โดย: Jahh
How To ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างไรให้รอดพ้นจากฝุ่น PM 2.5
เมื่อเราไม่อาจแก้ไขสาเหตุของฝุ่นพิษได้ เราก็ควรที่จะรู้วิธีป้องกันอย่างถูกต้องเพื่อสูขภาพที่ดีของลูก ๆ เรา ไปติดตามกันค่ะ
27 มกราคม 2563 · · อ่าน (2,642)
- หากเทียบขนาดของฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมเท่านั้น
- การอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงจะช่วยล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ตกค้างบริเวณขนออกได้ ทั้งยังช่วยเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้อีกด้วย

หลายวันมานี้ เพื่อน ๆ จะเห็นได้ว่าปริมาณของฝุ่น PM 2.5 มีความหนาแน่นเพิ่มยิ่งขึ้น แม้จะมีฝนตกลงมาในบางพื้นที่อยู่บ้าง แต่ก็ไม่อาจลดความหนาแน่นของฝุ่นได้เลย ซึ่งสถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 ภายในอาทิตย์นี้ได้มีปริมาณสูงจนติดอันดับ 8 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก เกือบทุกพื้นที่ของในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มีระดับฝุ่นที่อยู่ในระดับสีส้ม คือมีปริมาณ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป (ไม่เกิน 100) ซึ่งเทียบเท่าคนที่สูบบุหรี่ 10 มวนต่อวัน เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤตเลยทีเดียว
>> ฝุ่น PM 2.5 กระทบกับมนุษย์อย่างไรบ้าง?
ฝุ่น PM 2.5 เป็นหนึ่งในฝุ่นที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนเรา ด้วยมีขนาดเล็กเพียง 2.5 ไมครอน ซึ่งขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในระบบอวัยวะต่าง ๆ ได้โดยง่าย หากเทียบขนาดของฝุ่นนั้นมีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมเท่านั้น
>> ฝุ่น PM 2.5 กระทบกับสัตว์เลี้ยงในทุก ๆ ชนิด
นสพ. เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เล่าว่า “สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่หายใจด้วยและแลกเปลี่ยนออกซิเจนด้วยปอด สามารถรับมลพิษได้หมด” นั่นแสดงให้เห็นว่าฝุ่นได้มีผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น สัตว์ทุกชนิดที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมก็สามารถรับได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งสัตว์เลี้ยงที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงพิเศษประกอบไปด้วย สัตว์ปีก สุนัข แมวที่มีลักษณะหน้าสั้น ลูกสุนัขและลูกแมวแรกเกิด สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือมีปัญหาทางเดินหายใจอยู่แล้ว และสัตว์ที่มีปัญหาผิวหนังแพ้ง่าย เป็นต้น ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเลยนะ เพราะพวกเขาอยู่ในภาวะเสี่ยงที่หากรับฝุ่น PM 2.5 มากจนเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงกว่าสัตว์อื่นก็เป็นได้
>>โรคที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงมีอะไรบ้าง?
นสพ. เกษตร ได้แบ่งระยะของโรคเป็น 3 ระยะ โรคที่เกิดจากการรับฝุ่นในระยะสั้น โดยจะมีอาการไอ หายใจลำบาก น้ำตาไหล เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจแรงเร็ว อ่อนแรงขาดออกซิเจน มึนงง กินลดลง หิวน้ำบ่อย อ้าปากหายใจตลอดเวลา เป็นต้น ต่อมาเป็นในระยะกลาง หากมีฝุ่นสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จะเริ่มมีปัญหาในโรคปอดอักเสบและหลอดลมอักเสบในชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และในระยะยาว หากสถานการณ์แบบนี้ยังมีในทุกปี ไม่ว่าจะเป็นตลอดเวลาหรือเป็นในบางช่วงฤดูกาลก็ตาม สัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ และก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด หลอดเลือดหัวใจมีปัญหา และโรคหลอดเลือดที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันนั่นเอง
>>วิธีดูแลเหล่าสัตว์เลี้ยงในกลุ่มเสี่ยง
ในสุนัขและแมวที่มีหน้าสั้น ได้แก่ สุนัขพันธุ์ปั๊ก, บลูด๊อก, ชิสุห์, บ๊อกเซอร์ น้องแมวพันธุ์เปอร์เซีย, สก๊อตติสโฟลด์ เป็นต้น หากสัตว์เลี้ยงของเราอยู่บริเวณนอกบ้านหากนำเข้ามาในบ้านได้จะดีที่สุด และการดูแลจะต้องเน้นในเรื่องของความสะอาดเป็นหลัก ในตัวของสัตว์เลี้ยงควรที่จะอาบน้ำบ่อย ๆ เพราะจะช่วยล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ตกค้างบริเวณขนออกได้ ทั้งยังช่วยเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้อีกด้วย และอย่าลืมทำความาสะอาดในบริเวณบ้านเป็นประจำ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดบ้านแทนการใช้ไม้กวาดเพราะอาจจะทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
ในสัตว์เลี้ยงแรกเกิดจะต้องมีการดูแลทั้งแม่และเด็ก ๆ ที่พึ่งเกิดด้วยนะ ซึ่งจะต้องดูแลในเรื่องของความสะอาดเป็นหลักเช่นเดียวกัน ควรจะเช็ดทำความสะอาดทั้งตัวแม่และเด็ก ๆ เสมอ ๆ การย้ายกรงหรือที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงมาไว้ในบริเวณบ้านที่ฝุ่นเข้าถึงได้น้อยก็เป็นสิ่งสำคัญ อาจจะติดเครื่องกรองอากาศภายในห้องเพื่อช่วยให้อากาศบริเวณในห้องสะอาดเพิ่มยิ่งขึ้น
และในสัตว์เลี้ยงที่มีโรคสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือมีปัญหาทางเดินหายใจอยู่แล้ว และสัตว์ที่มีปัญหาผิวหนังแพ้ง่าย จะต้องงดการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเด็ดขาดเพราะการอยู่ในที่โล่งแจ้งอาจทำให้สัตว์เลี้ยงสามารถรับฝุ่นในปริมาณที่มากขึ้นก็เป็นได้
>>วิธีการป้องกันสัตว์เลี้ยงจากฝุ่น PM 2.5
หากสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ข้างในบ้าน ควรที่จะ...
- เปลี่ยนไส้กรองเครื่องปรับอากาศในบ้านเป็นประจำ
- ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทเสมอ
- ดูดฝุ่นบ่อย ๆ เพื่อกำจัดขนสัตว์เลี้ยงและมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ในร่ม
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ภายในบ้าน
- ควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทิ้งกลิ่นหรือสิ่งตกค้างอื่น ๆ ไว้
หากสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ข้างนอกบ้าน ควรที่จะ...
- หากเป็นไปได้ ควรที่จะนำน้องหมาเข้ามาในบ้านจะดีกว่า
- หลีกเลี่ยงการพาน้องหมาออกไปในพื้นที่โล่งแจ้งหรือในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของฝุ่นสูง
- อาบน้ำให้น้องหมาบ่อยขึ้น แต่ไม่ต้องใช้แชมพูหรือสบู่ เพื่อให้ตัวของเขาชุ่มชื่นและไม่กักฝุ่น
- รดน้ำต้นไม้ ล้างลานจอดรถ ทุกวัน เพื่อเพิ่มความชื้นในสิ่งแวดล้อม จะทำให้ฝุ่นที่ฟุ้งอยู่แถวนั้นจับตัวกันและตกลงที่พื้น
- ใส่หน้ากากอนามัยสำหรับสัตว์เลี้ยงทุกครั้ง (ในปัจจุบันมีการนำเข้ามาจำหน่ายแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรสวมให้กับสัตว์เลี้ยงตลอดเวลาเพราะจะทำให้หายใจลำบากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงออกนอกบริเวณบ้านจะดีที่สุดนะคะ)
บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
http://vet.ku.ac.th/
https://thestandard.co/
https://news.thaipbs.or.th/
https://katu.com/news/local/
https://www.springnews.co.th/
https://www.dogpollutionmask.com/
รูปภาพประกอบ :
https://medium.com/
https://www.abc.net.au/news/
https://malaysia.news.yahoo.com/
SHARES