โดย: Candyx

เปิดคู่มือ! ดูแลน้องหมาเตี้ยง่ายๆ ให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม

28 สิงหาคม 2561 · · อ่าน (5,180)
451

SHARES


451 shares
  • น้องหมาสายพันธุ์ขาสั้นและมีลักษณะลำตัวยาว เสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับข้อต่อ กระดูกสันหลังได้สูงกว่าน้องหมาสายพันธุ์ทั่วไปที่มีรูปร่างสมส่วน
     
  • ต้องระวังไม่ให้น้องหมาขาสั้นวิ่งขึ้นบันไดเร็ว ๆ หรือกระโดดขึ้นลงจากที่สูงบ่อย ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของน้องหมาได้รับบาดเจ็บ
     
  • น้องหมาสูงวัยจะใช้เวลาไปกับการนอนมากขึ้น ทำให้มีความต้องการพลังงานจากอาหารลดน้อยลงกว่าเดิมประมาณ 20% ต้องดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย

   บ้านไหนเลี้ยงน้องหมาสายพันธุ์ขาสั้นและมีลักษณะลำตัวยาว หรือที่เรียกกันภาษาบ้าน ๆ ว่า น้องหมาเตี้ย กันบ้างคะ? .... เพื่อน ๆ รู้ไหมคะว่า น้องหมากลุ่มนี้เป็นน้องหมาที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับข้อต่อ กระดูกสันหลังได้สูงกว่าน้องหมาสายพันธุ์ทั่วไปที่มีรูปร่างสมส่วน เนื่องจากการมีหลังที่ยาวกว่าปกติจะมีโอกาสเสี่ยงทำให้ได้รับบาดเจ็บที่กระดูก เกิดการงอระหว่างกระดูกสันหลังได้ง่าย เมื่อถูกกระแทกแรง ๆ หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน (โรคอ้วน) โดยจะแสดงอาการเมื่อน้องหมาอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้เลี้ยงจึงต้องระมัดระวังและคอยดูแลน้องหมาในกลุ่มนี้ให้อยู่ในสายตาอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอค่ะ


ระวังเรื่องการเดิน/วิ่ง

 

Dogilike.com :: เปิดคู่มือ! ดูแลน้องหมาเตี้ยง่ายๆ ให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม

น้องหมาสายพันธุ์ขาสั้นและมีลักษณะลำตัวยาว ต้องระวังเรื่องการเคลื่อนไหว
 

     แนะนำว่า ให้เพื่อน ๆ ดูแลน้องหมา ไม่ควรปล่อยให้น้องหมาวิ่งขึ้นลงบันไดเร็ว ๆ การเล่นกระโดดขึ้น ๆ ลง ๆ จากที่สูง หรือเลี้ยงในบ้านที่มีพื้นต่างระดับหรือพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ มากเกินไป เพราะการที่น้องหมาวิ่งขึ้นบันไดเร็ว ๆ หรือกระโดดขึ้นลงจากที่สูงบ่อย ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของน้องหมาได้รับบาดเจ็บ

       และยังส่งผลต่อข้อต่อของน้องหมาถูกกระแทก ทำให้น้องหมาเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้เร็วกว่าปกติ และในน้องหมาที่อายุมาก อาจพบอาการอัมพาตของขาหลัง เนื่องจากหมอนรองกระดูกไปกดไขประสาทสันหลังได้ และหากเพื่อน ๆ พาน้องหมาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ก็อย่าลืมสำรวจและประเมินความปลอดภัยของเส้นทางว่า มีพื้นต่างระดับหรือหลุมลึกไหม เพราะน้องหมาขาสั้นบางตัวอาจเดินสะดุดหรือเดินตกหลุมได้ค่ะ

 

ควบคุมอาหารป้องกันโรคอ้วน

 

Dogilike.com :: เปิดคู่มือ! ดูแลน้องหมาเตี้ยง่ายๆ ให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม

เลือกอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักน้องหมาให้อยู่ในเกณฑ์พอดี


    ปัญหาน้ำหนักส่วนเกินหรือโรคอ้วน เป็นปัญหาที่พบบ่อยในน้องหมา ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาน้ำหนักส่วนเกินในน้องหมา มักเกิดขึ้นจากวิธีการจัดการเรื่องโภชนาการอาหารที่ไม่ถูกต้องของเจ้าของ (ให้อาหารตามใจน้องหมา , ใจอ่อนเมื่อเวลาน้องหมาขออาหาร , ให้น้องหมากินอาหารหรือขนมที่มีไขมันมาก ฯลฯ) ซึ่งการที่น้องหมามีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว มักจะส่งผลให้น้องหมามีปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ โรคผิวหนัง โรคเนื้องอกและมะเร็ง โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) โรคตับอ่อนอักเสบ มีความเสี่ยงในการวางยาผ่าตัดมากกว่าน้องหมาทั่วไป และทำให้น้องหมามีอายุสั้นลงอีกด้วย

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้องหมาพันธุ์ขาสั้น เช่น น้องหมาดัชชุนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง น้องหมาคอร์กี้ที่มีโรคอ้วนเป็นประจำสายพันธุ์ (10 สายพันธุ์สุนัขที่เสี่ยงเป็นโรคอ้วน) ผู้เลี้ยงก็จำเป็นที่จะต้องดูแลและพิถีพิถันเรื่องโภชนาการอาหารให้กับน้องหมาขาสั้นเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมาเกิดภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งจะส่งผลต่อการรับน้ำหนัก ทำให้เกิดปัญหาที่กระดูกสันหลังของน้องหมาได้ โดยผู้เลี้ยงควรเลือกให้อาหารสำเร็จรูปที่มีสารอาหารครบคุณค่าเหมาะกับน้องหมา เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3,6 DHA ที่ช่วยบำรุงผิวหนังและเส้นขน  แอล-คาร์นิทีน ที่จะช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกาย กลูโคซามีน ป้องกันไขข้ออักเสบ ฟอสฟอรัส ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กลูตามีน เสริมสร้างระบบทางเดินอาหารให้ดูดซึมสารอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิตามินดี แคลเซียม ที่เสริมสร้างให้สุนัขมีสุขภาพแข็งแรง มีโครงสร้างที่ได้สัดส่วนและรักษาสมดุลของกล้ามเนื้อ ฯ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะช่วยให้น้องหมามีสุขภาพดีค่ะ


ออกกำลังกายแค่ไหนถึงพอดี

 

Dogilike.com :: เปิดคู่มือ! ดูแลน้องหมาเตี้ยง่ายๆ ให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม

 

     หลายคนที่เลี้ยงน้องหมาสายพันธุ์ขาสั้น มีลำตัวยาว มีคำถามว่า แล้วการออกกำลังกายแค่ไหนถึงพอดีกับน้องหมา? ... อย่างที่รู้ว่า น้องหมาสายพันธุ์ขาสั้น มีลำตัวยาว เป็นน้องหมาที่เสี่ยงเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกได้มากกว่าน้องหมาทั่วไป เราจึงต้องระมัดระวัง และเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับน้องหมา การออกกำลังกายที่เหมาะสมควรเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดการกระทบกระแทกน้อยที่สุด ได้แก่ การว่ายน้ำ วิ่งเหยาะๆ การเดินออกกำลังกายบนลู่วิ่ง ฯ ซึ่งผู้เลี้ยงอาจจะขอคำปรึกษาและวิธีการจัดตารางการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสัตวแพทย์ก็ได้ค่ะ
 
 

น้องหมาขาสั้นสูงวัยต้องใส่ใจพิเศษ

 

Dogilike.com :: เปิดคู่มือ! ดูแลน้องหมาเตี้ยง่ายๆ ให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม
 

     ในน้องหมาขาสั้นที่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้ว ระบบร่างกายต่าง ๆ ของน้องหมาจะเริ่มเสื่อมถอยลง ใช้พลังงานน้อย ทำกิจกรรมระหว่างวันน้อยลงแต่จะใช้เวลาไปกับการนอนมากขึ้น ทำให้มีความต้องการพลังงานจากอาหารลดน้อยลงกว่าเดิมประมาณ 20% ...

      เราจึงต้องดูแลและควบคุมปริมาณอาหารให้น้องหมาสูงวัยเป็นพิเศษ โดยผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของน้องหมาด้วยการลดอาหารประเภทไขมันที่มีพลังงานสูงลงและเปลี่ยนมาให้อาหารที่กินง่ายย่อยง่าย เพิ่มกากใยมากขึ้น เช่น เนื้อปลา ไก่ ผัก ผลไม้ ฯลฯ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำหนักตัวที่จะส่งผลต่อข้อและกระดูกที่ต้องรับน้ำหนัก และส่งผลต่ออายุของน้องหมา

     แนะนำ ให้เลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปสูตรสุนัขสูงวัยที่พัฒนาและมีส่วนประกอบที่เหมาะสมกับน้องหมา ที่มีการเติมสารเสริมอาหารที่ช่วยในการรักษาสมดุลและเสริมสร้างส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กลูโคซามีน ที่ช่วยในการบำรุงข้อต่อให้น้องหมาเคลื่อนไหวดีขึ้น กรดไขมันโอเมก้า-3 มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ฟอสฟอรัส ช่วยการทำงานของไต วิตามินซีและวิตามินอี ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ ที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่น้องหมาสามารถกินได้ง่ายแทนนะคะ


 

บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/

ข้อมูลและภาพประกอบจาก :
https://www.akc.org/dog-breeds/pembroke-welsh-corgi/
http://www.vetstreet.com/dogs/dachshund
https://dogtime.com/dog-breeds/pembroke-welsh-corgi
https://dogtime.com/dog-breeds/basset-hound