โดย: พริกขี้หนู

เรียนรู้ภาษากายของลูกสุนัขในแต่ละช่วงวัย

มาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมและภาษากายของลูกสุนัข เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติและจัดการกับ ปัญหาพฤติกรรมของลูกสุนัขกันค่ะ

8 สิงหาคม 2558 · · อ่าน (13,038)
6,256

SHARES


6,256 shares
Dogilike.com :: เรียนรู้ภาษากายของลูกสุนัขในแต่ละช่วงวัย

     การดูแลเอาใจใส่สุนัขในช่วงที่พวกเขายังอยู่ในช่วงวัยเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสุนัขที่อยู่ในช่วงวัยเด็กก็เปรียบได้กับเด็กทารก พวกเขาอยู่ในช่วงวัยที่ร่างกายและสมองกำลังมีการเติบโต มีพัฒนาการต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะเรียนรู้ถึงสัญชาตญาณและทักษะการใช้ชีวิตจากพ่อแม่ เรียนรู้การเข้าสังคมเบื้องต้นจากพี่น้องในฝูง และเมื่อถึงช่วงเวลาที่พวกเขาจะต้องแยกจากฝูงเพื่อมาอยู่กับผู้เลี้ยง พวกเขาก็จะต้องเรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับบ้านใหม่ ซึ่งในแต่ละช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่พวกเขามีการแสดงออก มีพฤติกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงต้องศึกษา สังเกต เรียนรู้ถึงความหมาย และสาเหตุของพฤติกรรม เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจธรรมชาติของพวกเขา เตรียมรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง และแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องนั่นเองค่ะ
 
     โดยในบทความนี้ Dogilike ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรม หรือภาษากายของลูกสุนัขตามแต่ละช่วงวัยมาให้ผู้เลี้ยงได้ทำความเข้าใจกันให้ดียิ่งขึ้นค่ะ เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่า ในแต่ละช่วงวัยของน้องหมาพวกเขาจะมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง...


 
ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 3 สัปดาห์

     ในช่วงนี้หน้าที่หลักในการดูแลลูกสุนัขจะตกเป็นของแม่สุนัข เนื่องจากลูกสุนัขที่พึ่งคลอดก็คือเด็กอ่อนที่จะต้องได้รับความอบอุ่นจากผู้เป็นแม่ ลูกสุนัขจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้สักเท่าไหร่นัก เพราะประสาทในการรับรู้นั้นยังทำงานไม่เต็มที่ แม้แต่หูของพวกเขาก็จะไม่ค่อยได้ยิน เนื่องจากรูหูยังปิดอยู่ แต่ลูกสุนัขจะรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวด และความร้อนเย็นต่าง ๆ ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกสุนัขได้ตั้งแต่แรกคลอดเลยคือ ลูกสุนัขที่สุขภาพปกติดี จะมีการเคลื่อนไหวและการดูดนมแม่ โดยหลังจากลูกสุนัขคลอดออกจากท้องแม่ แม่สุนัขจะเลียตัวลูกเพื่อกระตุ้นการหายใจ เมื่อพวกเขาเริ่มหายใจได้เป็นปกติก็จะเริ่มคลานไปดูดนมแม่ และคลานไปนอนซุกตัวรวมกันกับลูกสุนัขตัวอื่น ๆ เพื่อรับไออุ่น แต่ถ้าหากพบว่ามีบางตัวที่หายใจแต่ไม่ดูดนม หรือนอนเฉย ๆ ไม่ขยับและเข้าไปรวมกับพี่น้องตัวอื่นแสดงว่าเกิดอาการที่ไม่ปกติ ผู้เลี้ยงจะต้องช่วยกระตุ้นลูกสุนัขตัวนั้นให้ได้รับความอบอุ่น รวมถึงให้กล้ามเนื้อขยับตัว เช่น นำลูกสุนัขออกมาบริเวณที่มีไฟ เพื่อให้ได้รับความอบอุ่น ให้นม เพื่อให้เขามีชีวิตรอดนั่นเองค่ะ

     … สำหรับพฤติกรรมการเลียของแม่สุนัขนั้น นอกจากจะเลียเพื่อกระตุ้นการหายใจแล้ว แม่สุนัขยังใช้การเลียช่วยเหลือลูกสุนัขในเรื่องของการขับถ่ายด้วย โดยหลังจากที่นอนนิ่งๆ ให้นมลูกกินแล้ว แม่สุนัขจะเริ่มเลียท้อง - เลียก้นลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกสุนัขขับถ่าย
 
     ดังนั้น ในช่วงแรกเกิดแบบนี้ลูกสุนัขยังไม่มีพฤติกรรมการเข้าสังคมนะคะ ช่วงนี้เป็นช่วงที่การพักผ่อนและกินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะจะช่วยให้เจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธภาพนั่นเองค่ะ


 
ช่วง 3 สัปดาห์ – 6 สัปดาห์

     ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ลูกสุนัขมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นทั้งในเรื่องของประสาททางการมองเห็น (ลืมตา) และการได้ยิน (ได้ยินเสียง) นอกจากนี้ในด้านของพฤติกรรม พวกเขามีการเคลื่อนไหวดีขึ้น เริ่มยืนและเดินได้แต่ยังไม่ถึงกับคล่องแคล่วมากนัก ในช่วงนี้ผู้เลี้ยงสามารถกระตุ้นลูกสุนัขด้วยเสียงต่าง ๆ เพื่อให้เขารู้จักตอบโต้และรับมือกับสิ่งใหม่ ๆ ได้ อาจเป็นการเรียกชื่อเขาบ่อย ๆ เพื่อให้คุ้นชินก็ได้ อีกหนึ่งอย่างก็คือลูกสุนัขจะเริ่มกระดิกหางได้แล้วด้วย

     การกระดิกหางของลูกสุนัขบ่งบอกอะไรกับเรา? การกระดิกหาง ถือเป็นการแสดงออกที่เราพบเห็นกันได้บ่อยตั้งแต่ลูกสุนัขไปจนถึงสุนัขวัยชราเลยทีเดียว การกระดิกหางเป็นการสื่อสารเพื่อบอกให้รู้ถึงความสมบูรณ์และร่าเริงดีใจของสุนัขค่ะ ในลูกสุนัขผู้เลี้ยงอาจรับรู้ภาวะทางสุขภาพจิตของพวกเขาผ่านการสังเกตภาษากายที่แสดงออกผ่านการกระดิกหาง หากลูกสุนัขกระดิกหางและเดินเข้าหาลูกสุนัขตัวอื่น ๆ ในฝูง หรือเข้าหาคน แสดงว่าพวกเขามีสุขภาพจิตร่าเริงดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาทำหางจุกตูดไม่กระดิกเหมือนเคย นั่นแปลว่าเขากำลังหวาดกลัวหรือวิตกต่ออะไรสักอย่างนั่นเองค่ะ 
 


ช่วงอายุ 6 – 8 สัปดาห์ 

     เป็นช่วงที่ลูกสุนัขมีพัฒนาการด้านพฤติกรรมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น การวิ่ง การกิน การนอน และการขับถ่าย บอกได้เลยว่าการเลี้ยงลูกสุนัขในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด เพราะพวกเขาจะกล้ามากขึ้น กินเก่งขึ้น วิ่งเล่นซนไปทั่วทีเดียวเลยค่ะ ที่สำคัญคือเป็นช่วงที่ลูกสุนัขเริ่มเปิดรับสังคมค่ะ พฤติกรรมในการเข้าสังคมค่อย ๆ มีมากขึ้น เริ่มเข้าหาผู้คน เริ่มเล่นกันเองในหมู่พี่น้อง รวมถึงเริ่มมีพฤติกรรมการเห่าแล้วด้วยค่ะ หากต้องการเลี้ยงลูกสุนัข ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่จะเริ่มเข้าไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับลูกสุนัข เพราะเป็นช่วงที่เขาเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมและปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ หากผู้เลี้ยงเริ่มทำความรู้จักกับลูกสุนัขในช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความต้องการในการเรียนรู้เช่นนี้ จะช่วยให้ผู้เลี้ยงฝึกเข้ากับลูกสุนัขได้ง่าย พวกเขาจะจดจำชื่อของตัวเองได้แม่นยำ และจดจำสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้รวดเร็ว

     ในช่วงวัยนี้ ลูกสุนัขจะเริ่มมีพฤติกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น 
 
       - การดม: ลูกสุนัขจะเริ่มดมตัวอื่นๆ เป็นการทำความรู้จักและอยากสื่อสารระหว่างกัน อีกทั้งการดมยังเป็นภาษากายที่บ่งบอกว่าเขากำลังสำรวจพื้นที่ และพิสูจน์สิ่งแปลกปลอมอีกด้วยค่ะ ยิ่งกับลูกสุนัขแล้วพวกเขาก็ยิ่งอยากที่จะสำรวจสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอนั่นเอง
 
       - การกัด การแทะ:  ไม่ต้องตกใจไปนะคะหากเพื่อน ๆ เห็นลูกหมาของตนเองชอบแทะของนู่นนี่ พฤติกรรมนี้สาเหตุมาจาก ในช่วงวัยนี้ฟันของเขากำลังขึ้นอย่างเต็มที่ก็จะมีอาการคันเขี้ยว ทำให้ต้องกัดแทะข้าวของต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น รองเท้า ขาเก้าอี้ สายไฟ ฯลฯ ซึ่งวิธีแก้ไขพฤติกรรมนี้คือ ผู้เลี้ยงต้องเบี่ยงเบนความสนใจออกจากสิ่งที่ลูกสุนัขกัดแทะ โดยอาจใช้วิธีเรียกชื่อ หรือทำเสียงดังเพื่อให้ลูกสุนัขหยุดกัดแทะ เก็บสิ่งของเหล่านั้นเข้าที่ ให้ห่างไกลจากการที่ลูกสุนัขจะนำมากัดแทะได้อีก หรืออาจใช้วิธีใช้ขนมหรือของเล่นหลอกล่อให้ลูกสุนัขหยุดพฤติกรรมกัดแทะ ก็ได้ค่ะ

     นอกจากนี้แล้ว ในช่วงวัยนี้ประสาททางการได้ยินของลูกสุนัขจะเริ่มสมบูรณ์เต็มที่ พวกเขาก็จะชอบที่จะได้รับการกระตุ้นจากเสียงใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ บางครั้งลูกสุนัขจะแสดงอาการ หูตั้งชี้ไปข้างหน้า เมื่อได้ยินเสียงแปลก ๆ นั่นแสดงว่าเขากำลังสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งและกำลังตื่นตัวอยู่นั่นเองค่ะ


 
ช่วงอายุ 8 – 10 สัปดาห์
 
     ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ลูกสุนัขปรับตัวเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่แล้ว พวกเขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากจะเจอสิ่งใหม่ ๆ และกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา เหมาะสำหรับจะแยกออกจากแม่และฝูงของเขาแล้วค่ะ แต่ใช่ว่าภาษากายของเขาจะหมดไปนะคะ อีกทั้งยังมีการแสดงออกทางกายออกมาให้เราเห็นกันอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ
 
     เช่น เมื่อเข้าออกไปเดินเล่นนอกบ้านอาจจะพบกับสุนัขตัวอื่นที่ไม่คุ้นชินและไม่เป็นมิตร เขาอาจจะแสดงพฤติกรรมหรือภาษากายแปลก ๆ ออกมา เช่น ยืนเขย่งบนนิ้วเท้า อกผาย หลังแอ่น และขนที่ลำตัวชี้ฟู นั่นแปลว่า เขากำลังพยายามแสดงอำนาจเพื่อให้เหนือสุนัขอีกตัว เหมือนเป็นการขู่นั่นเอง วิธีการแก้ก็คือ ทุกครั้งที่พาลูกสุนัขออกไปนอกบ้าน ต้องใส่สายจูงและเมื่อเขาพบสุนัขตัวอื่น ให้ผู้เลี้ยงกระชับสายจูงของลูกสุนัขให้มั่น ดูพฤติกรรมว่าสุนัขอีกตัวมีท่าทีเป็นมิตรหรือไม่ หากพบว่ามีพฤติกรรมปกติดีก็ค่อย ๆ ปล่อยให้ลูกสุนัขดมเพื่อทำความรู้จักกับสุนัขอีกตัว แต่หากพบว่าลูกสุนัขของเรามีท่าทีจะข่มสุนัขตัวอื่น ให้กระตุกสายจูงเบา ๆ เพื่อเป็นการเตือนว่าพฤติกรรมนี้ไม่เหมาะสม พฤติกรรมการข่มของลูกสุนัขในช่วงวัยนี้ ยังแสดงออกผ่านการขึ้นขี่ ซึ่งผู้เลี้ยงหลายคนมีความเข้าใจที่ผิดว่าเป็นพฤติกรรมที่ลูกสุนัขต้องการผสมพันธุ์ แต่จริง ๆ แล้วพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการต้องการอยู่เหนือกว่าสุนัขอีกตัวนั่นเองค่ะ

     นอกจากนี้ ลูกสุนัขในช่วงวัยนี้อาจมีพฤติกรรมร้องครวญคราง ซึ่งเป็นภาษากายอีกอย่างหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นชัดกับลูกสุนัขที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ ต้องอยู่ตัวเดียวบ่อย ๆ วิธีการแก้คือต้องพาเข้าไปเข้าสังคมบ่อยๆ มีเวลาและเอาใจใส่เขาให้มากที่สุดนะคะ 

     ลูกสุนัขจะเติบโตขึ้นไปเป็นสุนัขที่ดีได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู และการเอาใจใส่ให้ความรักของผู้เลี้ยงนะคะ ถ้าหากผู้เลี้ยงมีความเข้าใจธรรมชาติของลูกสุนัขก็จะสามารถสื่อสารกับลูกสุนัขได้ด้วยความเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวที่จะทำให้สามารถเข้าถึงความรู้สึกของลูกสุนัขและแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์รวมถึงช่วยลูกสุนัขปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ค่ะ ^_^
 
 
บทความโดย : Dogilike.com