โดย: Tonvet
ตามติดชีวิตสุนัขกู้ภัย ผลกระทบในระยะยาวหลังเหตุการณ์ 9/11
การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของสุนัขกู้ภัยในระยะยาวหลังเหตุการณ์ 9/11 ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้วเป็นอย่างไร มาดูกัน
6 ตุลาคม 2563 · · อ่าน (2,049)
- มีการติดตามศึกษาปัญหาสุขภาพที่ตามมาในระยะยาวของสุนัข ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9/11 เพื่อนำมาปรับใช้กับสุนัขกู้ภัยในอนาคต โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างสุนัขที่อยู่ในเหตุการณ์และสุนัขกลุ่มควบคุม
- ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างของปัญหาสุขภาพที่ตามมาในระยะยาว อีกทั้งอายุไขโดยเฉลี่ยก็ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือหนาหูเกี่ยวกับผลกระทบของสุนัข ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ 9/11 ถึงปัญหาสุขภาพที่ตามมา เพราะได้รับผลกระทบจากการสูดเอาสารพิษและฝุ่นควันเข้าไป
Cynthia Otto สัตวแพทย์ จึงได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวของสุนัขเหล่านั้น เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้กับสุนัขค้นหาและกู้ภัยที่อาจต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ในอนาคต
คุณหมอ Otto และคณะ ได้ทำการศึกษาและติดตามผลสุขภาพของสุนัข ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 ในระยะยาว จำนวนทั้งสิ้น 95 ตัว และยังได้ศึกษาผลสุขภาพของสุนัขค้นหาและกู้ภัย จำนวน 55 ตัว ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 (กลุ่มควบคุม) เพื่อนำมาเปรียบเทียบด้วย
ในฐานะสุนัขกู้ภัย สุนัขจะได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งได้รับการถ่ายภาพรังสีช่องอกและตรวจเลือดเป็นประจำ เมื่อสุนัขเหล่านี้ตายไป นักวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้ออวัยวะต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน โดยจำนวน 44 ตัว มาจากสุนัขที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 และอีกจำนวน 19 ตัว เป็นสุนัขควบคุมที่ได้รับการส่งตรวจวิเคราะห์หลังการตายเช่นกัน สำหรับสุนัขตัวอื่นๆ ส่วนใหญ่ทีมวิจัยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต จากบันทึกของสัตวแพทย์ที่ดูแล
ทีมวิจัยคาดการณ์เอาไว้ว่า อาจจะเห็นปัญหาระบบทางเดินหายใจในสุนัขที่ได้สัมผัสอนุภาค ฝุ่น ควัน แต่พวกเขาก็ไม่ได้พบความแตกต่างแต่อย่างใด สาเหตุการตายส่วนใหญ่ของสุนัข เกิดจากโรคมะเร็งและโรคข้ออักเสบ ซึ่งเป็นผลให้สุนัขบางตัวได้รับการการุณยฆาต อีกทั้งอายุไขโดยเฉลี่ยของสุนัขเหล่านี้ก็แทบไม่ได้ต่างกันเลย พบว่าสุนัขที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 ในวันนั้น กับสุนัขกลุ่มควบคุมมีอายุขัยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน 12.7 และ 12.8 ปีตามลำดับ โดยสุนัขตัวสุดท้ายที่ เข้าร่วมในเหตุการณ์ 9/11 มีชื่อว่า บริตทานี่ เป็นสุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ก็เพิ่งตายไปในปีคริสต์ศักราช 2016 มีอายุยืนยาวถึง 16 ปีเลยทีเดียว และสาเหตุการตายก็เนื่องจากการถูกการุณยฆาต เพราะมันมีปัญหาสุขภาพที่ทรุดลงตามวัย
สิ่งที่สุนัขกู้ภัยเหล่านี้ต้องเผชิญในวันนั้น ไม่ต่างอะไรกับผู้ทำงานในเหมืองถ่านหิน สุนัขเหล่านี้ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ในการกู้ภัย โดยไร้ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันใด ๆ แต่มันเป็นเรื่องน่าทึ่ง เพราะผลการศึกษาปัญหาสุขภาพในระยะยาว พบว่า ผลกระทบที่มีต่อปอดร่วมถึงภาวะภูมิแพ้ (หอบหืด) นั้น พบได้น้อยมาก แสดงให้เห็นว่า ระบบร่างกายสุนัขนั้นมีระบบกรองและรับมือที่ค่อนข้างดี ทีมวิจัยพบปัญหาระบบทางเดินหายใจในสุนัขเพียง 7 ตัว ของกลุ่มทดลองทั้งหมด ในกลุ่มนี้มีจำนวน 5 ตัว พบว่าเป็นโรคมะเร็งในปอด โดย 4 ใน 5 ตัวเป็นสุนัขในกลุ่มควบคุม มีเพียงตัวเดียวที่อยู่ในเหตุการณ์ 9/11 อย่างไรก็ดี ผลการชันสูตรชิ้นเนื้อพบ pulmonary particulates ในปอด สุนัขที่อยู่ในเหตุการณ์ 9/11 พบมากกว่าสุนัขที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ราว 95% ต่อ 63.2% ตามลำดับ
สรุปได้ว่าผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างของผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ระหว่างสุนัขที่อยู่ในเหตุการณ์ 9/11 กับสุนัขกลุ่มควบคุม อีกทั้งอายุขัยโดยเฉลี่ยก็ใกล้เคียงกัน และส่วนมากปัญหาสุขภาพที่พบ ก็เกิดจากความเสื่อมของสุขภาพไปตามวัย ชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงของผลกระทบในระยะยาวของสุนัขที่อยู่ในเหตุการณ์ 9/11 นั้นค่อนข้างต่ำและไม่เป็นเช่นข่าวลือ
ข้อมูลบางส่วน :
https://www.today.com/pets/never-forget-last-9-11-ground-zero-search-dog-dies-t96676
SHARES