โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

ดูแลลูกหมายังไงให้ถูกวิธี เมื่อเราต้องรับบทแม่จำเป็น

เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินแม่หมาไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ เราจะมีวิธีลูกแลลูกหมาแรกคลอดยังไงให้ปลอดภัย

28 สิงหาคม 2555 · · อ่าน (418,231)
1,195

SHARES


1,195 shares

Dogilike.com :: ดูแลลูกหมายังไงให้ถูกวิธี เมื่อเราต้องรับบทแม่จำเป็น


     จากสัปดาห์ที่แล้ว ที่คอลัมน์เทคนิคการเลี้ยงการดูแลได้นำเรื่องราวของการดูแลแม่หมาและลูกหมาหลังการคลอดกันไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลลูกหมาหลังการคลอดในกรณีที่แม่หมาไม่สามารถเลี้ยงลูกได้มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ

     อย่างที่เคยนำเสนอกันไปแล้วนะคะว่า การที่แม่หมาเลี้ยงลูกไม่ได้ หรือไม่ยอมเลี้ยงลูกนั้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการที่แม่หมายังเด็กเกินไปไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ , แม่หมามีอาการเจ็บป่วยต่างๆ , แม่หมากลัวลูกของตัวเอง , แม่หมามีน้ำนมไม่พอเลี้ยงลูก และที่เลวร้ายที่สุดคือ แม่หมาเสียชีวิตหลังการคลอด

     สำหรับสาเหตุสุดท้ายนั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อลูกหมาขาดแม่ เขาก็จะตกอยู่ใจภาวะ "ลูกกำพร้า" ทันที และเจ้าของอย่างเรานี่ล่ะค่ะที่จะต้องมารับบทเป็นคุณแม่จำเป็นให้เจ้าตัวน้อยเหล่านี้
 

Dogilike.com :: ดูแลลูกหมายังไงให้ถูกวิธี เมื่อเราต้องรับบทแม่จำเป็น


     ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและทำให้แม่หมาไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า ถ้าหากต้องรับบทเป็นคุณแม่จำเป็นของเจ้าลูกหมาตัวน้อย เราจะต้องเตรียมตัวและดูแลพวกเขายังไงให้ถูกวิธี

     ในกรณีที่แม่หมาไม่ยอมกกลูก ไม่ยอมให้ลูกหมาเข้าใกล้ หรือแม่หมาเสียชีวิต สิ่งแรกที่เจ้าของต้องทำคือควบคุมอุณหภูมิของร่างกายของลูกหมาให้อบอุ่นเสมอ เนื่องจากระบบควบคุมความร้อนและอุณหภูมิร่างกายของลูกหมายังไม่พัฒนา ทำให้ร่างกายสูญเสียความอบอุ่นได้ง่าย ดังนั้นเราต้องให้ลูกหมาอยู่ในที่อบอุ่น ไม่เปียกชื้น ไม่มีลมโกรก โดยสังเกตถ้าลูกหมานอนกระจัดกระจายทั่วกล่องแสดงว่าอากาศอาจร้อนเกินไป แต่ถ้าลูกสุนัขมาเบียดสุมกันมากแสดงอากาศว่าเย็นเกินไป และไม่ควรป้อนอาหารลูกสุนัขที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ เพราะระบบกระเพาะอาหารและลำไส้จะผิดปกติ ไม่สามารถย่อยได้

     เมื่อดูแลเรื่องอุณหภูมิร่างกายของลูกหมาเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็มาดูเรื่องการให้อาหารลูกหมากันบ้างดีกว่าค่ะ
 

Dogilike.com :: ดูแลลูกหมายังไงให้ถูกวิธี เมื่อเราต้องรับบทแม่จำเป็น


1. เตรียมขวดนมสำหรับลูกสุนัข
     ในเมื่อแม่หมาไม่สามารถให้ลูกกินนมจากเต้าได้ ดังนั้น 'ขวดนม' จึงกลายเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในการป้อนนมให้ลูกหมา โดยขวดนมที่เลือกใช้ควรเป็นขวดนมสำหรับลูกหมา ซึ่งจุกนมจะเล็กไม่ใหญ่เกินไปเหมือนจุกนมเด็กทารก

2. เลือกนมที่มีคุณค่าที่เหมาะสม เพื่อทดแทนนมแม่หมา
     เจ้าของอาจเลือกนมผงสำหรับลูกสุนัข หรือนมแพะ ให้ลูกสุนัขกินทดแทนนมจากแม่หมา  แต่ไม่ควรให้นมผงเด็ก หรือนมกล่อง หรือนมข้นหวาน มาใช้ชงเลี้ยงลูกหมา เพราะอาจทำให้ลูกหมาท้องเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ช่วง 72 ชั่วโมงแรก จำเป็นต้องใช้นมลูกหมาคุณภาพสูง

3. คำนวณปริมาณน้ำนมที่เหมาะสมสำหรับลูกหมาในแต่ละวัน
     ในการให้นมลูกหมานั้นเราจำเป็นต้องกำหนดปริมาณน้ำนมสำหรับลูกหมาในแต่ละวัน เพื่อจะได้ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป  ... สำหรับลูกหมานั้น ให้เราคำนวณปริมาณนมที่เขาต้องกินในแต่ละวันโดยเปรียบเทีบกับอายุของเขาค่ะ

ลูกหมาที่อายุประมาณ 1 อาทิตย์ 13 ซีซี
ลูกหมาที่อายุประมาณ 2 อาทิตย์ 17 ซีซี
ลูกหมาที่อายุประมาณ 3 อาทิตย์ 20 ซีซี/น้ำหนักตัว 100 กรัม
ลูกหมาที่อายุประมาณ 4 อาทิตย์ 22 ซีซี/น้ำหนักตัว 100 กรัม

     การตวงนมนั้นอาจใช้ไซริงค์ หรือกระบอกฉีดยาดูดเอาก็ได้ ส่วนน้ำหนักตัวของลูกหมานั้น ก็ใช้ตาชั่งเล็กๆ ที่ใช้ชั่งอาหารทำครัว ซึ่งราคาประมาณ 300-400 บาทหาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ค่ะ ^^


Dogilike.com :: ดูแลลูกหมายังไงให้ถูกวิธี เมื่อเราต้องรับบทแม่จำเป็น


4. ความถี่ในการให้นมลูกหมาในแต่ละวัน
     โดยธรรมชาติแล้วลูกหมานั้จะหิวบ่อย เพราะอยู่ในช่วงที่ร่างการกำลังต้องใช้พลังงานและกำลังเติบโต ยิ่งลูกหมาอายุน้อยก็ยิ่งต้องป้อนบ่อยกว่าลูกมามีอายุมาก เช่น

ลูกหมาที่อายุประมาณ 2-3 วัน ต้องป้อนนมทุกๆ 2 ชั่วโมง
ลูกหมาที่อายุประมาณ 4-7 วัน ต้องปอ้นนมทุกๆ 3 ชั่วโมง
ลูกหมาที่อายุประมาณ 2 สัปดาห์ ต้องป้อนนมทุกๆ 4 ชั่วโมง
ลูกหมาที่อายุประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องป้อนนม วันละ 4-5 ครั้ง

5. ห้ามลืมทุกครั้งก่อนให้นมลูกหมา
     เราจะต้องอุ่นนมทุกครั้ง ไม่ควรป้อนนมเย็นๆ ให้ลูกหมากิน เพราะอาจจะทำให้ลูกหมาปวดท้องได้ค่ะ

6. ระวังเรื่องจุกนม
     เราจะต้องเลือกหัวนมที่มีรูจุกนมไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป เพราะถ้าหากรูเล็กจนเกินไปจะทำให้น้ำนมไหลช้า ลูกหมาจะต้องออกแรงดูดมาก แต่ถ้าหากรูใหญ่เกินไปก็จะทำให้น้ำนมไหลออกมามากจนอาจทำให้ลูกหมาสำลักนมได้ (เทคนิคง่ายๆ ก่อนการป้อนนมลูกหมาให้คว่ำขวดนมจนน้ำนมบางส่วนไหลซึมออกมาเล็กน้อยก่อนป้อนนมให้ลูกหมาค่ะ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกหมาดูดนมได้ง่ายขึ้น)


Dogilike.com :: ดูแลลูกหมายังไงให้ถูกวิธี เมื่อเราต้องรับบทแม่จำเป็น


7. จัดท่าให้ลูกหมาก่อนป้อนนม
     ท่าต้องห้ามในการป้อนนมให้ลูกหมาคือท่านอนหงาย ท่าที่ถูกต้องคือให้ลูกหมานอนคว่ำโดยอาจหาเบาะหนุนด้านหัวให้สูงกว่าด้านหลัง แล้วค่อยให้ลูกหมากินนมจากขวด ที่ต้องให้ลูกหมากินนมท่านี้เพราะเป็นท่าทีใกล้เคียงกับการกินนมจากเต้าของแม่หมามากที่สุดค่ะ

8. สิ่งที่ต้องทำหลังการป้อนนมให้ลูกหมา
     สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องคอยตรวจดูว่าช่องท้องของลูกหมาขยายใหญ่เกินไปหรือไม่ ถ้าใหญ่เกินแสดงว่าท้องอาจจะอืด เนื่องจากกมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากมายเกินไป ก็ทำให้ลูกหมาปวดท้องได้ ดังนั้นบางทีเราควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อจัดยา แก้ท้องอืดมาเตรียมไว้รับมือกรณีลูกหมาท้องอืด

     ... อีกสิ่งสำคัญก็คือ เจ้าของจะต้องไม่ลืมกระตุ้นการขับถ่ายให้ลูกหมาด้วยค่ะ โดยวิธีการก็คือ ใช้ผ้าหรือสำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดบริเวณท้องและบั้นท้ายของลูกหมา เพื่อกระตุ้นการขับถ่ายหลังจากป้อนนมแทนการเลียทำความสะอาดของแม่หมา


Dogilike.com :: ดูแลลูกหมายังไงให้ถูกวิธี เมื่อเราต้องรับบทแม่จำเป็น


9. เช็คน้ำหนักตัวลูกหมาอยู่เสมอ
     ที่ต้องชั่งทุกวันเพื่อคอยเช็คว่าลูกหมาของเรามีน้ำหนักตัวขึ้นหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้วลูกหมาจะต้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ทุกวัน ถ้าช่วงไหนลูกหมาน้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณบอกได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น

10. เมื่อไหร่ถึงให้ลูกหมาหย่านม
     ลูกหมาควรเริ่มหย่านมในช่วงอายุประมาณ 6 สัปดาห์ค่ะ เจ้าของอาจเริ่มให้อาหารอื่นๆ เสริมได้แล้ว เช่น อาหารเปียกสูตรลูกหมาต่างๆ หรืออาจจะฝึกให้เขากินอาหารเม็ดในช่วงนี้เลยก็ได้นะคะ (ดูวิธีฝึกให้ลูกหมากินอาหารเม็ดได้ ที่นี่ ค่ะ) หลังจากลูกหมาสามารถกินอาหารอื่นๆ ได้แล้ว เราก็สามารถให้ลูกหมาหย่านมได้ทันทีเลยค่ะ
 

Dogilike.com :: ดูแลลูกหมายังไงให้ถูกวิธี เมื่อเราต้องรับบทแม่จำเป็น


     ก็ได้ทราบกันแล้วนะคะว่า ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เราซึ่งเป็นเจ้าของจะต้องมารับบทเป็นคุณแม่จำเป็นของลูกหมาจะต้องทำยังไงบ้าง ... การดูแลลูกหมาเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องยากหรอกค่ะ เพียงแต่เราจะต้องศึกษาวิธีการเลี้ยงและเตรียมตัวให้พร้อมแค่นั้นเอง แค่นี้ก็รับมือกับเจ้าตูบตัวน้อยได้สบายๆ แล้วล่ะค่ะ

 

บทความโดย : Dogilike

ภาพประกอบ:
http://caringforyourpuppy.info/orphan-puppies/uncategorized/
http://www.out-and-about-with-your-dog.com/dog-photos-january-2012-all-on-one-page.html
http://www.wickedlocal.com/newton/community/blogs/family-time
http://www.dogforum.com/dog-adoption-rescue/orphaned-puppy-care-2508/
http://old.shfamily.com/groups/animal-welfare/forum/topic/3-orphan-puppy-girls-urgent-case/
http://thedogsbone.com/the-orphan-puppy-breeding.html
http://www.ehow.com/how_6803640_care-orphaned-chihuahua-puppies.html