โดย: Candyx
รับน้องหมาไร้บ้านมาเลี้ยงจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
คุณภาพชีวิตของน้องหมาไรบ้านเปลี่ยนได้ด้วยมือคุณ ...
16 มิถุนายน 2558 · · อ่าน (13,105)
Vadim Ghirda/AP Photo
สำหรับคนรักน้องหมาแล้ว หลายคนคงทนที่จะเห็นเห็นสุนัขจรจัดหรือน้องหมาไร้บ้านต้องเร่ร่อนอยู่ข้างถนน อดมื้อกินมื้อ มีสุขภาพย่ำแย่เจ็บป่วยไปไม่ได้ ! ... หลาย ๆ คนจึงอยากที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ รับเลี้ยงน้องหมาไร้บ้านหรือน้องหมาในศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ให้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว เพื่อหวังว่าจะเปลี่ยนชีวิตของน้องหมาเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดปัญหาสุนัขจรจัดที่เพิ่มมากขึ้นในสังคม พร้อมทั้งตั้งใจที่จะมอบความรักความอบอุ่นให้กับน้องหมาไร้บ้านที่พวกมันไม่เคยได้รับมาก่อนในชีวิต ...
เทคนิคการเลี้ยงการดูแล ใน วันนี้ ปังปอนด์ก็เลยจะมาแนะนำวิธีการเตรียมตัว หากเพื่อน ๆ คนรักน้องหมาคนไหนตั้งใจที่จะรับอุปการะน้องหมาไร้บ้านว่า เราควรที่จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านความพร้อมของสถานที่ การดูแลสุขภาพ รวมถึงการปรับตัวในด้านต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นข้อดังต่อไปนี้ค่ะ
พาตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน
สิ่งแรกเมื่อผู้เลี้ยงได้ตัดสินใจรับเลี้ยงน้องหมาไร้บ้านให้เข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัวแล้วก็คือ ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนตามโปรแกรมกับสัตวแพทย์ รวมถึงถ่ายพยาธิและกำจัดเห็บหมัด เพื่อเราจะได้มั่นใจได้ว่า สุขภาพของเขาแข็งแรงปกติดี และผู้เลี้ยงก็ควรหมั่นพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน โดยอย่าชะล่าใจเพราะน้องหมาไร้บ้านที่เรารับเลี้ยงมาอาจแสดงอาการหรือเป็นโรคที่หลบซ่อนอยู่ภายในร่างกายต่าง ๆ ได้ สำหรับข้อดีของการหมั่นพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพกันสัตวแพทย์คือ จะช่วยทำให้เจ้าของรู้ถึงแนวโน้ม ความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในน้องหมา สามารถเตรียมป้องกัน รักษาน้องหมาได้อย่างถูกวิธีและยังช่วยเพิ่มโอกาสให้น้องหมาหายขาดจากโรค ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นค่ะ
ส่วนในกรณีที่ยังไม่ครบกำหนดพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์ แต่สังเกตพบน้องหมาเริ่มมีสัญญาณของอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว ไม่ยอมกินอาหาร มีอาการซึมเศร้า ไม่ร่าเริง ผู้เลี้ยงก็ควรรีบพาน้องหมาไปพบสัตว์แพทย์ทันทีเพื่อตรวจเช็ค หาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นค่ะ ... (อ่านเพิ่มเติมในบทความ โปรแกรมดูแลสุขภาพสำหรับสุนัข)
จัดพื้นที่ สอนน้องหมาให้รู้จักขอบเขต
ผู้เลี้ยงควรจัดพื้นที่ให้น้องหมาที่รับเลี้ยงมาอยู่เป็นสัดส่วน โดยอาจจะเลือกพื้นที่ที่เงียบสงบ อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีร่มเงาเพียงพอ เป็นพื้นที่ที่ง่ายต่อการดูแลทำความสะอาด ซึ่งอาจจะเป็นมุมใดมุมหนึ่งของพื้นที่ภายในบ้าน ที่จะไม่มีการย้ายหรือเปลี่ยนแปลงอีกในอนาคต เพื่อเป็นการสร้างวินัย และแบ่งเขตให้น้องหมารู้จักพื้นที่ของตัวเอง ... หากผู้เลี้ยงต้องการเลี้ยงน้องหมาแบบปล่อย ไม่ขังกรง แนะนำว่า ควรจัดพื้นที่ให้มีความกว้างพอสมควร เพื่อน้องหมาจะได้วิ่งเล่นเพื่อปลดปล่อยพลังงานในระหว่างที่ผู้เลี้ยงไม่อยู่บ้าน ส่วนผู้เลี้ยงบ้านที่จำเป็นต้องจับน้องหมาขังไว้ในกรงก็ควรเลือกกรงที่มีมุ้งลวดป้องกันยุง หาเบาะที่นอนที่มีความหนาและนุ่ม ขนาดพอดีตัวใส่ไว้ในกรงให้น้องหมาได้นอนพักผ่อน
รวมถึงควรสอนให้น้องหมารู้จักพื้นที่ขับถ่าย โดยผู้เลี้ยงอาจจะใช้วิธีพาน้องหมาไปยังจุดที่เราต้องการให้น้องหมาขับถ่ายและกำหนดเวลาขับถ่ายของน้องหมาให้ชัดเจน อาจพาน้องหมาออกไปขับถ่ายทุก ๆ 4 ชั่วโมงในพื้นที่จะเราจัดเตรียมไว้ เพื่อให้น้องหมารู้ว่า ตำแหน่งพื้นที่นี้สามารถขับถ่ายได้และป้องกันปัญหาน้องหมาอึ ฉี่เรี่ยราดที่จะทำให้บ้านสกปรก ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนในอนาคตค่ะ
กรูมมิ่ง ทำความสะอาดร่างกาย
ผู้เลี้ยงควรจับน้องหมามากรูมมิ่ง ดูแลความสะอาดร่างกายอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อให้ร่างกายของน้องหมาสะอาดอยู่เสมอ เพราะน้องหมาไร้บ้านที่เพิ่งถูกรับเลี้ยงมาส่วนใหญ่มักจะมีสภาพผิวหนังและเส้นขนที่สกปรกกว่าน้องหมาบ้าน โดยบางตัวอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังและเส้นขน เช่น ผิวหนังอักเสบ ขนสังกะตัง มีตุ่มคัน บาดแผลตามร่างกาย เห็บหมัด ฯ ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องดูแลความสะอาดของน้องหมาเป็นพิเศษ โดยอาจจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวหนังของน้องหมาที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือระคายเคืองต่อผิวหนังของน้องหมา เช่น แชมพูสูตรอ่อนโยนสำหรับสุนัขผิวบอบบาง แชมพูกำจัดเห็บหมัด แชมพูสมุนไพรสำหรับน้องหมากลิ่นตัวแรง แชมพูยาสำหรับน้องหมาที่เป็นโรคผิวหนัง ฯ
สำหรับการกรูมมิ่งน้องหมาที่ถูกต้อง แนะนำว่า ให้ผู้เลี้ยงแปรงขนน้องหมาทุกครั้ง (ทั้งน้องหมาสายพันธุ์ขนสั้นและขนยาว) หากน้องหมาเป็นสังกะตังก็ให้กำจัดก้อนขนออกไปให้หมด ก่อนจับน้องหมาอาบน้ำเพื่อขจัดขนเก่าที่ตายแล้วออกไปและลดปัญหาขนพันกันในขั้นตอนการอาบน้ำ เมื่ออาบน้ำเสร็จก็อย่าลืมใช้ไดร์เป่าผมมาเป่าขนของน้องหมาให้แห้งสนิท และอาจบำรุงผิวหนังและขนของน้องหมาด้วยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันเคลือบเส้นขน สเปรย์บำรุงขนที่ไม่ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์ ฯลฯ ก็ได้ค่ะ
ใส่ปลอกคอ แท็กชื่อ
เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยค่ะ สำหรับการหาปลอกคอและป้ายชื่อมาให้น้องหมาใหม่ที่เรารับเลี้ยงมา โดยผู้เลี้ยงควรหาปลอกคอขนาดพอดีกับรอบคอของน้องหมามาใส่ให้กับน้องหมา พร้อมกับติดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์เอาไว้ที่ปลอกคอเพื่อช่วยป้องกันในกรณีที่น้องหมาเกิดการพลัดหลง หรือสูญหาย เนื่องจากในช่วงแรกน้องหมาอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับบ้านใหม่ บางตัวจึงอาจพยายามหนี หรือซ่อนตัวเพราะกลัวสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยเจอได้ค่ะ
โดยผู้เลี้ยงควรเช็กปลอกคอหรือป้ายชื่อให้ดีว่าสวมใส่ให้น้องหมาแน่นหนาดีแล้วเพื่อป้องกันการหล่นหาย และเช็กข้อความว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อในกรณีน้องหมาเกิดพลัดหลงผู้ที่ช่วยเหลือจะได้ทราบว่าใครเป็นเจ้าของน้องหมา และสามารถติดต่อกลับมาได้อย่างรวดเร็วค่ะ
เปลี่ยนการกินอาหารใหม่
โดยปกติของน้องหมาไร้บ้านที่ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน ก็มักจะเคยชินกับพฤติกรรมคุ้ยเขี่ยกองขยะเพื่อกินเศษอาหารสด เศษข้าวข้างทาง ดังนั้น เมื่อผู้เลี้ยงรับน้องหมาไร้บ้านเหล่านี้มาเลี้ยงสิ่งสำคัญก็คือ ผู้เลี้ยงจะต้องช่วยปรับเปลี่ยนการกินอาหารของน้องหมาใหม่ โดยใช้วิธีใช้ผสมอาหารปรุงสุก ข้าวหรือเนื้อสดคลุกกับอาหารเม็ด แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดในที่สุด โดยการเปลี่ยนอาหารให้น้องหมาอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนไม่ควรเปลี่ยนอาหารในทันที เพราะน้องหมาอาจท้องเสียได้
สำหรับการเปลี่ยนอาหารจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน โดยเริ่มจากการผสมอาหารเม็ด 25% กับอาหารปรุงสุก ข้าว หรือเนื้อสด 75% หลังจาก 3-5 วัน จึงผสมอาหารปรุงสุก ข้าว หรือเนื้อสด และอาหารเม็ดเป็นครึ่งต่อครึ่ง จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนมาผสมอาหารเม็ด 75% กับอาหารปรุงสุก ข้าว หรือเนื้อสด 25%ในช่วงวันที่ 6-10 และวันต่อไปจึงเป็นอาหารเม็ด 100% โดยอาจจะให้อาหารเป็นช่วงเช้าและเย็น เพื่อเป็นการสร้างวินัยในการกินอาหารให้กับน้องหมาค่ะ
ฝึกน้องหมาให้รู้จักเข้าสังคม
เมื่อรับน้องหมาไร้บ้านมาเลี้ยง สิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ การฝึกให้น้องหมารู้จักเข้าสังคม โดยเฉพาะในบ้านที่มีน้องหมาอยู่ก่อนแล้วก็ควรทำให้น้องหมาทำความรู้จักกัน โดยเราอาจจะเริ่มขั้นตอนแรกด้วยการสร้างความมั่นใจให้น้องหมาไร้บ้าน เพราะบางตัวอาจจะเป็นน้องหมาขี้กลัว ที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาก่อน เช่น เคยถูกทุบตี กลัวเสียงแตรรถยนต์ กลัวน้องหมาตัวใหญ่กว่า ฯ โดยใช้วิธีพาน้องหมาเดินสำรวจรอบบ้านก่อน ปล่อยให้น้องหมาคุ้นชินกับสถานที่และรู้สึกปลอดภัยว่า บ้านไม่ได้เป็นอันตราย ก่อนพาไปแนะนำให้รู้จักสมาชิกในครอบครัวและปล่อยให้ดมน้องหมาที่เลี้ยงไว้ก่อนหน้า โดยจะต้องใส่สายจูงเอาไว้เพื่อป้องกันน้องหมากัดกัน
เมื่อน้องหมาคุ้นชิน ไว้ใจคนในครอบครัว และสามารถปรับตัวเข้ากับน้องหมาภายในบ้านได้แล้ว ผู้เลี้ยงก็อาจจะลองแสดงออกทางภาษากายด้วยการใช้มือสัมผัส ค่อย ๆ ลูบขาของน้องหมาเบา ๆ เพื่อทดสอบดูว่า น้องหมาต่อต้านการสัมผัสตัวหรือไม่ ถ้าหากน้องหมาไม่ต่อต้านก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากการลูบขา มาลูบศีรษะแทน โดยอาจจะสัมผัสตัวน้องหมาเป็นประจำทุกวัน ให้เวลาน้องหมาได้สำรวจ และพาเดินไปรอบ ๆ บ้าน รวมถึงผู้เลี้ยงและสมาชิกในครอบครัวก็ควรแบ่งเวลาให้ความรักกับน้องหมาอย่างเต็มที่ อย่าปล่อยให้น้องหมาเหงาจนเกิดความเครียด เพื่อป้องกันพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ของน้องหมา เช่น กัดแทะข้าวของ ขุดดินในสนามหญ้าหน้าบ้าน ฯลฯ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้น้องหมาเกิดความมั่นใจ เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ค่ะ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ แบ่งเวลา ... เติมความรักให้น้องหมาอย่างถูกวิธี )
กระตุ้นภูมิต้านทานด้วยการออกกำลังกาย
เมื่อน้องหมาคุ้นชินกับผู้เลี้ยงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ควรหมั่นพาน้องหมาไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายน้องหมาสร้างภูมิต้านทาน มีสุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอก ไม่เจ็บป่วยง่ายค่ะ หากน้องหมาเป็นสายพันธุ์ใหญ่ก็จะมีวิธีการออกกำลังกายที่หลากหลาย เช่น วิ่งหรือเดินอย่างอิสระ, ว่ายน้ำ, กระโดดข้ามเครื่องกีด, เล่นชักเย่อ, เล่นเก็บลูกบอล จานร่อน หรือ ของเล่นฝึกทักษะในด้านต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนในน้องหมาพันธุ์เล็ก การออกกำลังกายจะเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ว่ายน้ำ , เล่นโยนลูกบอล , เล่นซ่อนแอบสิ่งของ , การวิ่งเบาๆ , ฝึกทักษะคำสั่งต่าง ๆ ฯลฯ โดยทุกครั้งจะต้องอยู่ในการควบคุมของเจ้าของเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตน้องหมา และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่หักโหมหรือมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น การเล่นชักเย่อ การดึงสปริง กิจกรรมที่ต้องกระโดดจากที่สูง ฯ เพราะน้องหมาอาจตกลงมาทำให้น้องหมาได้รับบาดเจ็บ เช่น กระดูกขาหัก สะบ้าเคลื่อน ซึ่งทำให้เจ็บป่วยเรื้อรังในอนาคตได้ค่ะ
สำหรับการออกกำลังกายด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายน้องหมาสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ก็ยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และเป็นวิธีที่สามารถช่วยควบคุมน้ำหนักของน้องหมาแต่ละตัวให้อยู่ในเกณฑ์พอดี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาภาวะน้ำหนักเกินที่อาจเกิดขึ้นในน้องหมาได้อีกด้วยค่ะ
การรับน้องหมาไร้บ้านเข้ามาเลี้ยงหลาย ๆ คนอาจจะมองว่าเป็นการสร้างภาระและปัญหาแต่จริง ๆ แล้วการรับเลี้ยงน้องหมาไร้บ้านมาเลี้ยงไม่ใช่เรื่องยากเลยนะคะ เพียงแค่เราเข้าใจธรรมชาติของน้องหมาและให้เวลาาน้องหมาในการปรับตัว ฝึกทักษะต่าง ๆ ให้น้องหมารู้จักพื้นที่ของตัวเอง พร้อมกับใส่ใจดูแลสุขภาพของน้องหมา เท่านี้น้องหมาไรบ้านก็จะกลายเป็นหมาบ้านที่น่ารักแล้วล่ะค่ะ ...
บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/
ภาพประกอบจาก :
http://www.ligo.caltech.edu/LIGO_web/9908news/9908liv.html
http://abcnews.go.com/International/dog-attacks-romania-put-thousands-strays/story?id=20252168
http://animalgeneral.com/index.php/2012/09/health-recommendations-for-your-dogs-lifestyle/
http://www.coolanimalworld.com/2013/08/08/cute-dogs-happily-swimming-in-the-pool/
http://iptchemotherapy.org/for-patients/
http://animals-pics.com/tag/mobile-dog-grooming/
http://myhouseyourdog.com/
http://patscolor.com/outdoors/patio-garden/41-cool-luxury-dog-houses-for-your-pooch/
SHARES