โดย: Candyx

5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ

รู้จักชิสุ และการป้องกันดูแลไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพ

20 สิงหาคม 2556 · · อ่าน (253,165)
1,134

SHARES


1,134 shares

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ


     น้องหมาสายพันธุ์ชิสุ เป็นน้องหมาสายพันธุ์หนึ่งที่เหล่าคนรักสุนัขนิยมเลี้ยงเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากเป็นน้องหมาที่มีรูปร่างเล็ก ตากลมโต  ขนยาวสวย สง่างาม เป็นมิตร ขี้เล่น และช่างประจบ จึงทำให้ใครหลาย ๆ คนตกหลุมรักและตัดสินใจเลี้ยงน้องหมาชิสุแสนน่ารักนี้ได้อย่างง่ายดาย ...

     เทคนิคการเลี้ยงการดูแล วันนี้ ปังปอนด์ก็เลยจะชวนเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักน้องหมาสายพันธุ์ชิสุกันว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร และเรียนรู้วีธีการดูแล และรับมือไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่มักพบบ่อยในน้องหมาชิสุกันค่ะ


รู้จักสุนัขสายพันธุ์ชิสุ
 

 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ

 
     ชิสุ (Shih Tzu) เป็นน้องหมาขนาดเล็กที่จัดอยู่ในกลุ่มทอย (Toy Group) มีต้นกำเนิดจากทิเบต โดยคำว่า ชิสุ (Shih Tzu) เป็นคำในภาษาจีนแปลว่า สุนัขสิงโต ซึ่งชาวทิเบตถือว่าสิงโตเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนาค่ะ ชิสุเป็นสุนัขหนึ่งในสามสายพันธุ์ชั้นสูง (ชิสุ ปั๊ก ปักกิ่ง) ที่เป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิจีน โดยพระทิเบตได้มอบสุนัขพันธุ์ชิสุให้จักรพรรดิจีนเป็นของกำนัล สุนัขพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักนอกอาณาจักรจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1903 เริ่มจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ
 

     ลักษณะโดยทั่วไปของชิสุคือ เป็นสุนัขตัวเล็ก มีขนยาวและเส้นเล็ก มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 - 7.5 กิโลกรัม มีความสูงประมาณ 25 - 27 เซนติเมตร มีลักษณะนิสัย กล้าหาญ มีความตื่นตัว ขี้ประจบ มีความสง่าอยู่ในตัว เดินหน้าเชิด การย่างก้าวสง่าผ่าเผยสูงศักดิ์แบบขุนนาง ทั้งยังรักความสะอาด เป็นมิตรกับทุกคน ปรับตัวได้ดี และชอบที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ กับเจ้าของในทุกเรื่อง สำหรับอายุของชิสุจะเฉลี่ยอยู่ที่ 10-16 ปีค่ะ        
 
   ชิสุ เป็นน้องหมาอารมณ์ศิลปินที่หลายครั้งพบว่า มักจะไม่เชื่อฟังเจ้าของและไม่ทำตามคำสั่งถ้าไม่อยากทำ หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปซะอย่างงั้น นอกจากนี้ชิสุยังพบปัญหาเรื่องสุขภาพตาและขนที่มักจะเป็นสังกะตังอยู่เป็นประจำ ผู้เลี้ยงที่เหมาะสมจึงต้องเป็นคนที่มีความอดทน ใจเย็น เวลาในการดูแลเอาใจใส่สุขภาพอย่างเต็มที่ เช่น มีเวลาแปรงขน มีเวลาพาไปออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงาน มีเวลาพาน้องหมาออกไปเข้าสังคมเพื่อน้องหมาจะได้คุ้นชิน ไม่ดุ และอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายเมื่อพบเจอคนแปลกหน้าค่ะ (รู้จักข้อมูลสายพันธุ์เพิ่มเติม...)
 

5 ปัญหาสุขภาพที่มักพบในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ


ปัญหาเรื่องตา
 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ


     ปัญหาเรื่องตา ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับน้องหมาพันธุ์หน้าสั้นอย่าง ชิสุ เลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะโครงสร้างรูปหน้าของน้องหมาชิสุจะมีลักษณะเบ้าตาตื้นกว่าปกติ ดวงตากลมโตและโปนออกมาเหมือนใส่บิ๊กอายจึงมีความเสี่ยงที่ดวงตาจะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือจากการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกต่าง ๆ เช่น วิ่งชนสิ่งต่าง ๆ การเกา หรือการเล่นกับน้องหมาตัวอื่น ฯลฯ โดยอาการที่มักพบบ่อยในน้องหมาชิสุ ได้แก่ ลูกตาหลุดออกจากเบ้า โรคตาแห้ง ต่อมของหนังตาที่สามยื่นหรือโรคเชอร์รีอาย มีแผลหลุมที่กระจกตา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัญหาขนบริเวณใกล้ดวงตาทิ่มเข้าไปในตา ทำให้น้องหมาพยายามเกาตาและถูหน้ากับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้กระจกตาระคายเคือง ทำให้เกิดการอักเสบตามมาได้

     ในกรณีฉุกเฉินที่น้องหมาชิสุตาหลุดออกมา ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ได้รับอุบัติเหตุ อาทิ ถูกรถชน กระทบกระแทกอย่างแรง ตกจากที่สูง วิ่งชนวัตถุสิ่งของ โดนสุนัขตัวใหญ่กว่ากัด ผู้เลี้ยงสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้โดยการ หาผ้าสะอาดที่มีเนื้อละเอียดไม่หยาบชุบน้ำแล้วเอามาหุ้มพวงของลูกตาที่หลุดออกมาทั้งหมดเอาไว้ แล้วรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด

     ในเบื้องต้นผู้เลี้ยงสามารถสังเกตอาการผิดปกติของดวงตาน้องหมาได้โดยดูจาก น้องหมาจะมีมีขี้ตามาก น้ำตาไหล ตาปิด หรี่ตา ตาบวมแดง อักเสบ ไม่กล้าสู้แสง หรือบางตัวพยายามเกาตาจนแผลรุนแรงมากขึ้น  ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากบาดแผลจนถึงขั้นตาบอดได้ค่ะ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคตากับบทความ 6 อาการ ที่บ่งบอกว่า น้องหมา(กำลัง)ป่วยด้วย "โรคตา")

การดูแล
 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ


     ถึงแม้ว่าผู้เลี้ยงจะไม่สามารถปกป้องดวงตาของน้องหมาได้ตลอดเวลา  แต่ก็สามารถสังเกตอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดวงตาที่ดีต้องสดใสเป็นประกาย ไม่มีขี้ตามาก ไม่แฉะ และไม่แดง  ผู้เลี้ยงควรทำความสะอาดตาของน้องหมาด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดรอบดวงตาเบา ๆ และใช้ผ้าแห้งหรือสำลีเช็ดผิวหนังบริเวณใกล้เคียงให้แห้ง เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียที่จะนำไปสู่การติดเชื้อยีสต์ หรือเชื้อรา  

     หากพบดวงตาน้องหมามีความผิดปกติ เช่น มีขี้ตาเยอะดวงตาตาขุ่น ตาหรือรอบตาบวมแดง หรือน้องหมาเกาตา ก็ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจดูอาการในทันที เพราะดวงตาของน้องหมาเป็นอวัยวะบอบบางและสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตของน้องหมาค่ะ ส่วนสำหรับวิธีการถนอมดวงตาน้องหมาให้มีสุขภาพดีห่างไกลโรคก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ผู้เลี้ยงต้องมีความระมัดระวังและดูแลดวงตาน้องหมาอย่างใกล้ชิด เช่น เวลาอาบน้ำผู้เลี้ยงต้องระวังอย่าให้แชมพู เข้าตาน้องหมา แต่ให้ใช้วิธีใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดบริเวณใบหน้าและรอบ ๆ ดวงตาแทน หลีกเลี่ยงการให้น้องหมาอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละออง หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาน้องหมาได้รับบาดเจ็บได้ แยกเลี้ยงน้องหมาที่ไม่ถูกกันหรือมักกัดกันเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจทำให้ดวงตาเกิดความเสียหาย เล็มขนบริเวณรอบ ๆ ดวงตาที่ยาวเกินไป เพื่อป้องกันขนทิ่มดวงตาที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ มอบอาหารบำรุงดวงตาให้น้องหมา เช่น วิตามินซี วิตามินอี ลูทีนและซีแซนทีนที่ได้จากไข่แดง วิตามินเอ ได้จากอาหารจำพวก ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง แครอท ฟักทอง ฯลฯ


ปัญหาเรื่องผิวหนังและขน

 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ

     เป็นอีกหนึ่งปัญหายอดฮิตที่มักเกิดกับน้องหมาชิสุ ก็คงจะหนีไม่พ้น ปัญหาเรื่องของผิวหนังและขน เพราะน้องหมาชิสุเป็นน้องหมาที่ขึ้นชื่อเรื่องมีผิวหนังที่บอบบางค่อนข้างแห้ง และเกิดการแพ้ได้ง่าย จึงต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ในการบำรุงผิวหนังให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ แถมชิสุยังมีเส้นขนที่เล็กบาง ยาว จึงทำให้ขนพันกัน เกิดคราบเหลืองและเกิดเป็นสังกะตังได้ง่าย โดยมากจะพบปัญหาตามจุดสำคัญ ๆ ของร่างกาย เช่น ขนบริเวณรอบดวงตา รอบปาก หลัง ก้น หาง หลังหู ใต้ท้อง รวมถึงจุดสำคัญที่ผู้เลี้ยงมักมองข้ามไปคือ ขนบริเวณอุ้งเท้าที่น้องหมามักจะเหยียบไปในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เฉอะแฉะจึงทำให้เกิดความอับชื้น   ... ซึ่งขนตามจุดต่างๆ นี้ มักพบว่าขนจะพันกันจนกลายเป็นสังกะตัง หรืออาจเกิดการหมักหมมจนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดีและอาจเกิดผิวหนังอักเสบ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอค่ะ

     นอกจากนี้แล้ว น้องหมาชิสุยังพบปัญหาคราบน้ำตาสะสมบริเวณใต้ตาจนกลายเป็นสีน้ำตาลแดงทีทำให้น้องหมาชิสุตัวขาวแสนน่ารักกลายเป็นน้องหมาหมดสง่าราศีแถมเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ (กลายเป็นน้องหมาหน้าเหม็น)  ซึ่งเจ้าคราบเหลืองบริเวณใต้ตานี้เกิดได้จากหลายปัจจัย บางรายเกิดจากมีน้ำตาไหลเยอะตามธรรมชาติ แต่สาเหตุหลัก ๆ มักเกิดจากเชื้อยีสต์ชนิด Red Yeast ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เปียกชื้น หมักหมม (น้ำตาของน้องหมา) ซึ่งยีสต์ชนิดนี้จะทำปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดคราบสีแดงเข้มอมน้ำตาลเกาะที่ขน ใต้ตา รวมถึงอาจเกิดจากท่อน้ำตาอุดตันก็ได้ค่ะ ฉะนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องคอยหมั่นใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาด โดยควรเช็ดให้แห้งเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย หรือเชื้อยีสต์ค่ะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ ขนน้องหมากับปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม...)


การดูแล
 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ

 
     ปัญหาเรื่อง ขน สำหรับน้องหมาชิสุถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้เลี้ยงไม่ควรละเลยค่ะ เพราะว่าน้องหมาชิสุเป็นน้องหมาขนยาวที่มีโอกาสที่ขนจะเป็นสังกะตังได้ง่าย ผู้เลี้ยงจึงต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ โดยวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขนพันกันเป็นสังกะตัง และผิวหนังอักเสบนั้น ผู้เลี้ยงสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ผู้เลี้ยงหมั่นสังเกตลักษณะเส้นขนของน้องหมาเป็นประจำ โดยจับน้องหมามาวางบนโต๊ะ หรือเก้าอี้ แล้วตรวจสอบขนรอบตัวน้องหมาว่ามีจุดไหนบ้างที่เริ่มเกิดเป็นปม ถ้าหากเจอเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ก็ให้หยิบออกทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ขนเป็นสังกะตัง หรืออาจจะตัดขนน้องหมาให้สั้นก็จะทำให้ดูแลง่าย และไม่เป็นสังกะตังแน่นอนค่ะ

      สำหรับการอาบน้ำ ผู้เลี้ยงควรอาบอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง และเลือกใช้แชมพูที่มีสารสกัดธรรมชาติที่อ่อนโยนต่อผิวหนังที่บอบบางของน้องหมาชิสุ เช่น น้ำมันมะกอก ที่ช่วยบำรุงผิวบำรุงเส้นขนให้เงางาม สารสกัดจากเปลือกสน ที่ช่วยกระตุ้นต่อมไขมันให้สร้างน้ำมันออกมาเคลือบเส้นขนและผิวหนังให้ชุ่มชื้นได้มากขึ้น ว่านหางจระเข้ ช่วยต้านการอักเสบและฆ่าเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ และหลังจากน้องหมาอาบน้ำเสร็จ ผู้เลี้ยงต้องใช้ไดร์เป่าขนน้องหมาจนแห้งสนิท โดยไม่ควรปล่อยให้ขนน้องหมาแห้งเอง เพราะจะทำให้ขนจับตัวเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งอาจกลายเป็นสังกะตังได้ และหมั่นแปรงขนนองหมาเป็นประจำ เพื่อขนจะได้เรียงตัวสวยเงางามค่ะ รวมถึงผู้เลี้ยงควรใช้ครีมนวด หรือสเปรย์ที่มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้ขนพันกันมาฉีดพ่นที่ขนน้องหมาก่อนแปรงขนก็จะช่วยให้ขนน้องหมาเงางาม นิ่ม ไม่พันกันค่ะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ กลเม็ดเคล็ด(ไม่)ลับอาบน้ำสุนัขขนยาว)

      สำหรับการจัดแต่งทรงขน ผู้เลี้ยงควรหวีขนและใช้ยางมัดผมขนาดเล็กสำหรับสุนัขที่หาซื้อได้ตามร้านเพ็ทช็อปมามัดเพื่อป้องกันไม่ให้ขนทิ่มตาน้องหมา โดยแบ่งขนเป็นช่อเล็ก ๆ แล้วมัดให้เป็นทรงต่าง ๆ (ไม่ควรใช้ยางมัดผมเส้นหน้าของคนมัดให้น้องหมาเพราะจะทำให้เส้นยางดึงขนน้องหมาจนเกิดการอักเสบได้ )

     ส่วนเรื่องของการให้อาหารก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อขนของน้องหมาเช่นกัน ผู้เลี้ยงควรให้อาหาร 2 ครั้งต่อวัน และอาหารที่ให้ควรเป็นอาหารสำเร็จรูปแบบเม็ดสูตรบำรุงขน หรืออาจจะเสริมด้วยน้ำมันปลา มากกว่าอาหารกระป๋อง เพราะชิสุมีขนยาว หากให้กินอาหารกระป๋องจะทำให้เลอะและมีกลิ่นปากได้ค่ะ


ปัญหาเรื่องช่องหู
 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ

 
     เรียกได้ว่า ชิสุ เป็นน้องหมาสายพันธุ์หนึ่งที่พบปัญหาของช่องหูมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ๆ เพราะช่องหูของชิสุมีลักษณะหูพับลงและมีขนในช่องหูมาก อีกทั้งหูยังมีความชื้นสูง ทำให้การระบายน้ำและสิ่งสกปรกต่าง ๆ และการไหลเวียนของอากาศทำได้ไม่ค่อยดีนัก จึงมีแนวโน้มที่จะมีการติดเชื้อในช่องหูได้หลากหลาย ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ และไรในหู ซึ่งโรคในช่องหูที่มักพบในน้องหมาชิสุ ได้แก่ โรคหูน้ำหนวก โรคช่องหูส่วนนอกอักเสบ ฯลฯ โดยน้องหมาที่มีการติดเชื้อในหูจะแสดงอาการในเบื้องต้นคือ สั่นศีรษะ สะบัดหัวบ่อย พยายามเกาหู มีขี้หูสีเข้ม หูมีกลิ่นเหม็น มีของเหลวสีเหลือง น้ำตาล หรือของเหลวปนเลือดไหลซึมออกมา เดินวน หรือในบางรายก็อาจมีการทรงตัวผิดปกติก็มีค่ะ ถ้าหากน้องหมาที่แสดงอาการเหล่านี้บ่อย ๆ มากกว่า 5-10 ครั้งต่อวัน ผู้เลี้ยงก็ควรพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ เพราะหากน้องหมาเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาก็จะเกิดการอักเสบและกลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังที่รักษาได้ยาก หรือในบางรายก็อาจจะต้องใช้วิธีศัลยกรรมตัดช่องหูเลยล่ะค่ะ ซึ่งเจ้าของก็ควรหมั่นทำความสะอาดหูของน้องหมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการป้องกันดีกว่ามาแก้ไขในภายหลังที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างมากค่ะ (อ่านบทความเพิ่มเติม 4 วิธีรับมือปัญหาช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัข)


การดูแล
 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ

 
     สำหรับการดูแลช่องหูน้องหมาชิสุให้มีสุขภาพดีห่างไกลปัญหาโรคหูต่าง ๆ  มีหัวใจที่สำคัญอยู่ที่คือ ความสะอาด ผู้เลี้ยงควรดึงขนภายในช่องหูที่มีอยู่มากออกเป็นประจำ โดยอาจจะทำสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และตัดขนรอบ ๆ หู  เพื่อช่วยให้อากาศสามารถไหลเวียนเข้าไปได้มากขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดความอับชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของโรคในช่องหูต่าง ๆ รวมถึงหลังอาบน้ำทุกครั้ง ผู้เลี้ยงควรทำให้น้องหมาสงบนิ่งก่อน และยินยอมให้ทำความสะอาดช่องหูแต่โดยดี เริ่มทำความสะอาดช่องหูน้องหมาโดยการใส่น้ำยาสำหรับทำความสะอาดหูลงไปในช่องหู บีบนวดบริเวณโคนหูประมาณ 20-30 วินาที เพื่อทำให้ขี้หูอ่อนนุ่มและหลุดออกมา จากนั้นจึงเช็ดเอาขี้หูที่หลุดออกและใช้ก้านไม้พันด้วยสำลีชุบน้ำยาทำความสะอาดเช็ดช่องหูจนไม่พบว่ามีขี้หูหลงเหลืออยู่ในช่องหูอีก ห้ามแทงหรือปั่นหูน้องหมานะคะ แต่ให้ใช้การเช็ดในลักษณะตักขึ้นมาแทนค่ะ

     สำหรับน้องหมาที่พบปัญหาช่องหู สัตวแพทย์จะรักษาตามอาการ สาเหตุของปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยจะให้ยาปฏิชีวนะสำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยาต้านเชื้อราจะใช้สำหรับการติดเชื้อยีสต์ การให้ยากลูโคคอร์ติคอร์ย เช่น เด็กซาเมธาโซนมักจะใช้เพื่อลดการอักเสบในช่องหู (ยาหยอด หรือยากิน) กรณีปัญหาช่องหูที่เกิดมาจากโรคอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือการแพ้ จะต้องให้การรักษาน้องหมาทั้งตัว ไม่เฉพาะแต่ช่องหู เช่น การเสริมฮอร์โมน หรือตรวจทดสอบการแพ้ เป็นต้นค่ะ

 

ปัญหาเรื่องช่องปากและฟัน

 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ


     ตามรายงานของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า น้องหมาที่มีอายุมากกว่า 3 ปี มากถึงร้อยละ 85 มักเป็นโรคเหงือกอักเสบ และจะยิ่งพบมากขึ้นเมื่อน้องหมามีอายุเพิ่มขึ้น และในประเทศออสเตรเลียมีรายงานพบว่า มีน้องหมาที่ป่วยเป็นโรคเหงือกอักเสบ มากถึงร้อยละ 95 ซึ่งสืบเนื่องมาจาก ไม่ได้รับการดูแลใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากและฟันจากเจ้าของสุนัข ...

      ซึ่งน้องหมาชิสุก็ถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มักพบปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน เนื่องด้วยลักษณะของใบหน้าที่สั้น แบน และกรามบนสั้นกว่ากรามล่าง ทำให้ฟันล่างยื่น ฟันไม่สบกัน เกิดเป็นฟันซ้อนและในบางตัวมีซี่ฟันห่างกันจึงทำให้เศษอาหารต่าง ๆ ที่ผู้เลี้ยงให้น้องหมากินไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสุก หรืออาหารเปียก มักจะเข้าไปติดและหลงเหลือเศษอาหารอยู่ตามซอกฟันของน้องหมา ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและแคลเซียมที่บริเวณฟันจนเกิดเป็นหินน้ำลาย และหากไม่มีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี หินน้ำลายจะเกิดการก่อตัวเป็นหินปูนเกาะตามฟันซี่ต่าง ๆ จนเกิดกลิ่นปาก เมื่อเชื้อแบคทีเรียมากขึ้นจะส่งผลให้เนื้อเยื่อปริทันต์อักเสบ เกิดการทำลายเยื่อบุผิวฟันและเนื้อเยื่อรอบฟัน รวมทั้งทำให้เกิดการสลายของกระดูกเบ้าฟัน ในรายที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อปริทันต์รุนแรงอาจทำให้กรามหัก หรือเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ ไต ฯลฯ และเสียชีวิตได้ในที่สุด (อ่านเพิ่มเติม "ปริทันต์" โรคร้ายที่(อาจ)เกิดในช่องปากสุนัข)

     ดังนั้น หากผู้เลี้ยงไม่อยากให้น้องหมาชิสุแสนน่ารักเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจดูแล และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันให้กับน้องหมาเป็นประจำทุกวันนะคะ ...


การดูแล

 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ


     ฟันของน้องหมาก็เหมือนกับฟันของคนเรา ที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่ดีของช่องปากและฟัน ซึ่งการดูแลฟันของน้องหมาให้ขาวสวย และไร้กลิ่นปากเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงสามารถทำได้ง่าย ๆ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาเหล่านี้คือ  การไม่ละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ด้วยการแปรงฟันและลิ้นให้น้องหมาทุกวัน ซึ่งการแปรงฟันจะช่วยชะลอการเกิดคราบหินปูน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก รวมถึงโรคปริทันต์ในน้องหมาค่ะ และสำหรับการเลือกยาสีฟัน ผู้เลี้ยงควรเลือกยาสีฟันที่ผลิตมาเพื่อน้องหมาโดยเฉพาะ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำยาสีฟันของคนมาใช้กับน้องหมา เนื่องจากยาสีฟันของคนมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ที่เป็นอันตรายกับน้องหมา และถูกผลิตมาเพื่อให้บ้วนทิ้งและห้ามกลืนกิน ซึ่งน้องหมาไม่สามารถบ้วนยาสีฟันทิ้งและอาจจะกลืนยาสีฟันเข้าไปจนเกิดการสะสมก่อให้เป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคนิ่ว ได้ค่ะ (รู้ไหม? น้องหมาก็ต้องแปรงฟันเหมือนกันนะ)

      นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพช่องปากกับสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปี รวมถึงผู้เลี้ยงควรหาของเล่นที่ช่วยขัดฟันและบริหารฟันให้น้องหมา เช่น ของเล่นที่ทำจากเชือกผ้าที่ออกแบบมาเพื่อช่วยขัดฟัน ขูดลอกเอาคราบแบคทีเรียออก ซึ่งเป็นการป้องกันคราบหินปูนสะสม รวมถึงควรให้อาหารสุนัขแบบเม็ดกับน้องหมาเพื่อช่วยลดปัญหาการสะสมแบคทีเรียอีกทางหนึ่งค่ะ


ปัญหาเรื่องทางเดินหายใจ
 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ

 
     น้องหมาของเพื่อน ๆ เคยหายใจเสียงดังคลืดคลาด นอนกรนส่งเสียงดังในคอ หรือหายใจเข้าช้ากว่าหายใจออกหรือเปล่าคะ? ... แน่นอนว่า อาการที่กล่าวมาต้องเคยเกิดกับน้องหมา ชิสุ ซึ่งเป็นน้องหมาในกลุ่มหน้าสั้นที่มักจะมีแนวโน้มในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นั่นก็เพราะว่า น้องหมาชิสุมีลักษณะการหายใจแบบเฉพาะ และอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการกรองอากาศในจมูกจะสั้นกว่าน้องหมาที่มีโครงหน้ายาว จึงเกิดการระคายเคืองหรือรับสิ่งแปลกปลอมในอากาศเข้าไปได้ง่ายกว่า  โดยน้องหมาชิสุมักพบปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ รูจมูกตีบแคบ ที่เป็นลักษณะความผิดปกติของปลายหรือปีกจมูกที่แคบเกินไป ทำให้รูจมูกตีบแคบ ปิดบังทางเข้าออกของอากาศขณะหายใจ ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก สัตวแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเอากระดูกอ่อนบางส่วนออก เพื่อขยายให้ช่องจมูกกว้างขึ้นค่ะ โรคกล่องเสียงตีบ ที่เกิดจากการที่ส่วนกระดูกอ่อนของกล่องเสียงอ่อนตัวลง ทำให้รูปร่างของกล่องเสียงเสีย ปิดกลั้นทางเข้าออกของอากาศ สามารถรักษาโดยการผ่าตัด และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่นเดียวกับน้องหมาหน้าสั้นทั่วไป ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ 5 ปัญหาสุขภาพของหมาพันธุ์ (เล็ก) หน้าสั้น


การดูแล

 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ

 
     สำหรับการดูแลน้องหมาเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ ผู้เลี้ยงสามารถทำได้คือหลีกเลี่ยงการให้น้องหมาอยู่หรือนอนในห้องที่มีความชื้นสูง มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือให้น้องหมาอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองเยอะ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วคือ น้องหมาชิสุหรือน้องหมาสายพันธุ์หน้าสั้นจะรับสิ่งแปลกปลอมในอากาศเข้าไปได้ง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปรบกวนระบบทางเดินหายใจของน้องหมาจนทำให้น้องหมาเกิดโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้

     นอกจากนี้ผู้เลี้ยงก็ไม่ควรให้น้องหมาอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือออกกำลังกายหนัก ๆ เป็นเวลานาน เพราะจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจทำให้เกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้ง่าย ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูง หอบ น้ำลายไหล หายใจแรง และอาจช็อคได้ค่ะ
 
     สำหรับเรื่องการหายใจแรงและนอนกรน ในน้องหมาชิสุหลายตัวก็ถือเป็นเรื่องปกติและไม่เป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตอยู่  แต่ผู้เลี้ยงก็ควรสังเกตลักษณะการหายใจของน้องหมาอยู่เสมอ  ถ้าหากเกิดความผิดปกติที่รุนแรงขึ้น เช่น หอบมาก มีอาการไอ มีน้ำมูกข้น ก็ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีของน้องหมานะคะ
 

Dogilike.com :: 5 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ชิสุ


 
      5 ปัญหาสุขภาพที่กล่าวไปในข้างต้นสามารถเกิดขึ้นกับน้องหมาชิสุแสนน่ารักของเพื่อน ๆ ได้ทุกตัว แต่เพื่อน ๆ ก็สามารถป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการและโรคต่าง ๆ เพียงแค่เพื่อน ๆ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับน้องหมาและวิธีการป้องกันพร้อมใส่ใจดูแลน้องหมาอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ เพียงเท่านี้น้องหมาของเพื่อน ๆ ก็จะห่างไกลโรคไปได้เยอะแล้วล่ะค่ะ ^______^


บทความโดย : Dogilike.com

ภาพประกอบ:
http://blog.girlybubble.com/2011/08/11/10-super-cute-shih-tzu-dogs/
http://all-puppies.com/white-shih-tzu-puppies.html
http://www.tumblr.com/tagged/shi-tzu
http://www.flickr.com/photos/olatheanimalhospital/4725853894/
http://www.ispca.ie/rescue_cases/view/ispca_assist_in_major_rescue_operation
http://lonestarshihtzurescue.com/
http://totallyshihtzu.com/grooming-you-shih-tzu-puppy/
http://hqworld.net/gallery/details.php?image_id=2700&sessionid=72bf408d403dd585eca2837b73e70143
http://www.gashihtzu.com/ShihTzu/breed-stature-standard.html
http://www.ckwik.com/Dog-Pictures/dog-picture-long-hair-shih-tzu-fashion-pose-hd-wallpaper/
https://www.youtube.com/watch?v=_167d99BBYU