โดย: pippa5404
นักวิจัยค้นพบยีน! ป้องกันโรคจอประสาทตาในสุนัข
นักวิจัยค้นพบแนวทางป้องกัน ย้ำว่ายังไม่ใช่แนวทางการรักษาโรคนี้
6 สิงหาคม 2567 · · อ่าน (170)สด ใหม่ ฉับไว ข่าวหมาทุกเช้า ทุกวัน Dailydog กับพิพพาที่พร้อมเสิร์ฟข่าวสด ข่าวร้อน เกาะกระแสโลกทุกเช้าก่อนใครเลยจ้า><"
HIGHLIGHTS : นักวิจัยค้นพบแนวทางป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม PRA ทางพันธุกรรมในสุนัขพันธุ์อิงลิชเชพเพิร์ด
- มีการใช้ชุดทดสอบเพื่อเก็บตัวอย่างจากในช่องปากของสุนัข และสามารถทราบได้ว่าสุนัขตัวใดมียีนที่เป็นตัวนำก่อให้เกิดโรคนี้ได้
- เจ้าของสุนัขหลายคนไม่เคยรู้ว่าสุนัขของตนมียีนของโรคนี้ และกว่าจะรู้ตัวนั้น สุนัขก็อาจสูญเสียการมองเห็นไปแล้ว
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้ตีพิมพ์ผลงานการศึกษาบนวารสาร “Genes” ในวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่าค้นพบแนวทางการหยุดยั้งโรคตาบอดที่ส่งต่อทางพันธุกรรมในสุนัขพันธ์อิงลิชเชพเพิร์ด
.
จากกรณีศึกษาของ “โชลา” สุนัขพันธุ์อิงลิชเชพเพิร์ดที่เคยเป็นสมาชิกของทีมกู้ภัย Edale Mountain Rescue ซึ่งเคยทำหน้าที่ให้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และนักปีนเขาที่ติดค้างแต่ต้องเกษียณหลังจากโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Progressive Retinal Atrophy (PRA) ทำให้น้องไม่สามารถมองเห็นได้อีกต่อไป
.
Dr. Katherine Stanbury นักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้คนแรกได้บอกว่า “เมื่อสายตาของสุนัขเริ่มล้มเหลว ไม่มีทางรักษาได้ เพราะจะทำให้ตาบอดโดยสิ้นเชิง บ่อยครั้งที่เจ้าของอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสุนัขมี PRA จนกระทั่งผ่านไปครึ่งชีวิต แต่ตอนนี้เรามีการตรวจ DNA แล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่สุนัขพันธุ์อิงลิชเชพเพิร์ดตัวอื่นจะต้องเกิดมาพร้อมกับโรคจอประสาทตาเสื่อมรวดเร็วแบบนี้”
.
ทีมงานของ Katherine ดำเนินการศึกษาโดยการเปรียบเทียบตัวอย่าง DNA จากสุนัขพันธุ์อิงลิชเชพเพิร์ด 6 ตัวที่ป่วยเป็นโรค PRA และอีก 20 ตัวที่ไม่ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งกุญแจสำคัญคือการสามารถที่จะระบุได้ว่ายีนใดที่นำไปสู่ภาวะทำลายการมองเห็น หลังจากนั้นจึงได้คิดค้นวิธีการทดสอบโดยใช้เป็นชุดทดสอบแบบที่มีก้านสำลีเพื่อเก็บตัวอย่าง DNA ในช่องปาก ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของทราบได้ว่า สุนัขของพวกเขามี DNA นี้หรือไม่
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามันจะสายเกินไปสำหรับการรักษา โชลา แต่การวิจัยใหม่นี้ได้นำไปสู่การทดสอบยีนที่สามารถป้องกันโรคจากการส่งต่อไปยังลูกสุนัข บางทีสักวันหนึ่งอาจทำให้การเสื่อมของจอประสาทตาหมดไปจากประชากรสุนัขก็เป็นได้ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการดูแลด้านสัตวแพทย์ และการวิจัยทางพันธุกรรมอีกอย่างหนึ่งนั่นเอง
บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/
ข้อมูลและภาพประกอบ :
https://www.healthday.com
SHARES