โดย: Candyx
ไขข้อข้องใจ ทำไมเห็บหมัดไม่หมดไปจากบ้าน !!
เคล็ดลับง่าย ๆ กำจัดเห็บหมัดที่ใครก็ทำได้ ...
14 สิงหาคม 2561 · · อ่าน (14,484)-
ปัญหาเห็บหมัดกวนใจเป็นปัญหาใหญ่ที่เจ้าของสุนัขเจอ เพียงแค่รู้จักวิธีกำจัดอย่างถูกต้องปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
-
การกำจัดเห็บหมัดแค่บนตัวน้องหมาอย่างเดียว ไม่ใช่การกำจัดที่ตรงจุด แต่ต้องกำจัดเห็บหมัดตามสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยควบคู่กันไปด้วย
- เจ้าของควรพาน้องหมาไปฉีดยากำจัดเห็บ หรือใช้ยาหยอดหลังเป็นประจำ ทุก ๆ 1 เดือน
ถ้าหากถามเพื่อน ๆ เจ้าของน้องหมาว่า มีเรื่องอะไรที่กังวลเกี่ยวกับน้องหมาบ้าง? เชื่อว่า ปัญหาเรื่องเห็บหมัด มักจะเป็นปัญหาที่ทำให้เพื่อน ๆ กังวัลเป็นอันดับต้น ๆ และหลายคนพยายามหาวิธีกำจัด “เห็บ” ศัตรูตัวร้ายที่เป็นสาเหตุทำให้น้องหมาเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคพยาธิในเม็ดเลือดและโรคอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ก็ยังพบว่า กำจัดเท่าไหร่เห็บหมัดก็ยังไม่หมดไปจากบ้านเสียที ...
เทคนิคการเลี้ยงการดูแล วันนี้ ปังปอนด์ก็เลยจะพาเพื่อน ๆ มารู้วิธีกำจัดเห็บและตัดวงจรการเจริญเติบโตของเห็บอย่างไรให้ได้ผลกันค่ะ จะมีเทคนิคและวิธีไหนบ้าง เราไปดูกันเลยจ้า
กำจัดเห็บหมัดหลายวิธีแล้ว แต่ทำไมยังไม่หมด?
เห็บหมัดเป็นปัญหาใหญ่ กวนใจสุนัขและเจ้าของ
หลายคนบอกว่า พยายามกำจัดเห็บหลายต่อหลายวิธีแล้วแต่ยังไม่ได้ผล ... บอกเลยค่ะว่า ผู้เลี้ยงอาจจะกำจัดเห็บหมัดไม่ถูกวิธี เช่น บางคนเลือกที่จะกำจัดเห็บหมัดจากบนตัวน้องหมาเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการกำจัดเห็บหมัดที่ถูกต้องเคล็ดลับอยู่ที่ เราต้องกำจัดทั้งบนตัวน้องหมา และสภาพแวดล้อมที่น้องหมาอาศัยอยู่ควบคู่กันไป โดยการกำจัดเห็บหมัด ข้อสำคัญคือ เราจะต้องหมั่นกำจัดเห็บหมัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเห็บหมัดจะได้หมดไป ไม่เป็นปัญหาให้เพื่อน ๆ รำคาญใจในระยะยาวค่ะ
กำจัดเห็บหมัดบนตัวน้องหมา
สังเกตพฤติกรรมน้องหมา และกำจัดเห็บบนตัวน้องหมาเป็นประจำ
สำหรับวิธีการกำจัดเห็บที่ตัวน้องหมาก็มีเทคนิคง่าย ๆ ต่อไปนี้ค่ะ
- พาน้องหมาไปฉีดยากำจัดเห็บ หรือใช้ยาหยอดหลังเป็นประจำ ทุก ๆ 1 เดือน โดยยาหยอดหลังควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดทะเบียนรับรองถูกต้อง สำหรับสุนัขกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์หรือยากำจัดเห็บเป็นพิเศษก็ ได้แก่ ลูกสุนัขอายุต่ำกว่า 8 สัปดาห์ สุนัขที่กำลังตั้งท้องหรือให้นมลูก สุนัขที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับตับและไต และสุนัขที่ไวต่อยาบางชนิด เช่น คอลลี ออสเตรเลียน เชฟเฟิร์ด เชตแลนด์ และโอลด์ อิงลิช ชีพด๊อก ควรหลีกเลี่ยงยาไอเวอร์เมกติน (Ivermectin) เป็นต้นค่ะ ... ทั้งนี้ก่อนจะใช้ยา อะไรก็ต้องระวังและศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน พิษของยา Ivermectin หากได้รับเกินขนาด คือ มีพฤติกรรมเปลี่ยน เบื่ออาหาร ซึม อาเจียน รูม่านตาขยาย น้ำลายไหลมาก ขาอ่อนแรง เดินเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุกและอาจเสียชีวิตได้ค่ะ
- ตัดขนให้น้องหมาเป็นประจำ การตัดขนให้น้องหมาจะช่วยลดจำนวนของเห็บได้ค่ะ เพราะว่าเมื่อน้องหมามีขนสั้น ผู้เลี้ยงก็จะสามารถเห็นและตรวจดูสิ่งผิดปกติเช่น มีเห็บ หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ เกาะอยู่ตามตัวของน้องหมาและหยิบออกได้ง่ายนั่นเองค่ะ
- ใช้แชมพูกำจัดเห็บสำหรับน้องหมา ในน้องหมาที่มีเห็บแนะนำว่า ให้ผู้เลี้ยงเลือกใช้แชมพูสูตรกำจัดเห็บสำหรับน้องหมาโดยเฉพาะ ซึ่งแชมพูเหล่านี้จะมีส่วนผสมของ Pyrethrin หรือ Cypermethrin ที่เป็นสารกำจัดเห็บหมัด ในแชมพูบางยี่ห้อก็อาจจะใช้สารสกัดจากพืช เช่น น้ำมันสะเดาผสม น้ำมันยูคาลิปตัส ที่เป็นทางเลือกแก่ผู้เลี้ยงค่ะ สำหรับวิธีใช้แชมพูคือ ผสมแชมพูกับน้ำให้เจือจางแล้วฟอกให้ทั่วตัวน้องหมา ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออกแค่นี้ก็เรียบร้อยแล้วค่ะ
- ใช้แป้งกำจัดเห็บในน้องหมาที่มีเห็บ ผู้เลี้ยงก็อาจจะใช้แป้งกำจัดเห็บหมัดโรยบนตัวสุนัขอาทิตย์ละครั้งหลังอาบน้ำเพื่อกำจัดเห็บหมัดที่อยู่บนตัว โดยมีระยะเวลาป้องกันประมาณ 7 วัน สำหรับแป้งกำจัดเห็บหมัดจะเหมาะกับการใช้ป้องกันในระยะเริ่มต้นคือ น้องหมาที่มีเห็บน้อยเพื่อป้องกันเห็บหมัดแพร่พันธุ์ค่ะ หากใช้บ่อย ๆ สม่ำเสมอ สามารถควบคุมการแพร่พันธุ์ได้ดี จนผู้เลี้ยงอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาประเภทอื่นเลยค่ะ
- SPOT-ON หรือยาหยอดบนหลังคอ ยาชนิดนี้จะใช้ง่ายสะดวกและอยู่ได้นานถึงหนึ่งเดือนเลย โดยเมื่อหยอดยาบนหลังคอ ตัวยาจะค่อย ๆ ซึมไปกับไขมันผิวหนังของน้องหมา แนะนำว่า ก่อนหยอดยาให้น้องหมา ผู้เลี้ยงไม่ควรอาบน้ำให้น้องหมาเพราะแชมพูจะไปชะล้างตัวยาและไขมันออกทำให้ประสิทธิภาพในการแพร่กระจายของตัวยาลดลงได้ค่ะ และหลังหยอดยาแล้วก็ควรงดอาบน้ำให้น้องหมาไปอย่างน้อย 2 วัน หรือปฏิบัติตามข้อกำหนดที่แนบไปกับฉลากยากอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพอย่างดีที่สุดค่ะ
- สเปรย์กำจัดเห็บ จะมีทั้งแบบที่สามารถฉีดได้ทั้งบนตัวน้องหมา(ไม่มีอันตรายต่อผิวของน้องหมา)ที่ใช้เมื่อหลังน้องหมาอาบน้ำเสร็จ โดยจะฉีดสเปรย์ย้อนขนขึ้นไปเพื่อให้น้ำยาซึมสู่ผิวหนัง และสเปรย์ฉีดพ่นตามที่อยู่อาศัยค่ะ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ REVIEW : สเปรย์กำจัดเห็บ Pet Pest Spray Plus)
- ปลอกคอกำจัดเห็บ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเจ้าของน้องหมาค่ะ สำหรับ ปลอกคอกำจัดเห็บ ซึ่งจะมีตัวยา Flumethrin ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันเห็บหมัดได้นานถึง 3-6 เดือนเลยค่ะ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ REVIEW : ปลอกคอกันเห็บ-หมัด)
- ไม่ปล่อยน้องหมาให้เล่นกับหมาอื่น เมื่อผู้เลี้ยงใช้วิธีกำจัดเห็บด้วยวิธีต่าง ๆ ในข้างต้นแล้ว ก็ควรงดไม่ให้น้องหมาเล่นกับน้องหมาแปลกหน้าตัวอื่น ๆ เช่น สุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของ เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการติดเห็บจากน้องหมาแปลกหน้าและเพื่อลดอัตราเสี่ยงที่น้องหมาจะติดโรคต่าง ๆ จากน้องหมาตัวอื่นได้อีกด้วยค่ะ
กำจัดเห็บตามสิ่งแวดล้อม
นอกจากกำจัดเห็บหมัดบนตัวน้องหมาแล้ว ก็อย่าลืมกำจัดเห็บหมัดที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่น้องหมาอยู่ด้วยนะคะ โดยแนะนำให้ผู้เลี้ยงแบ่งการกำจัดเป็น 2 ส่วนคือ 1.กำจัดเห็บภายในบ้าน และ 2.กำจัดเห็บภายนอกบ้าน เพื่อให้การกำจัดที่ได้ผลค่ะ
กำจัดเห็บภายในบ้าน
สภาพแวดล้อมที่น้องหมาอยู่ ก็ต้องทำความสะอาดเป็นประจำ
เริ่มจากการกวาดบ้าน ถูบ้าน ดูดฝุ่น โดยเน้นดูดฝุ่นตามซอกมุมต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น บนพื้น รอยต่อของไม้ ซอกประตู หน้าต่าง ทำความสะอาดที่นอน โซฟา โต๊ะ ตู้ ฯลฯ หรือในที่ที่คิดว่า ตัวอ่อนของเห็บจะสามารถซุกซ่อนอยู่ได้ และเทคนิคอีกอย่างคือ ผู้เลี้ยงควรทำความสะอาดจากที่สูงลงมาที่พื้น และคอยสังเกตดูตามผนังบ้านว่า มีจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเกาะอยู่ตามกำแพงหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นไข่ของเห็บที่มาวางไข่ทิ้งไว้ก็ได้ค่ะ
หลังจากที่ผู้เลี้ยงทำความสะอาดกวาดถูบ้านเสร็จแล้ว แนะนำให้ใช้ยาพ่นกำจัดเห็บที่มีส่วนผสมของ Pyrethrin หรือ Permethrin ที่มีฤทธิ์ฆ่าเห็บมาฉีดพ่นตามฝาผนัง ซอกต่าง ๆ ในขณะพ่นยากำจัดเห็บผู้เลี้ยงอย่าลืมที่จะใส่หน้ากากป้องกันการสูดดมยา และควรป้องกันลูกหลาน สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ให้ออกจากพื้นที่ในขณะฉีดพ่นก่อน และรอจนกว่าสารเคมีจะแห้งจึงค่อยปล่อยให้เด็ก และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ให้ออกมาเดินเล่นตามปกติได้ค่ะ ...
กำจัดเห็บภายนอกบ้าน
สนามหญ้าก็เป็นจุดที่เห็บหมัดมักซ่อนตัวอยู่
สำหรับผู้เลี้ยงมีพื้นที่รอบบ้านเป็นสนามหญ้า สิ่งสำคัญเลยก็คือ ต้องหมั่นดูแลตัดหญ้าให้โล่งเตียนอยู่เสมอ และควรพ่นยากำจัดเห็บที่มีส่วนประกอบของ Permethrin หรือ Pyrethrin บนพื้นสนามหญ้า ตามพุ่มไม้ ผนังรอบ ๆ ตัวบ้าน โดยเฉพาะรอยแตกร้าวตามซอกมุมต่าง ๆ บริเวณซอกกรง บริเวณที่น้องหมาชอบนอน หรือส่วนที่คิดว่าเห็บอาจจะอาศัยอยู่ได้
***แนะนำให้พ่นยากำจัดเห็บในระดับ 2 - 3 ฟุตเหนือจากพื้นดิน เพราะเห็บมักจะอยู่ตามยอดหญ้า ปลายกิ่งไม้ เพื่อรอจับเกาะบนตัวน้องหมาที่เดินผ่านมาค่ะ หลังจากการพ่นยากำจัดเห็บแล้วควรงดไม่ให้น้องหมาออกมาวิ่งเล่นในบริเวณสนามหญ้าเป็นเวลา 1-2 วัน เพราะน้องหมาอาจจะสัมผัสกับสารเคมีที่ตกค้างอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของน้องหมาได้ และควรฉีดพ่นน้ำยาซ้ำอีกครั้งประมาณหนึ่งสัปดาห์ถัดมาเพื่อป้องกันและกำจัดเห็บที่อาจหลงเหลืออยู่ค่ะ
ปัญหาเรื่องเห็บหมัดที่ทำให้เจ้าของน้องหมาหลาย ๆ คนปวดหัว มีวิธีป้องกันและแก้ไขได้ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่เราต้องกำจัดอย่างถูกวิธีและทำอย่างสม่ำเสมอ เห็บหมัดก็จะไม่มากวนใจ แฮปปี้ทั้งเพื่อน ๆ และน้องหมาอย่างแน่นอนค่ะ ... อย่าลืมนำเคล็ดลับดี ๆ นี้ไปบอกต่อเพื่อน ๆ คนรักน้องหมาคนอื่น ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของน้องหมากันนะคะ
บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/
ข้อมูลและภาพประกอบจาก :
https://www.akc.org/expert-advice/health/flea-tick/how-to-remove-tick-from-dog/
https://www.catseyepest.com/pest-library/lawn-pests-and-garden-insects/ticks/brown-dog-tick
https://pixabay.com
SHARES