
ชีวิตเราเหมือนกราฟทรงระฆังคว่ำมีเกิด เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และถึงวัยที่ร่างกายเสื่อมถอยเมื่อเข้าสู่วัยชรา จนสุดท้ายก็ตายไป ใครที่เลี้ยงสุนัขมานานหลายปีอาจจะต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ในไม่ช้า เจ้าของบางคนอาจไม่ทราบว่าสุนัขของเรานั้นแก่แล้ว ซึ่งตามหลักแล้วสุนัขที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปโดยเฉลี่ยจะเข้าสู่วัยแก่ แต่ทั้งนี้พันธุ์ที่ต่างกันอาจส่งผลให้สุนัขเข้าสู่วัยแก่ที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ สุนัขพันธุ์ใหญ่จะเข้าสู่วัยแก่ได้เร็วกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก และเมื่อสุนัขเข้าสู่วัยแก่แล้ว ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรร่างกายตามมา ตลอดจนอาจส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น วันนี้เราเช็คกันไปทีละจุด เพื่อดูกันก่อนครับว่า สุนัขของเรานั้นแก่แล้วหรือยัง...ถ้าพร้อมแล้วเรามาลุยกันเลยครับ
1 เส้นขน
สุนัขแก่จะเริ่มมีสีขนเปลี่ยนไปเป็นสีที่จางลง บางตัวสีออกเป็นสีเทาหรือสีขาว คล้ายกับคนแก่ที่มีผมหงอกขึ้น โดยเฉพาะบริเวณสันจมูกและรอบตา ทั้งนี้สุนัขบางตัวที่ยังไม่แแก่ ก็สามารถมีขนหงอกขึ้นก่อนวัยอันควรได้เช่นกัน มีการศึกษาหนึ่งของ Camille King และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Applied animal behaviour science ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ. 2016 พบว่า น้องหมาที่ยังมีอายุน้อยก็มีขนหงอกขึ้นได้เช่นกัน การศึกษานี้ได้สำรวจสุนัข 400 ตัว ที่มีอายุช่วง 1-4 ปี จากแบบสำรวจเจ้าของสุนัข สุนัขที่มีขนหงอกขึ้นก่อนวัยอันควรนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสุนัขที่มีความวิตกกังวล ถูกกดดัน อยู่ในความกลัวเพราะเสียงที่ดัง นอกจากนี้สุนัขแก่จะมีขนหลอกขึ้นแล้ว บางตัวยังจะมีขนหยาบขึ้น ไม่นุ่มเหมือนแต่ก่อน หรือบางตัวก็จะมีขนที่บางลงเช่นกัน
2 ผิวหนัง
ผิวหนังจะสุนัขแก่จะหนาตัวขึ้น ขาดความยืดหยุ่น หากเราดึงผิวหนังของสุนัขขึ้นแล้วปล่อยให้เด้งกลับตามเดิม มักจะพบว่ามีการคืนตัวช้าลง คล้ายคลึงกับสุนัขที่มีภาวะขาดน้ำ ในรายที่ชอบนอนตามพื้นแข็งๆ ก็จะพบผิวหนังหนาตัวจนด้านหยาบ โดยเฉพาะบริเวณข้อศอก นอกจากนี้สุนัขแก่บางตัวจะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายกับก้อนหูดขึ้นตามผิวหนังทั่วตัว บางทีเราไถขนให้ แล้วไปโดนเม็ดตุ่มดังกล่าว ก็จะทำให้เลือดไหลออกมาได้ อย่างไรก็ตามเม็ดตุ่มดังกล่าวไม่เป็นอันตราย ยกเว้นว่าจะเป็นตุ่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่สัปดาห์ มีหนอง หรือขึ้นในบางตำแหน่งที่ไปรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติของสุนัข แบบนี้เจ้าของควรจะต้องรีบพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์โดยทันทีครับ
3 เล็บเท้าและฝ่าเท้า
ฝ่าเท้าของสุนัขแก่มักจะหนาตัวและหยาบกร้าน หากเราลองสัมผัสก็จะรู้สึกว่าสาก ๆ ไม่นุ่มนิ่มเหมือนแต่ก่อน ส่วนเล็บเท้าก็จะเปราะแตกง่าย เวลาที่เราตัดเล็บให้สุนัขจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้สุนัขแก่บางตัวที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายหรือเดินบ่อย ๆ เล็บก็จะยาวมากเช่นกัน ทำให้เล็บอาจโค้งกลับมาจิกเข้าเนื้อเท้าได้ เจ้าของจะต้องหมั่นสังเกตและตัดเล็บในกับสุนัขเป็นประจำเช่นกัน
4 ดวงตาและการมองเห็น
การเปลี่ยนแปลงของดวงตาในสุนัขแก่เป็นเรื่องที่เจ้าของสังเกตเห็นได้ชัด โดยจะพบว่าในดวงตามรการขุ่นขาวบริเวณตำแหน่งตรงกลางดวงตา ซึ่งเกิดจากการที่เลนส์ตานั้นมีการขุ่นขาวขึ้น หากมีการขุ่นเพียงเล็กน้อยก็จะไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการมองเห็นมากนัก แต่ถ้าขุ่นมากกว่า 60% ของเลนส์ตาก็จะทำให้สุนัขมองเห็นไม่ชัดหรือมองไม่เห็นเลย สุนัขบางตัวก็จะเดินชนสิ่งของที่มาขวาง ชนผนังกำแพง โดยเฉพาะบริเวณที่มืด
5 หูและการได้ยิน
ใบหูและช่องหูชั้นนอกอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในสุนัขแก่ ยกเว้นจะเคยเป็นโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบแบบเรื้อรังมาก่อน ก็จะพบว่ามีผิวหนังในช่องหูและใบหูที่หนาตัวขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสุนัขแก่ทุกตัวนั้นจะเป็นเช่นนี้ เพราะพบได้ในสุนัขช่วงวัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน สำหรับในสุนัขแก่นั้น มักจะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านของการได้ยินอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสุนัขที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป อาจสูญเสียความสามารถของการได้ยิน เช่น การที่เราเรียกชื่อแล้วสุนัขไม่ตอบสนอง ซึ่งเจ้าของสามารถทดสอบได้ โดยการทำสิ่งของที่เกิดเสียงตกบริเวณข้างหลังของสุนัข หรือบีบลูกบอลยางให้เกิดเสียงขึ้นโดยที่สุนัขไม่ได้เห็น เพื่อดูการตอบสนองต่อเสียงนั้น ในสุนัขที่ปกติก็จะหันไปมองหาที่มาของเสียง แต่ถ้าสุนัขมีปัญหาของการได้ยิน ก็จะไม่ตอบสนองหรือตอบสนองช้า อย่างไรก็ดีสุนัขที่มีปัญหาการได้ยิน ก็จะสามารถปรับตัวการใช้ชีวิตได้ โดยเราสามารถสอนให้สุนัขเรียนรู้คำสั่งจากมือแทนการสั่งด้วยเสียง
6 จมูกและการดมกลิ่น
สุนัขเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการดมกลิ่นที่ดีกว่ามนุษย์หลายเท่า ซึ่งความสามารถในการดมกลิ่นของสุนัขนี้จะติดตัวไปยันสุนัขนั้นแก่ตัว การดมกลิ่นของสุนัขแก่อาจไม่ถึงกับแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญมากนัก ยกเว้นสุนัขที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท สีผิวของจมูกจะจางลงจากที่บางตัวเคยมีจมูกสีดำ อาจเห็นในบางตำแหน่งมีสีซีด จางหรือชมพูอ่อน แต่อาจไม่เป็นเช่นนี้ในสุนัขแก่ทุกตัว บางตัวก็มีจมูกที่แห้งและหนาตัวขึ้น เจ้าของต้องหมั่นสังเกตสุนัข หากมีปัญหาหายลำบาก หายใจเข้ามีเสียงดัง หรือมีเลือดออกจากจมูกเจ้าของจะต้องรีบพาไปสัตวแพทย์ทันที
7 ช่องปากและฟัน
สุนัขที่มีอายุแล้วจะคราบหินปูนเกาะหนาตัว มีกลิ่นปาก และมีปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน ทั้งนี้ขึ้นกับประวัติการใช้งานของฟันในสุนัขแต่ละตัว บางตัวอาขมีปัญหาฟันหัก ฟันแตก ฟันโยก หรือฟันหลุด สุนัขที่ใปัญหาเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการกินได้ อาจถึงขั้นไม่ยอมกินอาหารเนื่องจากเจ็บปวด สุนัขแก่บางตัวอาจมีปัญหาเนื้องอกในช่องปากซึ่งพบได้บ่อยเช่นกัน เจ้าของต้องหมั่นสำรวจสุขภาพช่องปากให้กับสุนัข หากพบปัญหาผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้นให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยทันที การแปรงฟันและการขจัดหินปูนให้สุนัขอย่างถูกวิธีโดยสามารถขอคำปรึกษาได้จากสัตวแพทย์
8 ข้อต่อและการเคลื่อนไหวร่างกาย
สุนัขแก่ที่มีปัญหากระดูกและข้อนั้นพบได้หลายกรณี ทั้งโรคข้อเสื่อมและโรคข้ออักเสบ สุนัขที่มีปัญหาเหล่านี้จะส่งให้การเคลื่อนไหวร่างกายนั้นยากลำบากขึ้น บางรายอาจมีอาการเจ็บปวด จึงไม่อย่างเคลื่อนไหวร่างกาย หากพบว่าสุนัขแก่มีการเดินที่ผิดปกติ เจ้าของจะต้องรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ การหลีกเลี่ยงให้สุนัขเดินบนพื้นลื่น ๆ หรือกระโดดขึ้นลงที่สูง และการช่วยเสริมสารอาหารบำรุงข้อตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เป็นสิ่งที่เจ้าของผู้เลี้ยงสุนัขแก่ควรทำ
9 น้ำหนักตัว
สุนัขแก่จะมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวให้เห็นได้ สุนัขบางตัวอ้วนขึ้นทั้ง ๆ ที่กินเท่าเดิม ทว่าการออกกำลังกายนั้นลดลง ชอบนอนมากขึ้น ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามมา ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวของสุนัขแก่ยังขึ้นกับโรคที่สุนัขเป็นด้วย สุนัขแก่บางตัวเป็นโรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคฮอร์โมนต่อมหมวกไตสูง ก็อาจทำให้มีน้ำหนักตัวสูงขึ้นได้ สุนัขบางตัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคไต ก็อาจทำให้มีน้ำหนักตัวลดลงได้เช่นกัน เจ้าของที่มีสุนัขอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป เจ้าของควรหมั่นพาสุนัขไปตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังโรคอย่างเป็นประจำ ทั้งนี้การปรับอาหารให้เหมาะสมกับช่วงวัยมีความสำคัญต่อการควบคุมน้ำหนักตัวได้ เจ้าของอาจปรับมาให้กินอาหารสูตรสำหรับสุนัขแก่โดยเฉพาะ เพื่อความเหมาะสมตามความต้องการของช่วงวัย
10 พฤติกรรมเปลี่ยน
สุนัขที่มีอายุมากจะมีความตื่นตัวลดน้อยลง นอนมากขึ้น ไม่ค่อยชอบเล่นเหมือนแต่ก่อน บางตัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือ cognitive dysfunction syndrome (CDS) ซึ่งเป็นความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง ก็จะให้มีความผิดปกติแสดงออกมาทางพฤติกรรมหลายด้าน เช่น เดินไปเดินมาไร้จุดหมาย บางทีเดินไปติดซอกมุมแล้วเดินออกมาเองไม่ได้ ไม่สนใจใคร ไม่ทำตามคำสั่ง ขับถ่ายผิดที่ ชอบนอนตอนกลางวัน แต่กลางคืนไม่ยอมนอน ฯลฯ ซึ่งถ้าสุนัขตัวไหนป่วยเป็นโรคนี้แล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ช่วยชะลอ และยืดอายุให้กับน้องหมาได้ หากสุนัขของใครมีอาการเหล่านี้แนะนำให้ปรึกาาสัตวแพทย์โดยทันทีครับ
กล่าวโดยสรุปก็คือการเปลี่ยนแปลงของสุนัขแก่นั้นเป็นเพราะความเสื่อมของร่างกายนั่นเอง ที่มองเห็นได้ชัดก็คงจะเป็นเรื่องของขน ผิวหนัง ดวงตา และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งสุนัขแก่นั้นจำเป็นต้องมีการดูแลที่เปลี่ยนไปตามสภาพของร่างกายด้วย แต่จะเลี้ยงกันอย่างไรนั้นก็ขึ้นกับสุขภาพของสุนัขแต่ละตัว เหนืออื่นได้คือเราต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า สุนัขของเราเข้าข่ายเป็นสุนัขแก่แล้วหรือยัง สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ได้ลองไปเช็คร่างกายของสุนัขที่บ้านกันมาแล้ว เป็นอย่างไรกันบ้าง สามารถส่งความเห็นมาบอกกันได้นะครับ เรามาเลี้ยงดูสุนัขแก่กันไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สุนัขอยู่กับเราไปได้อีกนาน
บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/
ภาพประกอบจาก :
https://g77v3827gg2notadhhw9pew7-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2016/12/canine-cognitive-dysfunction_canna-pet-e1483060310919-1024x678.jpg
https://housewithaheart.com/wp-content/uploads/2018/01/Dogsaging.jpg
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/97/Dog_for_Senior_Dog_Food_Diet_Wikipedia_Page.jpg
https://www.rover.com/blog/wp-content/uploads/2016/04/dogeye3-960x540.jpg
https://wagandcluck.com/wp-content/uploads/2017/09/Shallow4-580x386.png
SHARES