โดย: Tonvet

อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1

มาดูสาเหตุของการไอเรื้อรัง และโรคที่สำคัญในสุนัขพันธุ์เล็กกันเถอะ

14 พฤศจิกายน 2555 · · อ่าน (84,928)
646

SHARES


646 shares

Dogilike.com :: อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1

     เพื่อนๆ ชาว Dogilike ที่เลี้ยงสุนัข อาจจะเคยเห็นน้องหมาแสดงอาการไอกันอยู่บ้าง แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ น้องหมาไอไปทำไม แล้วอาการไอบ่งบอกถึงอะไรได้บ้าง ตาม มุมหมอหมา มาหาคำตอบกันครับ

     อาการไอ (Cough) เป็นการตอบสนองของร่างกายที่ต้องการจะขับอะไรบางอย่างออกมา เช่น เสมหะ เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โดยร่างกายมีจุดรับสัญญาณอยู่ตามทางเดินหายใจส่วนต่างๆ เมื่อถูกกระตุ้นหรือมีสารก่อให้เกิดการระคายเคืองมารบกวน สัญญาณจะถูกส่งผ่านไปยังเส้นประสาท เข้าสู่ศูนย์ควบคุมการไอ (Cough center) ในสมอง แล้วสั่งการให้เกิดการไอออกมา
 
     การไอแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ไอแบบมีเสมะ (ไอมีเสลด) กับ ไอแบบไม่มีเสมหะ (ไอแห้งๆ) ซึ่งการไอแบบมีเสมหะน้องหมาจะไอพร้อมกับทำท่าขากขับเสมหะ ราวกับจะอาเจียน นอกจากนี้การไอยังแบ่งออกตามระยะเวลาได้อีก 2 ประเภท คือ ไอแบบเฉียบพลัน กับ ไอแบบเรื้อรังมากกว่า 4-8 สัปดาห์ขึ้นไป 

     สำหรับเพื่อนๆ ที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์เล็ก แล้วน้องหมาชื่นชอบการไอเป็นชีวิตจิตใจ เรียกได้ว่า “ไอแบบเรื้อรัง” นั้น เป็นไปได้ว่า น้องหมาอาจกำลังป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งเหล่านี้อยู่ก็เป็นได้ครับ มาดูโรคแรกกันเลย   
 

โรคลิ้นหัวใจเสื่อม (Endocardiosis)


Dogilike.com :: อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1

     หากน้องหมาของเพื่อนๆ เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก อายุมากกว่า 6  ปีขึ้นไป ชอบไอแห้งๆ อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลากลางคืนและเวลาตื่นเต้น ชอบหอบแม้ขณะนั่งหรือนอนเฉยๆ ออกกำลังกายหรือทำอะไรที่ใช้แรงนิดหน่อยก็เหนื่อยง่าย อยู่ดีๆ ท้องก็กางขยายขึ้นมาซะอย่างนั้น หรือบางครั้งก็แสดงอาการหน้ามืดเป็นลมล้มทั้งยืน อาการแบบนี้ อาจกำลังบอกให้เพื่อนๆ รู้ว่า น้องหมาอาจกำลังป่วยด้วย “โรคลิ้นหัวใจเสื่อม” เข้าให้แล้วครับ 
 
     หัวใจก็เหมือนเครื่องปั้มน้ำครับ มีลิ้นหัวใจเป็นวาล์วเปิดปิด ช่วยให้ทิศทางของเลือดไหลเป็นทางเดียวกัน พอ "วาล์วเสื่อม" น้ำก็ไหลมั่วซั่วไม่เป็นทิศทาง เกิดการไหลย้อนกลับ ไปคั่งตามปอดบ้าง ตามหลอดเลือดต่างๆ ในร่างกายบ้าง แล้วก็คั่งในหัวใจห้องต่างๆ เราจึงพบว่าน้องหมาจะมี “หัวใจโต (Cardiomegaly)” แต่จะโตห้องไหน ก็ต้องดูว่าวาล์วไหนเสื่อม ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็น ลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (Mitral valve insufficiency) ซึ่งลิ้นหัวใจนี้ จะกั้นระหว่างหัวใจห้องบนและล่างข้างซ้าย จึงทำให้หัวใจข้างซ้ายโตหรืออาจจะโตทั้งสองข้าง (ทั้งหัวใจ) เลยก็ได้ครับ

Dogilike.com :: อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1


     เลือดที่คั่งอยู่ในปอด ทำให้เกิดแรงดันหลอดเลือดในปอดสูงขึ้น เมื่อมีแรงดันสูงนานๆ ก็ทำให้เกิดการรั่วออกมาสะสมอยู่ตามช่องว่างเซลล์และเนื้อเยื่อปอดได้ ที่เราเรียกว่า น้ำท่วมปอดหรือปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) ครับ ซึ่งพอน้ำท่วมปอด พื้นที่ปอดก็เลยน้อยลง จึงทำให้น้องหมาหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อ้าปากหายใจ บางทีก็มีน้ำมูกใสๆ หรือไอแบบมีเสมหะได้ หากไปคั่งในตับก็อาจพบ ตับโต (Hepatomegaly) ได้ และหากคั่งตามหลอดเลือดในช่องท้องนานๆ จนเกิดแรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้น น้ำก็อาจรั่วออกมาสะสมในช่องท้องได้ เกิดเป็นท้องมานหรือท้องกาง (Ascites) ตามมาครับ
 
     แต่แม้วาล์วจะเสื่อมแค่ไหน เครื่องปั้มน้ำเครื่องนี้ก็ยังคงต้องทำงานต่อไป แต่จะทำงานหนักขึ้น โดยเพิ่มการปั้มให้เร็วขึ้น นั่นเป็นเหตุที่ว่า เป็นโรคหัวใจทำไมถึง “หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia)” ก็เพื่อให้ได้น้ำหรือเลือดไปใช้ประโยชน์ได้เพียงพอ แต่จริงๆ แล้ว ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ น้องหมาจึง เป็นลมหน้ามืด  (Syncope) ได้ 
 
     อวัยวะอย่างไตก็ต้องการน้ำมาใช้เช่นกัน แต่ที่ไตมีความพิเศษ คือ มีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับแรงดันน้ำอยู่ พอน้ำไปถึงไตน้อยอย่างนี้ ตัวเซ็นเซอร์ก็สั่งการเลยครับ เพิ่มแรงดันช่วยเสริมด่วน นั่นจึงเป็นเหตุผลตามมาว่า เป็นโรคหัวใจแล้วทำไมต้องมี “ความดันโลหิตสูง (Hypertension)” 
 
     ส่วน “อาการไอ” เป็นผลมาจากการที่หัวใจห้องบนซ้ายโต ส่งผลให้หลอดลมฝั่งซ้ายยกตัวขึ้น จึงกระตุ้นให้เกิดอาการไอ น้องหมาจึง ไอแบบเรื้อรัง (Chronic Cough) นั่นเอง เห็นมั้ยครับ แค่วาล์วเสียตัวเดียวแท้ๆ ทำให้ชีวิตยุ่งเหยินอะไรได้ถึงเพียงนี้ 

Dogilike.com :: อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1

     โรคลิ้นหัวใจเสื่อม (Endocardiosis) มีหลายชื่อ เช่น Chronic degenerative valvular disease หรือ Myxomatous valvular degenerative (MVD) และ  Degenerative mitral valve disease ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในสุนัขพันธุ์เล็ก สูงวัยอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป พันธุ์ที่พบได้บ่อย คือ คาวาเรีย คิง ชาร์ล สแปเนียล (พบได้ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป) ค็อกเกอร์สเปเนียล มิเนเจอร์พูเดิ้ล ดัชชุน มิเนเจอร์ชเนาวเซอร์ ปอมเมอเรเนียน ปักกิ่ง ชิวาวา บอสตันเทอร์เรีย และฟ็อกเทอร์เรีย รวมถึงพันธุ์ผสมของสุนัขพันธุ์เหล่านี้ด้วย
 
     สาเหตุ
 
     เกิดจากการที่ลิ้นหัวใจหนาตัว ขาดความยืดหยุ่น หดสั้นลง เนื่องจากมีการสะสมของคอลลาเจนมากเกินไป เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของไฟโบรบลาส โดยพบว่าสุนัขอายุมากๆ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจะมีจำนวนลดลง พร้อมกับมีการเพิ่มขึ้นของเส้นใยคอลลาเจน ซึ่งอาจพบการสะสมของไขมัน อะไมลอยด์ และไกลโคอะมิโนไกลเคนในเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจได้ด้วย จนเป็นเหตุให้ลิ้นหัวใจเสื่อม ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไป ปิดไม่สนิท (รั่ว) เกิดเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว (Chronic Heart Failure) ตามมาอย่างที่ได้กล่าวไป
 
     การตรวจ 
 
     จะเริ่มจากการตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจเลือด วัดความดัน และตรวจช่องอก โดยใช้หูฟัง (Stethoscope) ฟังเสียงของหัวใจและเสียงปอด เสียงหัวใจของน้องหมาที่เป็นโรคลิ้นหัวใจเสื่อม เมื่อฟังจะพบว่า หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) ได้ยินเสียงฟู่จากหัวใจ (Heart murmur) บางครั้งอาจเต้นไม่เป็นจังหวะ (Arrhythmia) และอาจไม่สัมพันธ์กับชีพจร (Pulse deficits) ได้ด้วย ส่วนเสียงปอด หากเกิดปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) ก็อาจได้ยินเสียงปอดที่ผิดปกติได้ 
  

Dogilike.com :: อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1

     จากนั้นคุณหมอจะทำการถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์) ช่องอก เพื่อดูลักษณะรอยโรคต่างๆ ในช่องอก เช่น ดูว่าหัวใจโตหรือไม่ ตำแหน่งและลักษณะของหลอดลมเป็นอย่างไร รูปแบบรอยโรคของปอด (Lung Pattern) เป็นแบบไหน และมีความผิดปกติอื่นๆ ในช่องอกอีกหรือไม่ จากนั้นจะยืนยันด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ที่เราเรียกว่า Echocardiography ซึ่งจะทำให้เราเห็นถึงโครงสร้างความผิดปกติต่างๆ ตลอดจนการทำงานของหัวใจว่าผิดปกติไปอย่างไร และสุดท้ายเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) เพื่อดูจังหวะการเต้นและการนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจว่าเป็นอย่างไร แล้วนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ มาประเมินระดับของโรค เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไป
 
     การรักษา   
 
     จะแยกรูปแบบการรักษาออกเป็น 3 กรณี คือ (1) ตรวจพบความผิดปกติแต่ยังไม่แสดงอาการ (2) แสดงอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวในระดับน้อยถึงปานกลาง และ (3) แสดงอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวในระดับรุนแรง 
 
     กรณี ตรวจพบความผิดปกติแต่ยังไม่แสดงอาการ จัดว่าเป็นเพียงโรคหัวใจ (Heart Disease)  ยังไม่ถึงขั้นภาวะหัวใจล้มเหลว แบบนี้ยังไม่ต้องทำการรักษาทางยา เพราะมีผลการศึกษาออกมาว่า การรักษาก่อนแสดงอาการ ก็ได้ผลไม่ต่างกับการรักษาหลังแสดงอาการแล้ว แต่เจ้าของควรควบคุมการออกกำลังกาย จัดการอาหาร และหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ว่ามีการพัฒนามากขึ้นแค่ไหน และพาไปตรวจร่างกายกับคุณหมอเป็นระยะๆ ครับ

Dogilike.com :: อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1

     กรณี แสดงอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวในระดับน้อยถึงปานกลาง เช่น มีอาการไอเรื้อรัง หอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ท้องกาง ฯลฯ แบบนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางยาแล้ว และหากมีน้ำในช่องท้อง ก็อาจจำเป็นต้องเจาะเพื่อระบายน้ำออกมาด้วย
 
     เรามาทำความรู้จักกับยารักษาโรคหัวใจกันหน่อย เพราะน้องหมาตัวไหนที่เป็นโรคนี้ จะต้องได้รับยาเหล่านี้ไปตลอดชีวิตเลยครับ
 
     1. ยาปรับความดัน กลุ่ม ACEI ได้แก่ Enalapril, Benazepril และ Ramipril ใช้ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ คุณหมออาจให้ป้อนวันละ 1-2 ครั้ง ขึ้นกับน้องหมาแต่ละตัว ผลข้างเคียงอาจทำให้ไอแห้งๆ และแน่นหน้าอกเช่นเดียวกับในคนที่ใช้ยากลุ่มนี้ หากพบว่าน้องหมาไอหนักขึ้น จะต้องแจ้งคุณหมอด้วยนะครับ นอกจากนี้ยาอาจส่งผลต่อไตได้ ดังนั้น ต้องมีการประเมินการทำงานของไตเป็นระยะๆ ด้วยครับ
 
     2. ยาขับน้ำ ได้แก่ Furosemide, Hydrochlorthiazide และ Spironolactone (มีฤทธิ์ขับน้ำอ่อนๆ) ยาพวกนี้คุณหมออาจจะให้ป้อนวันละ 2-3 ครั้ง ขึ้นกับน้องหมาแต่ละตัว การให้ยาขับน้ำ น้องหมาจะปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายจะเสียโพแทสเซียม (K) ไปกับปัสสาวะจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องตรวจวัดระดับ K เป็นระยะๆ ครับ แต่สำหรับยาขับน้ำ Spironolactone นั้น จัดเป็น Potassium sparing diuretic จึงช่วยเก็บ K ไว้ได้ ทั้งยังช่วยลดการเกิด fibrosis ช่วยชะลอความเสื่อมของลิ้นหัวใจได้ด้วยครับ 
 
     3. ยาควบคุมการบีบตัวที่หัวใจ ได้แก่ Pimobendan ช่วยเพิ่มการบีบตัวของหัวใจให้แรงขึ้น ทั้งยังช่วยขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจได้ด้วย ส่วนอีกตัว คือ Digoxin ช่วยในการบีบตัวของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และเป็นจังหวะดีขึ้น ใช้ในกรณี Atrial fibrillation และ Supraventricular tachycardia (SVT) ซึ่งก่อนให้ สัตว์ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อน 

Dogilike.com :: อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1

     4. ยาขยายหลอดเลือด ได้แก่ Amlodipine  ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยง ร่างกายดีขึ้น และช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย 
 
     กรณี  แสดงอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวในระดับรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ แบบนี้จำเป็นที่จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล น้องหมาต้องได้รับออกซิเจน ได้รับการพ่นยา ในรายที่ปวดบวมน้ำมากๆ ต้องได้รับยาขับน้ำเข้าทางเส้นเลือด ตลอดจนยาอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นด้วย
 
     การดูแลและการป้องกัน
 
     โรคหัวใจเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่เราช่วยยืดระยะเวลาของชีวิตและทำให้คุณภาพชีวิตของน้องหมาดีขึ้นได้ ในน้องหมาที่เข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว ควรประเมินสภาวะหัวใจเป็นประจำทุก 2-4 เดือน โดยการถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์) ช่องอก ตรวจเลือด เช่น ค่าไต โซเดียม โพแทสเซียม ฯลฯ และขณะอยู่บ้านเจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการต่างๆ เช่น การหายใจเป็นอย่างไร มีการหอบหรือไม่ ท้องกางขึ้นหรือไม่ นอนท่าราบได้มั้ย ไอมากขึ้นหรือไม่ ฯลฯ 
 
     อาหารสำหรับสุนัขป่วยด้วยโรคหัวใจ ควรเป็นอาหารที่มีปริมาณโซเดียม (อาหารเค็ม) ต่ำ เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูงและภาวะบวมน้ำ (Edema)  นอกจากนี้ยังควรเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลาในรายที่ขาด เสริมสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี วิตามินซี และเสริมทอรีนและแอล-คาร์เนทีนเพื่อช่วยในการบีบตัวของกล้ามเนื้อของหัวใจ และที่สำคัญควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ ให้เพียงพอกับความต้องการด้วย โดยเฉพาะในรายที่กินยาขับน้ำ

Dogilike.com :: อาการไอเรื้อรัง สัญญาณร้ายในสุนัขพันธุ์เล็ก ตอนที่ 1

     น้องหมาที่เป็นโรคหัวใจ มักจะเกิดภาวะ Cardiac cachexia ได้ง่าย ซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวลดลงและซูบผอม เทคนิคการให้อาหาร คือ อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารที่มีกลิ่นดี ชวนน่ากิน หากเป็นอาหารเหลวหรือปรุงเองควรนำไปอุ่นก่อน ซึ่งช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ เวลาให้ควรให้ปริมาณน้อยๆ แบ่งให้หลายๆ มื้อ ปัจจุบันมีอาหารสำหรับโรคหัวใจโดยเฉพาะจำหน่ายทั้งแบบเม็ดและกระป๋อง
 
     พยากรณ์โรค 
 
     ในรายที่เข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวแบบรุนแรงแล้ว 50% จะมีชีวิตอยู่ได้อีก 6-12 เดือน แต่บางตัวที่ตรวจพบตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ อาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 3-4 ปี เลยทีเดียวครับ
 
     ก็ผ่านไปแล้วกับโรคแรกนะครับ สำหรับโรคลิ้นหัวใจเสื่อมในสุนัขพันธุ์เล็กนี้ ไม่ทราบว่ามีน้องหมาบ้านไหนกำลังเป็นอยู่หรือมีอาการเข้าข่ายตามนี้บ้างหรือไม่ครับ ถ้ามีรบกวนให้เพื่อนๆ พาไปหาคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจด้วยนะครับ โดยเฉพาะน้องหมาพันธุ์เล็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป อย่างนิ่งนอนใจล่ะครับ ยังมีโรคที่สำคัญอีกหลายโรค ที่ทำให้น้องหมาพันธุ์เล็กแสดงอาการไอเรื้อรังได้ ส่วนจะเป็นโรคใดนั้น ติดตามอ่านต่อในพุธหน้า ได้ที่คอลัมน์ มุมหมอหมา เช่นเคยครับ






บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 3 และ 5 จาก Dogilike.com
www.companionsanimal.com
www.petsbest.com
www.myepah.net
www.ehow.com
www.topnews.in
www.vetstreet.com