ทำยังไงดี เมื่อน้องหมาเกิดอาการ "Heat stroke"

มาดูปัจจัยในการทำให้น้องหมาเกิดอาการ Heat stroke ว่าเกิดจากอะไร

20 กรกฏาคม 2554 · ชอบ  (3)
  • PoohNemo
  • LOVER
  • หน่อไม้เรนเจอร์กู้โลกสีเขียวปี๋
  • ชอบสิ่งนี้
· แสดงความคิดเห็น (1) · อ่าน (52,365)
494

SHARES


494 shares

Dogilike.com :: ทำยังไงดี เมื่อน้องหมาเกิดอาการ Heat stroke

     เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสพาเกาลัดไปเล่นกับน้องหมาบ้านตรงข้าม เป็นน้องหมาน้อยพันธุ์บลูด๊อก ชื่อว่า "บ้องแบ๊ว" (ชื่อไมได้เข้ากะหน้าเลย -*-) เล่นกันไปได้พักใหญ่ วิ่งไล่กันไปมา อยู่ดีๆ เจ้าบ้องแบ๊วเกิดอาการน๊อคลางอากาศ วิ่งๆ อยู่ แล้วก็ลงไปนอนหอบแฮกๆ แล้วก็น้ำลายไหลย้อยเลยทีเดียว ... ในขณะที่บ้องแบ๊วเหนื่อยลิ้นห้อย แต่เกาลัดกลับไม่มีอาการผิดปกติอะไรเลย

 

     ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบ้องแบ๊ว เกิดอาการ "ฮีท" นั่นเองล่ะค่ะ ... ลองนึกถึงภาพเครื่องยนต์ที่ทำงานหนักๆ ดูสิคะ เวลาเครื่องทำงานหนักมากๆ เครื่องก็จะเกิดอาการช็อต เครื่องยนต์หยุดทำงาน ควันขึ้น น้องหมาก็มีอาการฮีทก็เป็นแบบนี้เหมือนกันล่ะค่ะ เจ้าอาการฮีทที่มะเหมี่ยวพูดถึงนั้น ทางการแพทย์เค้าเรียกอาการนี้ว่า อาการเป็นลมแพ้ร้อน หรือ อาการ "Heat stroke" ซึ่งเป็นอาการที่สามารถพบได้ในสุนัขที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน หรือชื้น (อย่างในประเทศไทยนี่ล่ะค่ะ) ส่วนใหญ่แล้วอาการฮีท (ขอเรียกสั้นๆ แบบนี้ก็แล้วกันนะคะ) มักจะเกิดในสุนัขสายพันธุ์ที่มีขนหนา หรือสุนัขที่มีโครงสร้างหน้าสั้น เช่น ปั๊ก หรือบูลด็อก เป็นต้น

Dogilike.com :: ทำยังไงดี เมื่อน้องหมาเกิดอาการ Heat stroke

     ลักษณะอาการเวลาที่น้องหมาเกิดอาการฮีทขึ้นั้น จะเริ่มจากน้องหมาจะมีอุณหภูมิในร่างกายสูงผิดปกติ (โดยปกติแล้วสุนัขจะมีอุณหภูมิร่างกายประมาณ 101 - 102 องศาฟาเรนไฮน์) ซึ่งจะอยู่ในช่วง 105 - 109 องศาฟาเรนไฮน์ ซึ่งโดยปกติแล้วน้องหมาที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงนั้น อาจเกิดจากสองสาเหตุหลัก คือ เกิดจากสารกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการมีไข้ ซึ่งสารชนิดนี้เรียกว่า Pyrogen สารนี้จะไปกระตุ้นที่ต่อมใต้สมองผ่านทางขบวนการต่างๆ ของร่างกาย ทำให้น้องหมามีอุณหภูมิสูงขึ้นอยู่ในช่วงประมาณ 103 - 105 องศาฟาเรนไฮน์ ลักษณะเช่นนี้สามารถพบได้ในการติดเชื้อของร่างกาย

     สาเหตุที่สองคือ น้องหมาที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเพราะสาเหตุต่างๆ เช่น การออกำลังกายอย่างหนักเกินไป การติดเชื้อบาดทะยัก ภาวะไทรอยด์เป็นพิเศ หรือภาวะเป็นลมแพ้ร้อน เป็นต้น ซึ่งถ้าหากน้องหมามีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเพราะสาเหตุนี้ น้องหมาจะไม่สามารควบคุมอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นได้ ทำให้เซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของน้องหมาถูกทำลายลงเพราะอุณภูมิที่ร่างกายสูงขึ้นไปทำลายเอนไซม์และโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์ อุณหภูมิร่างกายที่สามารถทำให้เกิดความผิดปกติต่ออวัยวะและเกิดการเสื่อมจนไม่สามารถทำงานได้อยู่ในช่วงประมาณ 109 องศาฟาเรนไฮน์

Dogilike.com :: ทำยังไงดี เมื่อน้องหมาเกิดอาการ Heat stroke

     สำหรับน้องหมาที่มีปัญหาเป็นลมแพ้ร้อนนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีผลสืบเนื่องมาจากการที่อยู่ในบริเวณที่มีการสะสมความร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น สุนัขที่ถูกขังไว้ในรถยนต์ หรือสุนัขที่ได้รับการออกกำลังกายอย่างหนัก นอกจากนั้นยังสามารถพบอาการในลักษณะนี้ได้ในกรณีอื่นๆ อีก เช่น น้องหมาที่มีปัญหาเป็นอัมพาตของกล่องเสียงหรือเป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น สุนัขอ้วนหรือสุนัขที่มีการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก เป็นต้น

     และอาการที่มักจะพบได้ในน้องหมาที่แสดงอาการของการเป็นลมแพ้ร้อนนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่สุนัขมีความผิดปกติ เช่น หอบ น้ำลายไหลมากผิดปกติ มีอุณหภูมิร่างกายสูง ร่างกายขาดน้ำ หัวใจเต้นเร็วและไม่เป็นจังหวะ หายใจติดขัด นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอาเจียนและท้องเสียถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะน้อย และหายใจลำบากจนถึงขั้นช๊อค ซึ่งนั่นถือว่าเป็นอาการที่เข้าขั้นวิกฤติแล้ว!!!

Dogilike.com :: ทำยังไงดี เมื่อน้องหมาเกิดอาการ Heat stroke

     ... ถ้าหากน้องหมาของเราเกิดอาการฮีทขึ้น วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เราควรทำคือ ควรพ่นน้ำให้น้องหมา หรือใช้น้ำชโลมตัวน้องหมาให้ชุ่มแล้วรีบนำไปส่งสัตวแพทย์ให้ทำการรักษาโดยทันที ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสัตวแพทย์มักทำการรักษาโดยให้สารน้ำแก่น้องหมาเพื่อลดภาวะขาดน้ำ และรักษาน้องหมาไปตามระบบต่างๆ ที่น้องหมาแสดงอาการผิดปกติจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น ส่วนการเฝ้าระวังหลังจากที่น้องหมามีอาการดีขึ้นแล้ว เราจะต้องดูแลน้องหมาของเราอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง เพราะว่าน้องหมาอาจแสดงอาการของความผิดปกติอื่นๆ ที่เป็นผลมาจากการเสียหายของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกัน

     ได้รู้ถึงสาเหตุอาการ "ฮีท" ของเจ้าบ้องแบ๊วแล้ว มะเหมี่ยวว่าต่อไปคงจะต้องไปบอกให้เจ้าของของบ้องแบ๊วดูแลเค้าให้ใกล้ชิดกว่านี้แล้วล่ะค่ะ ขืนปล่อยให้เกิดอาการฮีทบ่อยๆ จะต้องเป็นผลเสียต่อสุขภาพแน่ๆ เลยล่ะค่ะ 

 

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ "รอบรู้โรคและภัยใกล้ตัว" โดย สพ.ญ. แนน ช้อยสุนิรชร