โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

ดราม่า ค่าคลอดแพงแต่แมวตาย ความจริงเป็นยังไง ฟังจากหมอกัน!

เลือดชิดคืออะไร? มาฟังคำตอบจาก หมอเมฆ Catilike กัน ...

24 มีนาคม 2565 · · อ่าน (3,617)
0

SHARES


0 shares
  • การผสมพันธุ์แบบเลือดชิด (Inbreed) คือการที่สัตว์ที่เป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องผสมพันธุ์กัน ซึ่งลูกที่ออกมาจะมีความเสี่ยงที่จะสุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคติดตัวมาตั้งแต่เกิด หรืออาจจะตายตั้งแต่แรกคลอดได้
 
  • วิธีป้องกันการผสมแบบเลือดชิดที่ดีที่สุดคือการทำหมันสัตว์เลี้ยงเมื่ออายุถึงเกณฑ์



     เลือดชิดคืออะไร? มาฟังคำตอบจาก หมอเมฆ Catilike กัน ...

     จากกระแสดราม่า เคสที่มีเจ้าของน้องแมวมาโพสต์เล่าประสบการณ์การพาน้องแมวไปผ่าตัดคลอด แล้วน้องแมวไม่รอดเลยซักตัวเดียว โดยเจ้าของมาบอกในภายหลังว่าคุณหมอที่จำคลอดแจ้งว่าที่ลูกแมวตายเพราะเกิดจากการที่แมวผสมเลือดชิด

     พอประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของสังคม ก็มีคนถามหมอเข้ามาเยอะเลยครับเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งหนึ่งในคำถามยอดฮิตก็คือ "แมวที่เป็นพี่น้องผสมกันเอง จะเป็นอันตรายอะไรไหม?  ลูกแมวจะออกมาปลอดภัยหรือเปล่า"

     หมอเห็นว่าเคสนี้เป็นเคสที่น่าสนใจก็เลยอยากจะเอาข้อมูลต่าง ๆ มาแชร์ให้อ่านกันครับ


Dogilike.com :: ดราม่า ค่าคลอดแพงแต่แมวตาย ความจริงเป็นยังไง ฟังจากหมอกัน!


     การที่แมวที่เป็นพี่น้องกันผสมพันธุ์กันถือว่าเป็นการผสมแบบเลือดชิด (Inbreed) นะครับ แต่ไม่ใช่แค่การที่พี่น้องผสมกันเองอย่างเดียวที่เรียกว่าการผสมเลือดชิด แต่ยังจะรวมถึงพ่อ แม่ หรือลูกพี่ลูกน้องอีกด้วย

     ทุกวันนี้การผสมแบบเลือดชิดพบเจอได้หลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น
     - แมวจรจัดที่ผสมกันเองในพี่น้องเพราะไม่ได้มีเจ้าของคอยดูแล  
     - แมวในบ้านที่เจ้าของไม่ได้ป้องกัน ไม่ได้ทำหมัน
     - ฟาร์มเพาะพันธุ์ที่เลือกวิธีผสมแบบเลือดชิด เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการ

     ในเคสที่เป็นดราม่า ในมุมมองของหมอ “การที่ลูกแมวจะรอดหรือไม่รอดไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา แต่เป็นประเด็นเรื่องวิธีการผสมพันธุ์ที่มีผลต่อความแข็งแรงของลูกแมวมากกว่า”

     ... เท่าที่หมอติดตามข้อมูลมา เคสนี้การผสมเลือดชิดเกิดขึ้นจากการที่เจ้าของน้องแมวไม่ทราบว่าการผสมเลือดชิดคืออะไร จะทำให้เกิดผลเสียยังไงตามมา พอไม่รู้ก็เลยปล่อยให้เลยตามเลย คิดว่าแค่พาน้องแมวไปฝากท้องและผ่าคลอดภายใต้การดูแลของคุณหมอแค่นั้นก็ปลอดภัยแล้ว ซึ่งพอลูกแมวคลอดออกมามีความไม่แข็งแรงก็เลยทำให้น้องตายนั่นเอง

     เคสดราม่านี้หมอได้อ่านคอมเมนต์จากหลาย ๆ ที่ก็ทำให้เห็นว่ายังมีคนเลี้ยงน้องหมาน้องแมวจำนวนมากเลยล่ะครับที่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องเลือดชิด

     ส่วนในเคสที่เจ้าของหรือฟาร์มผสมเลือดชิดโดยตั้งใจเพื่อที่ต้องการให้ได้สายพันธุ์แท้ หรือต้องการที่จะคงลักษณะของสายพันธุ์นั้นให้เหมือนเดิม ถึงแม้จะได้สัตว์ออกมาตรงตามลักษณะที่อยากได้แต่สัตว์ตัวนั้นก็จะมีปัญหาสุขภาพมากมายเลยล่ะครับ

     จากการศึกษาข้อมูลในปัจจุบัน มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าในรายที่ผสมแบบเลือดชิดมีโอกาสทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ด้วย เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการแสดงลักษณะของยีนด้อยในประชากรมากขึ้น โดยอาจทำให้ ...
     ❌ มีลักษณะโครงสร้างร่างกายที่ผิดปกติ
     ❌ อาจจะโตช้า
     ❌ กายอ่อนแอ
     ❌ พิการ
     ❌ มีโรคตั้งแต่กำเนิดต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ หรือโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน  และอาจทำให้ลูกแมวมีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจแท้งตั้งแต่ในท้องก็เป็นไปได้

     ปัจจุบันในออสเตรเลียเริ่มมีการรณรงค์ถึงการห้ามผสมเลือดชิดแมวพันธุ์  Scottish Folds อีกด้วยเนื่องจากมีการศึกษาพบว่าแม้แมวพันธุ์นี้เมื่อถูกผสมออกมาจะน่ารักมาก ๆ แต่พวกเค้าจะมาพร้อมกับความเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่นปัญหากระดูกและข้อ และอาจทำให้แมวต้องทรมานกับการรักษา การกินยาไปอีกนาน อาจแย่ไปถึงการต้องผ่าตัดอีกด้วย

     แต่ไม่ใช่ว่าทุกตัวที่ผสมเลือดชิดจะต้องพิการหรือเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิดทุกตัวนะครับ แต่จะพบเจอเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงได้ ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการผสมเลือดชิดจะดีที่สุดครับ

     โดยวิธีการป้องกันการผสมเลือดชิดมีวิธีเดียวครับ คือการพาน้องๆไปทำหมันกับสัตวแพทย์ เนื่องจากพฤติกรรมการผสมพันธุ์เป็นพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นตามปกติ เมื่อแมวอยู่ในภาวะเป็นสัดครับ จะคอยแยกกันตลอด ก็อาจจะเป็นไปได้ยาก

     หากใครที่มองหาน้องแมวอยากจะเอามาเลี้ยง หมอแนะนำให้ขอดูใบประวัติการผสมพันธุ์ของน้องแมวที่เราจะรับเข้ามาเลี้ยง ว่ามีการผสมเลือดชิดหรือเปล่า เพราะถ้าหากแมวมีลักษณะของเลือดชิด อาจจะมีโรคติดตัวมาแต่กำเนิดได้ครับ ซึ่งก็จะเป็นปัญหาตามมาเวลาเราเอามาเลี้ยง น้องแมวก็จะไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อยและอาจจะมีอายุสั้น หรือมีโรคทางพันธุกรรมแฝงอยู่โดยที่เจ้าของไม่รู้ก็เป็นได้

     แต่ในกรณีที่ถ้าหากพี่น้องตัวไหน บังเอิญผสมเลือดชิดกันไปแล้วและเกิดตั้งท้อง แนะนำให้มีการดูแลแม่แมวในระหว่างตั้งท้องอย่างใกล้ชิดและควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการดูแลในระหว่างการตั้งท้อง และดูแลโภชนาการอย่างเหมาะสมต่อไปครับ

 

บทความโดย: หมอเมฆ ด็อกไอไลก์
น.สพ.รฐนนท์ ทำมาหากิน

 

  • ส่งต่อให้เพื่อน:
  • Categories : CatILike ·