โดย: Tonvet
สุดทึ้ง!! พบมัมมี่ลูกสุนัขป่าสภาพสมบูรณ์ที่แคนาดาอายุกว่า 57,000 ปี
ผลการศึกษาซากมัมมี่ลูกสุนัขป่า บอกอะไรกับเราบ้าง.....มาดูกัน
12 มกราคม 2564 · · อ่าน (1,575)
- นักขุดทองได้ค้นพบซากมัมมี่ของลูกสุนัขป่าอายุกว่า 57,000 ปี โดยบังเอิญ ขณะทำการฉีดพ่นน้ำใส่กำแพงโคลนที่จับตัวกันเป็นน้ำแข็ง ที่ยูคอน ประเทศแคนาดา
- ซากมัมมี่ลูกสุนัขป่าได้รับการตั้งชื่อว่า Zhùr ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาว Tr'ondëkHwëch'in และได้ส่งต่อให้นักวิจัย เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสุนัขป่ายุคปัจจุบัน

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการค้นพบซากมัมมี่ของลูกสุนัขป่าโบราณอายุกว่า 57,000 ปี โดยบังเอิญ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ค้นพบและนักวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณที่พบนั้น คือ ยูคอน ดินแดนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกสุดของประเทศแคนาดา ติดกับดินแดนรัฐอลาสก้า เป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งและหนาวเหน็บ คำว่า ยูคอน ตั้งตามชื่อแม่น้ำยูคอน ซึ่งมีความหมายว่าแม่น้ำใหญ่ ในภาษา Gwich'in
ขณะที่นักขุดทองกำลังฉีดน้ำใส่กำแพงซึ่งเป็นดินโคลนที่จับตัวจนเป็นน้ำแข็ง เขาก็ได้ค้นพบกับซากมัมมี่ของลูกสุนัขป่าในยุคโบราณ ซึ่งพื้นดินบริเวณนี้มักจะแข็งตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นไปได้ว่าลูกสุนัขตัวนี้ต้องถูกฝังตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับกระบวนการที่เกิดฟอสซิลอื่นๆ เพราะถ้ามันนอนตายอยู่บนทุ่งทุนดราแช่แข็งนานเกินไป มันก็อาจจะเกิดการย่อยสลายหรือถูกสัตว์นักล่าตัวอื่นกินซากของมันไปแล้ว
นักวิจัยจึงตั้งคำถามว่า ลูกสุนัขตัวนี้มันตายอย่างไร หากเป็นสัตว์ที่ตายอย่างช้า ๆ หรือถูกสัตว์นักล่าจู่โจม ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะพบซากมัมมี่ในสภาพสมบูรณ์ได้เช่นนี้ นักวิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่า มันอาจเสียชีวิตลงทันที และเกิดการพังทลายของถ้ำ จึงเกิดการฝังตัวลงในพื้นดินที่แข็งเป็นน้ำแข็งและอยู่รอดมาได้ ความเย็นช่วยรักษาสภาพ จนมันกลายเป็นมัมมี่ในที่สุด
สภาพร่างกายของลูกสุนัขป่าตัวนี้ค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว มีเพียงดวงตาเท่านั้นที่หายไป จากการชันสูตรซากพบว่า มันเป็นลูกสุนัขเพศเมีย มีอายุประมาณ 7 สัปดาห์ขณะที่เสียชีวิต จากภาพถ่ายรังสีแสดงให้โครงกระดูกที่มี epiphyses ที่ไม่ได้ใช้งาน แผ่น epiphyseal แยกจากกันปรากฏบนกระดูกสันหลังและกระดูกท่อนยาว พบการสร้างกระดูก ulnar บริเวณส่วนปลาย แต่ยังไม่สมบูรณ์ (อายุไม่เกิน 8 สัปดาห์) ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตของสุนัขในปัจจุบันแล้ว จึงคาดได้ว่าอาจจะมีอายุไม่เกิน 6-8 สัปดาห์ในขณะที่เสียชีวิต
โชคยังดีที่ก่อนตายมันไม่ได้อดอาหาร แต่อาจตายเนื่องจากสาเหตุบางอย่างกะทันหัน ผลการวิเคราะห์อาหาร ทำให้นักวิจัยรู้สึกประหลาดใจ เพราะอาหารที่มันกินนัั้น ไม่ใช่วัวกระทิง ชะมด หรือสัตว์ขนาดใหญ่ตัวอื่นๆ ที่อยู่บนบก แต่เป็นทรัพยากรสัตว์น้ำ อย่างเช่น ปลาแซลมอน จึงคาดได้ว่า แหล่งที่มันอยู่อาศัยในอดีตนั้น อาจอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ และจากการวิเคราะห์ยีนสามารถยืนยันได้ว่า ลูกสุนัขตัวนี้เป็นสุนัขป่าโบราณจากรัสเซีย ไซบีเรีย และอลาสก้า อาจเป็นบรรพบุรุษของหมาป่ายุคใหม่เช่นกัน
เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ทำไมมันมาตายอยู่เพียงลำพังในถ้ำ พ่อหรือแม่ หรือสุนัขอื่นๆ ในฝูงหายไปไหน เป็นไปได้ว่ามันอาจติดอยู่ในถ้ำระหว่างที่ถ้ำถล่ม ทุกวันนี้หมาป่าอลาสก้า มักผสมพันธุ์ในช่วงปลายเดือนเมษายน และตั้งท้อง 2 เดือน ก็จะคลอดราว ๆ ช่วงต้นฤดูร้อน สุนัขตัวนี้น่าจะเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งลูกสุนัขในยุคใหม่มักจะหย่านมสมบูรณ์หลังจากผ่านไปแล้วประมาณ 5 สัปดาห์ แน่นอนว่า ลูกสุนัขตัวนี้ก็อาจจะหย่านมไปแล้วเช่นกัน
ขณะนี้ซากมัมมี่ของลูกสุนัขป่าตัวนี้ ได้ถูกเก็บรักษาและอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี ที่ Yukon Beringia Interpretive Center แห่งเมืองไวท์ฮอร์ส และจะคงสภาพสมบูรณ์เช่นนี้ต่อไปอีกนานหลายปีข้างหน้า มันได้รับการตั้งชื่อว่า Zhùr แปลว่า หมาป่า ในภาษา Hän
นักวิจัยคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะมีการค้นพบซากมัมมี่ในแผ่นดินแห้งแล้งแห่งนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งละลาย ดังนั้นการค้นพบซากมัมมี่ลูกสุนัขป่าตัวนี้ ก็เป็นเครื่องเตือนใจได้อย่างหนึ่งว่า อุณหภูมิโลกเรากำลังร้อนขึ้นมากแค่ไหนแล้ว
ข้อมูลบางส่วน :
รูปภาพประกอบ :
SHARES