โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว
ทำความเข้าใจพฤติกรรม แม่สุนัข - ลูกสุนัขแรกคลอด
แม่สุนัขและลูกสุนัขมีวิธีการสื่อสารกันอย่างไร ตามไปดูกัน
10 พฤษภาคม 2555 · · อ่าน (58,578)
ทารกวัยแรกเกิด เป็นวัยที่่อ่อนไหวต้องการความรักความเอาใจใส่ และการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เป็นแม่ ... สำหรับสุนัขก็เช่นกัน ลูกสุนัขในวัยแรกคลอดเป็นช่วงที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดในชีวิตสุนัข และมีความจำเป็นอย่างมากที่เขาจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับแม่สุนัข เพราะในช่วงแรกเกิดลูกสุนัขก็จะเหมือนกับเด็กทารกแรกคลอด คือ ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ประสาทสัมผัสการรับรู้ต่างๆ ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ยังไม่ลืมตาได้ หูก็ยังไม่สามารถที่จะได้ยินได้อย่างเต็มที่ เพราะรูหูยังปิดอยู่ อ้าว แล้วแบบนี้เจ้าลูกหมาน้อยจะรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ยังไงล่ะ? ... สำหรับการรับรู้ของลูกสุนัขในช่วงแรกคลอดนั้น ลูกสุนัขจะรับรู้สึกต่างๆ ผ่านการสัมผัสของแม่สุนัข ... ในช่วง แรกคลอดถึง 3 สัปดาห์ ... เราสามารถสังเกตวิธีการสื่อสารระหว่างแม่สุนัขและลูกสุนัขได้ตั้้งแต่แรกเกิด โดยเมื่อลูกสุนัขคลอดออกจากท้องแม่สุนัข คุณแม่มือใหม่ก็จะเริ่มทำการสื่อสารกับลูกของเธอผ่านการสัมผัสตัวลูกโดยการเลีย และกัดถุงน้ำคร่ำให้ลูกหมา และเมื่อกัดถุงน้ำคร่ำแตก ลูกหมาถูกเลีย และจะเริ่มขยับตัว และเริ่มหายใจ ยิ่งขยับ แม่ยิ่งเลีย การเลียจะเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจของลูกสุนัขเริ่มหายใจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ลูกสุนัขเริ่มมีการหายใจที่ดีขึ้น แม่สุนัขจะเริ่มกกให้ความอบอุ่นกับลูก และเริ่มให้นมกับลูกสุนัข การให้นมจะทำให้ลูกสุนัขมีขบวนการสันดาปพลังงาน ร่างกายของลูกสุนัขก็จะเริ่มอบอุ่นและมีแรงมากขึ้น (เคยสงสัยหรือเปล่าคะว่า ลูกสุนัขแรกคลอดเขายังไม่ลืมตา แต่ทำไมเขาถึงรู้ว่าแม่สุนัขอยู่ตรงไหน และตรงไหนคือเต้านมของแม่ ... คำตอบก็คือ เจ้าลูกสุนัขจะใช้ประสาทสัมผัสในเรื่องการรับรู้อุณหภูมิร้อน – เย็น และประสาทสัมผัสเรื่องรับรู้กลิ่นต่างๆ ในการกลิ้งตัวไปยังบริเวณที่ พี่ๆ น้องๆ ของเรานอนอยู่ และเขารู้สึกว่าบริเวณนั้นมีความอบอุ่น เช่น บริเวณที่เป็นช่วงท้องของแม่สุนัขซึ่งจะมีเต้านมของแม่สุนัขอยู่นั่นเอง ^^ ) และนอกจากการเลียในช่วงแรกคลอดเพื่อให้ลูกสุนัขหายใจได้ดีขึ้นแล้ว แม่สุนัขยังใช้การเลียช่วยเลือกสุนัขในเรื่องของการขับถ่ายด้วย โดยหลังจากที่นอนนิ่งๆ ให้นมลูกกินแล้ว แม่สุนัขจะเริ่มเลียท้อง - เลียก้นลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกสุนัขขับถ่าย และเมื่อลูกสุนัขเริ่มโตขึ้น มีอายุอยู่ในช่วง 3 สัปดาห์ถึง 6 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ลูกสุนัขแข็งแรงมากขึ้น ประสาทการรับรู้ทางการมองเห็นและการได้ยินสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ในช่วงนี้เราอาจใช้วิธีการกระตุ้นลูกสุนัขด้วยเสียงต่างๆ เพื่อทำให้ลูกสุนัขสามารถรับมือกับเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เขาจะต้องเจอในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ เราไม่ควรทำให้ลูกสุนัขตกใจ หรือได้รับอันตรายมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกสุนัขมีนิสัยขลาดกลัวในภายหน้า ลูกสุนัขในวัยนี้ หลังจากนั้น ในช่วงที่ลูกสุนัขมีอายุ 6-7 สัปดาห์ ลูกสุนัขก็จะมีฟันขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นสัญญานบอกว่าการหย่านมแม่กำลังจะเกิดขึ้น ในช่วงนี้แม่สุนัขจะเริ่มส่งสัญญาณบอกลูกสุนัขว่าควรหย่านมได้แล้ว โดยแม่สุนัขอาจจะมีพฤติกรรมขยับตัวหนี เมื่อลูกๆ พยายามเข้ามาดูดนม และถ้าลูกสุนัขยังไม่เลิกตื้อ แม่สุนัขอาจจะเพิ่มความรุนแรงในการเตือน โดยการขู่คำราม หรือบางครั้งอาจจะงับลูกสุนัขเบาๆ ซึ่งเป็นการงับแบบขู่ ลูกสุนัขจะไม่ได้รับอันตรายมากค่ะ ในวัยนี้ลูกสุนัขจะได้เรียนรู้การสื่อสารโดยการขู่จากสุนัขโต ถ้าลูกสุนัขถูกแยกจากแม่ในช่วงนี้จะไม่ได้รับการเรียนรู้เหล่านี้ ซึ่งจะเป็นผลเสียกับตัวลูกสุนัขเอง โดยลูกสุนัขอาจถูกสุนัขแปลกหน้าที่โตกว่าขู่ แต่ลูกสุนัขไม่รู้ความหมาย จึงอาจเดินเข้าไปหาซึ่งอาจจะทำให้ถูกทำร้ายได้ มาถึงช่วงที่ลูกสนัขมีอายุ 7-8 สัปดาห์ สมองของลูกสุนัขในวัยนี้มีขนาดเกือบเท่ากับสมองของสุนัขโตแล้ว ลูกสุนัข จะหย่านมโดยสมบูรณ์ ลูกสุนัขจะร่าเริง เล่นซุกซนตลอดเวลา ลูกสุนัขจะเรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกัน และจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ และลูกสุนัขจะจดจำสิ่งต่างๆ ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะฝึกให้ลูกสุนัขรู้จักการเข้าสังคมกับสุนัขตัวอื่นๆ และบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว เมื่อสุนัขเริ่มเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ แล้ว ช่วงที่ลูกสุนัขมีอายุ 9-10 สัปดาห์ ลูกสุนัขจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ลูกสุนัขจะมีความมั่นใจในตัวเอง กระตือรือร้นที่จะมีความสัมพันธ์สิ่งต่างๆ รอบตัว และเริ่มมีความอยากที่จะเข้าสังคมเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งในช่วงเวลานี้เองเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการแยกลูกสุนัขจากแม่สุนัข เพื่อไปสู่เจ้าของใหม่ค่ะ ... เห็นหรือเปล่าคะว่า ในช่วงวัยเด็กของลูกสุนัขนั้นเป็นวัยที่มีการเรียนรู้และการพัฒนาที่รวดเร็วมาก แถมยังเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการสอนให้เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมไปถึงปลูกฝังนิสัยและพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกสุนัขอีกด้วยล่ะค่ะ บทความโดย: Dogilike.com ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน: http://www.oknation.net/blog/dogfriend หนังสือ สนทนาภาษาสุนัข How to speak dog ศิลปะการสื่อสารระหว่างสุนัขกับมนุษย์ ภาพประกอบ: http://www.vancouversun.com/story_print.html?id=1492290&tab=PHOT&sponsor= http://www.globalgiving.org/projects/help-dogs-save-cats/updates/ http://www.great-labrador.com/en/index.php/puppy.html http://sydneyrealestateexperts.com.au/?p=557 http://blog.burrard-lucas.com/2010/06/pet-photo-contest-results/ |
SHARES