โดย: Candyx
รวมเทคนิคดูแลสุนัขแก่ให้มีอายุยืนยาว
ดูแลยังไงให้น้องหมาอยู่กับเราไปนานๆ ...
26 มีนาคม 2556 · · อ่าน (134,672)
สิ่งต่างๆ รอบตัวย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ก็เหมือนกับอายุของคนเราที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับน้องหมาที่เมื่อมีอายุมากขึ้นร่างกายก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบอวัยวะต่างๆ หรือภูมิคุ้มกันโรคก็จะเริ่มเสื่อมลง จากน้องหมาที่เคยวิ่งได้อย่างคล่องตัวก็กลับกลายเป็นน้องหมาที่เดินอย่างเชื่องช้า ไม่กระฉับกระเฉง ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง หรือมีนิสัยและพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม รวมถึงเกิดปัญหาสุขภาพ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและเพิ่มการดูแลเอาใจใส่น้องหมาแก่ให้มากขึ้นเพื่อน้องหมาจะได้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและอายุยืนยาว...
ฉะนั้น วันนี้ปังปอนด์ก็เลยหยิบเทคนิคการดูแลน้องหมาแก่ให้มีอายุยืนยาวมาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ จะมีเรื่องอะไรบ้างเราไปดูกันเลย ^^
สัญญาณที่บอกว่าน้องหมาของเราเริ่มแก่?
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่า ช่วงอายุของน้องหมาเมื่อเทียบกับมนุษย์แล้ว อายุของน้องหมาจะก้าวกระโดดเร็วกว่าอายุของมนุษย์อย่างเราๆ ประมาณ 7 เท่าตัว ซึ่งน้องหมาที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปถือเป็นน้องหมาที่เริ่มก้าวเข้าสู่วัยแก่ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษแล้วล่ะค่ะ โดยเราสามารถสังเกตจากภายนอกได้ง่ายๆ คือ
- จะเริ่มพบเห็นขนบริเวณใบหน้าหรือรอบปากที่เปลี่ยนเป็นสีขาว หรือสีเทา
- ฟันผุ
- เล็บหลุด
- บางตัวจะเริ่มลุกขึ้นยืน เดิน หรือเปลี่ยนอิริยบทท่าต่างๆ ได้ช้าลง
- ขนร่วง
- หูจะเริ่มไม่ค่อยดี
- ตามองไม่ค่อยเห็น
- กินอาหารได้น้อยลง
- อั้นอึฉี่ไม่ค่อยได้
ฯลฯ
หากน้องหมาของผู้เลี้ยงเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงตรงกับที่กล่าวมาสัก 2-3 ข้อ ก็ให้ผู้เลี้ยงแน่ใจได้เลยว่า น้องหมาของผู้เลี้ยงเริ่มเข้าสู่วัยแก่ที่ต้องการดูแลเอาใจใส่จากผู้เลี้ยงเพิ่มมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ
น้องหมาแก่กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
นอกจากสภาพร่างกายภายนอกของน้องหมาจะเปลี่ยนไปแล้ว ปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้ในน้องหมาแก่ คือ ปัญหาพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนเป็นสุนัขวัยรุ่น เช่น เดินวนไปวนมาอยู่ที่เดิม เห่าไม่รู้สาเหตุ สนใจสิ่งแวดล้อมและเจ้าของลดลง เดินชนสิ่งของต่างๆ อึฉี่ไม่เป็นที่ นอนไม่เป็นเวลา นอนกลางวันตื่นตอนกลางคืน เป็นต้น (อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมของน้องหมาแก่ได้ที่บทความ 10 พฤติกรรมแปลกๆ ของน้องหมาแก่ )
ปัญหาเหล่านี้มักเกิดจากอาการหลงลืมหรือโรคอัลไซเมอร์ (canine cognitive dysfunction syndrome) ที่พบมากในน้องหมาแก่ (อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข ) ซึ่งเป็นความผิดปกติของการรับรู้ และความคิด ทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ ทำให้น้องหมาไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเหมือนปกติได้ ซึ่งผู้เลี้ยงเองก็ควรทำความเข้าใจ และเรียนรู้กับพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับน้องหมาแก่ อย่าลงโทษน้องหมาด้วยการตีเพราะเขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าเขากำลังทำผิด แต่ให้กระตุ้นความทรงจำน้องหมาโดยการหาเกมส์ สั่งให้ทำตามคำสั่ง หรืออาจจะย้ายตำแหน่งชามข้าวเพื่อฝึกประสาทการดมกลิ่น และฝึกให้น้องหมาได้ใช้สมอง รวมถึงอย่าลืมที่จะแบ่งเวลาให้กับน้องหมาแก่ เพราะน้องหมาวัยนี้จะค่อนข้างอ่อนไหวง่าย และมีความไม่มั่นคงทางด้านอารมณ์ การผู้เลี้ยงอยู่ข้างๆ คอยลูบหัวเบาๆ ก็จะทำให้เขารู้สึกปลอดภัย และไม่รู้สึกว่าถูกทิ้ง ทั้งนี้ ในน้องหมาบางตัวที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จากการฝึกฝนปรับพฤติกรรม สัตวแพทย์ก็อาจจ่ายยาระงับประสาทบางชนิดมาเป็นตัวช่วยให้น้องหมาสงบขึ้นก็ได้ค่ะ
โภชนาการที่ดีสำหรับน้องหมาสูงวัย
น้องหมาที่มีอายุมากๆ มักจะใช้พลังงานน้อย ทำกิจกรรมระหว่างวันน้อยลงกว่าตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น และใช้เวลาส่วนใหญไปกับการนอน จึงทำให้มีความต้องการพลังงานจากอาหารลดน้อยลงกว่าเดิมประมาณ 20% ฉะนั้น การเลือกชนิดอาหารที่เหมาะสมกับน้องหมาแก่จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ จากเมื่อก่อนที่ผู้เลี้ยงอาจจะเคยให้อาหารชนิดแข็งๆ หรือเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก ก็ควรเปลี่ยนมาเป็นอาหารที่กินง่ายย่อยง่ายขึ้นเช่นพวกเนื้อปลา ไก่ ผัก ผลไม้ หรืออาหารสำเร็จรูปสูตรสุนัขสูงวัย ที่มีการเติมสารเสริมอาหารที่ช่วยในการเสริมสร้างร่างกายส่วนต่างๆ เช่น กลูโคซามีน ที่ช่วยในการบำรุงข้อต่อให้น้องหมาเคลื่อนไหวดีขึ้น กรดไขมันโอเมก้า-3 มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาท วิตามินซีและวิตามินอี ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่น้องหมาสามารถกินได้ง่ายแทนนะคะ
น้องหมาแก่ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันและเหงือกอักเสบ มีหินปูน ฟันผุ จึงทำให้กินอาหารได้ลำบากและช้าลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อน้ำหนักตัวลดลง และอาจเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องเลือกชนิดของอาหาร และปรับสัดส่วนการให้อาหารต่อมื้อให้เหมาะสม โดยให้กินอาหารวันละ 2 เวลา และไม่ควรให้อาหารครั้งละมากๆ เพื่อช่วยเรื่องระบบการย่อย เพราะน้องหมาแก่จะมีกำลังในการย่อยอาหารอ่อนลง การให้อาหารในปริมาณมากๆ จึงเป็นการรบกวนอวัยวะต่างๆ ภายในให้ทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้แล้วผู้เลี้ยงอาจจะเพิ่มอาหารเสริมตามคำแนะนำจากสัตว์แพทย์ก็ได้ค่ะ
และเพื่อสุขภาพที่ดีของน้องหมาแก่ ผู้เลี้ยงควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารประเภทที่มีน้ำตาล และไขมัน เพราะอาหารประเภทนี้จะให้พลังงานสูง ซึ่งเกินความจำเป็นต่อร่างกายน้องหมาแก่ หากน้องหมาแก่ได้รับอาหารที่มีพลังงานสูงเข้าไปแล้วไม่ได้ออกกำลังกายหรือเผาผลาญพลังงานออกไป จะทำให้น้องหมามีปัญหาน้ำหนักตัว อ้วนง่าย ซึ่งจะส่งผลต่อข้อและกระดูกที่ต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และส่งผลต่ออายุของน้องหมาด้วยค่ะ
ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อสุขภาพที่ดี
ไม่ว่าน้องหมาของผู้เลี้ยงจะอยู่ในช่วงวัยไหน การออกกำลังกายก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้องหมาแก่ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ทำกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างวันน้อยลง ก็ยิ่งต้องมีการพาไปออกกำลังเพื่อปลดปล่อยพลังงานไม่ให้สะสมในร่างกาย เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว พลังงานที่สะสมอยู่ในร่างกายก็อาจส่งผลให้น้องหมาอ้วนได้ง่ายๆ ค่ะ
เมื่อน้องหมามีอายุมากขึ้น ก็อาจจะมีอาการข้ออักเสบตามข้อต่อต่างๆ ที่เห็นได้จากการที่น้องหมาเดินเชื่องช้าลง และขยับตัวลำบากขึ้น ฉะนั้น การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับน้องหมาแก่จึงต้องเป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆ และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด โดยผู้เลี้ยงอาจจะหาเกมส์ให้น้องหมาเล่น หรืออาจจะใช้วิธีเรียกและสั่งคำสั่งเพื่อเป็นการกระตุ้นความจำ พาน้องหมาไปว่ายน้ำ หรือพาน้องหมาไปเดินออกกำลังกายในสวนสาธารณะ โดยให้น้องหมาเดินในระยะทางสั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ การเดินออกกำลังกายจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ ได้สัดส่วนแข็งแรงขึ้น แถมยังช่วยให้น้องหมามีสุขภาพจิตดีด้วยค่ะ
ทั้งนี้ และผู้เลี้ยงเองก็ต้องคอยระวังและไม่ควรให้น้องหมาออกกำลังกายมากเกินไป เพราะอาการข้ออักเสบอาจรุนแรงขึ้นได้ และควรสังเกตหากน้องหมามีอาการเหนื่อยหอบ ก็ควรหยุดการออกกำลังกายในครั้งนั้นทันทีเพื่อป้องกันภาวะเป็นลมแดดหรือฮีทสโตรกที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ หากน้องหมามีประวัติเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ผู้เลี้ยงก็ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมก่อนด้วยนะคะ
สำหรับน้องหมาแก่ที่ไม่สามารถเดิน หรือช่วยเหลือตัวเองได้ อาจจะมีการทำกายภาพบำบัดให้ด้วยการจับขาน้องหมายืดเข้าออกเบาๆ ประมาณ 30 ครั้ง ในเวลาเช้าและเย็น จะช่วยให้ข้อต่อได้ทำงาน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้นค่ะ และสิ่งสำคัญคือผู้เลี้ยงอย่าลืมที่จะพาน้องหมาแก่ที่ไม่สามารถเดินได้ออกมาเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้างนะคะ อาจจะเป็นสนามหญ้าหน้าบ้านหรือบริเวณอื่นๆ ก็ได้ค่ะ เพราะหากน้องหมาอยู่ในที่เดิมๆ บรรยากาศเดิมๆ ทุกวัน น้องหมาอาจเกิดความเครียด ซึ่งส่งผลให้สุขภาพร่างกายของน้องหมาย่ำแย่ได้ค่ะ
ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อน้องหมามีอายุเพิ่มมากขึ้นการดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ... เริ่มแรกผู้เลี้ยงควรพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คสุขภาพร่างกายขั้นพื้นฐานและฉีดวัคซีนตามโปรแกรมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคต่างๆ เพราะเมื่อน้องหมามีอายุมากภูมิต้านทานต่างๆ ในร่างกายก็จะลดลงตามไปด้วย รวมถึงการถ่ายพยาธิในลำไส้ทุก 3-6 เดือน ซึ่งจะคล้ายๆ กับโปรแกรมการตรวจสุขภาพของสุนัขโตทั่วๆ ไป
และสำหรับน้องหมาแก่อาจจะมีการเพิ่มโปรแกรมการตรวจการทำงานของตับ ตรวจการทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เพิ่มขึ้นมาอีกขั้นตอนหนึ่ง เพราะน้องหมาแก่อายุ 6 -7 ปีขึ้นไป มักมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Renal failure) ที่เกิดจากการความเสื่อมของไตที่เป็นไปตามวัย ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่พบบ่อยในน้องหมาแก่ และเป็นสาเหตุการตายของน้องหมาอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ค่ะ โดยผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกตอาการว่าน้องหมามีพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น กินน้ำมากขึ้น ปัสสาวะมากขึ้น กินอาหารลดลง น้ำหนักลด มีกลื่นปากเหม็น เป็นแผลในช่องปาก อาเจียน และท้องเสียบ่อยๆ หรือไม่ หากมีอาการดังกล่าว ผู้เลี้ยงควรพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทันที เพราะน้องหมาอาจจะกำลังเริ่มเป็นโรคไตวายเรื้อรังในระยะต้นแล้วก็ได้ค่ะ (อ่านข้อมูลและทำความรู้จักโรคไตเพิ่มเติมได้ที่บทความ วิถีแห่งโภชนาการที่เหมาะสำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไต ) ค่ะ
รวมถึงการพาน้องหมาไปตรวจเช็คสุขภาพช่องปากที่ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่มักพบในน้องหมาแก่อายุเยอะๆ โดยส่วนมากจะพบคราบหินปูนสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เหงือกและช่องปากอักเสบ ฟันผุ และอาจเกิดการติดเชื้อในช่องปากที่อาจลุกลามถึงชีวิตได้ หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
ในเบื้องต้นผู้เลี้ยงสามารถสังเกตความผิดปกติได้จากการที่น้องหมามีน้ำลายไหลมากผิดปกติ ปากเหม็น เหงือกอักเสบ มีเลือดออกในช่องปาก น้องหมาไม่กินข้าวหรือกินได้น้อยลง เป็นต้น หากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ผู้เลี้ยงควรพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ซึ่งสัตวแพทย์อาจจะทำการขูดหินปูน หรือรักษาด้วยวิธีต่างๆ ตามอาการของน้องหมาแต่ละตัวค่ะ ... การพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เป็นประจำจะช่วยให้ผู้เลี้ยงรู้ถึงแนวโน้ม หรือความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งเป็นผลดีที่ทำให้ผู้เลี้ยงเตรียมรับมือ ป้องกัน และรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
ดูแลรักษาความสะอาด
หากพูดถึงเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดสำหรับน้องหมาแก่แล้ว ผู้เลี้ยงจำเป็นที่จะต้องใส่ใจดูแลและพิถีพิถันเพิ่มมากขึ้น เพราะน้องหมาแก่มีภูมิต้านทานโรคน้อยซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่ายค่ะ โดยควรแบ่งการดูแลรักษาความสะอาดเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของน้องหมา และดูแลความสะอาดสภาพแวดล้อมที่น้องหมาอาศัย
รักษาความสะอาดร่างกายของน้องหมา
เมื่อน้องหมามีอายุมากขึ้นสภาพร่างกายของน้องหมาก็ย่อมที่จะเสื่อมถอยลง ซึ่งเห็นได้จากผิวหนัง เส้นขนของน้องหมาจะบอบบาง และหลุดร่วงง่าย เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสผิวของน้องหมาโดยตรงจึงเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ อย่างแชมพูอาบน้ำ ก็ควรเลือกแชมพูสูตรอ่อนโยนไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง และแปรงขนเพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนังซึ่งจะผลิตน้ำมันมาเคลือบเส้นขน ที่จะช่วยลดปัญหาผิวแห้ง และขนกระด้างที่มักพบมากในน้องหมาแก่ค่ะ นอกจากเรื่องการอาบน้ำที่เป็นเรื่องพื้นฐานแล้ว ผู้เลี้ยงยังต้องดูแลส่วนต่างๆ ในร่างกายน้องหมาเป็นพิเศษกันด้วยนะคะ เริ่มต้นง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
- เล็บ สำหรับน้องหมาแก่การตัดเล็บถือเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพราะโดยส่วนมากแล้วน้องหมาแก่มักจะไม่ค่อยทำกิจกรรมต่างๆ หรือไม่ค่อยลุกเดินไปไหนบ่อยๆ จึงทำให้เล็บยาวได้ง่าย ฉะนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องคอยหมั่นสังเกต และตัดเล็บให้น้องหมาแก่เป็นประจำ และไม่ควรปล่อยให้สุนัขเล็บยาวจนโค้ง เพราะจะทำให้น้องหมาเดินลำบาก และเล็บอาจโค้งงอลงมาทิ่มเนื้อจนเกิดการอักเสบได้ค่ะ
- ฟัน ผู้เลี้ยงควรแปรงฟันให้น้องหมาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง โดยใช้แปรงสีฟันสำหรับน้องหมา หรืออาจจะหาของเล่นขัดฟันมาให้น้องหมาแทะเล่นเพื่อลดการเกิดหินปูน และหากน้องหมามีปัญหาช่องปาก เช่น มีกลิ่นปาก ปวดฟัน เหงือกอักเสบ ผู้เลี้ยงก็อย่านิ่งนอนใจควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเพื่อสุขภาพที่ดีของน้องหมาค่ะ
- ดวงตา เป็นอวัยวะที่ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยในขั้นต้นผู้เลี้ยงสามารถดูแลรักษาความสะอาดน้องหมา ด้วยใช้สำลีชุบน้ำเช็ดที่มุมหัวตาเป็นประจำ และหมั่นสังเกตดวงตาของน้ำหมาอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีขี้ตาเยอะ ขี้ตามีสีเขียวขุ่น ตาแดง น้ำตาไหลเยอะ ก็ควรพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพดวงตาที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการมองเห็น เพราะโดยส่วนใหญ่น้องหมาแก่มักจะพบปัญหาดวงตา เช่น เลนส์ตาขุ่นตามอายุ ต้อกระจก การเสื่อมของม่านตา ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์ แต่ทั้งนี้เอง หากน้องหมาได้รับการดูแลทำความสะอาดเป็นประจำก็จะช่วยให้อาการที่น้องหมาเป็นอยู่ดีขึ้นได้ค่ะ
- หู เป็นอวัยวะอันดับต้นๆ ที่ผู้เลี้ยงมักมองข้ามการดูแลไป โดยเฉพาะกับน้องหมาสายพันธุ์ที่มีหูยาวอย่าง บีเกิ้ล ดัชชุน บลัดฮาวด์ ฯลฯ ผู้เลี้ยงควรตรวจดูความผิดปกติของหูและเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยเดือนละ 1- 2 ครั้ง หากพบว่าน้องหมาเกาหู สะบัดหัว ขี้หูเปลี่ยนเป็นสีดำ สีเหลือง และมีกลิ่นเหม็น ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติค่ะ
รักษาความสะอาดสภาพแวดล้อมที่น้องหมาอาศัย
นอกจากผู้เลี้ยงจะดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของน้องหมาแล้ว การดูแลรักษาความสะอาดบริเวณพื้นที่ที่น้องหมาอาศัยอยู่ให้ถูกสุขลักษณะ และไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันค่ะ โดยผู้เลี้ยงอาจจะเริ่มต้นด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
- เบาะหรือที่นอน สำหรับน้องหมาแก่บางตัวที่ระบบสั่งการมีปัญหา ไม่สามารถอั้นอึอั้นฉี่ไว้ได้ ก็อาจจะ อึ ฉี่ ใส่เบาะ หรือที่นอน ซึ่งผู้เลี้ยงก็ควรตรวจดูเบาะเป็นประจำ หากน้องหมาอึ ฉี่ ใส่ที่นอนควรถอดเบาะออกไปซัก และตากจนแห้งสนิท ไม่ควรปล่อยให้น้องหมานอนทับอึ ฉี่ของตัวเองเพราะจะเกิดการหมักหมมของเชื้อโรค และฉี่อาจจะกัดผิวหนังของน้องหมาจนเกิดแผล และอักเสบได้ค่ะ
- ถ้วยน้ำ ชามอาหาร ผู้เลี้ยงควรทำความสะอาด และเปลี่ยนน้ำสะอาดให้น้องหมาแก่เป็นประจำทุกวัน เพราะว่า ชามอาหารของน้องหมาอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่อาจส่งผลให้น้องหมาเกิดโรคได้ค่ะ รวมถึงไม่ควรทิ้งอาหารปรุงสุกไว้ข้ามคืน เพราะอาหารอาจบูด ซึ่งหากน้องหมากินอาหารบูดเข้าไปอาจจะทำให้ท้องเสียได้ค่ะ
- กรง ผู้เลี้ยงควรหมั่นดูแล และทำความสะอาดกรงน้องหมาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะตามซอกกรงอาจเป็นที่เพาะพันธุ์เห็บหมัดได้ และควรเปลี่ยนถาดรองฉี่ที่อยู่ด้านล่างกรงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของน้องหมาค่ะ
- พื้นที่โดยรอบ ผู้เลี้ยงควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณรอบๆ พื้นทีที่น้องหมาแก่นอนเพื่อสุขอนามัยที่ดี โดยผู้เลี้ยงควรจัดสิ่งของให้อยู่เป็นที่เป็นทางเพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด และไม่ควรเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยๆ เพราะน้องหมาอาจเดินชนสิ่งของจนเกิดอุบัติเหตุได้ สำหรับน้องหมาแก่ที่ไม่สามารถอั้นฉี่ได้ ผู้เลี้ยงควรหาผ้ายาง เสื่อน้ำมัน หรือพลาสติกมาปูไว้ด้านล่างของที่นอนอีกหนึ่งชั้น เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด และอาจใช้น้ำยาถูกพื้นที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อโรค มาถูทำความสะอาดพื้นก็ได้ค่ะ
การดูแลน้องหมาแก่ไม่ใช่เรื่องยากเลยเลยใช่ไหมคะเพื่อนๆ เพียงแค่เราให้เวลาใส่ใจในการดูแลน้องหมาเพื่อนผู้ซื่อสัตย์เพิ่มขึ้นอีกสักนิดเพื่อให้เค้ามีสุขภาพดี ซึ่งในขณะเดียวกันสิ่งที่เราจะได้รับกลับมาก็คือ เวลาที่น้องหมาจะสามารถมีชีวิตอยู่กับเราได้นานขึ้น ... การที่น้องหมาแก่จะมีสุขภาพดี มีอายุยืนยาวได้คงไม่ใช่เพียงการดูแลในตอนที่น้องหมาเริ่มแก่แล้วเท่านั้น หากแต่เราควรดูแลน้องหมาตั้งแต่รับเข้ามาเลี้ยงซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งผลให้น้องหมามีสุขภาพดี และอายุยืนยาวนะคะ เพราะฉะนั้นเพื่อนๆ ที่มีน้องหมาเด็ก ก็อย่าลืมที่จะดูแลเอาใจใส่ เพื่อที่จะได้เป็นน้องหมาที่มีอายุยืนยาวกันด้วยนะคะ ^^
บทความโดย : Dogilike.com
ภาพประกอบ:
http://www.petside.com/article/does-vets-new-age-label-hurt-shelter-pets
http://www.buddybeds.com/dog-beds/DOG_ARTHRITIS.html
http://www.wellbeing.com.au/article/features/body-health/Seven-steps-to-improved-wellbeing-for-your-dog_1023
http://www.readthespirit.com/how-does-a-dog-act-when-it-is/
http://www.dogarthritisblog.info/causes-and-diagnosis-of-dog-arthritis/counting-dog-years-old-dogs-and-dog-arthritis/
http://www.housebeautiful.com/decorating/dog-behavior/dog-behavior-problems-0910
http://dogs.thefuntimesguide.com/2009/11/dog_bad_behavior.php
http://www.dogbehaviorialtraining.com/common-dog-behavior-problems/
http://animals.howstuffworks.com/pets/dogs-nutritional-needs.htm
http://justforpets.com.au/all/from-the-age-of-seven-your-pets-dietary-needs-change/
http://countrysidevetcenter.com/wordpress/sample-page
http://www.sunnymeadows.org/
SHARES