โดย: Candyx

เห็บ...ที่สุดของปัญหากวนใจ กำจัดอย่างไรให้สิ้นซาก !!

ไขปัญหาและเรียนรู้เทคนิคกำจัดเห็บให้ได้ผล ...

15 ธันวาคม 2558 · · อ่าน (41,774)
1,024

SHARES


1,024 shares

Dogilike.com :: เห็บ...ที่สุดของปัญหากวนใจ กำจัดอย่างไรให้สิ้นซาก !!
 

     เรียกได้ว่า เป็นสุดยอดแห่งปัญหาที่สร้างความรำคาญและคอยกวนใจเจ้าของน้องหมากันมาตลอดเลยค่ะ สำหรับปัญหาเรื่อง “เห็บ” ศัตรูตัวร้ายที่เป็นสาเหตุทำให้น้องหมาเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคพยาธิในเม็ดเลือดและโรคอื่น ๆ อีกมากมาย

     ซึ่งในวันนี้ค่ะ ปังปอนด์จะพาเพื่อน ๆ มารู้จักเห็บให้มากขึ้น รวมถึงไขข้อสงสัยหลาย ๆ ข้อที่ผู้เลี้ยงน้องหมายังคาใจกันอยู่เพื่อให้ปัญหาเห็บตัวร้ายจบไปในปีนี้ ก่อนจะเริ่มต้นปีใหม่อย่างไรปัญหากวนใจ โดยปังปอนด์จะแนะนำวิธีกำจัดเห็บและตัดวงจรการเจริญเติบโตของเห็บอย่างไรให้ได้ผลกัน ว่าแต่ เราจะสามารถกำจัดเห็บตัวปัญหาให้หมดไปได้ด้วยวิธีไหนบ้าง เราไปดูกันค่ะ ^^”


 

 “เห็บ” ศัตรูตัวร้าย กวนใจน้องหมา
 

 

Dogilike.com :: เห็บ...ที่สุดของปัญหากวนใจ กำจัดอย่างไรให้สิ้นซาก !!

 

     ก่อนอื่นเลยเรามารู้จัก “เห็บ” ปรสิต 8 ขา ศัตรูตัวร้ายของน้องหมากันก่อนนะคะ สำหรับ เห็บ ถือเป็นสาเหตุอันตรายในอันดับต้น ๆ ที่ทำให้น้องหมาป่วยเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือด โรคผิวหนัง โรคตับ โรคไต และโรคโลหิตจางที่อาจทำให้น้องเสียชีวิตได้ เห็บจะมีวงจรชีวิต 4 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย โดยเห็บตัวเมียจะผสมพันธุ์กับเห็บตัวผู้บนตัวน้องหมาก่อนที่จะทิ้งตัวลงพื้นแล้วไปหาที่วางไข่ในซอกและมุมอับ เช่น ซอกกรงน้องหมา กำแพง รอยแตกของปูน พื้นบ้าน สนามหญ้า ฯลฯ โดยเห็บตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งเดียวประมาณ 2,000 ถึง 4,000 ฟอง โดยใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 10 วัน อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ ค่ะ

      สำหรับไข่ของเห็บจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ในการฟักออกมาเป็นตัวอ่อนที่มีเพียง 6 ขา จากนั้นตัวอ่อนก็จะกลับขึ้นไปกินเลือดบนตัวน้องหมาจนอิ่มประมาณ 2-3 วันก่อนที่จะทิ้งตัวลงไปลอกคราบเป็นเห็บตัวกลางวัย  8 ขา และกลับขึ้นไปกินเลือดน้องหมาอีกครั้ง ก่อนที่จะทิ้งตัวลงสู่พื้นเพื่อลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย และผสมพันธุ์ตามวงจรไปเรื่อย ๆ  

      โดยมากฤดูที่มักพบเห็น เห็บ ได้บ่อยคือ ช่วงระหว่างรอยต่อของฤดูร้อนกับฤดูฝนช่วงเดือน เมษายนไปจนถึงเดือนกรกฎาคมค่ะ เนื่องจากช่วงนี้จะมีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และอุณหภูมิในช่วงนี้เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเห็บเป็นอย่างมากค่ะ

 

กำจัดเท่าไหร่ เห็บก็ยังอยู่!


     พักหลัง ๆ มานี้ผู้เลี้ยงน้องหมาหลาย ๆ คนก็ได้ถามปัญหาเกี๋ยวกับเรื่องเห็บเข้ามาในแฟนเพจ Dogilike  กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคำถามยอดฮิตที่ถามกันเข้ามาบ่อยมาก ๆ เลยก็คือ หลายคนกำจัดเห็บแล้ว แต่ก็ยังพบว่า เห็บบนตัวน้องหมาหรือเห็บที่อยู่ภายในบริเวณบ้านยังไม่มีท่าทีที่จะลดจำนวนลงเลย และหลาย ๆ คนก็ยังสงสัยว่า เห็บสามารถดื้อยากำจัดเห็บได้หรือเปล่า?

      ซึ่งต้องขอตอบข้อสงสัยตรงนี้เลยค่ะว่า การที่ใช้วิธีกำจัด เห็บ ศัตรูตัวร้ายของน้องหมาในวิธีต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผลนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่เห็บดื้อยา ซึ่งสาเหตุที่เห็บดื้อยาเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตัวเชื้อ (ปรสิต) พัฒนาตัวขึ้น ใช้ยาผิดขนาดไม่ถูกต้องมานาน หรือใช้ยาตัวเดิมซ้ำๆ ฯลฯ ซึ่งปัญหาดื้อยานี้จะทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ลดลงหรือไม่ได้ผลนั่นเองค่ะ

     สำหรับวิธีแก้เรื่องปัญหาเห็บดื้อยาแนะนำว่า ให้ผู้เลี้ยงลองปรึกษาและขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ ซึ่งสัตวแพทย์อาจจะแนนำให้เปลี่ยนยี่ห้อของยาเพื่อแก้ปัญหาเห็ยดื้อยา หรือไม่ก็อาจต้องปรับเพิ่มปริมาณยาชนิดเดิมขึ้น โดยมากสัตวแพทย์จะแนะนำให้เจ้าของปรับตัวยาเมื่อพบว่าประสิทธิภาพของยาที่ใช้เริ่มลดลง หรือปรับเป็นระยะทุก 4-6 เดือน และผู้เลี้ยงควรใช้ยากำจัดเห็บที่ได้มาตราฐาน ผ่านการรับรองเพราะถ้าหากเป็นยาที่ไม่ได้คุณภาพอาจทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้ 

     ส่วนในกรณีที่มีน้องหมาหลายตัวและมีเห็บหมัดจำนวนมาก ยาหยดหลังไม่อาจกำจัดเห็บหมัดได้ทั้งระบบนะคะ ดังนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องดูแลและใช้ยาชนิดอื่นที่ใช้กำจัดเห็บในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ร่วมด้วยค่ะ
 

Dogilike.com :: เห็บ...ที่สุดของปัญหากวนใจ กำจัดอย่างไรให้สิ้นซาก !!

 

วิธีกำจัดเห็บให้อยู่หมัด !

 
     สำหรับการกำจัดเห็บให้หมดไปจากบ้านนั้น ผู้เลี้ยงต้องมีสองสิ่งค่ะคือ ความอดทนและมีวินัยในการกำจัดเห็บอย่างสม่ำเสมอ โดยจะต้องกำจัดเห็บ 2 ทาง คือ 1.กำจัดเห็บที่อยู่บนตัวน้องหมา 2. กำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปค่ะ

1.กำจัดเห็บที่ตัวน้องหมา
 

Dogilike.com :: เห็บ...ที่สุดของปัญหากวนใจ กำจัดอย่างไรให้สิ้นซาก !!

     ผู้เลี้ยงควรหมั่นกำจัดเห็บบนตัวน้องหมาให้เป็นกิจวัตร เช่น พาน้องหมาไปฉีดยากำจัดเห็บ ใช้ยาหยอดหลัง ยาพ่น แชมพู ปลอกคอกันเห็บ ฯลฯ แต่ผู้เลี้ยงก็ต้องใช้ยากำจัดเห็บทุกชนิอย่างระมัดระวังด้วยเพราะส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมี ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและน้องหมา หากใช้ไม่ถูกหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไปค่ะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ พิษภัยของยาฆ่าเห็บหมัด ที่คนรักสุนัขต้องอ่าน) สำหรับวิธีการกำจัดเห็บที่ตัวน้องหมาก็มีเทคนิคง่าย ๆ ต่อไปนี้ค่ะ

      - ตัดขนให้น้องหมาเป็นประจำ  การตัดขนให้น้องหมาจะช่วยลดจำนวนของเห็บได้ค่ะ เพราะว่าเมื่อน้องหมามีขนสั้น ผู้เลี้ยงก็จะสามารถเห็นและตรวจดูสิ่งผิดปกติเช่น มีเห็บ หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ เกาะอยู่ตามตัวของน้องหมาและหยิบออกได้ง่ายนั่นเองค่ะ

     - ใช้แชมพูกำจัดเห็บสำหรับน้องหมา ในน้องหมาที่มีเห็บแนะนำว่า ให้ผู้เลี้ยงเลือกใช้แชมพูสูตรกำจัดเห็บสำหรับน้องหมาโดยเฉพาะ ซึ่งแชมพูเหล่านี้จะมีส่วนผสมของ Pyrethrin หรือ Cypermethrin ที่เป็นสารกำจัดเห็บหมัด ในแชมพูบางยี่ห้อก็อาจจะใช้สารสกัดจากพืช เช่น น้ำมันสะเดาผสม น้ำมันยูคาลิปตัส ที่เป็นทางเลือกแก่ผู้เลี้ยงค่ะ สำหรับวิธีใช้แชมพูคือ ผสมแชมพูกับน้ำให้เจือจางแล้วฟอกให้ทั่วตัวน้องหมา ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออกแค่นี้ก็เรียบร้อยแล้วค่ะ
 
     - ใช้แป้งกำจัดเห็บ ในน้องหมาที่มีเห็บ ผู้เลี้ยงก็อาจจะใช้แป้งกำจัดเห็บหมัดโรยบนตัวสุนัขอาทิตย์ละครั้งหลังอาบน้ำเพื่อกำจัดเห็บหมัดที่อยู่บนตัว โดยมีระยะเวลาป้องกันประมาณ 7 วัน สำหรับแป้งกำจัดเห็บหมัดจะเหมาะกับการใช้ป้องกันในระยะเริ่มต้นคือ น้องหมาที่มีเห็บน้อยเพื่อป้องกันเห็บหมัดแพร่พันธุ์ค่ะ หากใช้บ่อย ๆ สม่ำเสมอ สามารถควบคุมการแพร่พันธุ์ได้ดี จนผู้เลี้ยงอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาประเภทอื่นเลยค่ะ
 
     - SPOT-ON หรือยาหยอดบนหลังคอ  ยาชนิดนี้จะใช้ง่ายสะดวกและอยู่ได้นานถึงหนึ่งเดือนเลย โดยเมื่อหยอดยาบนหลังคอ ตัวยาจะค่อย ๆ ซึมไปกับไขมันผิวหนังของน้องหมา แนะนำว่า ก่อนหยอดยาให้น้องหมา ผู้เลี้ยงไม่ควรอาบน้ำให้น้องหมาเพราะแชมพูจะไปชะล้างตัวยาและไขมันออกทำให้ประสิทธิภาพในการแพร่กระจายของตัวยาลดลงได้ค่ะ และหลังหยอดยาแล้วก็ควรงดอาบน้ำให้น้องหมาไปอย่างน้อย 2 วัน หรือปฏิบัติตามข้อกำหนดที่แนบไปกับฉลากยากอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพอย่างดีที่สุดค่ะ
 
     - สเปรย์กำจัดเห็บ จะมีทั้งแบบที่สามารถฉีดได้ทั้งบนตัวน้องหมา(ไม่มีอันตรายต่อผิวของน้องหมา)ที่ใช้เมื่อหลังน้องหมาอาบน้ำเสร็จ โดยจะฉีดสเปรย์ย้อนขนขึ้นไปเพื่อให้น้ำยาซึมสู่ผิวหนัง และสเปรย์ฉีดพ่นตามที่อยู่อาศัยค่ะ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ REVIEW : สเปรย์กำจัดเห็บ Pet Pest Spray Plus)

     - ปลอกคอกำจัดเห็บ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเจ้าของน้องหมาค่ะ สำหรับ ปลอกคอกำจัดเห็บ ซึ่งจะมีตัวยา Flumethrin ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันเห็บหมัดได้นานถึง 3-6 เดือนเลยค่ะ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ REVIEW : ปลอกคอกันเห็บ-หมัด)
 
     - ไม่ปล่อยน้องหมาให้เล่นกับหมาอื่น เมื่อผู้เลี้ยงใช้วิธีกำจัดเห็บด้วยวิธีต่าง ๆ ในข้างต้นแล้ว ก็ควรงดไม่ให้น้องหมาเล่นกับน้องหมาแปลกหน้าตัวอื่น ๆ เช่น สุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของ เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการติดเห็บจากน้องหมาแปลกหน้าและเพื่อลดอัตราเสี่ยงที่น้องหมาจะติดโรคต่าง ๆ จากน้องหมาตัวอื่นได้อีกด้วยค่ะ
 

2. กำจัดเห็บตามสิ่งแวดล้อม


    แนะนำให้ผู้เลี้ยงแบ่งย่อยการกำจัดเป็น 2 ส่วนคือ 1.กำจัดเห็บภายในบ้าน และ 2.กำจัดเห็บภายนอกบ้าน เพื่อให้การกำจัดเห็บศัตรูตัวร้ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดค่ะ

กำจัดเห็บภายในบ้าน

 

Dogilike.com :: เห็บ...ที่สุดของปัญหากวนใจ กำจัดอย่างไรให้สิ้นซาก !!

 
      เริ่มจากการกวาดบ้าน ถูบ้าน ดูดฝุ่น โดยเน้นดูดฝุ่นตามซอกมุมต่าง ๆ ภายในบ้าน  เช่น บนพื้น รอยต่อของไม้ ซอกประตู หน้าต่าง ทำความสะอาดที่นอน โซฟา โต๊ะ ตู้ ฯลฯ หรือในที่ที่คิดว่า ตัวอ่อนของเห็บจะสามารถซุกซ่อนอยู่ได้ และเทคนิคอีกอย่างคือ ผู้เลี้ยงควรทำความสะอาดจากที่สูงลงมาที่พื้น และคอยสังเกตดูตามผนังบ้านว่า มีจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเกาะอยู่ตามกำแพงหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นไข่ของเห็บที่มาวางไข่ทิ้งไว้ก็ได้ค่ะ

     หลังจากที่ผู้เลี้ยงทำความสะอาดกวาดถูบ้านเสร็จแล้ว แนะนำให้ใช้ยาพ่นกำจัดเห็บที่มีส่วนผสมของ Pyrethrin หรือ Permethrin ที่มีฤทธิ์ฆ่าเห็บมาฉีดพ่นตามฝาผนัง ซอกต่าง ๆ ในขณะพ่นยากำจัดเห็บผู้เลี้ยงอย่าลืมที่จะใส่หน้ากากป้องกันการสูดดมยา และควรป้องกันลูกหลาน สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ให้ออกจากพื้นที่ในขณะฉีดพ่นก่อน และรอจนกว่าสารเคมีจะแห้งจึงค่อยปล่อยให้เด็ก และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ให้ออกมาเดินเล่นตามปกติได้ค่ะ ...


กำจัดเห็บภายนอกบ้าน
 
 
       สำหรับผู้เลี้ยงมีพื้นที่รอบบ้านเป็นสนามหญ้า สิ่งสำคัญเลยก็คือ ต้องหมั่นดูแลตัดหญ้าให้โล่งเตียนอยู่เสมอ และควรพ่นยากำจัดเห็บที่มีส่วนประกอบของ  Permethrin หรือ Pyrethrin บนพื้นสนามหญ้า ตามพุ่มไม้ ผนังรอบ ๆ ตัวบ้าน โดยเฉพาะรอยแตกร้าวตามซอกมุมต่าง ๆ  บริเวณซอกกรง บริเวณที่น้องหมาชอบนอน หรือส่วนที่คิดว่าเห็บอาจจะอาศัยอยู่ได้

      ***แนะนำให้พ่นยากำจัดเห็บในระดับ 2 - 3 ฟุตเหนือจากพื้นดิน เพราะเห็บมักจะอยู่ตามยอดหญ้า ปลายกิ่งไม้ เพื่อรอจับเกาะบนตัวน้องหมาที่เดินผ่านมาค่ะ  หลังจากการพ่นยากำจัดเห็บแล้วควรงดไม่ให้น้องหมาออกมาวิ่งเล่นในบริเวณสนามหญ้าเป็นเวลา 1-2 วัน เพราะน้องหมาอาจจะสัมผัสกับสารเคมีที่ตกค้างอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของน้องหมาได้ และควรฉีดพ่นน้ำยาซ้ำอีกครั้งประมาณหนึ่งสัปดาห์ถัดมาเพื่อป้องกันและกำจัดเห็บที่อาจหลงเหลืออยู่ค่ะ
 

Dogilike.com :: เห็บ...ที่สุดของปัญหากวนใจ กำจัดอย่างไรให้สิ้นซาก !!

 
 
     จริง ๆ แล้วปัญหาเรื่องเห็บบุก เห็บกวนใจน้องหมาและเพื่อน ๆ จะไม่เกิดขึ้นเลยค่ะ หากเพื่อน ๆ เตรียมรับมือและหมั่นดูแลน้องหมาเสมอ เท่านี้ปัญหาเห็บหมัดก็จะหมดไปได้ง่าย ๆ ... สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังเจอปัญหาเจ้าเห็บกวนใจก็อย่าลืมเอาวิธีที่ปังปอนด์แนะนำไปใช้กันนะคะ รับรองว่า ปัญหาเห็บหมัดจะหายไป ไร้กังวล มีความสุขทั้งคนทั้งน้องหมาแน่นอนค่ะ ^_^

 

บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/

ภาพประกอบจาก :
https://www.flickr.com
https://pixabay.com/