โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยง เพื่อการลดน้ำหนักของสุนัขที่ได้ผล

ผู้เลี้ยงมีส่วนในการควบคุมน้ำหนักของสุนัขได้อย่างไรบ้าง และจะมีวิธีการควบคุมน้ำหนักสุนัขอย่างไร ไปติดตามกันค่ะ

18 ตุลาคม 2555 · · อ่าน (59,763)
720

SHARES


720 shares

Dogilike.com :: ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยง เพื่อการลดน้ำหนักของสุนัขที่ได้ผล


     ถ้าหากจะพูดถึงเรื่องปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของสุนัข เราจะพบว่าในปัจจุบันหนึ่งในปัญหาที่มักพบได้ในสุนัขเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ "สุนัขอ้วน" ... ส่วนใหญ่แล้วน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของสุนัขนั้นล้วนแล้วแต่มีผลมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของเจ้าของ ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็จะมีผลกับสุขภาพโดยตรง โดยพบว่าสุนัขที่มีน้ำหนักมากๆ จะมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจ , โรคเกี่ยวกับกับข้อต่อ รวมไปถึง "โรคอ้วน" ด้วย ...

     ผู้เลี้ยงสุนัขหลายคนมักจะชอบตั้งคำถามว่า "ควรให้สุนัขกินอาหารวันละกี่มื้อ" หรือ "ถ้าให้แค่ 2 มื้อ น้องหมาจะอิ่มหรือไม่" ... ที่เกิดคำถามแบบนี้ขึ้นเพราะส่วนใหญ่แล้วผู้เลี้ยงสุนัขมักใช้ความรู้สึกของตัวเองเข้าไปแทนที่ความรู้สึกของสุนัข คิดจากความต้องการของคนเป็นหลัก เช่น "กินแค่ 2 มื้อไม่น่าจะอิ่ม ให้กิน 3 มื้อเลยก็แล้วกัน" , "กินข้าวแล้วก็ต้องกินขนมด้วยสิ" , "ร้อนๆ แบบนี้ให้กินไอศรีมดีกว่า" หรือ "กินแต่อาหารเม็ดคงจะเบื่อแย่เลย กินข้าวกับไก่ทอดหอมๆ แล้วกัน" ...

     ด้วยความคิดเหล่านี้ พฤติกรรม "สปอยล์" สุนัขจึงเกิดขึ้น เรามักจะพบว่าเจ้าของที่ชอบตามใจสุนัขมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องของโภชนาการสำหรับสุนัขแบบผิดๆ โดยมักจะคิดว่าอาหารที่ดีมีประโยชน์สำหรับคนก็น่าจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับสุนัขด้วย หรือเรื่องของปริมาณการให้อาหาร ก็มักจะให้สุนัขกินอาหารในปริมาณที่มากเกินความพอดี เนื่องจากเป็นห่วงกลัวว่าสุนัขจะไม่อิ่ม หรือไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ


Dogilike.com :: ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยง เพื่อการลดน้ำหนักของสุนัขที่ได้ผล


     จากพฤติกรรมเหล่านี้เอง จึงเป็นที่มาของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น(อย่างต่อเนื่อง)ของสุนัข ซึ่งในไม่ช้าน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็จะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย และเมื่อถึงจุดนี้ผู้เลี้ยงสุนัขจึงตระหนักรู้ได้ว่า การเลี้ยงสุนัขด้วยการตามใจ ให้กินทุกอย่างที่เขาอยากกินนั้นเป็นการทำร้ายสุนัขของตัวเองในทางอ้อมไปเสียแล้ว!!!

     และถ้าตอนนี้เพื่อนๆ เริ่มรู้สึกตัวแล้วว่า เลี้ยงและตามใจสุนัขแบบผิดๆ มาตลอด ตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มปรับพฤติกรรมการกิน ให้สุนัขได้กินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการในปริมาณที่พอดี เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายค่ะ วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดีที่สามารถช่วยลดและควบคุมน้ำหนักให้กับสุนัขที่มีน้ำหนักมากๆ ได้ด้วยล่ะค่ะ


จัดการปัญหาน้องหมาอ้วน ... เริ่มได้จากการปรับพฤติกรรมคนเลี้ยง!



     สิ่งแรกที่ผู้เลี้ยงสุนัขจะต้องทำให้ได้คือ "ต้องใจแข็ง" อย่าสงสาร อย่าแคร์ ต่อสายตาวิงวอนขอของกินต่างๆ ของสุนัข เพราะถ้าหากเราใจอ่อนยอมให้เขากินอาหารต่างๆ ได้ตามใจแล้วล่ะก็ เราก็จะไม่มีทางปรับพฤติกรรมการกินและรีดน้ำหนักเขาได้สำเร็จแน่นอนค่ะ


Dogilike.com :: ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยง เพื่อการลดน้ำหนักของสุนัขที่ได้ผล


     และต่อไปนี้คือ 6 ข้อควรปฏบัติสำหรับผู้เลี้ยงที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมการกินของสุนัขค่ะ

     1. ก่อนจะเลือกอาหารให้สุนัขกิน ผู้เลี้ยงจะต้องอ่านฉลากบริเวณข้างกล่องหรือถุงอาหารก่อนว่า มีส่วนผสมของสารอาหารประเภทใดบ้าง เหมาะสมกับสายพันธุ์และสุขภาพของสุนัขหรือไม่ รวมไปถึงควรให้ในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ... โดยข้างกล่องหรือถุงอาหารจะเขียนสัดส่วนน้ำหนักของสุนัขและปริมาณอาหารที่เหมาะสมเอาไว้ ควรให้อาหารตามปริมาณนั้นและไม่ควรให้เพิ่มค่ะ (บางคนได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ให้สุนัขกินอาหารสูตร Weight Control ซึ่งเป็นสูตรควบคุมน้ำหนักให้สุนัขกิน อาหารสูตรนี้จะมีไขมันต่ำ มีไฟเบอร์สูง ทำให้สุนับรู้สึกอิ่มได้นานขึ้นโดยไม่ต้องลดปริมาณอาหาร ถ้าให้สุนัขกินอาหารสูตรนี้ ควรเคร่งครัดกับปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละมื้อ ไม่ควรให้เกินกว่าคำแนะนำข้างกล่องอาหารเด็ดขาด นอกจากผู้เลี้ยงควรสังเกตว่าสุนัขมีอาการหิวหรือรู้สึกไม่อิ่มหรือไม่หลังจากเปลี่ยนมาเป็นอาหารสูตรควบคุมน้ำหนัก ถ้าสุนัขมีอาการหิวตลอดเวลา ควรกลับไปแจ้งให้คุณหมอที่ทำการรักษาทราบ เพื่อปรับปริมาณหรือเปลี่ยนชนิดอาหารที่ให้กิน)

     2. ไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ให้สุนัขกินตลอดทั้งวัน แต่ควรกำหนดเวลาการกินอาหารในแต่ละมื้อของสุนัข โดยให้วางอาหารไว้กับสุนัขไม่เกิน 15 นาที ต่อมื้อ หลังจากนั้นให้เก็บชามอาหารในทันที

     3. ทุกครั้งที่ผู้เลี้ยงกินอาหาร ไม่ควรให้สุนัขอยู่ในห้องอาหาร หรือบริเวณที่ผู้เลี้ยงกิน หรือทำอาหารเด็ดขาด เพราะผู้เลี้ยงบางคนก็อดใจอ่อนไม่ได้ เป็นต้องหยิบอาหารบนโต๊ะให้สุนัขกินทุกที ดังนั้น ห้ามให้สุนัขเข้ามาป้วนเปี้ยนบริเวณโต๊ะอาหารหรือในห้องครัวจะดีที่สุดค่ะ

     4. งดการให้ขนมไปจนกว่าสุนัขจะมีน้ำหนักตัวลดลงและมีน้ำหนักตัวที่คงที่ เพราะขนมสำหรับสุนัขหลายอย่างก็ให้พลังงาน และมีส่วนทำให้สุนัขมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ค่ะ (ข้อนี้ทุกคนในบ้านต้องให้ความร่วมมือร่วมกันนะคะ เพราะถ้าอีกคนนึงงด แต่อีกคนนึงแอบให้ ยังไงน้ำหนักตัวน้องหมาก็ไม่มีทางลดแน่ๆ ค่ะ)

     5. ถึงแม้จะอยู่ในช่วงลดน้ำหนัก แต่ผู้เลี้ยงก็ควรให้สุนัขได้กินอาหารที่หลากหลายค่ะ โดยอาจเพิ่มความหลากหลายได้ด้วยการ ให้สุนัขกินผักต่างๆ บ้าง เช่น แครอท, ฟักทอง, ถั่ว, บร็อคคอรี่ แต่ให้หลีกเลี่ยงหัวหอมนะคะ

     6. การลดน้ำหนักในสุนัขก็เหมือนกับคนนั่นล่ะค่ะ เมื่อควบคุมอาหารแล้วก็ต้องทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายด้วย การออกกำลังกายที่แนะนำได้แก่ การว่ายน้ำ (เหมาะมากๆสำหรับน้องหมาที่อ้วนและมีปัญหาโรคเกี่ยวกับข้อต่อข้อต่อ) การเดิน การวิ่งจ๊อกกิ้ง การเล่นจานร่อน


Dogilike.com :: ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยง เพื่อการลดน้ำหนักของสุนัขที่ได้ผล


     และนอกจากการปรับของผู้เลี้ยงสุนัขเพื่อที่จะได้ควบคุมพฤติกรรมการกินของสุนัขแล้ว การควบคุมน้ำหนักสำหรับสุนัขที่มีน้ำหนักเกินมากๆ ควรจะทำภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์ด้วยนะคะ โดยถ้าหากผู้เลี้ยงเริ่มสังเกตว่าสุนัขเริ่มมีน้ำหนักตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้จะมีการลดปริมาณอาหารแล้วแต่น้ำหนัก็ยังขึ้นอยู่ ให้ผู้เลี้ยงรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ทันทีนะคะ เพราะคุณหมอจะทำการประเมินน้ำหนักของสุนัขว่าเกินมาตรฐานไปมากน้อยแค่ไหน และสุนัขของเราควรมีน้ำหนักตัวอยู่ที่เท่าไหร่ จากนั้นจึงจะเจ้าสู่การวางแผนการลดน้ำหนักให้สุนัขค่ะ

     ซึ่งเมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ คุณหมอก็จะทำการคำนวณปริมาณอาหารที่สุนัขควรกินในแต่ละวัน จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงที่จะต้องควบคุมให้สุนัขกินอาหารตามปริมาณที่คุณหมอแนะนำ โดยอาหารที่คุณหมอแนะนำนั้นจะเป็นอาหารสำเร็จรูปสำหรับควบคุมน้ำหนักโดยเฉพาะซึ่งมีทั้งแบบแห้งซึ่งเป็นอาหารเม็ดและแบบเปียกซึ่งเป็นอาหารกระป๋อง คุณสมบัติพิเศษอาหารเหล่านี้ก็คือ จะมีไขมันต่ำ ไฟเบอร์สูง ทำให้ผู้เลี้ยงไม่ต้องลดปริมาณอาหารของสุนัขในแต่ละมื้อ พลังงานที่ได้จากอาหารลดน้ำหนักจะไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป จึงทำให้น้องหมารู้สึกอิ่มและไม่เครียดค่ะ


Dogilike.com :: ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยง เพื่อการลดน้ำหนักของสุนัขที่ได้ผล


     และในช่วงที่กำลังควบคุมน้ำหนักสุนัข เจ้าของควรชั่งน้ำหนักของสุนัขทุกวันเพื่อเช็คว่าสุนัขเริ่มมีน้ำหนักลดลงหรือยัง โดยในหนึ่งสัปดาห์โดยเฉลี่ยแล้วน้ำหนักของสุนัขควรลดลง 1-2% ... ผู้เลี้ยงอาจจะรู้สึกว่าน้ำหนักของสุนัขลงช้า แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีนะคะ

     เพราะว่าการลดน้ำหนักในสุนัขที่ดีไม่ควรให้น้ำหนักสุนัขลงเร็วจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้สุนัขขาดสารอาหารและมีปัญหาสุขอย่างอื่นตามได้ค่ะ ... การลดน้ำหนักในสุนัขเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความอดทนทั้งผู้เลี้ยงและสุนัข ผู้เลี้ยงไม่ควรใจร้อนให้สุนัขอดอาหารเพื่อที่น้ำหนักจะได้ลดลงเร็วๆ เพราะการทำแบบนี้จะทำให้สุนัขรู้สึกหิว ขาดสารอาหาร และอาจเป็นที่มาของภาวะเครียดซึ่งอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้ค่ะ
 

Dogilike.com :: ปรับพฤติกรรมผู้เลี้ยง เพื่อการลดน้ำหนักของสุนัขที่ได้ผล


     ... อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย กว่าสุนัขจะมีน้ำหนักลดลงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่เชื่อเถอะค่ะว่าเมื่อน้ำหนักลดลงแล้วสุนัขของเพื่อนๆ จะต้องมีสุขภาพดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ อย่าลืมนะคะ การควบคุมน้ำหนักสุนัขจะได้ผล ก็ต่อเมื่อเจ้าของต้องใจแข็ง มีวินัยในการควบคุมการให้อาหารและพฤติกรรมการกินของสุนัข ถ้าใจอ่อนล่ะก็ ต่อให้กินอาหารสูตรควบคุมน้ำหนักที่ดีสักแค่ก็ไม่สามารถทำให้น้ำหนักน้องหมาลดได้หรอกค่ะ

 

บทความโดย : Dogilike.com

ภาพประกอบ :
http://blog.petspyjamas.com/i-work-full-time-can-i-still-get-a-dog/fat-dog/
http://dybiz.com/sites_randomblog/fattest-dogs-really-very-fat
http://www.blacksheepslair.com/2012/08/foods-that-are-good-to-humans-but-not.html
http://dogfoodchat.com/human-food-for-dogs-is-it-safe/
http://truetothedog.com/tag/dog-diet/
http://www.virbacvet.com/news/12-08-31/QUESTIONS_LEAD_TO_BETTER_ANSWERS_FOR_PETS_%E2%80%93_August_2012.aspx
http://animals.howstuffworks.com/pets/protein-dogs-diet.htm