โดย: kokiphinyada

โรคต้องระวังในหมาแรกเกิด

รวม 4 โรคที่ต้องระวัง ใครที่มีน้องหมาแรกเกิด ต้องระวังเลยน้าา

11 สิงหาคม 2565 · · อ่าน (1,198)
0

SHARES


0 shares

รายการออนไลน์, รูปแบบใหม่, ออนไลน์, dog close up zoom zoom, สัตวแพทย์, ผู้เชี่ยวชาญ, Live Chat, สอบถาม, ปัญหา, มะเหมี่ยว, โรคอ้วน, ออกกำลังกาย, ลดน้ำหนัก, อาหาร, โรค, ยา


มาดูกันว่าในน้องหมาที่เพิ่งเกิดมา มีโรคอะไรที่ต้องระวังบ้าง...
 

Dogilike.com :: โรคต้องระวังในหมาแรกเกิด
 

1. โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อพาร์โวไวรัส
 

     เชื้อพาร์โวไวรัส เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย มีผลต่อระบบทางเดินอาหารของสุนัข โดยเฉพาะสุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ ซึ่งลูกสุนัขที่มีอายุน้อยกว่า 4 เดือน จะมีความเสี่ยงมากที่สุด เชื้อพาร์โวนี้ มีการแพร่กระจายโดยการสัมผัสจากสุนัขสู่สุนัขโดยตรง ทั้งจากการสัมผัสกับอุจจาระ และสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ ที่สำคัญเชื้อนี้ยังทนต่อความร้อน ความเย็น ความชื้น และสามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานานอย่างน้อย ๆ ถึง 5 เดือน แม้สุนัขที่ป่วยจะตายไปแล้ว เชื้อก็ยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสามารถมาติดกับสุนัขตัวใหม่ได้
 
     อาการที่พบ คือ มีไข้ ซึม อาเจียน ท้องเสียถ่ายเป็นเลือด และมีกลิ่นคาว ส่วนมากการเสียชีวิตจากพาร์โวไวรัสจะเกิดขึ้นภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ สุนัขจะมีอาการขาดน้ำ และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วจากการถ่ายมาก
 
     ดังนั้น เมื่อซื้อลูกหมามาเลี้ยงควรระวังในเรื่องโรคด้วย เพราะมีลูกหมาที่ติดโรคนี้มาจากฟาร์มเยอะมาก โดยมักจะพบในฟาร์มที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือตลาดนัดสัตว์เลี้ยงที่มีความแออัดและไม่ดูแลความสะอาด ดังนั้นเจ้าของควรเลือกซื้อในฟาร์มที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐานด้วยนะคะ 
 

2. โรคไข้หัดในสุนัข
 

     เกิดจากเชื้อ Canine Distemper Virus (CDV) คล้ายกับไวรัสโรคหัดในคน แต่เป็นคนละชนิดกัน การติดต่อทางหลักเกิดได้จากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศเข้าไป หรือสัมผัสโดยตรงกับสิ่งคัดหลั่งจากสุนัขป่วย ได้แก่ น้ำมูก ขี้ตา น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระ เพราะเชื้อนี้ติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ ทำให้อัตราการป่วยสูง คือ แค่นำน้องหมาที่ป่วยไข้หัดมาใกล้ ๆ กับน้องหมาปกติที่ยังไม่ภูมิคุ้มกัน ก็สามารถติดเชื้อและป่วยได้
 
     อาการที่พบ คือ มีไข้ มีน้ำมูก มีขี้ตา ท้องเสีย หายใจลำบาก  มีอาการทางระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อกระตุกโดยเฉพาะปากและขา เดินเซ ขาอ่อนแรง ในรายที่อาการรุนแรงจะมีอาการชัก หรือเป็นอัมพาตได้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที ไม่งั้นจะทำให้สุนัขอาจถึงแก่ชีวิต หรือได้รับความเสียหายทางระบบประสาทอย่างถาวรได้
 

3. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อในสุนัข 
 

     เกิดจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อาจติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง โรคนี้สามารถติดต่อได้จากละอองน้ำมูกและน้ำลาย ที่มาจากการไอหรือจามของสัตว์ป่วยเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยตรง หรือปนเปื้อนมากับภาชนะ หรือมือของคนที่ไปสัมผัสกับน้องหมาที่ป่วย วิธีดูแลหากมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน ช่วงนี้จะต้องดูแลให้น้องหมาได้พักผ่อนเต็มที่ ให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และควรให้น้องหมาอยู่ในที่อบอุ่น 
 
     อาการที่พบ คือ ไอแห้ง หรือไอแบบมีเสมหะ หากไอแบบมีเสมหะจะพบว่าน้องหมาไอแล้วทำท่าขาก ๆ เหมือนมีอะไรติดคอ บางรายอาจมีขี้ตา ตาอักเสบ มีน้ำมูกใส ๆ ไปจนถึงมีน้ำมูกข้นสีเขียว เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ส่วนใหญ่น้องหมาจะยังซน ร่าเริงดี กินอาหารได้ แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ปอดบวม หายใจลำบาก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
 

4. โรคพยาธิในเม็ดเลือด 
 

     เกิดจากการติดเชื้อของสัตว์เซลล์เดียวในเม็ดเลือด โดยมีเห็บเป็นพาหะ หรือที่เรียกกันว่า โรคที่ติดต่อจากเห็บ พบได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกวัย และทุกพันธุ์เลยค่ะ แถมยังส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นวงกว้าง จึงสามารถทำให้น้องหมาอาจเสียชีวิตได้ และโรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
 
     แนะนำให้เจ้าของกำจัดเห็บทั้งบนตัวน้องหมา และในสิ่งแวดล้อมที่น้องหมาอยู่ควบคู่กันไป เพราะหากไม่กำจัดตามสิ่งแวดล้อมแล้ว เห็บพวกนี้ก็จะกระโดดกลับมาอาศัยอยู่บนตัวน้องหมาได้ใหม่ไม่สิ้นสุด ยิ่งในลูกสุนัขที่มีอายุไม่เกิน 6 สัปดาห์ เป็นช่วงอายุที่มีข้อจำกัดทางด้านความปลอดภัย ทำให้ไม่สามารถใช้ยากำจัดเห็บและหมัดได้เหมือนกับสุนัขทั่วไป ซึ่งสุนัขช่วงวัยนี้ส่วนมากมักจะได้รับเห็บจากการคลุกคลีอยู่กับแม่หรือไม่ก็ได้รับมาจากสิ่งแวดล้อมที่สุนัขอาศัยอยู่ 
 
     ดังนั้น การกำจัดเห็บหมัด ให้กับลูกสุนัขในช่วงวัยนี้ จะมีวิธีการจัดการตามนี้ คือการใช้หวีช่วยสางขนทำความสะอาดบ่อย ๆ ก็จะเป็นการช่วยกำจัดพวกปรสิตที่อยู่บนตัวได้อย่างปลอดภัย และยังช่วยทำความสะอาดร่างกายได้ด้วย หรือจะเป็นการทำความสะอาดบ้านและบริเวณที่ลูกสุนัขอยู่ ก็เป็นการช่วยตัดวงจรชีวิตของเห็บและหมัดได้
 
     ☑️ หากพบว่าลูกสุนัขแรกเกิดมีการอาเจียนหรือท้องเสีย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วย สิ่งที่เจ้าของต้องสังเกตก็คือ ลักษณะสิ่งที่ออกมาเป็นอย่างไร หากอาการไม่ดีขึ้นควรนำน้องหมาไปพบแพทย์ทันที
 
     ☑️ อย่างไรก็ดีการเอาตัวรอดจากโรคที่ดีที่สุด คือ "การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนหลัก" โดยเจ้าของควรพาสุนัขทุกตัวที่มีอายุตั้งแต่ 6-8 สัปดาห์ขึ้นไป และมีสุขภาพปกติแข็งแรงไปฉีดวัคซีน 
 
     ☑️ และอีกเรื่องที่สำคัญนั่นก็คือ "การถ่ายพยาธิ" โดยเฉพาะลูกสุนัขควรจะทำทันที เพราะมักจะมีพยาธิอยู่ในตัว โดยเฉพาะพยาธิตัวกลม และพยาธิปากขอที่อยู่ในลำไส้ พยาธิเหล่านี้สามารถถ่ายทอดผ่านทางรกจากแม่มาสู่ลูกในท้องได้ด้วย ฉะนั้นเราจึงควรถ่ายพยาธิให้น้องหมาเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีของน้องหมาของเราด้วยนะคะ


บทความโดย :   Dogilike.com
www.dogilike.com/
 

  • ส่งต่อให้เพื่อน:
  • Categories : Dog Close-Up ·