โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน

ชวนคนรักน้องหมามาร่วมกิจกรรมจิตอาสาเพื่อส่งเสริมให้น้องหมาไร้บ้านมีสวัสดิภาพในชีวิตที่ดีขึ้น

8 มีนาคม 2556 · · อ่าน (23,951)
1,009

SHARES


1,009 shares

     เกือบทุกวันที่ บ้านรักหมาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดลจะมีนักศึกษาสัตวแพทยศาสตร์สมาชิกของชมรมสุนัขนิสัยดี แวะเวียนเข้ามาทักทาย และทำการฝึกเหล่าบรรดาสุนัขที่ใครๆเรียกว่า สุนัขจรจัด ในโครงการบ้านรักหมาศาลายา เพื่อที่จะช่วยทำให้สุนัขจรเหล่านี้ ปรับนิสัย เปลี่ยนพฤติกรรมจากน้องหมาข้างถนนที่เคยเป็นมา ให้เพิ่มมูลค่ากลายเป็นน้องหมาที่พร้อมจะมีบ้านอย่างสมบูรณ์ ...

 

ชมรมสุนัขนิสัยดีเข้ามามีบทบาทอย่างไร
 

Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน
 

     นายอรรถพล จักษวัชร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สัตวแพทยศาสตร์ ประธานชมรมสุนัขนิสัยดี เล่าถึงการมีส่วนร่วมของชมรมสุนัขนิสัยดีกับโครงการบ้านรักหมาศาลายาว่า นักศึกษาที่อยู่ในชมรมสุนัขนิสัยดีจะมีส่วนร่วมในการเข้ามาศึกษา ปรับพฤติกรรม และฝึก ให้สุนัขในโครงการบ้านรักหมาศาลายา โดยจะเริ่มตั้งแต่การเข้ามาศึกษาพฤติกรรมของสุนัขแต่ละตัว ไปจนถึงคัดเลือกสุนัขเพื่อเข้าทำการฝึก

     “สำหรับชมรมสุนัขนิสัยดีปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของคณะสัตวแพทย์ กิจกรรมหลักๆ ที่ทางชมรมทำร่วมกับทางโครงการบ้านรักหมาศาลายาก็คือการเข้ามาศึกษาพฤติกรรมและฝึกสุนัข ทุกเทอมจะมีการคัดเลือกสุนัขในโครงการมาฝึก โดยจะเริ่มฝึกตั้งแต่ฝึกสุนัขที่ไม่เคยผ่านการฝึกมาก่อนเลย ค่อยๆ ปรับพฤติกรรม และเริ่มเข้าสู้การฝึกขึ้นพื้นฐาน โดยจะให้นักศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ปีที่ 4 คอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้องๆ นักศึกษาปี 1 ที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมและการฝึกสุนัข ให้น้องๆ ได้ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ โดยในหนึ่งสัปดาห์จะเข้ามาช่วยฝึกสุนัขประมาณ 5 วัน
 
Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน

     และนอกเหนือจากการเข้ามาฝึกสุนัขแล้ว ทางชมรมเองก็ยังมีส่วนร่วมในเรื่องของการทำหมันในสุนัขที่อยู่ในโครงการ โดยในส่วนของการทำหมันจะเป็นหน้าๆ ของพี่ๆ สัตว์แพทย์ชั้นปี 5 ปี 6 ส่วนเรื่องการตรวจเช็คสุขภาพทั่วไปก็จะมีนักศึกษาสัตวแพทยศาสตร์คอยผลัดเปลี่ยนกันมาตรวจสุขภาพให้สุนัข”
 
Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน
 
     ในส่วนของการฝึกสุนัข ทางชมรมก็ได้มีการวางแผนการฝึกสุนัขในโครงการบ้านรักหมาศาลายา เพื่อให้สุนัขสามารถปรับตัวเข้ากับคนได้ มีความเป็นมิตร รวมไปถึงรับฟังและปฏิบัติตามคำสั่งขั้นพื้นฐานได้ นายภคปัค หุ่นโพธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สัตวแพทยศาสตร์ หัวหน้าคอร์สฝึกสุนัขนิสัยดี ได้เล่าถึงขั้นตอนในการฝึกสุนัขในโครงการว่า จะมีการคัดเลือกสุนัขในโครงการมาฝึกและติดตามผลการฝึกอย่างต่อเนื่อง  

     "เราจะคัดเลือกสุนัขจากในโครงการมาชุดละประมาณ 5-6 ตัว จากนั้นก็จะนำมาเข้าโปรแกรมฝึกโดยจะเริ่มจากการเริ่มปรับพฤติกรรมให้เขาคุ้นเคยกับคนฝึกก่อน เมื่อเขาคุ้นเคยแล้วก็จะเริ่มฝึกจากคำสั่งที่เป็นเบสิก ก่อนอื่นเราต้องบอกก่อนเลยว่า ในการฝึกเราไม่ได้ใช้โซ่ แต่เราจะใช้อาหารหรือขนมเป็นตัวชักจูงให้เขายอมทำตามด้วยตัวเขาเอง ดังนั้นระยะเวลาการฝึกแต่ละหนึ่งท่า ค่อนข้างจะนานกว่าการใช้โซ่ที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ เราจะเริ่มเบสิกด้วยการให้เขาจำชื่อ ก็จะใช้ระยะเวลาประมาณสัปดาห์หนึ่ง แต่ละคำสั่งไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การยืน การหมอบ จะใช้เวลาฝึกประมาณหนึ่งสัปดาห์หมด แต่คำสั่งที่จะใช้เวลาฝึกนานกว่าท่าคือ การฝึกคอย สำหรับที่นี่จะเป็นการฝึกที่ยากที่สุด เพราะด้วยบรรยากาศระหว่างการฝึกที่มีสุนัขตัวอื่นด้วยทำให้สุนัขขาดสมาธิ ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำให้เขานิ่งเยอะกว่าปกติ 

 
Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน
 
     ส่วนวิธีการประเมินผลว่าการฝึกของเราได้ผลหรือไม่นั้น เราจะใช้วิธีเปลี่ยนจากการใช้ขนมในการฝึกเป็นการใช้สัญาลักษณ์แทน เช่น เราสั่งให้เขานั่งโดยการชี้นิ้ว ถ้าหากสั่งโดยการชี้นิ้วแล้วสุนัขนั่งลง แสดงว่าการฝึกประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ต่อมาก็คือ สุนัขต้องจำคำสั่งเสียงให้ได้ สมมติเราสั่งปุ๊บให้เขามานั่งไม่ต้องทำท่าทางอะไร แค่บอกว่านั่ง เขานั่ง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้น ก็จะเป็นสเตปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตามความยาก ตามระยะเวลา ซึ่งการที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นเรื่องของอายุของสุนัขก็มีส่วนเช่นกัน ถ้าเกิดเป็นสุนัขเด็กๆ ก็จะฝึกง่ายแต่เขาจะสมาธิสั้น แต่สุนัขที่แก่แล้วเขาจะมีสมาธิมากกว่า แต่การเรียนรู้ของเขาก็จะช้ากว่าสุนัขเด็กๆ ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกต่อหนึ่งตัวมากขึ้น"
 
     หลังจากที่สุนัขได้ทำการปรับพฤติกรรมและฝึกให้ปฏิบัติตามคำสั่งพื้นฐานแล้ว สุนัขเหล่านี้ก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่รอหาบ้านใหม่ โดยในปัจจุบันก็มีผู้มารับสุนัขที่ผ่านการฝึกไปเลี้ยงแล้วเช่นกัน จากจุดนี้เองจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วนั้นการรับเลี้ยงสุนัขที่โตแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งหากและก่อให้เกิดปัญหา ถ้าหากสุนัขได้รับการปรับพฤติกรรมและฝึกฝนอย่างถูกวิธีก็สามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวใหม่ได้ 
 
Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน
 
     ... ทั้งนี้ ในส่วนสุนัขในโครงการที่ยังไม่มีผู้มาขอไปเลี้ยง ทางโครงการก็ยังคงรับผิดชอบดูแลสุนัขกลุ่มนี้ต่อไปซึ่งทางผู้ดูแลโครงการเองก็ยอมรับว่า มีสุนัขบางตัวก็มีโอกาสมีผู้มาขอไปเลี้ยงน้อยมาก เนื่องปัจจัยในด้านสุขภาพร่างกาย เช่น ป่วยเรื้อรัง หรือพิการ นอกจากสุนัขที่มีอายุมาก ก็มีแนวโน้มว่าจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในโครงการจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ซึ่งทางโครงการเองก็ต้องเตรียมการรองรับภาระในส่วนนี้เอาไว้ รวมถึงได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมสวัสดิภาพของสุนัขด้วย

 

อาสาสมัครสร้างสุขให้กับสุนัขบ้านรักหมาศาลายา อาสาสมัครที่กำลังขาดแคลน
 

Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน
 

     สุนัขเหล่านี้เมื่อทำการฝึกแล้ว เหลือเพียงสิ่งเดียวที่พวกเค้าต้องการ นั่นคือ “บ้าน” และแน่นอนว่าในช่วงระยะเวลาแห่งการรอคอยความหวัง ณ บ้านรักหมาศาลายาแห่งนี้ การได้รับความรัก ได้รับการแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน หรือแม้แต่การได้ออกไปนอกสถานที่บ้าง คงจะเป็นสิ่งที่พวกมันต้องการมากที่สุด โครงการอาสาสร้างสุขให้กับสุนัขบ้านรักหมาศาลายาจึงเกิดขึ้น ...

     โครงการอาสาสร้างสุขให้กับสุนัขบ้านรักหมาศาลายา คือกิจกรรมที่ชักชวนผู้ที่มีจิตอาสาและมีจิตใจเมตตาต่อสุนัขมาจูงสุนัขในโครงการบ้านรักหมาศาลายา ออกมาเดินเล่นในบริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อให้สุนัขได้ผ่อนคลายความเครียดและได้ออกกำลังกาย

Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน
 
     คุณ ชมพูนุท โคสุตะ  ผู้ดูแลโครงการอาสาสร้างสุขให้กับสุนัขบ้านรักหมาศาลายา ได้เล่าว่าในปัจจุบันมีอาสาสมัครที่มาสมัครเป็นสมาชิกกับทางโครงการเพื่อนร่วมกิจกรรมประมาณ 16 ราย โดยการสมัครสมาชิกนั้นจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ (สอบถามรายละเอียดในการสมัครได้ที่ โทรศัพท์ : 02-441-5242-4 ต่อ 1419)

     ปัจจุบันได้มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมนี้ทางเว็บไซต์ของทางคณะสัตวแพทย์และเสียงตามสายของมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในวงกว้างนัก ซึ่งจุดนี้เองที่ทางผู้จัดทำโครงการอยากจะผลักดันให้กิจกรรมนี้เป็นที่รู้จัก และมีผู้หันมาสนใจร่วมกิจกรรมมากขึ้น
 
     "โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะเราเห็นถึงความสำคัญของหลักสวัสดิภาพสัตว์ สุนัขจะต้องมี 5 Freedom คือต้องมีที่อยู่อาศัย มีน้ำ มีอาหาร แล้วก็ต้องมีการเดินเล่นออกกำลังกายด้วย เพราะว่า ถ้าเกิดน้องหมากินดีอยู่ดี กินแล้วนอนก็เกิดปัญหาคือโรคอ้วน พอเป็นโรคอ้วน เขาก็จะเป็นโรคข้อ โรคเบาหวาน ฯลฯ
เพราะฉะนั้นการที่เราจูงน้องหมาไปออกกำลังกายก็คือทำให้เขาได้มีสวัสดิภาพ สำหรับโครงการนี้ทางบ้านรักหมาศาลายาก็ได้มีการคัดเลือกน้องหมาเอาไว้สำหรับร่วมโครงการ โดยน้องหมาที่จะให้อาสาสมัครนำมาจูงได้นั้นจะเป็นน้องหมาที่นิสัยดี ผ่านการฝึกมาแล้ว สามารถปฏิบัติตามคำสั่งพื้นฐานได้ ส่วนตัวอาสาสมัครเองก่อนที่จะนำน้องหมาออกไปจูง ก็จะต้องมีการฝึกให้รู้จักการจูงน้องหมาอย่างถูกวิธีก่อน รวมไปถึงจะมีการบันทึกทุกครั้งที่มีการพาน้องหมาออกไปเดินว่า พาไปเดินเป็นเวลากี่นาที น้องหมาชื่ออะไร และพบปัญหาอะไรระหว่างทำกิจกรรมบ้าง 

Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน
 
     ตอนนี้ก็มีอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรมอยู่บ้าง แต่ก็ยังขาดความต่อเนื่อง จริงๆ อยากให้อาสาสมัครมาทำเป็นประจำ เราไม่อยากให้มาเป็นครั้งคราว อยากให้แบบเสียสละ คืออย่างวันละ 15 นาที เป็นอย่างน้อย ต่อสุนัข 1 ตัว อยากให้มาทำเรื่อยๆ ไม่อยากให้หายไป น้องหมาทุกตัวเขารอคนมาจูงอยู่ เขาก็จะดีใจมากเลยสมมติว่ามีคนมาจูงเขาออกไปข้างนอก แค่มีคนมาเยี่ยมเขา เขาก็ดีใจ ร่าเริงแล้ว เพราะฉะนั้นเวลามีคนมาจูงเขาไป เขาจะมีความสุขมาก ถ้าเกิดว่าใครที่ได้มาจูงได้มาสัมผัสแล้วจะรู้ว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้น้องหมามีความสุขมากๆ เพราะว่าเขาอยู่แต่ในกรงแคบๆ ไม่ได้ออกมาข้างนอก คือถึงแม้ว่ากรงที่ใช้ในบ้านรักหมาเราก็คำนวณแล้วว่ามีอัตราส่วนที่เหมาะสม แต่เขาก็อยากจะออกมาข้างนอกอยู่ดี เพราะเมื่อก่อนเขาเป็นจรจัด มีอิสระเดินในมหาวิทยาลัยได้ทั่วๆ แต่พอเข้าต้องมาอยู่ในกรง วันนึงได้ออกจากกรงแค่ครั้งสองครั้ง ก็ทำให้เขารู้สึกอึดอัด

     แต่ถ้าเกิดว่าเราพาเขาออกมาเที่ยวเล่นก็จะเห็นเลยว่าเขาจะมีความสุขมาก ร่าเริง ไม่อยากจะกลับเข้ากรง ดังนั้นก็อยากจะให้อาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานตรงนี้ คิดว่ามันเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อจิตใจ น้องหมาเขามีความสุข เราก็มีความสุขที่ได้ให้ การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ไม่มีค่าตอบแทนให้ ต้องเป็นคนที่รักหมาจริงๆ ต้องเป็นคนเสียสละ เสียสละเวลา แทนที่เขาอาจจะไปเที่ยวเล่น ดูหนัง ทานข้าว กับครอบครัว กับเพื่อนๆ ก็เอาเศษเวลาสัก 15 นาที มาจูงน้องหมา 1 ตัวเขาเองก็ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่นด้วย อยากให้คิดว่ามันมีความสุขทางใจ"

Dogilike.com :: ชมรมสุนัขนิสัยดี มหิดล กับอาสาสมัครที่ยังขาดแคลน

สำหรับรายละเอียดของโครงการนี้มีดังนี้ค่ะ ..

โครงการอาสาสร้างสุขให้กับสุนัขบ้านรักหมาศาลายา
 
     คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญกัลยาณมิตรทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมจูงสุนัขบ้านรักหมาศาลายา เพื่อให้น้องหมาได้เดินเล่นคลายเครียดอย่างมีความสุข โดยอาสาสมัครนอกจากจะได้เรียนรู้ถึงศิลปะการจูงสุนัขให้เดินในสายจูงแล้ว ยังได้ออกกำลังกายอีกด้วย
 
จำนวนอาสาที่ต้องการ :    ไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุและวัย
 
ระยะเวลากิจกรรม :  ทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์)    

เวลา :    08.30-16.30 น.
 
สถานที่ดำเนินกิจกรรม : 
                บริเวณสนามหญ้าริมบึงน้ำ ตรงข้ามสนามฟุตบอล 1 มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
 
คุณสมบัติอาสาสมัคร : 
1. มีใจรักงานอาสาสมัคร รักสุนัข
2. มีเวลาว่างอย่างน้อย 15 นาที
3. ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง ชอบการออกกำลังกาย
4. มีความอดทน สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
 
การสมัครเข้าร่วมกิจกรรม :
1.ส่งใบสมัครได้ทั้งทางไปรษณีย์ E-mail หรือโทรสาร หรือสมัครด้วยตนเอง ได้ที่
บ้านรักหมาศาลายา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
999 ถ.พุทธมณฑล สาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทรสาร : 02-441-0937     E-mail : chompoonut.pur@mahidol.ac.th
 
2.โปรดส่งหลักฐานประกอบการสมัคร อาทิ สำเนาบัตรประชาชน
 
3.การจูงน้องหมาเดินเล่น (ควรใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที ต่อสุนัข 1 ตัว)
 
4.ผู้เข้าร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น
 
5.ทางทีมงานได้จัดเตรียมสายจูงและปลอกคอสุนัขไว้ให้กับอาสาสมัคร
 
สิ่งที่ควรเตรียมมาด้วย :
บัตรประชาชน (ตัวจริง) เพื่อใช้ในการแลกบัตรก่อนนำสุนัขออกไปจูงเดินเล่น 
สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ทะมัดทะแมง พร้อมจูงน้องหมาเดินเล่น
รองเท้าผ้าใบ รองเท้าคัตชู หรือรองเท้าแตะ ไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูง
หมวกกันแดด ครีมกันแดด
หัวใจที่พร้อมลุยเพื่อน้องหมา
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทรศัพท์ : 082-5763871
 
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัคร
 แบบฟอร์มใบสมัครโครงการพลังอาสา สร้างสุขให้กับสุนัขบ้านรักหมาศาลายา คลิกที่นี่ 

 
     … ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดที่เกิดขึ้นในสังคมไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้สุนัขจรจัดได้ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพของสัตว์ เชื่อได้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดที่สมควรแก้การนำไปเป็นต้นแบบ และนำไปพัฒนาเพื่อใช้แก้ปัญหา “หมาไร้บ้าน” ในสังคมไทยได้อย่างมีคุณภาพ