โดย: kokiphinyada

6 โรคติดต่อหมาเด็กต้องระวัง

บ้านไหนมีน้องหมาเด็กบ้าง ต้องระวังเลย

11 สิงหาคม 2565 · · อ่าน (3,404)
0

SHARES


0 shares

รายการออนไลน์, รูปแบบใหม่, ออนไลน์, dog close up zoom zoom, สัตวแพทย์, ผู้เชี่ยวชาญ, Live Chat, สอบถาม, ปัญหา, มะเหมี่ยว, โรคอ้วน, ออกกำลังกาย, ลดน้ำหนัก, อาหาร, โรค, ยา

     น้องหมาที่อยู่ในช่วงวัยเด็ก เป็นช่วงที่เจ้าของต้องระวังเรื่องสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง และยังได้รับวัคซีนต่าง ๆ ไม่ครบถ้วน บวกกับพฤติกรรมของหมาเด็กที่ซน มีความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ติดโรคได้ง่ายขึ้น และนี่ก็คือโรคที่น้องหมาเด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นได้ง่ายค่ะ
 
Dogilike.com :: 6 โรคติดต่อหมาเด็กต้องระวัง
 
 

1. โรคไข้หัดสุนัข (Distemper)
 

     เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัสกับสุนัขที่มีเชื้อ สามารถติดต่อได้จากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศเข้าไป หรือสัมผัสโดยตรงกับสิ่งคัดหลั่งจากสุนัขป่วย ได้แก่ น้ำมูก ขี้ตา น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระ โดยสัมผัสผ่านทางปาก เยื่อเมือกตา หรือจมูก เพราะเหตุที่เชื้อนี้ติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ ทำให้อัตราการป่วยสูง คือแค่นำน้องหมาที่ป่วยไข้หัดมาใกล้ ๆ กับน้องหมาที่ยังไม่ภูมิคุ้มกัน ก็สามารถติดเชื้อและป่วยได้
 
     อาการที่พบ คือ สุนัขจะมีไข้ น้ำมูก ขี้ตา ท้องเสีย หายใจลำบาก  มีอาการทางระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อกระตุกโดยเฉพาะปากและขา ในรายที่อาการรุนแรงจะมีอาการชักหรือเป็นอัมพาตได้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที ไม่งั้นจะทำให้สุนัขอาจถึงแก่ชีวิต หรือได้รับความเสียหายทางระบบประสาทอย่างถาวรได้
 

2. โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อพาร์โวไวรัส (Parvovirus)

 

     เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง พบได้บ่อยในสุนัขวัยเด็ก มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง เพราะเป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย มีผลต่อระบบทางเดินอาหารของสุนัข สามารถติดได้จากสุนัขสู่สุนัขโดยตรง ทั้งจากการสัมผัสกับอุจจาระ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ 
 
     อาการที่พบ คือ สุนัขจะมีไข้ ซึม อาเจียน ท้องเสียถ่ายเป็นเลือด และมีกลิ่นคาว ส่วนมากการเสียชีวิตจากพาร์โวไวรัสจะเกิดขึ้นภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ สุนัขจะมีอาการขาดน้ำ และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วจากการถ่ายมาก 
 

3. โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อโคโรน่าไวรัสในสุนัข (Coronavirus) 
 

     เกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัสกับอุจจาระของสุนัขที่ติดเชื้อ โรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคลำไส้อักเสบพาร์โวไวรัส แต่อาการที่แสดงค่อนข้างเบากว่า มีผลต่อการดูดซึมสารอาหารของลูกสุนัข
 
     อาการที่พบ คือ อาการที่พบ คือ สุนัขจะมีอาการซึม อาเจียน มีไข้ และถ่ายเหลว ไม่มีการเสียชีวิตจากการขาดน้ำเหมือนกับโรคลำไส้อักเสบพาร์โวไวรัส
 

4. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อในสุนัข (Kennel Cough)
 

     เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียอย่างใดอย่างหนึ่ง โรคนี้สามารถติดต่อได้จากละอองน้ำมูกหรือน้ำลายของสัตว์ที่ป่วย สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยตรงได้ ส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยช่วงนี้จะต้องดูแลให้น้องหมาได้พักผ่อนเต็มที่ ให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ 
 
     อาการที่พบ คือ สุนัขจะมีอาการไอแห้ง หรือไอแบบมีเสมหะ หากไอแบบมีเสมหะจะพบว่าน้องหมาไอแล้วทำท่าขาก ๆ เหมือนมีอะไรติดคอ บางรายอาจมีขี้ตา ตาอักเสบ มีน้ำมูกใส ๆ ไปจนถึงมีน้ำมูกข้นสีเขียว ส่วนใหญ่น้องหมาจะยังซน ร่าเริงดี กินอาหารได้ แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ปอดบวม หายใจลำบาก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
 

5. โรคไข้หวัดใหญ่ในสุนัข (Canine Influenza)
 

     ไวรัสไข้หวัดใหญ่สุนัขมักพบเป็นครั้งคราวตามการระบาดไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ H3N2 การติดต่อของโรคในสุนัขจะไม่มีความรุนแรง สุนัขสามารถหายเองได้ จึงทำให้ไข้หวัดใหญ่สุนัขไม่ได้เป็นโรคที่มีความรุนแรง 
 
     อาการที่พบ คือ สุนัขจะมีอาการไอ มีน้ำมูก มีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร โดยจะแสดงอาการไปยาวนานประมาณ 7-10 วัน ซึ่งสุนัขบางตัวอาจแสดงอาการนานถึง 24 วัน การรักษาจะรักษาตามอาการ
 

6. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
 

     เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies Virus เกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านทางการสัมผัสน้ำลายผ่านผิวหนังที่มีบาดแผล หรือถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด ข่วน หรือเลีย หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาท สัตว์ที่ติดโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย 
 
     อาการที่พบได้ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ “ระยะเริ่มแรก” สุนัขจะมีอารมณ์เปลี่ยนไปจากเดิม “ระยะตื่นเต้น” สุนัขเริ่มมีอาการทางประสาท กระวนกระวาย หงุดหงิด “ระยะอัมพาต” สุนัขมีอาการหางตก ลิ้นห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล และตายในที่สุด
 
     การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ควรพาสุนัขไปฉีดวัคซีนรวม และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและเป็นประจำทุกปี หรือหากเป็นลูกสุนัขที่ฉีดเข็มแรกแล้ว ควรต้องตามด้วยเข็มกระตุ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงาน
 
บทความโดย :   Dogilike.com
www.dogilike.com/
 

  • ส่งต่อให้เพื่อน:
  • Categories : Dog Close-Up ·