โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว
รู้ป่ะ น้องหมากระโจนใส่ไม่ได้แปลว่ารัก แต่กำลังข่มเรา!!
หลายคนยังเข้าใจผิดว่าน้องหมาคงกระโจนใส่เพราะคิดถึง แต่จริง ๆ แล้วนั่นคือพฤติกรรมแสดงอำนาจของน้องหมา ... ไปดูวิธีจัดการกับปัญหานี้กัน
23 พฤษภาคม 2562 · · อ่าน (27,833)
- เจ้าของน้องหมาส่วนใหญ่ เข้าใจว่าการกระโจนเข้าหาของน้องหมาคือการแสดงความรักความคิดถึง แต่จริง ๆ แล้วตามธรรมชาตินั่นคือการแสดงอำนาจเหนือกว่าของน้องหมา
- หากปล่อยให้น้องหมาแสดงพฤติกรรมแบบนั้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่แก้ไข สุดท้ายแล้วน้องหมาก็จะเข้าใจว่าตัวเองคือจ่าฝูง
- วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือการเมินเฉยต่อพฤติกรรมนั้น ทำให้น้องหมาเรียนรู้ว่าถ้าทำแล้วเจ้าของจะไม่สนใจ เขาจะไม่ได้รับความรัก

เวลาเรากลับถึงบ้าน รีแอคแรกของน้องหมาคืออะไรคะ ... น้องหมาบางตัวดีใจเลเวลที่ยังควบคุมตัวเองได้ แค่กระดิกหางดีใจ เห่านิด ๆ หน่อย ๆ แต่น้องหมาบางตัวเวลาเห็นหน้าเจ้าของแล้วตื่นเต้นดีใจเบอร์สุด พุ่งกระโจนเข้าหากอดแข้งกอดขากอดเอว แสดงอาการดีใจสุด ๆ เรียกว่าควบคุมตัวเองไม่ได้ใครจะห้ามก็ไม่ฟัง
อาการดีใจแบบนี้เจ้าของน้องหมาบางคนอาจจะมองว่าเป็นการแสดงความรักความคิดถึงของน้องหมา เพราะว่าพฤติกรรมของน้องหมาเหมือนการกระโดดกอด ... แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ จุดนี้อยากให้ทุกคนตั้งสติก่อนค่ะ!
น้องหมากระโดดใส่ไม่ได้แปลว่ารัก!!
ถึงแม้พฤติกรรมที่น้องหมาทำจะดูน่ารักขนาดไหน แต่ในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมแบบนี้ในทางจิตวิทยาของน้องหมาเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึง "การวางอำนาจเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม" ซึ่งส่วนใหญ่หลายคนจะไม่รู้สึกกังวลกับพฤติกรรมนี้เพราะถ้าดูเผิน ๆ แล้วเหมือนท่าทางของน้องหมาที่กำลังอยากเล่นสนุก ลองคิดถึงตอนที่น้องหมาสองตัวเล่นกัน ตัวนึงพยายามกระโดดคร่อมอีกตัว ตัวไหนโดนคร่อมแปลว่าตัวนั้นคือผู้พ่ายแพ้ต่ออำนาจ แล้วลองเปลี่ยนสถานะน้องหมาตัวที่โดนคร่อมเป็นเราดูสิคะ นั่นก็แปลว่าน้องหมากำลังพยายามแสดงตัวเองว่าอยู่เหนือเจ้าของนั้นเอง!
สัญญาณอันตรายแบบนี้ปล่อยไว้ไม่ดีแน่
พฤติกรรมนี้สามารถเริ่มแก้ได้ตั้งแต่ยังเป็นลูกหมาตัวเล็ก ๆ เลยค่ะ ... เมื่อไหร่ที่ลูกหมาเริ่มกระโจนใส่ ให้เราเมินเฉยต่อพฤติกรรมของเขาทันที เดินหนีหรือเลิกให้ความสนใจไปเลย รอจนเขาสงบแล้วค่อยหันกลับมาเล่นกับเขาอีกที ถ้าลูกหมายังทำพฤติกรรมกระโจนใส่ซ้ำ ๆ ก็ให้เมินเฉยไปเลยระยะยาว (เหมือนเด็ก ๆ เวลาโดนแม่ทำโทษให้เข้ามุมไปอยู่คนเดียว แม่จะไม่สนใจ อะไรประมาณนั้น) สุดท้ายแล้วลูกหมาจะเรียนรู้ว่า ถ้าเขาไม่หัดควบคุมตัวเอง ถ้าเขากระโจนใส่เจ้าของ เขาก็จะถูกแบนไม่ได้รับความสนใจทันที
ส่วนในน้องหมาที่โตแล้วแต่ยังชอบประโจนใส่เจ้าของอยู่ สิ่งที่ต้องทำสิ่งแรกคือการเมินเฉย พอน้องหมากระโจนใส่ให้หันหลังใส่น้องหมาแล้วเดินหนีไปทันที หรืออีกวิธีฮาร์ดคอร์ขึ้นมาหน่อยก็คือให้ทำมือเหมือนกรงเล็บสัตว์ ผลักเบา ๆ แต่ลงน้ำหนักไปที่บริเวณหน้าอกของน้องหมา หลังจากนั้นให้ใช้อุ้งมือผลัดให้น้องหมานอนลงกับพื้น ใช้มือกดบริเวณคอ (ย้ำว่ากด ไม่ใช่บีบนะคะ กดแค่ให้น้องหมารู้สึกตัวว่าเขาขยับตัวไม่ได้) รอจนกว่าน้องหมาจะสงบแล้วค่อยปล่อย สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ ระหว่างใช้วิธีนี้เจ้าของจะต้องอยู่ในภาวะอารมณ์ที่สงบ ไม่โวยวาย หรือแสดงความโมโหเด็ดขาด วิธีนี้เป็นการจำลองพฤติกรรมตามธรรมชาติของน้องหมาโดยเจ้าของสวมบทเป็นจ่าฝูงแสดงอำนาจข่มให้น้องหมาอยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่านั้นเอง ขอเตือนไว้ก่อนนะคะว่า วิธีนี้ห้ามนำไปใช้กับน้องหมาแปลกหน้าเด็ดขาด เพราะถ้าทำคุณจะโดนกัดทันที!!
การแก้พฤติกรรมกระโจนใส่ของน้องหมาในช่วงแรกอาจจะต้องใช้พลังในการจัดการกับน้องหมามากหน่อยนะคะ ต้องใช้ทั้งความอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งนั่นคือคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่จ่าฝูงที่ดีควรมี คิดเสียว่าการแก้ปัญหานี้เป็นการดัดนิสัยน้องหมาและฝึกความเป็นจ่าฝูงของเราไปในตัว แนะนำว่าให้ทำควบคู่ไปกับกิจกรรมเสริมความสัมพันธ์แบบจ่าฝูงง่าย ๆ อย่างการพาน้องหมาออกไปเดินเล่น ในบริบทที่เจ้าของเป็นผู้นำ (เจ้าของใส่สายจูงให้น้องหมา พาเดินโดยน้องหมาอยู่ชิดตัวเจ้าของ ไม่เดินนำหน้า ไม่กระชากสายจูง) และการฝึกคำสั่งเบื้องต้นง่าย ๆ นั่ง ชิด หมอบ คอย ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะจัดการกับปัญหาได้ และคุณก็จะกลายเป็นจ่าฝูงคุณภาพที่สามารถควบคุมน้องหมาได้ในทุก ๆ สถานการณ์ค่ะ
บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/
ภาพประกอบบางส่วน :
patriotdogtraining.com/2017/02/stop-dog-jumping/
pethelpful.com/dogs/How-to-Train-Dog-to-Stop-Jumping-on-People
alternativecaninetraining.files.wordpress.com/2010/05/jumping1.jpg
SHARES