โดย: พริกขี้หนู
ทำอย่างไร!? ให้น้องหมายอมรับเราเป็นเจ้าของ
การจะทำให้น้องหมายอมรับเรา บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ...
21 กุมภาพันธ์ 2556 · · อ่าน (57,860)
มีเพื่อนๆ คนไหนรับเลี้ยงน้องหมาแต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านเลยไปสักเท่าใดก็ดูเหมือนว่า เรากับน้องหมาก็ยังเข้ากันไม่ได้สักที เข้าไปเล่นด้วยก็เดินหนี นอนหงายสยบยอมด้วยความกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย บางตัวก็ยังไม่ยอมให้เข้าใจ คอยจะงับมือ ส่งเสียงขู่ให้เราหวาดระแวง 3 วันดี 4 วันไข้ เอาแน่เอานอนไม่ได้ พฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ะ!....เกิดอะไรขึ้น ทำไมน้องหมาไม่ยอมรับเปิดใจยอมรับเราเป็นเจ้าของสักที
บทความนี้พริกก็เลยจะมาช่วยเพื่อนๆ ปรับความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับน้องหมา หาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ร่วมกันปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรม สร้างวินัยเพื่อช่วยให้ความสัมพันธ์เติบโตงอกงามค่ะ ^^
ทำไมน้องหมาถึงไม่ยอมรับ
ผู้เลี้ยงไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์
อย่างที่เรารู้กันนะคะว่าธรรมชาติน้องหมาพวกเขาเป็นสัตว์สังคม การอยู่เป็นฝูง จะมีการจัดระดับทางสังคมของฝูง ตัวที่สุขุมที่สุด มีความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์มากที่สุดถึงจะได้เป็นผู้นำ หรือ จ่าฝูงนั่นเอง ในสังคมของน้องหมาไม่มีที่วางให้สำหรับผู้ที่อ่อนแอค่ะ ดังนั้นถ้าเราไม่สามารถเป็นผู้นำของเขาได้ มีความมั่นคงทางอารมณ์มากพอ ไม่เข้าใจวิธีการสื่อสารน้องหมาอย่างถูกต้อง มอบความรักเกินพอดี หรือสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีแก่น้องหมาตั้งแต่แรกพบ ก็จะทำให้เขาไม่เคารพในตัวเราในฐานะจ่าฝูง และชิงอำนาจนั้นมาทันที แล้วทุกอย่างในบ้านของเรา รวมทั้งตัวเราก็จะกลายเป็นของพวกเขาไปโดยปริยาย อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็ไม่ทำ ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ฝึกยากเลี้ยงยากอย่างที่เราเห็นกันนั่นเอง
โดยความไม่มั่นคงทางอารมณ์ที่บอกไว้ในที่นี้ก็ คือการตื่นเต้น ตื่นตัว ตะโกนร้องห้ามน้องหมา หรือดุว่าเขาด้วยอารมณ์โกรธ เมื่อเราพบเจอกับสถานการณ์ที่เราไม่อาจควบคุมน้องหมาได้ ซึ่งผลที่ตามมานอกจากน้องหมาจะไม่ฟังเราแล้ว เขายังจะเข้าใจผิดคิดว่า เรากำลังสนับสนุน ร้องเชียร์ให้เขาทำพฤติกรรมนั้นต่อไป อีกทั้งยังจดจำด้วยว่า พฤติกรรมที่พวกเขาทำสามารถเรียกร้องความสนใจจากเราได้เป็นอย่างดี จึงกลายเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมทางลบให้แก่น้องหมาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ค่ะ
เลือกเลี้ยงน้องหมาที่มีพลังงานตรงกันข้ามกับตัวเอง
อีกสาเหตุที่เรียกหลายคนอาจมองข้ามแต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในการเลี้ยงสุนัขที่มีปัญหาในการยอมรับเจ้าของเลยก็ว่าได้ ซึ่งก็คือ การเลือกน้องหมาที่มีพลังงานไม่ตรงกับเรานั่นเองค่ะ เพราะน้องหมาแต่ละสายพันธุ์มีพลังงานและบุคลิก ลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกัน เรามักเลือกน้องหมาเพียงเพราะน่ารัก น่าสงสาร หรือเลือกตามรูปลักษณ์สายพันธุ์ที่เราชอบ ทั้งๆ ที่ไลฟ์สไตล์ของเรากับน้องหมาตรงกันข้ามกัน เช่น เราเลือกเลี้ยงน้องหมาจากหน้าตาที่น่ารักน่าเอ็นดู มีนิสัยขี้เล่น ไฮเปอร์ พลังงานล้นเหลือ ต้องการทำกิจกรรมกับเจ้าของอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบให้มีอะไรมาจุกจิกกวนใจ หรือ เลือกเลี้ยงน้องหมาตัวโต ที่มีความสุขุม เป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบให้ใครมาตอแย แต่เรากลับเป็นคนชอบให้น้องหมามาประจบออดอ้อน เลยทำให้น้องหมาหงุดหงิด อารมณ์เสีย และแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งการเลือกน้องหมาที่มีพลังงานตรงกันข้ามกับเรา ก่อให้ความต้องการของทั้งเราและน้องหมาไม่ตรงกัน เราจะเริ่มรู้สึกว่าน้องหมามีปัญหา เป็นภาระต่อการเลี้ยงดูค่ะ
แล้วเมื่อเราเกิดความรู้สึกในทางลบกับน้องหมา ก็ย่อมส่งผลให้น้องหมารู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยได้ความรักไม่เต็มที่ .....จึงยิ่งกระตุ้นให้เขามีพฤติกรรมตอบโต้ที่ไม่น่ารัก กลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมา จะทิ้งก็ไม่ได้ จะเลี้ยงต่อไปก็ไม่มีความสุข ปวดหัว ปวดใจมากๆ อาจถึงขั้นจับน้องหมาขัง แต่ในเมื่อเลี้ยงเขาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ ไม่มีอะไรที่สายเกิดแก้ค่ะ เพียงแต่ต้องอาศัยความอดทน และความพยายามทั้งของเราและของน้องหมาค่ะ (อ่านเพิ่มเติมการเลือกเลี้ยงน้องหมาได้ที่บทความ เลือกเลี้ยงสุนัขยังไงให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา)
วิธีทำให้น้องหมายอมรับเจ้าของ
การทำให้น้องหมายอมรับเจ้าของไม่ได้เป็นวิธีการที่มีลำดับเป็นขั้นตอนที่ตายตัว แต่คือการฝึกปฏิบัติร่วมกันทั้งเจ้าของและน้องหมา ซึ่งต้องเริ่มมาจากการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมของเจ้าของมาเป็นอันดับแรก ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เข้าใจถึงกระบวนการคิดการสื่อสารของพวกเขา เพื่อการเข้าหาที่ได้ประสิทธิผล และได้รับการยอมรับจากน้องหมาสุดเกรียนประจำบ้านค่ะ
1. สังเกตและทำความเข้าใจน้องหมา
อับดับต้นๆ ของการทำความเข้าใจน้องหมาก็คือการสังเกตค่ะ คือดูว่าน้องหมามีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อเขาหิว หรือต้องการเล่น หรือต้องการมีโลกส่วนตัวไม่ต้องการให้ใครยุ่งวุ่นวาย ยิ่งถ้าเป็นน้องหมาที่เรารับมาตอนโตจากสถานสงเคราะห์สัตว์ เพื่อนๆ ยิ่งต้องสังเกตอย่างละเอียด และศึกษาเรื่องจิตวิทยาสุนัขเพิ่มขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าน้องมาเคยประสบปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจมาก่อนหรือไม่ ซึ่งการสังเกตนี้จะรวมไปถึงการสังเกตพฤติกรรมระหว่างเรากับน้องหมาด้วยนะคะ เช่น เราเข้าไปจับหัวเขา ขณะที่เขากำลังกินอยู่หรือเปล่า ถ้าเราทำแล้วเขารู้สึกหงุดหงิด ก็ต้องกลับมาย้อนคิดแล้วว่า เราไม่ควรทำพฤติกรรมนั้น เพราะเขาอาจหวงอาหาร ไม่ไว้ใจ หรืออาจรำคาญเรา เป็นต้นค่ะ การทำความเข้าใจน้องหมาเป็นก้าวแรกของการรู้จักการตอบสนองตามความต้องการของน้องหมา เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเข้าใจกันและกัน มีจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีนั่นเองค่ะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ ถึงเวลาทำความเข้าใจ "ความรู้สึกน้องหมา" อย่างถูกต้อง)
2. นับหนึ่งใหม่ของความสัมพันธ์ด้วยการพาน้องหมาเดินเล่น
การออกกำลังกาย การพาน้องหมาเดินเล่น หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเจ้าของและครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดสิ่งหนึ่งสำหรับการเลี้ยงน้องหมาค่ะ เพราะน้องหมาทุกตัวเกิดมาเพื่อผูกพันกับเจ้าของโดยการทำกิจกรรมร่วมกัน พวกเขาจึงชอบที่จะออกไปเดินกับกับเจ้าของ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งกายและใจ พวกเขาจะรู้สึกสบายใจ มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น และมีความสมดุลทางกายและใจค่ะ โดยเพื่อนๆ อาจเริ่มจากการพาเดินเล่นรอบบ้าน ใส่สายจูงให้เรียบร้อยนะคะ เวลาเดินไม่ควรให้เขาเดินนำหน้าเรา แต่ให้เดินอยู่ระนาบเดียวกับเราค่ะ เพราะการที่เขาเดินนำหน้าเรา หมายถึงเรายอมปล่อยให้เขาเป็นผู้นำนั่นเอง ซึ่งการพาเดินในบ้านจะเป็นการบอกให้เขารู้ว่า เราเป็นเจ้าของบ้าน เป็นจ่าฝูง เขาเป็นเพียงผู้อาศัยค่ะ
นอกจากนี้การพาเดินออกกำลังกายยังทำให้น้องหมารู้สึกเหนื่อย อยู่ในภาวะสงบ สยบยอมง่ายขึ้น จึงเป็นช่วงที่เหมาะแก่การฝึก และกระชับความสัมพันธ์ค่ะ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ กฎเหล็ก 3 ข้อ ที่จะทำให้การฝึกน้องหมามีประสิทธิภาพ)
3. น้องหมาทุกตัวควรได้รับการฝึกวินัย และฝึกคำสั่งพื้นฐาน
การฝึกน้องหมาก็เหมือนกับการพาออกกำลังกายค่ะ คือเป็นทั้งการช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับน้องหมา การบอกให้รู้ระดับฐานะภายในฝูง อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานการฝึกมารยาทให้น้องหมาอยู่ร่วมกับสังคมอย่างสันติอีกด้วยค่ะ ซึ่งการฝึกน้องหมาจะมีประสิทธิภาพมากๆ หากได้รับการฝึกหลังจากออกกำลังกายอย่างที่บอกไว้เมื่อข้อที่ผ่านมาค่ะ เคล็ดไม่ลับอีกอย่างที่สามารถเข้าถึงใจน้องหมาได้เร็วที่สุดนั้นก็คือ การดึงเอาหลักความต้องการพื้นฐานของน้องหมามาใช้ โดยการดึงดูดความสนใจเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ อาหาร หรือขนมกลิ่นแรงๆ นั่นเอง คราวนี้ล่ะค่ะ สั่งให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ว่าจะนั่ง หรือ นิ่ง แต่ถ้าเพื่อนๆ จะใช้ขนมเป็นตัวล่อน้องหมาให้ฝึกวินัย ก็ไม่ควรให้เขากินบ่อยๆ หรือกินพร่ำเพรื่อเป็นอาหารระหว่างวันนะคะ เพราะการได้กินบ่อยๆ จะทำให้พวกเขารู้สึกเคยชิน ไม่ต้องทำตามคำสั่งก็ได้กิน แล้วที่นี้ก็จะฝึกยากขึ้นทีเดียวล่ะค่ะ
และอีกสิ่งหนึ่งที่ขอเตือนนะคะว่าไม่ควรการใช้ความรุนแรงกับน้องหมาเวลาฝึก เมื่อเขาทำไม่ได้ดั่งใจเรา เพราะเขาจะเครียด จดจำความรู้สึกไม่ดีจนสะสมเป็นประสบการณ์ที่มีผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรมและความสัมพันธ์กับเจ้าของในเวลาต่อมา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เคล็ด (ไม่) ลับ! การฝึกให้น้องหมารู้จักควบคุมตัวเอง)
4. ไม่ควรเพิกเฉยกิจวัตรประจำวันที่ควรทำให้น้องหมา
แน่นอนค่ะว่าการให้อาหารน้องหมาเราไม่มีทางละเลยได้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องให้ทุกวันไม่ขาด แต่ควรจะมีการจัดแบ่งเวลาการออกกำลังกาย การฝึกน้องหมาให้สม่ำเสมอ ไม่ให้ขาดด้วยเช่นกันค่ะ เพราะน้องหมาต้องการการฝึกอยู่ตลอดเวลา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางใจ วินัย ความสุขุม และความมั่นคง ทำให้เขามีความสุขได้มากพอๆ กับความรัก หรืออ้อมกอดของเจ้าของค่ะ การเว้นระยะห่าง หรือทิ้งร้างการพาไปออกกำลังกายหรือกิจจกรรมร่วมกัน จะทำให้น้องหมารู้สึกเบื่อ มีพลังงานมากเกินไป รู้สึกขาดความรัก และความมั่นคงทางจิตใจ อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่น่ารักขึ้นได้ค่ะ
ในส่วนของการดูแลน้องหมาก็ควรดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการแปรงขนน้องหมาที่หลายคนอาจมองข้าม ได้แต่อาบน้ำให้อย่าเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การแปรงขนนอกจากจะช่วยให้ขนเงางาม ผิวหนังสุขภาพดี ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ เพิ่มความผูกพันระหว่างน้องหมากับเราได่อีกด้วยค่ะ! เพราะการแปรงขนช่วยให้น้องหมารู้สึกผ่อนคลาย ได้รับการสัมผัสจากเจ้าของ ได้นอนหนุนตัก รู้สึกเพลินเพลินสุดๆ แล้วหัวใจเขาก็จะเปิดยอมรับเราเข้ามาเป็นคนโปรดในดวงใจ ^^ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ แบ่งเวลา ... เติมความรักให้น้องหมาอย่างถูกวิธี)
5. เคารพพื้นที่ส่วนตัวของน้องหมา
น้องหมาบางตัวรักสันโดษ ไม่ชอบให้ใครมายุ่งกับพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง เวลานอนหลับก็ไม่ชอบให้ใครมายุ่ง กระเซ้าเย้าแหย่ จนรู้สึกหงุดหงิด แต่หลายครั้งเราก็อดใจไม่ไหวคิดถึง อยากเล่น อยากกอด อยากจุ๊บ ก็เดินไปหาน้องหมา กอดรัดฟัดเหวี่ยง หรือไม่ก็เรียกเขา ดึงเขาออกมาจากใต้โซฟา กลายเป็นว่าเราเรียกร้องความสนใจ แสดงว่าตนอยู่ใต้อำนาจน้องหมา เขาอยู่นิ่งๆ เราก็เดินไปหา ดังนั้นเราก็จะเสียทั้งอำนาจ และความเคารพจากน้องหมาไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องอดทน เคารพพื้นที่ส่วนตัวของน้องหมา ถ้าเขานอนอยู่ก็ปล่อยให้เขานอนค่ะ คอยเตือนตัวเองไว้ว่า น้องหมาก็อยากพักผ่อนเหมือนกับเรา และพวกเขาก็ไม่ได้เป็นของเล่น หรือเพื่อนเล่นยามเหงาให้เราค่ะ ซึ่งการเคารพื้นที่ส่วนตัวของเขา ปล่อยให้เขาได้มีเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง จะสามารถช่วยให้เขาเกิดความเคารพในตัวเรา และยอมรับเราเป็นผู้นำของเขาค่ะ
6. สัมผัสน้องหมาด้วยความรัก ส่งมอบพลังงานที่มั่นคง
ไม่ว่าน้องหมาจะตัวเล็กหรือใหญ่ก็ต้องการความรักทั้งนั้นค่ะ แต่ความรักที่น้องหมาต้องการไม่ได้เป็นการกอดรัดฟัดเหวี่ยง หรือตามใจสุดๆ แต่เป็นความรักที่สุขุมมั่นคงค่ะ อย่างไรก็ตามเพื่อนๆ ก็ต้องสังเกตน้องหมาก่อนมอบความรักนะคะว่า พวกเขาต้องการหรือไม่ ในขณะเดียวกับก็ควรมีกฏของการมอบความรักให้อย่างถูกวิธี ถูกที่ ถูกเวลา เช่น บอกให้เขานั่งลง นิ่ง หรือสยบยอมก่อนจะมอบความรัก ถ้าน้องหมากระโดดโหย่งๆ ร้องหงิงๆ วิ่งไปวิ่งมา ไม่ควรมอบความรักให้เด็ดขาดค่ะ เพราะจะเป็นการบอกเขาว่าทำอย่างนั้นดีแล้ว ถูกต้องแล้วนั่นเองค่ะ
การสัมผัสควรเป็นการลูบที่ลำตัวเบาๆ อย่างอ่อนโยน แต่มั่นคง อาจจะหลังการออกกำลังกาย เวลานั่งดูโทรทัศน์ หรือก่อนนอนก็ได้ค่ะ เพื่อนๆ สามารถพูดชมน้องหมาได้นะคะ เช่น เก่งมาก ดีมาก น่ารักมากๆ ด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่สูงปรี๊ดจนน้องหมาตื่นตัว ช่วงเวลาแห่งการสัมผัสควรเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด และนอกจากสัมผัสเพื่อนๆ จะนวดให้น้องหมา ก็จะยิ่งถูกใจมากๆ ค่ะ ทีนี้เขาก็หนีไปไหนไม่รอดแล้วล่ะค่ะ
การเลี้ยงน้องหมาให้เขามีความสุข นอกจากการเลี้ยงตัวให้สุขกายแล้วก็ต้องเลี้ยงใจด้วยนะคะ ถึงจะได้ทั้งตัวและใจของน้องหมาไปครอง โดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรมและการสื่อสารกับน้องหมาที่เราจำเป็นต้องรู้เพื่อเข้าใจจิตวิทยาน้องหมา และดูแลเขาอย่างถูกวิธี ซึ่งทางเว็บด็อกไอไลค์ (Dogilike.com) ก็มีบทความการฝึกและการสื่อสารน้องหมาให้เพื่อนๆ ผู้เลี้ยงน้องหมาทั้งมือใหม่ และมืออาชีพ ได้อ่านมากมาย เพื่อมอบความสุขให้น้องหมาอย่างสมดุลทั้งกายใจค่ะ ^^
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.dogster.com/lifestyle/behavior-choose-your-dog-you
http://www.wikihow.com/Make-a-Dog-Love-You
ภาพประกอบ
http://dogs.about.com/od/caringfordogsandpuppies/
tp/Biggest-Dog-Myths-Misconceptions.htm
tp/Biggest-Dog-Myths-Misconceptions.htm
http://www.personal.psu.edu/afr3/blogs/siowfa12/2012/11/why-do-i-love-dogs-more-than-humans.html
http://www.hallvet.com.au/2011/10/heart-care-for-dogs/
http://www.boisedogstore.com/blog/great-guide-time-dog-owner
http://www.sheknows.com/pets-and-animals/articles/
http://www.sheknows.com/pets-and-animals/articles/
802219/pet-behavioral-problems
http://www.pet360.com/
dog/behavior-and-training/understand-dog-barking-and
-training-methods/tUs_nnDlSkqbeNn4vuE7Sw
http://www.pet360.com/
dog/behavior-and-training/understand-dog-barking-and
-training-methods/tUs_nnDlSkqbeNn4vuE7Sw
http://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-2048746/
Children-10-understand-dog-barks-better-adults.html
Children-10-understand-dog-barks-better-adults.html
http://studentslife101.com/2012/10/31/10-reasons-to-exercise-regularly/
http://www.bestfriendsgroomingspa.com/vestibulum-sed-nibh-non-orci-tempor/
http://edition.cnn.com/2012/07/23/business/office-dogs-stress
http://blog.petaasiapacific.com/companion-animals/crates-and-cages-prison-for-dogs/attachment/dog-in-cage
SHARES