โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว
ภาวะลำไส้กลืนกัน รักษาไม่ทัน แมวช็อกตายได้!
ภาวะที่พบได้บ่อยในน้องแมวเด็ก (จริง ๆ แล้วพบได้ในคน และในน้องหมาด้วยนะคะ) แต่เจ้าของมักจะไม่ค่อยรู้ค่ะว่าความผิดปกตินี้คืออะไร?
31 สิงหาคม 2565 · · อ่าน (5,020)
- ภาวะลำไส้กลืนกันเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อยในลูกแมว เป็นความผิดปกติที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเจ้าของมักจะไม่ค่อยรู้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้น้องแมวเสียชีวิต
- สาเหตุของภาวะลำไว้กลืนกันเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ผิดปกติ

เคยได้ยินไหมคะ "ภาวะลำไส้กลืนกันในน้องแมว" ... เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในน้องแมวเด็ก (จริง ๆ แล้วพบได้ในคน และในน้องหมาด้วยนะคะ) แต่เจ้าของมักจะไม่ค่อยรู้ค่ะว่าความผิดปกตินี้คืออะไร?
ภาวะลำไส้กลืนกัน (Intussusception) คือภาวะที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กเกิดการมุดตัวเข้าไปติดกันอยู่ภายในระบบทางเดินอาหาร ความผิดปกตินี้ส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในลำไส้เกิดการขาดเลือดและเกิดการอุดตัน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้น้องแมวติดเชื้อและช็อกตายได้
สาเหตุของภาวะลำไว้กลืนกันเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ผิดปกติไป เช่น
- อาจจะมีสิ่งแปลกปลอมหรือเนื้องอกไปอุดตัน
- อาจจะป่วยด้วยโรคที่ทำให้น้องแมวมีการอาเจียนและถ่ายท้องบ่อย ๆ เช่น โรคหัด หรืออาการท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น
อาการที่เจ้าของจะสังเกตได้ก็คือ น้องแมวจะมีอาการซึม ไม่กิน ปวดท้อง เกร็งท้อง เบ่งถ่าย โดยส่วนมากจะพบมูกเลือดออกมาในเวลาเบ่งถ่าย อึไม่เป็นก้อนแบบปกติ รวมถึงพบการอาเจียนร่วมด้วย ... ถ้าพบว่าน้องแมวมีอาการแบบนี้ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีนะคะ ห้ามปล่อยไว้เด็ดขาด
การรักษาเบื้องต้นคุณหมอจะใช้การคลำตรวจช่องท้องช่วยวินิจฉัยได้ โดยจะคลำพบลักษณะคล้ายไส้กรอกอยู่ในช่องท้อง และเพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย คุณหมอก็จะทำการเอ็กซเรย์ เพื่อดูลักษณะอาการของการอุดตันในทางเดินอาหาร และขั้นตอนสุดท้ายก็คือการการอัลตราซาวด์ ซึ่งในขั้นตอนนี้ถ้าหากมีภาวะลำไส้กลืนกัน ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีลำไส้ส่วนหนึ่งมุดเข้าไปอยู่ในลำไส้อีกส่วน การอัลตราซาวด์จะช่วยให้คุณหมอเห็นตำแหน่งที่ลำไส้มีการกลืนกันที่ชัดเจน ซึ่งจำเป็นมากในการวางแผนผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะดังกล่าวค่ะ
ในส่วนของการผ่าตัด คุณหมอจะผ่าตัดจะทำการตัดลำไส้ส่วนที่ไม่ดีออกและต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าด้วยกัน เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างอันตราย และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายดังนั้นหลังผ่าตัดจึงมีความจำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลค่ะ
ทางที่ดีที่สุด ถ้าเพื่อน ๆ ไม่อยากให้น้องแมวต้องเสี่ยงกับภาวะลำไส้กลืนกัน ก็ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของน้องแมวในแต่ละวันค่ะว่า มีการอาเจียน หรือถ่ายท้องผิดปกติหรือไม่ มีอาการปวดเกร็งท้อง หรือเบ่งถ่ายบ่อยกว่าปกติหรือเปล่า ถ้าสังเกตพบอาการก็ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีนะคะ เพราะอย่างที่บอกค่ะว่า ภาวะลำไส้กลืนกัน อันตรายมาก ถ้าหากได้รับการรักษาช้า น้องแมวมีโอกาสตายสูงค่ะ!!
พร้อมอัปเดตและแชร์เคล็ดลับดี ๆ ในการดูแลเจ้าเหมียวให้เป๊ะปัง กดติดตามเพจ Catilike รู้จริงเรื่องน้องแมว เอาไว้เลยนะคะ #ดูแลสุขภาพเหมียว #cathealth
SHARES