขภายใน 90 วัน หลังลูกสุนัขคลอด (โดยเสียค่าใช้จ่ายต่อตัวละ 50 บาท)
     3. รับใบรับรองทะเบียนตัวสุนัข (REGISTRATION CERTIFICATE) (โดยเสียค่าใช้จ่ายต่อตัวละ 100 บาท)
     5. หากเจ้าของสุนัขต้องการใบรับรองพันธุ์ประวัติ (CERTIFIED PEDIGREE) ให้แจ้งความประสงค์ กับทางสมาคมฯ โดยกรอกแบบฟอร์มคำร้องขอ Pedigree โดยเสียค่าใช้จ่ายดังนี้

แบบ 3 ชั่วอายุ ตัวละ 100 บาท
แบบ 4 ชั่วอายุ ตัวละ 150 บาท
แบบ Export ตัวละ 500 บาท(กรณีนี้สุนัขต้องมีการฝังไมโครชิพด้วย)


กรณีที่คุณเป็นผู้ซื้อลูกสุนัข

Dogilike.com :: ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น
  
     ขั้นที่ 1. คุณต้องเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) เสียก่อน โดยจะเสียค่าสมัครปีละ 200 บาท โดยใช้สำเนาบัตรประชาชน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องเป็นหลักฐานการสมัคร

     ขั้นที่ 2. ให้นำใบ REGISTARTION CERTIFICATE (ใบทะเบียนตัว) ที่ผู้ขายจะต้องให้มา และจะต้องมีการเซ็นสลักหลังการโอนเปลี่ยนเจ้าของด้วย ในที่นี้ทางสมาคมจะคิดค่าใช้จ่ายในการโอนตัวละ 100 บาท


Dogilike.com :: ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น

สิ่งที่เราควรระวังในการขอจดใบเพ็ดดีกรี!!!!

     ของก๊อปปี้เป็นสิ่งที่อยู่คู่โลกใบนี้ค่ะ มนุษย์อย่างเราๆ ยังโดน ปลอมบัตรประชาชน ปลอมพาสปอร์ต สำหรับแวดวงน้องหมาเองก็มีผู้ไม่ประสงค์ดีแอบทำใบเพ็ดดีกรีปลอมเหมือนกันค่ะ ใบเพ็ดดิกรีปลอมจะเป็นอุปสรรค์ในผสมพันธุ์สุนัข เพราะเราไม่รู้สายพันธุ์ว่ามาจากพ่อ-แม่ ซึ่งในการศึกษาลักษณะเด่นของพ่อพันธุ์เพื่อมาแก้ไขลักษณะด้อยของแม่พันธุ์ เพื่อถ่ายถอดลักษณะที่ดีมาสู่ลูกสุนัข บางครั้งจำเป็นต้องศึกษาพันธุ์ประวัติประกอบกันด้วย

     ในการปลอมใบเพ็ดดีกรีจะมีลักษณะการปลอมแปลงอยู่ 2 แบบ คือ ...

     1. ใบเพ็ดดิกรี ที่ทำขึ้นมาเอง หรือทำเลียนแบบ พิมพ์ขึ้นมาเอง โดยไม่ได้รับการรับรองจากสมาคมต่างๆ เช่น ใบเพ็ดดิกรีที่ออกให้โดยทางร้านขายสุนัข, ออกให้โดยฟาร์มสุนัข เป็นต้น

     2. ใบเพ็ดดิกรี ที่สวมลอย คือ การนำเอาใบเพ็ดดิกรีที่ได้รับการรับรองมาให้ แต่สุนัขไม่ได้เกิดจากพ่อแม่พันธุ์ที่ระบุไว้ในใบเพ็ดฯ ดังนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการปลอมหรือหลอกลวง ซึ่งในการที่เราจะตรวจสอบว่า
ข้อมูลตรงกับความเป็นจริงหรือไม่นั้น ทำได้ด้วยการตรวจสอบทำได้โดยการตรวจ DNA พ่อ-แม่ มาเทียบกับลูก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก


Dogilike.com :: ชวนคนรักสุนัข มารู้จักใบเพ็ดดีกรีให้มากขึ้น

     ... เป็นอีกเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องทำการศึกษาให้ดีเลยนะคะ เพราะมีข้อมูลที่สำคัญอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ใบเพ็ดดิกรีจะสำคัญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเรานำไปใช้ประโยชน์อะไรค่ะ เช่น ต้องการผสมและพัฒนาสายพันธุ์สุนัขเพื่อประกวด หรือเป็นพ่อพันธุ์ - แม่พันธุ์ที่ดี , ต้องการเลี้ยงสุนัขพันธุ์แท้ที่มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานสายพันธุ์ หรือบางคนอาจจะเพียงแค่ต้องการรู้ที่มาที่ไปของสุนัขที่ตัวเองเลี้ยงเท่านั้น สรุปแล้วก็คือขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้เลี้ยงและความพึงพอใจเท่านั้นเองค่ะ




บทความโดย:  Dogilike.com

ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.kcthailand.org/
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=baannu-deshihtzu&month=07-2007&group=12

ภาพประกอบ:
http://www.bbc.co.uk/programmes/b00htl96
http://adamsville-al.inetgiant.com/animals-and-pets/pets-for-sale/chow-chow-pedigree-puppy-for-sale-18454560
http://pedigreedogsexposed.blogspot.com/2012_03_01_archive.html
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=baannu-deshihtzu&month=07-2007&group=12
http://yellowmagpie.com/dog-breeds-that-have-been-devastated-by-careless-pedigree-inbreeding/
http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/3153144/Kennel-Club-to-review-every-pedigree-dog-breed-in-Britain.html