โดย: Tonvet

การตรวจสุขภาพเบื้องต้นเมื่อรับลูกหมาใหม่มาเลี้ยง

การตรวจสุขภาพและอาการต่าง ๆ ที่ผู้เลี้ยงลูกหมาใหม่ควรรู้และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

9 สิงหาคม 2558 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (0) · อ่าน (10,058)
2,425

SHARES


2,425 shares
 Dogilike.com :: การตรวจสุขภาพเบื้องต้นเมื่อรับลูกหมาใหม่มาเลี้ยง
     สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญต่อการดำรงชีวิตของน้องหมา การใส่ใจดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงน้องหมาทุกคนจะต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะกับลูกสุนัขซึ่งเป็นช่วงวัยที่ค่อนข้างเปราะบางต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ เราจะสังเกตพบว่า ลูกสุนัขมักจะป่วยในช่วงที่เอามาเลี้ยงใหม่ ๆ การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่มีโอกาสทำให้ลูกสุนัขเกิดความเครียด ซึ่งความเครียดส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลูกสุนัขได้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกสุนัขป่วย ร่างกายเมื่ออ่อนแอจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย บางรายอาจได้รับเชื้อมาก่อนหน้า ก็จะมาแสดงอาการป่วยในช่วงนี้ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

     การตรวจสุขภาพลูกสุนัขเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงทุกคนควรต้องรู้และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ความเจ็บป่วยแค่เพียงเล็กน้อยอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกสุนัขได้ เราจึงไม่ควรมองข้ามไป วันนี้ มุมหมอหมา จึงขอมาอธิบายถึงวิธีการตรวจสุขภาพลูกสุนัขเบื้องต้นง่าย ๆ อยากให้เพื่อน ๆ นำไปใช้กันดูที่บ้านนะครับ


ตรวจสุขภาพลูกหมาเบื้องต้นง่าย ๆ ได้ด้วยการ “สังเกต”    

     การสังเกตเป็นเครื่องมือที่เราสามารถนำมาใช้ตรวจความผิดปกติของลูกสุนัขได้เป็นอย่างดี สามารถบอกเราได้ทั้งความผิดปกติทางพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติของอาการต่าง ๆ ในร่างกายได้ เรามาสังเกตลูกสุนัขไปพร้อม ๆ กันนะครับ

     1.สังเกตภาพรวมของลูกสุนัข: เริ่มแรกก็ให้เราสังเกตภาพรวมของลูกสุนัขก่อนว่าเป็นอย่างไร เวลาที่ลูกสุนัขป่วยเรามักจะสังเกตพบว่า น้องหมาจะซึม ไม่ร่าเริง ไม่วิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเช่นเคย ไม่อยากกินอาหารใดเลย บางตัวก็กินลดน้อยลงหรือกินได้ลำบาก อาจต้องให้เวลาสังเกตต่อเนื่องอย่างน้อย 1-2 วัน เผื่อว่าการเบื่อจะเป็นแค่เพียงเพราะอาหารไม่ถูกปาก และควรสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีท้องเสีย อาเจียนหรือสำลอกอาหารหรือไม่

     2.สังเกตอวัยวะตามลำตัว: จากนั้นให้เราไล่สังเกตสุขภาพของร่างกายไปตามแต่ละอวัยวะ ลูกสุนัขผอมหรืออ้วน ผิวหนังและขนของลูกสุนัขเป็นอย่างไร มีบาดแผล มีการบวมตรงไหนบ้าง มีเห็บ มีหมัดหรือไม่ ลูกสุนัขมักเป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียกแบบเฉพาะที่ ซึ่งจะมีอาการขนร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่บริเวณใบหน้า หัว รอบ ร่วมกับ มีเม็ดตุ่ม มีตุ่มหนอง อาจพบสะเก็ดรังแค (scale) เกิดคราบสะเก็ดแห้งกรัง (crust) ร่วมด้วยได้ ให้เราไล่ดูผิวหนังให้ทั่วทั้งร่างกายเลยนะครับ

     3.สังเกตดวงตา จมูก หู และช่องปาก: ลูกสุนัขที่ป่วยจะมีขี้ตาเกรอะกรัง ตาขาวแดง เยื่อบุตาบวมแดง กระจกตาขุ่น อาจพบแผลหลุมที่ตาดำ บางตัวหรี่ตา มีน้ำตาไหลมาก ตาแฉะ ตาโปน ฯลฯ โดยให้เราลองสังเกตเทียบความผิดปกติกับดวงตาอีกข้างหนึ่งของลูกสุนัขก็ได้ แล้วก็ไล่ดูอวัยวะต่าง ๆ ทั้งจมูก หู ช่องปาก ของลูกสุนัข จมูกที่ปกติจะต้องไม่แห้ง ไม่มีน้ำมูกแฉะ ไม่มีเลือดกำเดาไหล ไม่หายใจแรง อาจมีความชื้นบ้างเล็กน้อย เพราะสุนัขจะระบายความร้อนโดยการหายใจ ให้ผู้เลี้ยงลองเปิดปากลูกสุนัขดู เพื่อสังเกตช่องปากและฟัน ฟันน้องหมาจะเริ่มงอกเมื่ออายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยจะค่อย ๆ ทยอยขึ้นจนครบที่อายุประมาณ 4-6 เดือน ฟันน้ำนมของลูกสุนัขจะมีทั้งหมด 28 ซี่ ซึ่งก็จะทยอยเริ่มหลุดและจะมีฟันแท้ขึ้นแทนที่ในช่วงนี้เช่นกัน ช่วงที่ฟันหลุดลูกสุนัขอาจกินอาหารลดลงบ้าง อาจมีเลือดออกบ้าง ให้เราสังเกตดูสีเหงือก หากมีสีซีดขาว บ่งบอกถึงภาวะโลหิจาง การไหลเวียนเลือดผิดปกติ หากมีสีเหลือง บ่งบอกภาวะดีซ่าน รวมถึงเหงือกจะต้องไม่บวมแดงเช่นกัน และไม่มีคราบเหลือง (หินปูน) ที่ฟันด้วย

     4.สังเกตการเคลื่อนไหวของลูกสุนัข: ลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญของกระดูกผิดปกติ เนื่องจากมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว หากมีความผิดปกติจะเดินยกขา วางน้ำหนักลงเท้าไม่สมบูรณ์ เดินเซ เดินวน เดินเอียง เดินชนสิ่งของ ไม่ลุก ลุกลำบาก ทรงตัวไม่อยู่ หรือขาอ่อนแรง ซึ่งอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วยได้ในบางกรณี

     5.สังเกตการขับถ่าย: สุดท้ายจะลืมไม่ได้เลยก็ คือ การสังเกตการขับถ่ายของลูกสุนัข ลูกสุนัขควรจะขับถ่ายทุกวัน อุจจาระที่ดีต้องไม่แข็งหรือเหลวมากเกินไป (ลักษณะเหมือนผลมะขามสุก) หากถ่ายเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง ถ่ายกองเล็กๆ บ่อยๆ หรือถ่ายออกมามีมูกเลือดหรืออาหารไม่ย่อยปะปนออกมา อาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าสัตว์กำลังป่วยได้ครับ ตรงกันข้ามหากท้องผูก จะไม่อุจจาระเลยมากกว่า 3-4 วัน หรือเวลาอุจจาระทำท่าเบ่งรุนแรงแต่ไม่มีอุจจาระออกมาก็อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าอาจป่วยได้

     ส่วนการปัสสาวะนั้น ลักษณะของน้ำปัสสาวะที่ปกติควรมีสีเหลืองอ่อนฟางข้าว ไม่มีเลือดปน ไม่มีตะกอน ไม่มีกลิ่นผิดปกติ ฯลฯ ลูกสุนัขจะต้องไม่มีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะกระปิดกระปอย หรือปัสสาวะไม่ออก การที่ปัสสาวะมากขึ้นกว่าปกติ กินน้ำมากขึ้นกว่าปกติ ก็อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการป่วยได้ด้วย นอกจากสังเกตที่ตัวของลูกสุนัขแล้ว เราควรสังเกตสิ่งแวดล้อมที่ลูกสุนัขอยู่ทั้งที่กิน ที่เล่น ที่นอนด้วยว่ามีอะไรผิดปกติไปหรือไม่ด้วยนะครับ
 

ตรวจสุขภาพลูกหมาเบื้องต้นง่าย ๆ ได้ด้วยการ “ดม”

     จมูกของเราใช้ตรวจหาความผิดปกติลูกสุนัขได้ แต่ไม่ถึงกับต้องก้มหน้าลงไป แล้วเอาจมูกจ่อดมตัวของลูกสุนัขใกล้ๆ นะครับ คือ ต้องการจะสื่อให้เห็นว่า พวกกลิ่นปาก กลิ่นตัว หรือแม้แต่กลิ่นหู สามารถบอกความผิดปกติได้ สุนัขเป็นโรคช่องหูอักเสบหรือโรคผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อยีสต์หรือแบคทีเรียจะมีกลิ่นตัวหรือกลิ่นหูรุนแรงเฉพาะ กลิ่นปากที่เกิดจากการหมักหมมของเศษอาหาร คราบน้ำลาย อาจเป็นสาเหตุของโรคปริทนต์ตามมาได้เช่นกัน


ตรวจสุขภาพลูกหมาเบื้องต้นง่าย ๆ ได้ด้วยการ “ฟัง”

     เสียงต่าง ๆ จากลูกสุนัขก็เป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติได้ เสียงไอ เสียงจาม บ่งบอกถึงความเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจ รูปแบบของเสียงไอก็ใช้แยกโรคบางโรคได้เช่นกัน เช่น หากสุนัขไอเสียงแบบก้องกังวานคล้ายเสียงห่านร้อง อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดลมตีบแคบได้ (ชมคลิปที่ https://youtu.be/jeBomm7kGuw) เสียงกรนขณะหายใจ หรือหายใจเสียงดัง อาจบ่งบอกว่ามีอะไรไปขัดขวางทางเดินหายใจ สุนัขอ้วนอาจส่งผลต่อการหายใจทำให้หายใจเสียงดังได้ จำเป็นต้องลดน้ำหนัก สุนัขที่มีปัญหาที่กล่องเสียง หรือเพดานอ่อนยื่นยาว ส่งผลให้เกิดเสียงหายใจผิดปกติได้เช่นกัน นอกจากนี้เสียงร้องคราง อาจบ่งบอกถึงความเจ็บปวดได้ ผู้เลี้ยงจะต้องตรวจหาเพิ่มเติมว่า ลูกสุนัขเจ็บปวดตรงไหน ส่วนใหญ่สาเหตุของความเจ็บปวดในลูกสุนัขมักเกิดจากอุบัติเหตุ หรือได้รับพิษจากสัตว์หรือแมลง
 

ตรวจสุขภาพลูกหมาเบื้องต้นง่าย ๆ ได้ด้วยการ “ลูบคลำ”

     การตรวจร่างกายลูกสุนัขด้วยมือ ผ่านการสัมผัส ลูบคลำ มีประโยชน์อย่างมากในการค้นหาความผิดปกติ ความผิดปกติภายนอกอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติภายในร่างกายได้ เช่น ถ้าต่อมน้ำเหลืองโต เราสามารถคลำพบได้ การที่ต่อมน้ำเหลืองโต บ่งบอกถึงการอักเสบและติดเชื้อของร่างกายได้ ฯลฯ น้องหมาที่เป็นฝีที่ผิวหนัง ก็สามารถคลำพบลักษณะจะเป็นก้อนได้เช่นกัน นอกจากนี้เราสามารถตรวจวัดชีพจร โดยใช้นิ้วมือกดไปยังบริเวณโคนขาหนีบด้านในของขาหลัง ตรงกลางร่องขาหนีบด้านใน เราจะสัมผัสสัญญาณชีพจรได้ ชีพจรลูกสุนัขปกติจะเท่ากับ 80-160 ครั้งต่อนาที

     วิธีการตรวจร่างกายขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อใช้ประเมินสภาพร่างกายของลูกสุนัข ก่อนที่จะพามาหาคุณหมอ ทั้งยังใช้เป็นข้อมูลในการอธิบายความผิดปกติให้คุณหมอฟังได้ด้วย การตรวจร่างกายสัตว์เลี้ยงด้วยตัวเองเป็นประจำ จะทำให้เราทราบได้ว่า โดยปกติแล้วลูกสุนัขของเราเป็นอย่างไร เมื่อใดที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น เราก็สามารถทราบได้โดยง่าย

     สุดท้ายก่อนจากอยากฝากย้ำเตือนผู้เลี้ยงสักนิดครับ สุขภาพลูกสุนัขจะดีได้นั้น ก็ต้องเริ่มต้นที่พ่อและแม่ด้วยนะครับ เพราะลูกสุนัขสามารถรับเอาความผิดปกติต่าง ๆ หรือโรคทางพันธุกรรมมาจากพ่อและแม่ได้ ดังนั้นก่อนรับเอาลูกสุนัขเลี้ยง เราควรสังเกตความผิดปติของลูกสุนัขให้ดี ๆ รวมถึงตรวจสอบดูพ่อและแม่ของลูกสุนัขด้วย ว่าปลอดภัยจากโรคต่างๆ หรือไม่ การสอบถามผู้เพาะพันธุ์โดยตรงถึงข้อมูลโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในสุนัขพันธุ์ที่จะรับมาเลี้ยงนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งผู้เพาะสุนัขที่ดีจะต้องแจ้งกับผู้ที่รับสุนัขไปเลี้ยงถึงแนวโน้มความเสี่ยงในโรคต่าง ๆ ในครอบครัวของสุนัขที่พวกเขาเพาะเลี้ยงอยู่ ปัญหาเหล่านี้อาจไม่เกิดกับลูกสุนัขทุกตัว แต่การรับรู้ไว้จะทำให้เราสามารถระมัดระวังในการเลี้ยงได้มากขึ้น การที่เราใส่ใจตั้งแต่ก้าวแรกเช่นนี้ เชื่อว่าลูกสุนัขใหม่ของเราจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างแน่นอนครับ
    
 
บทความโดย : Dogilike.com
http://www.dogilike.com