โดย: พริกขี้หนู
ถึงเวลาทำความเข้าใจ "ความรู้สึกน้องหมา" อย่างถูกต้อง
มุมมองและการรับรู้ของน้องหมาต่างจากคน ... ดังนั้น เรามามองมุมกลับปรับมุมมอง เพื่อที่จะได้เข้าใจน้องหมามากขึ้นกันดีกว่า
24 มกราคม 2556 · · อ่าน (143,163)
ในปัจจุบันสำหรับคนรักสุนัข น้องหมาไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยงอีกต่อไป หลายๆ ครอบครัวให้ความรักความสำคัญกับน้องหมามากถึงขั้นยกระดับให้กลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว และพร้อมที่จะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา
ในหลายๆ ครั้งเรามักจะพบว่าผู้เลี้ยงน้องหมา มักจะมีอาการวิตกกังวลเกี่ยวกับความรู้สึกของน้องหมาที่มากจนเกินไป เช่น เวลากินอาหารอะไรก็มักจะแบ่งให้น้องหมากินด้วยเสมอ เพราะกลัวว่าถ้าไม่ให้กินน้องหมาจะงอน หรือเวลาน้องหมาทำอะไรผิดก็มักจะไม่กล้าดุเพราะกลัวน้องมาจะน้อยใจและไม่รัก ... ด้วยความรักที่มีให้น้องหมามาก(จนเกินไป) บวกกับการใช้แนวคิดจิตวิทยาแบบของคนไปตัดสิน และคิดแทนความรู้สึกของน้องหมา ทำให้ในหลายๆ ครั้ง เจ้าของอาจจะตีความหมายของพฤติกรรมและความรู้สึกของน้องหมาไปในทางที่ผิด
การเข้าใจผิดคิดว่าน้องหมาคิด หรือรู้สึกเหมือนกับเรามักเกิดจากการคิดหรือตีความไปเองว่าน้องหมาเรามีนิสัยแบบนั้น แบบนี้ หรือคาดหวังไปต่างๆ นานาว่าถ้าเลี้ยงน้องหมาสักตัว เขาควรจะต้องเป็นน้องหมาที่มีพฤติกรรมแบบไหน พอเขาไม่เป็นอย่างที่คิดก็ผิดหวัง แล้วเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ก็ปล่อยปะละเลย หรือแก้ปัญหาด้วยการยกน้องหมาให้คนอื่นเลี้ยง ซึ่งแน่นอนว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเช่นนี้ ย่อมส่งผลเสียต่อพฤติกรรมและความรู้สึกของน้องหมาอย่างแน่นอน
ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะทำก็คือ การสังเกต โดยการมองเขาเหมือนเป็นสัตว์ตัวหนึ่งที่เราไม่รู้จักแล้วเข้ามาอยู่ในบ้าน จึงต้องคอยสอดส่องพฤติกรรมที่เขาเป็น ไม่ตีความไปตามความคิด มุมมอง หรือประสบการณ์ของคน และนอกจากการสังเกตแล้ว เรายังต้องพยามศึกษาและทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่มาที่ไปของพฤติกรรมดังกล่าว รวมไปถึงเข้าใจความหมายของพฤติกรรมนั้นๆ ของน้องหมาด้วย
โดยในบทความนี้พริกจะมาช่วยไขข้อสงสัยเรื่องที่เราเข้าใจผิดๆ และที่ยังไม่เข้าใจดีเกี่ยวกับน้องหมาให้เพื่อนๆ ได้รู้ ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจของภาษากาย และเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ ของน้องหมา ซึ่งเรามักคิดไปเองว่าเขารู้สึกอย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมถึงมีพฤติกรรมแบบนั้นได้ โอ๊ย ปวดหัวไม่เข้าใจจริงๆ ... มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง ที่เราต้องปรับมุมมอง มองมุมใหม่ เพื่อเข้าใจความรู้สึกของน้องหมสุดรัก ^^
เข้าใจว่า ... การมองตาสำหรับน้องหมาไม่ใช่การเปิดหน้าต่างของหัวใจ
ตามปกติแล้วเวลาเราพบเจอใครก็จะรู้จัก หรือไม่รู้จัก ก็จะทักทายด้วยการมองตา ยิ้มให้เล็กน้อย แสดงถึงความจริงใจใช่ไหมคะ แล้วเวลาที่เราเจอน้องหมาไม่ว่าจะหน้าเก่า หน้าใหม่ น่ารัก หรือหน้าโหดก็จะใช้วิธีเดียวกัน ก็คือการจ้องลงไปในดวงตา มองเขาอย่างรักใคร ซึ่งเราก็มักจะคาดหวังว่าน้องหมาจะมีพฤติกรรมแสดงตอบกลับมาอย่างเป็นมิตร แต่ในความเป็นจริงแล้วบางครั้งน้องหมาอาจจะแสดงพฤติกรรมตอบกลับมาโดยการหลบสายตา หรืออาจจะเริ่มแยกเขี้ยว ขู่ใส่ ซึ่งเมื่อน้องหมามีพฤติกรรมแบบนี้เราก็จะรู้สึกว่า "เอ๊ะ! ทำไมน้องหมาไม่เป็นมิตรเลยนะ"
แน่นอนค่ะว่าน้องหมาจะต้องแสดงอาการไม่เป็นมิตรใส่อยู่แล้ว เพราะแท้จริงแล้วในความหมายทางภาษากายของน้องหมา การมองตา หรือการสบตานั้น หมายถึงการ ท้าทาย ไม่ใช่ ทักทาย อย่างที่เราเข้าใจค่ะ
ถ้าเพื่อนๆ ลองสังเกตให้ดี เวลาที่น้องหมาสองตัวเจอกันแล้วแสดงอาการจ้องตานิ่ง มองหน้ากันไม่ขยับเขยื้อน เราจะเริ่มรู้สึกถึงความอึมครึม และเต็มไปด้วยอารมณ์ความขัดแย้ง แล้วสักพักก็จะมีเสียงขู่ เสียงข่ม ท้าทายให้เกิดการต่อสู้ ถ้าตัวไหนหลบตาก่อนแสดงว่ากำลังพ่ายแพ้ การที่เราจ้องตาน้องหมา แล้วน้องหมาหลบตาเรา เป็นการบอกผ่านภาษากายให้รู้ว่า เขากำลังรู้สึกหวาดหวั่น หวาดกลัว รู้สึกไม่มั่นคงและยอมแพ้ แต่ในทางกลับกันถ้าน้องหมาเริ่มส่งเสียงขู่ในคอ แสดงว่าเขาพร้อมที่จะเปิดศึกกับเราแล้วล่ะค่ะ
สำหรับน้องหมาที่เราเลี้ยงเอง การที่ผู้เลี้ยงจ้องตาน้องหมาจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยวัดความเป็นจ่าฝูงในตัวผู้เลี้ยง โดยสังเกตง่ายๆ ก็คือ ถ้าหากผู้เลี้ยงจ้องตาแล้วน้องหมามีอาการหลบสายตาหรือก้มต่ำ แสดงว่าผู้เลี้ยงมีอำนาจอยู่เหนือกว่าน้องหมา และเขายอมรับในอำนาจความเป็นจ่าฝูงของผู้เลี้ยง
ทั้งนี้ในการจ้องตาระหว่างผู้เลี้ยงกับน้องหมานั้น การที่น้องหมาไม่ทำร้ายเจ้าของนั้น เป็นเพราะว่าน้องหมาเองก็กำลังศึกษาภาษากายของผู้เลี้ยงด้วยว่าการมองตานั้นไม่ใช่การท้าทาย แต่เป็นการสื่อสารความรู้สึกในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการใช้วิธีการสื่อสารด้วยการต้องตาน้องหมานั้น ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักวิธีจ้องตาน้องหมาอย่างถูกต้องเพื่อไม่ทำให้น้องหมาอึดอัด การจ้องตาน้องหมาเพื่อเป็นการทักทายนั้น ทำได้โดยการเบียงหน้าไปด้านข้างเล็กน้อย หรือมองด้วยหางตา พยายามไม่มองเขาตรงๆ อย่างน้อยพวกเขาก็รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด หรือรู้สึกว่าถูกกดดันค่ะ
เข้าใจว่า.....การโน้มตัวเข้าหา สำหรับน้องหมาคือการจู่โจม
หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าการโน้มตัวเข้าหาน้องหมาจะเป็นปัญหาได้อย่างไร เพราะเราค่อยๆ โน้มตัวลงไปเพื่อแสดงความรักให้น้องหมา ไม่ว่าจะกอด หรือจุ๊บ แต่สำหรับน้องหมาแล้วการโน้มตัวเข้าหา โดยเฉพาะจากตำแหน่งที่สูงกว่า แถมจ้องตาเขม็ง เป็นลักษณะที่ไม่น่าไว้ใจอย่างยิ่ง เพราะความหมายทางภาษากายของน้องหมา การโน้มตัวเข้าหา หรือการโผเข้าหา เป็นการสื่อสารว่า จะเข้าจู่โจม! เมื่อมีใครมาทำพฤติกรรมแบบนี้ใส่ พวกเขาจึงรู้สึกว่าถูกคุกคามและเมื่อน้องหมารู้สึกว่าถูกจู่โจม เขาก็จะผงะถอยหนี หรือไม่ก็กระโจนเข้าใส่ก่อนทันทันที เพื่อเป็นการป้องกันตัว
ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ คนไหนกำลังคิดจะกระชับมิตรกับน้องหมาแปลกหน้าต้องเป็นน้องหมาที่เรามั่นใจว่าเขาจะไม่ทำอันตรายกับเรา ควรนั่งลงให้ตัวเรา และสายตาอยู่ในระดับเดียวกับเขา แล้วจึงปล่อยน้องหมาเริ่มทำความรู้จักเราในแบบของเขา นั่นคือปล่อยให้เขาค่อยๆ เดินมาหา และดมกลิ่นทำความรู้จักคุ้นเคย ซึ่งวิธีนี้เป็นการแสดงถึงการเคารพในพื้นที่ส่วนตัวของเขา และเขาจะให้การเคารพต่อเราตอบแทนกลับมา ^^
เข้าใจว่า.....น้องหมาไม่ได้ใช้มือ (เหมือนเรา) เพื่อการทักทาย
ไม่ว่าจะวัฒนธรรมไหนๆ คนเราจะใช้มือเป็นการทักทาย และไม่ว่าจะหยิบ จะจับ เราก็จะใช้มือเป็นหลัก แม้กระทั่งเมื่อเราเจอน้องหมาที่น่ารัก น่าเอ็นดู ก็จะเอื้อมมือไปหาทันที จ้องมองตาน้องหมาด้วยความรัก พร้อมกับเสียงสูงปรี๊ด อุ๊ย น้องหมาน่ารักจังเลยยย! และแล้วก็ถูกงับที่มือแบบไม่ทันตั้งตัว.....อ้าวเป็นงั้นไป!
ทั้งนี้จากสถิติคนที่ถูกหมากัดส่วนใหญ่มักถูกกัดที่มือมากที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า โดยธรรมชาติของคนแล้วเราใช้มือในการแสดงความรักและทักทายนั่นเอง แต่โดยธรรมชาติน้องหมา พวกเขาไม่ได้ใช้มือหรือขาหน้าในการทักทาย แต่ใช้จมูกและปากค่ะ ซึ่งการสื่อสารโดยใช้มือ หรือ ขาหน้า สำหรับน้องหมาเป็นการชวนเล่น ต่อสู้ หรือใช้ยืนขึ้นคร่อมเพื่อจะผสมพันธุ์เท่านั้นค่ะ
นอกจากเรื่องของการสื่อสารแล้ว ตำแหน่งของมือมีส่วนที่ทำให้น้องหมาตกใจกลัว เนื่องจากเราตัวใหญ่กว่าเขา ยืนอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า พอโน้มตัวลงมา เอื้อมมือเข้าหา ทั้งตัวและมือของเราจะใหญ่มากๆ จึงทำให้เขาหวาดกลัว ไม่ไว้ใจ และเขาจะปกป้องตัวเองทันทีค่ะ ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ อยากทำความรู้จักกับพวกเขาควรนั่งอยู่ในระดับเดียวกัน จะดีมากถ้านั่งข้างลำตัวน้องหมา ไม่ประจันหน้า ยื่นมือเข้าหาในตำแหน่งที่ต่ำกว่าสายตา หลีกเลี่ยงการจับที่บริเวณใต้อกใกล้กับท้อง บริเวณท้อง ขาหลัง หรือหางค่ะ เพราะเป็นตำแหน่งที่เขารู้สึกอ่อนไหวง่าย ส่วนตำแหน่งที่เหมาะสมในการจับเพื่อทำการทักทายทำความรู้จักกับน้องหมาก็คือ ตำแหน่งหัวไหล่ และหลังปลอดภัยที่สุดค่ะ
เข้าใจว่า.....ความเหงาส่งผลต่อจิตใจน้องหมาอย่างรุนแรง
น้องหมาเป็นสัตว์สังคม มีความผูกพันเหนียวแน่นกับฝูงของตัวเอง ไม่ว่าฝูงในความหมายของเขาจะเป็นสุนัขด้วยกัน หรือ จะเป็นคนหรือครอบครัวที่เขาอยู่อาศัยด้วยก็ตาม ถ้าเขายอมรับว่านี่คือฝูง หรือครอบครัวของเขา เขาก็จะผูกติด ผูกพันไปจนวันตาย ซึ่งความผูกพันที่หนาแน่นมากๆ นี้ทำให้เขาเศร้า เสียใจ หดหู่ง่าย เมื่อถูกทิ้งอยู่ตัวเดียวเป็นเวลานาน
หลายคนมีความจำเป็นที่จะต้องทิ้งน้องหมาให้อยู่บ้านทั้งวัน เพราะต้องออกไปทำงานหรือทำธุระต่างๆ เมื่อกลับมาก็จะพบว่า บ้านอยู่ในสภาพเหมือนโจรปล้น โซฟาโดนกัด ฟูกขาดกระจุย มุ้งลวดขาดกระจาย.....พวกเขาจึงถูกโทษทุกวัน โดยไม่ได้รับความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ที่เขาทำแบบนั้นเพราะเขารู้สึกเหงา ซึ่งความเหงาของน้องหมา เป็นภาวะอารมณ์ที่รุนแรงมาก เพราะมันจะมาพร้อมกับวิตกกังวล กระวนกระวายใจ พวกเขาจะรู้สึกว่าถูกทิ้ง โดยไม่รู้ว่าตนทำผิดอะไร พลังงานในร่างกายแปรปรวนขาดสมดุล ก็เลยระบายความกังวล เรียกร้องความเห็นใจ โดยการกัดแทะข้าวของ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่พอใจนะ ซึ่งอาการดังกล่าว เป็นลักษณะอาการเดียวกับเวลาที่เขาต้องถูกแยกจากแม่ และจากฝูงนั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวอารมณ์ความเหงาของน้องหมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกาก็คือ อารมณ์และร่างกายของพวกเขามีความเชื่อมโยงต่อมาก ยากที่จะแยกออกจากกัน อีกทั้งความผูกพันที่มีต่อฝูง ที่ฝังรากลึกอยู่ในสมองซึ่งควบคุมระบบประสาท จึงส่งผลให้เวลาที่พวกเขาถูกทิ้งให้อยู่ลำพังจะรู้สึกกระวนกระวายใจ เพราะพวกเขาไม่ได้แค่รู้สึกเหงาเท่านั้น แต่ความเหงาส่งผลต่อความเจ็บปวดภายในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยพวกเขาได้ ก็คือการฝึกวินัย การพาไปออกกำลังกาย การฝึกให้พวกเขาเคยชินกับการอยู่คนเดียวค่ะ (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ ฝึกไม่ให้น้องหมาตามเรา ค่ะ)
เข้าใจว่า.....ความอิจฉาแบบหมาๆ แตกต่างจากคน
เวลาให้อาหารหรือขนมน้องหมาเพื่อนๆ คงเคยคิดหนักหรือกังวลบ้างว่าถ้าให้ตัวเล็กชิ้นเล็ก ตัวใหญ่ชิ้นใหญ่ เขาจะเข้าใจถึงความยุติธรรมหรือเปล่า เวลาแบ่งขนมถ้าให้ไม่เท่ากันเขาจะอิจฉากันไหม น้องหมาจะรู้สึกอิจฉาเป็นหรือเปล่า?
เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเวียนนาใน ออสเตรีย ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความอิจฉาของน้องหมาพบว่า น้องหมาจะไม่เกิดการอิจฉาหากได้อาหารที่แตกต่างจากอีกตัว เพราะเขาสนใจแค่สิ่งที่เขาได้รับ แต่ถ้าให้ตัวอื่นแต่ไม่ให้เขา เขาจะเริ่มลังเล และหยุดการให้มือเพื่อแลกกับรางวัล พวกเขาจะไม่มีอาการเรียกร้องความยุติธรรม หรือทวงสิทธิ์เหมือนอย่างคน แต่จะนั่งนิ่ง หน้าหงอด้วยความรู้สึกเสียใจ
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า น้องหมาอยู่รวมกันเป็นฝูง มีพฤติกรรมหมู่ ดังนั้นถ้าตัวอื่นได้ แล้วเขาไม่ได้รับ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองทำผิดอะไร รู้สึกแปลกแยกจากฝูง เมื่อไม่ได้จึงไม่ได้ตอบโต้ด้วยความโมโห หรือก้าวร้าว น้องหมาจะรู้สึกว่า "...ฉันถูกปฏิเสธ มันเจ็บปวดเหลือเกิน" ถ้าเพื่อนๆ คนไหนที่ชอบแกล้งน้องหมาให้รอขนมเก้อ ทำท่าเหมือรจะให้ๆ แต่เอาไปให้ตัวอื่นเพื่อให้เขาโมโหเล่น ต้องคอยเตือนตัวเองไว้นะคะว่า...เรากำลังทำร้ายความรู้สึกเขาอย่างแรง!
เข้าใจว่า.....การมีส่วนร่วมและร่วมแบ่งปันมีความสำคัญต่อน้องหมาสุดๆ
น้องหมาเป็นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นฝูง สื่อสารกันด้วยพลังงานเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ถ้าใครในฝูงเกิดความหวาดกลัวก็จะทำให้ตัวอื่นๆ ในฝูงรับรู้ความรู้สึกนั้นไปด้วย แม้กระทั่งการอยู่กับคน หากเรามีความสุข เขาก็จะสุขด้วย แต่ถ้าหากเรามีความทุกข์ เขาก็สามารถรับรู้และพร้อมจะอยู่เคียงข้าง ร่วมแบ่งปันความรู้สึกนั้นไปพร้อมกับเรา ซึ่งสิ่งที่เขาต้องการจากเราก็ไม่ต่างกันค่ะ พวกเขาต้องการมีพื้นที่ร่วมแชร์กับคนในครอบครัว อย่างเวลาเรานั่งดูโทรทัศน์กับคนในครอบครัว น้องหมาก็จะมาขอแทรกนั่งดูด้วย นั่นก็เพราะเขาอยากมีส่วนร่วมเพื่อแสดงว่าเป็นหนึ่งเดียวกับฝูง หรือคนในครอบครัวนั่นเอง แต่ถ้าทิ้งเขาเอาไว้โดดเดี่ยว ไม่ใส่ใจ เขาก็จะรู้สึกแปลกแยก ไม่มั่นใจในตัวเอง อารมณ์ไม่มั่นคง แล้วก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมต่างๆ ในเวลาต่อมา
ดังนั้นการหาโอกาสให้พวกเขาทำกิจกรรมและออกกำลังกายร่วมกับครอบครัว ซึ่งจะทำให้พวกเขารู้สึกดีมีความสุข เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้เลี้ยงมากๆ เพราะเขาจะรู้สึกมั่นคง ได้รับการยอมรับ มั่นใจในตัวเอง พลังงานสมดุล และอารมณ์ดีสุดๆ เลยล่ะค่ะ
การเข้าใจโลกของน้องหมาซึ่งแตกต่างจากเรา เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ สำหรับการสื่อสารกับน้องหมานะคะ ซึ่งเราไม่ควรจะมองข้าม เพราะหลายครั้งที่เรามักจะคิดและตัดสินใจพฤติกรรม ความรู้สึกของน้องหมา จากมุมของคน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมามากมาย การทำความเข้าใจน้องหมาด้วยมุมมองของน้องหมาเองจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ เพื่อให้เราได้อยู่ร่วมกับเขาอย่างเกื้อหนุน เข้าใจ ไว้ใจกันและกัน และไม่ทำร้ายเขาโดยไม่รู้เท่าทัน เพราะฉะนั้น ถ้าทำให้เขาผูกพันแล้วก็อย่าทำให้เขาเสียใจนะคะ ^^
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.telegraph.co.uk/lifestyle/pets/7623589/How-to-
understand-your-dog.html
understand-your-dog.html
http://www.wikihow.com/Understand-Your-Dog%27s-Feelings
http://www.psychologytoday.com/blog/my-puppy-my-self/200904/
tuning-in-your-dogs-emotions
tuning-in-your-dogs-emotions
http://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=97944783
http://www.petplace.com/dogs/can-dogs-sense-
our-emotions/page1.aspx
our-emotions/page1.aspx
http://www.netplaces.com/small-dogs/to-a-long-and-healthy-life/
what-your-dog-wants-you-to-know.htm
what-your-dog-wants-you-to-know.htm
http://www.caninenannyservices.com/UnderstandingDogBehavior.html
http://puppies.about.com/od/BehaviorProblems/a/Dog-
Language-How-Dogs-Communicate.htm
Language-How-Dogs-Communicate.htm
http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,1921614,00.html
ภาพประกอบ
http://www.petsugar.com/Do-Tell-Can-Your-Dog-Understand-Gestures-3501772
http://dogs.thefuntimesguide.com/2010/07/dog_skin_conditions.php
http://weheartit.com/entry/22827344?group=A&imgres=sleep+with+dog
http://www.probioticsmart.com/blog/understand-proper-
dog-nutrition-and-avoid-health-problems/
dog-nutrition-and-avoid-health-problems/
http://blog.timesunion.com/mydogbandit/does-your-dog-look-on-the-bright-side/5677/
http://k9aggression.com/dog-aggression-overview/is-my-dog-aggressive/
http://www.pawmetto.com/2012/10/tips-and-tricks-sit/
http://www.petfinder.com/dogs/dog-problems/why-dogs-bite/
http://www.mymamha.com/12-Goodtoknow-
http://www.montrealdogblog.com/12172/trainer-2/
http://thediaperdiaries.net/doggone-funny/
http://www.ehow.com/about_5387404_dog-training-schools-texas.html
SHARES