โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

Dogilike Live Chat Ep.1 วิธีสังเกตยาเถื่อนที่ใช้ในน้องหมา

หมอต้น มาแนะนำถึงวิธีสังเกตยาเถื่อน ว่าต้องสังเกตตรงไหนบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ

9 มิถุนายน 2560 · · อ่าน (8,944)
172

SHARES


172 shares

 

รายการออนไลน์, รูปแบบใหม่, ออนไลน์, dog close up zoom zoom, สัตวแพทย์, ผู้เชี่ยวชาญ, Live Chat, สอบถาม, ปัญหา, มะเหมี่ยว, โรคอ้วน, ออกกำลังกาย, ลดน้ำหนัก, อาหาร, โรค, ยา



     เกาะกระแสประเด็นร้อนที่คนรักคนเลี้ยงน้องหมาต้องรู้ กับเรื่องของ "ยาเถื่อนที่ใช้ในน้องหมา" ซึ่งกำลังระบาดหนักในตอนนี้และมีคนเลี้ยงน้องหมาหลายรายที่หลงซื้อมาใช้และเกิดอันตรายร้ายแรงกับน้องหมา ... เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้องหมาของเพื่อน ๆ ต้องเสี่ยงกับอันตรายจากยาเถื่อน วันนี้ Dogilike Live Chat ก็เลยให้ หมอต้น มาแนะนำถึงวิธีสังเกตยาเถื่อน ว่าต้องสังเกตตรงไหนบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ




 

วิธีการแยกระหว่างยาแท้ กับ ยาเถื่อน


     1. ยาแท้ต้องมีชื่อยา และระบุตัวยาที่ชัดเจน (ในขณะที่ยาเถื่อน อาจมีแค่ชื่อยาแต่ไม่มีตัวยาระบุไว้ ซึ่งจะเป็นอันตรายมากหากเกิดอาการแพ้ เพราะยากแก่การรักษา)

     2. ยาแท้ต้องมีเลขทะเบียนยา หรือ อย. ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการผ่านการรับรอง (ในขณะที่ยาเถื่อนจะไม่มีเลขทะเบียนยา หรือมีก็อาจจะเป็นเลขทะเบียนที่ปลอมขึ้นมา ซึ่งวิธีเช็กก็คือ ให้นำเลขทะเบียนนั้นไปใส่ที่ ลิงค์ของ อย. ลิงค์นี้ค่ะ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx)

     3. ยาแท้ต้องระบุปริมาณ (ยาเถื่อนบางตัวจะไม่ระบุปริมาณ)

     4. ยาแท้ต้องระบุเลขที่ผลิต (ส่วนใหญ่แล้วยาเถื่อนจะไม่มีรายละเอียดเลขที่ผลิต)

     5. ยาแท้ต้องมีการระบุ วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ (ส่วนใหญ่แล้วยาเถื่อนจะไม่บอกวันเดือนปีที่ผลิต อาจผลิตมานานมาก หรืออาจหมดอายุนานแล้ว)

     6. ยาแท้ต้องมีชื่อและสถานที่ที่ผลิต (แน่นอนว่ายาเถื่อน ยาที่ไม่ได้รับการรับรอง ย่อมไม่บอกที่ผลิตที่จัดเจนอยู่แล้ว)

     7. ยาแท้ต้องมีวิธีใช้ (ยาเถื่อนจะบอกวิธีใช้เพียงแค่คร่าว ๆ เท่านั้น จะไม่บอกวิธีใช้แบบทุกขั้นตอน)

 

วิธีง่าย ๆ จับไต๋พ่อค้า - แม่ค้า ยาเถื่อน กับเทคนิค "3 เอ๊ะ"


     เอ๊ะที่ 1 ... พ่อค้า - แม่ค้า มักจะชอบโปรโมทสินค้าด้วยวิธีอ้างหมอเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ เช่น "ยาตัวนี้เพิ่งนำเข้ามาจากเมืองนอกเลยยังไม่มี อย. แต่ไม่เป็นไรหรอกหมอเค้าก็ใช้กัน" ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราไม่มีทางรู้เลยว่าหมอจะใช้ยาตัวนี้จริงหรือเปล่า แต่แค่ได้ยินคำว่า ไม่มี อย. เราก็ไม่ควรซื้อยาชนิดนี้มาใช้แล้ว เพราะนอกจากจะเสี่ยงเกิดอันตรายกับน้องหมาแล้ว ยังไม่มีใครรับผิดชอบต่อความเสียหายและชีวิตของน้องหมาอีกด้วยค่ะ

     เอ๊ะที่ 2 ... พ่อค้า - แม่ค้า จะใช้ราคาสินค้าที่ถูกเป็นสิ่งจูงใจ ราคายาเถื่อนมักจะถูกกว่าราคายาที่ได้รับการรับรอง เช่น ติดป้ายว่ายากำจัดเห็บราคาประหยัด 3 ขวดร้อย หรือ 50 บาท สำหรับน้องหมาขนาดใหญ่ ซึ่งหากคิดถึงแต่เรื่องความประหยัดก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายกับน้องหมาได้ และแน่นอนว่าหากน้องหมาได้รับอันตรายจากยาเถื่อนค่ารักษาจะแพงกว่าค่ายาที่ได้รับการรับรองหลายเท่า ที่แย่กว่านั้นคือน้องหมาอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นไม่ควรเสี่ยงซื้อยาราคาถูกที่ไม่ได้รับการรับรองนะคะ

     เอ๊ะที่ 3 ... แพ็คเกจสินค้าไม่น่าเชื่อถือ - ลักษณะการวางสินค้าแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ยาที่ได้รับการรับรองจะอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ครบถ้วน แต่ยาเถื่อนอาจแพ็คอยู่ในถุงแก้วที่ไม่มีรายละเอียดผลิตภัณฑ์ใด ๆ และในช่วงนี้ที่เริ่มมีกระแสการเปิดโปงการใช้ยาเถื่อนยา พ่อค้า - แม้ค้า จะไม่นำยาออกมาโชว์ที่หน้าร้านแต่จะแอบเก็บเอาไว้เพื่อป้องกันการตรวจพบนั่นเองค่ะ

     ถ้าพบความผิดปกติแบบนี้ก็ขอให้มั่นใจได้เลยค่ะว่า ยานั้นเป็นยาเถื่อนแน่นอน เราไม่ควรซื้อไปใช้กับน้องหมาเด็ดขาดค่ะ ใช้ยาที่ได้รับการรับรองตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เป็นวิธีที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อน้องหมาของเราที่สุดนะคะ

 

10 คำถาม-คำตอบยอดฮิต


Q : วิธีรักษาเห็บหมัดที่ดีที่สุดควรจะต้องทำยังไง
A : การกำจัดเห็บหมัดควรทำ 2 วิธีควบคู่กันคือ กำจัดที่ตัวน้องหมา และกำจัดที่สิ่งแวดล้อม เพราะบางคนเน้นกำจัดบนตัวน้องหมา พอเห็บบนสิ่งแวดล้อมกระโดดขึ้นมาบนตัวน้องหมาอีกก็จะไม่หมดสักที การกำจัดบนตัวน้องหมามีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นยาฉีด ยาหยด ยากิน ส่วนบริเวณพื้นก็จะใช้ตัวยากำจัดเห็บหมัดสำหรับฉีดพ่นผสมน้ำมาพ่นที่พื้นร่วมกับการทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอด้วย

Q : ยาฉีดป้องกันเห็บหมัด สามารถฉีดให้น้องหมาเองได้ไหม
A : ยาประเภทฉีดจะต้องคำนวณปริมาณที่เหมาะสมจากน้ำหนักตัวของน้องหมา ต้องนำน้องหมาไปชั่งน้ำหนักตัวที่คลีนิกเพื่อให้คุณหมอจัดยาให้ตามปริมาณที่เหมาะสม แต่จริง ๆ แล้วแนะนำว่าให้ฉีดกับคุณหมอไปเลยจะปลอดภัยกว่า

Q : ลูกหมาอายุประมาณ 2 เดือน สามารถหยดยาแก้เห็บหมัดได้หรือยัง
A : สามารถหยดได้ โดยดูจากคำแนะนำด้านข้างของผลิตภัณฑ์จะเขียนบอกเอาไว้ว่าสามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ และใช้ในปริมาณเท่าใด

Q : เห็บหมัดอันตรายแค่ไหน สามารถทำให้น้องหมาป่วยเป็นโรคได้เลยหรือเปล่า
A : เห็บหมัดทำให้น้องหมาป่วยได้หลายโรค อาจทำให้น้องหมาเป็นโรคโลหิตจาง , พยาธิในเม็ดเลือด , น้ำลายเห็บอาจทำให้น้องหมาเป็นอัมพาตได้  นอกจากนี้ยังมีอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย สามารถเข้าไปเช็กได้ที่นี่เลย https://www.dogilike.com/content/vettalk/5388/

Q : พึ่งหยดยาให้เมื่อ 4 วันที่แล้ว แต่ยังพบเห็บอยู่เลยค่ะ ซึ่งหยดตามโดสที่แพทย์แนะนำแล้ว.....แบบนี้จะแก้ไขอย่างไร
A : ลองเช็กดูว่าบริเวณที่น้องหมานอนหรืออาศัยอยู่มีเห็บหมัดรึเปล่า เพราะว่าการกำจัดเห็บหมัดต้องทำสองทาง คือกำจัดที่ตัวน้องหมาและกำจัดที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวน้องหมา

Q : เคยโดนเห็บกัด จะเป็นตุ่มแดง ๆ แล้วเจ็บ ๆ คัน ๆ ไปหลายวันเลย แบบนี้จะเป็นอันตรายสำหรับคนไหม
A : อาจเป็นอาการแพ้ ถ้าเป็นผื่นคันมาก ๆ ก็ควรพบคุณหมอ

Q : เคยมีกรณี อย. ปลอมไหมคะ เพราะพวกอาหารเคยมีเคส อย. ปลอมเกิดขึ้น คือพิมพ์เลข อย. ไปมั่ว ๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเลขนั้นออกมาจาก อย. จริงไหม
A :  เคยมีค่ะ วิธีการตรวจสอบ อย. ปลอมง่าย ๆ ก็คือ ให้เข้าไปในที่เว็บไซต์ของ อย. ที่ลิงค์นี้เลยค่ะ http://porta.fda.moph.go.th/.../MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx จะสามารถเช็กได้ว่า อย. ปลอมหรือไม่

Q : ข้อ 1.) ใช่หยด frontline ให้กับน้องหมา หลังจากหยดไปได้ 2 ชม แล้วค่อยสัมผัสน้องหมาจะรู้สึกคันๆ ที่มือ จะมีผลกระทบกับคนไหม , ข้อ 2.) หยดแล้วพาน้องหมาออกไปเดิน ก็มีเกาะติดมาอีก แล้วทำไมเห็บไม่ตายคะ (หยดทุกเดือน)
A : ข้อ 1.) หลังหยดยาไม่ควรสัมผัสบริเวณนั้นแล้วนะคะ เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ค่ะ , ข้อ 2.) เห็บมาจากสิ่งแวดล้อมที่น้องหมาไปเจอมานั่นล่ะค่ะ คือเห็บชุดเดิมที่อยู่บนตัวน้องหหมาถูกกำจัดไปแล้ว แต่เห็บที่เห็นอาจเป็นเห็บชุดใหม่ที่เพิ่งติดมาหลังจากพาออกไปข้างนอกก็เป็นได้ค่ะ

Q : ยาฉีดกับยาที่ใช้หยด ยาชนิดไหนได้ผลที่ดีกว่ากันคะ น้องหมาที่บ้านเล่นซุกซนคลุกคลีกับหญ้าทุกวันค่ะ
A : หมอแนะนำแบบฉีดนะคะ

Q : ยาแบบฉีดอันตรายกับระบบภายในของน้องหมาไหมคะ?
A : ถ้าใช้ตามโดสตามน้ำหนักตัวที่คุณหมอฉีดให้ก็ไม่เป็นอันตรายค่ะ ยกเว้นหมาบางพันธุ์ที่จะแพ้ยาฉีดอยู่แล้ว คือ น้องหมาในกลุ่มคอลลี่ , โอลอิงลิช ชีพด็อก ห้ามใช้เด็ดขาดค่ะ

  • ส่งต่อให้เพื่อน:
  • Categories : Dog Close-Up ·