โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว
4 พฤติกรรม ของน้องหมาที่เราเข้าใจผิดมาตลอด!
ตามไปดูความจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมแปลกๆ เพี้ยนๆ ของน้องหมาว่าแท้จริงแล้วพฤติกรรมนี้เกิดจากสาเหตุอะไร
4 มกราคม 2556 · · อ่าน (289,694)
... น้องหมาที่บ้านเพื่อนๆ เคยมีพฤติกรรมแปลกๆ บ้างรึเปล่าคะ อย่างเช่น กลางค่ำกลางคืนเจ้าตัวแสบอยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมาหอนแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุย ไม่รู้ว่าหอนทำไม ... ผู้เลี้ยงบางคนถึงกับจิตนาการเอาตามประสบการณ์ที่ได้ดูภาพยนตร์สยองขวัญว่า น้องหมาจะมีบทบาทในการบิ้วอารมณ์ก่อนผีออกทุกที เอ๊ะ หรือว่าที่น้องหมาหอนนั้นเขาจะ "เห็นผี!!!!!"
ตายแล้ว! ผีมาทำยังไงดี ใส่พระดีกว่า พระอย่างเดียวอาจเอาไม่อยู่อาจจะต้องพึ่งข้าวสารเสกกับใบหนาดด้วย -*- ... เดี๋ยวก่อนนะคะ ก่อนที่เพื่อนๆ จะสติแตกกระเจิดกระเจิงไปมากกว่านี้ มะเหมี่ยวว่าบางทีการที่น้องหมาหอนนั้นอาจจะไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นผีก็ได้นะคะ บางที่ผู้เลี้ยงอย่างพวกเราก็คาดเดาถึงพฤติกรรมแปลกๆ ของน้องหมากันไปเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสาเหตุที่น้องหมามีพฤติกรรมแปลกๆ แบบนั้น อาจจะไม่ได้มาจากเหตุผลอย่างที่ผู้เลี้ยงคาดเดาเอาไว้ก็ได้
และเพื่อให้เพื่อนๆ คนรักคนเลี้ยงน้องหมาทุกคนได้เข้าใจพฤติกรรม(แปลกๆ) ของน้องหมามากขึ้น วันนี้มะเหมี่ยวก็มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมแปลกๆ ของน้องหมาที่ผู้เลี้ยงมักจะเข้าใจผิดมาฝากเพื่อนๆ ชาว ด็อกไอไลค์ (Dogilike) กันค่ะ
จริงหรือไม่ ... น้องหมาหอนเพราะเห็นผี!!!
ความเชื่อ เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาดูภาพยนตร์สยองขวัญ ในฉากที่ผีหรือวิญญาณกำลังจะปรากฎตัวมักจะมีเสียงหมาหอนนำมาก่อน จากนี้ผีก็จะโผล่มาหลอกหลอนคน ด้วยภาพจำนี้ทำให้ส่วนใหญ่คนจะเชื่อว่า ถ้าหากเป็นเวลากลางคืนแล้วหมาหอนนั่นแสดงว่าเขาอาจจะเห็นพลังงานหรือวิญญาณบางอย่าง (ก็เป็นได้ -*-)
ข้อเท็จจริง จงลบความเชื่อที่ว่าหมาหอนแล้วเห็นผีออกไปได้เลยค่ะ เพราะแท้จริงแล้ว น้องหมาไม่ได้หอนเพราะเห็นผีหรอกค่ะ แต่การที่น้องหมามักจะหอน เกิดจาก ประสิทธิภาพในการได้ยินของน้องหมาค่ะ ... หูของสุนัขมีความสามารถมากกว่ามนุษย์หลายเท่า สามารถรับคลื่นความถี่ถึง 15-100,000 เฮิรตซ์ จนระบุที่มาของเสียงได้อย่างแม่นยำและได้ยินไกลกว่ามนุษย์ถึงสี่เท่า ดังนั้นเมื่อสุนัขได้ยินเสียงที่มีความถี่สูงอย่าง ระฆัง รถขายไอศกรีม ไปรบกวนระบบประสาท จึงส่งเสียงโหยหวนออกมา
ส่วนที่เราตั้งข้อสังเกตกันว่าส่วนใหญ่น้องหมาจะชอบหอนตอนกลางคืนนั้น ก็เพราะว่า ช่วงกลางคืนเป็นเวลาที่น้องหมาอยู่โดดเดี่ยว มีอิสระในการทำอะไรตามใจตัวเอง น้องหมาก็เลยหอนเพื่อสื่อสารกันในตอนนั้น
และนอกจากในมุมของประสิทธิภาพและสัญชาตญาณในการได้ยินของน้องหมาแล้ว ก็ยังมีอีกหลายๆ สาเหตุที่เป็นที่มาของพฤติกรรมหอนแบบไม่มีปีไม่มีขลุ่ยของน้องหมา เช่น หอนตามธรรมชาติของสายพันธุ์ อย่างน้องหมาไซบีเรียนเป็นน้องหมาที่ชอบหอนมากกว่าชอบเห่าโดยธรรมชาติ , หอนเพราะเข้าใจผิด ถ้าน้องหมารู้สึกว่าการหอนคือการเรียกร้องความสนใจอย่างดีจากคุณ เขาก็จะทำทุกครั้งที่ต้องการ , หอนเพราะเครียดหรือเหงา ในตอนที่ถูกปล่อยให้อยู่บ้านลำพัง หรือเจ้าของนำไปฝากไว้กับคนอื่น น้องหมาก็จะหอนเหมือนเป็นการบอกความรู้สึกหงอยเหงา หรือบอกว่าพวกเขากำลังกังวลใจอยู่ , หอนเพราะต้องการออกกำลังกาย น้องหมาบางตัวมีพลังมาก ต้องการปลดปล่อยออกบ้าง จึงแสดงออกมาในรูปของการหอน
จริงหรือไม่ ... หมาไม่กัดคนที่เดินตามคนที่โตกว่า
ความเชื่อ ดั่งสำนวนไทยที่ว่า “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ... เราได้ยินคำคำนี้มาตั้งแต่เด็กๆ จนหลายคนมีความเชื่อว่าการเดินตามหลังผู้ใหญ่ หรือเดินตามคนที่โตกว่า แล้วน้องหมาจะไม่กัดเรา เมื่อมั่นใจดังนั้นแล้วเวลาไปไหนก็ทำท่าลั้ลลาเจอน้องหมาดุแค่ไหนก็ไม่เคยหวั่น แค่เดินตามผู้ใหญ่เท่านั้น รับรองหมาไม่กัดแน่ๆ แต่ปรากฎว่า ... งั่บบบ!!!! โดนจับน่องจนจมเขี้ยวเลย T^T
ข้อเท็จจริง จริงๆ แล้วสำนวนไทยที่ว่า “เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” นั้น มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ โดยที่มาของสำนวนนี้มากจากการที่ในอดีตคนโปราณเลี้ยงมักเลี้ยงน้องหมาไว้เฝ้ายาม-เห่าเตือนภัย เมื่อมีคนแปลกหน้าล่วงล้ำเข้ามาในเขตบ้านน้องหมาจะเห่าหรือกัดทันที แต่ถ้าเป็นคนคุ้นเคยหรือรู้จักกับเจ้าของบ้าน โดยเจ้าของบ้านมาตอนรับและห้ามไม่ให้น้องหมายุ่งกับแขกผู้มาเยือน น้องหมาก็จะไม่กัดใครก็ตามที่ไปกับเจ้าของ ดังนั้นจึงมีคำโบราณว่า "เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด" ซึ่งนำมาเปรียบเทียบว่าธรรดาผู้ใหญ่ได้ผ่านงานมามาก ย่อมมีวิสัยทัศน์ยาวไกลกว่าผู้น้อย ระเบียบแบบแผนที่ผู้ใหญ่ได้ว่างไว้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องผู้น้อยจึงต้องดำเนินรอยตามผู้ใหญ่
แต่สำหรับคนที่นำสำนวนโบราณนี้มาใช้เมื่อเจอน้องหมาแปลกหน้าแล้ว ต้องบอกเลยค่ะว่า “ไม่ได้ผล” เพราะการที่น้องหมาจะกัดหรือไม่กัดใครนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นจะเดินตามหลังคนที่โตกว่าหรือไม่ เพราะน้องหมาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครโตกว่าใคร ... แต่สิ่งที่น้องหมารับรู้ได้ก็คือ ใครคือคนที่กลัวเขาต่างหาก
ที่น้องหมาสามารถรับรู้ได้ว่าใครกำลังหวาดกลัวเขาอยู่ก็เพราะว่า ส่วนใหญ่คนที่กลัวน้องหมา เมื่อเจอน้องหมาก็มักมีจะอาการลุกลี้ลุกลน ชอบวิ่งหนี เพราะคิดว่าน้องหมาจะทำร้าย พฤติกรรมแบบนี้นี่ล่ะค่ะที่เป็นแรงกระตุ้นให้น้องหมาวิ่งไล่ตามสัญชาตญาณตาม ธรรมชาติ เพราะโดยสัญชาตญาณดิบของน้องหมาแล้วเขาจะมีความเป็นนักล่าอยู่ ดังนั้นเมื่อมีสิ่งเร้าก็จะเกิดแรงกระตุ้นให้น้องหมาอยากล่า
บวกกับความสามารถของน้องหมาในของประสาทสัมผัสการรับรู้ที่รวดเร็ว เวลาที่เดินผ่านน้องหมาคนที่กลัวน้องหมา ร่างกายจะหลังสารอะดรีนาลีนออกมา ซึ่งจะทำให้เลือดสูบฉีดมากกว่าปกติ แขนขาสั่น เสียงสั่น ซึ่งภาวะเหล่านี้น้องหมาจะสามารถสัมผัสได้ เพราะจะมีกลิ่นบางอย่างออกมา ทำให้น้องหมาได้กลิ่นและรับรู้ได้ตามสัญชาตญาณในทันทีว่า คนคนนี้กำลังกลัวเขาอยู่ และเมื่อน้องหมารู้ว่ากลัวเขาก็จะประเมินได้ในทันทีว่าคนคนนั้นไม่สามารถ ต่อสู้กับเขาได้ เขาจึงกล้าที่จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ขู่ หรือเข้ามากัด ... นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมสุนัขถึงรู้ว่าใครกลัวหรือไม่กลัวเขา
จริงหรือไม่ ... น้องหมาขี่ขาเจ้าของแปลว่าอยากผสมพันธุ์
ความเชื่อ เมื่อถึงช่วงวัยที่น้องหมาโตเต็มที่ น้องหมาจะเริ่มมีอาการขึ้นคร่อมหรือขึ้นขี่น้องหมาตัวอื่นๆ , สิ่งของ เช่น ตุ๊กตา หรือแม้กระทั่งขาหรือแขนของเจ้าของ โดยลักษณะการขึ้นคร่อมนั้นมีความคล้ายกับลักษณะท่าทางการสืบพันธุ์ของน้องหมา เจ้าของจึงเข้าใจว่าที่น้องหมามีอาการแบบนี้เพราะถึงเวลาที่เขาต้องการมีคู่
ข้อเท็จจริง ความเชื่อนี้ถูกเพียงครึ่งเดียวค่ะ เพราะจริงๆ แล้วพฤติกรรมการขึ้นคร่อมหรือขึ้นขี่ ไม่ว่าจะขี่ขาหรือแขนเจ้าของ ขี่ตุ๊กตา ขี่หมอน ขี่น้องหมาตัวอื่น อาจไม่ใช่ความต้องการจะสืบพันธุ์เสมอไป ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาการของน้องหมาที่ต้องการข่มตัวอื่น ตัวที่ถูกขี่หรือถูกคร่อมจะถือว่าอ่อนแอว่า ใครอยู่สูงกว่าถือว่าเหนือกว่า
การขึ้นขี่หรือขึ้นคร่อมของน้องหมานั้นถือเป็นภาษากายอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นได้ตั้งแต่ลูกสุนัขอายุ 1 เดือน ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นที่ชี้ชัดว่าการขึ้นขี่หรือขึ้นคร่อมของน้องหมาไม่ได้แสดงว่าเขาต้องการสืบพันธุ์เท่านั้น เพราะน้องหมาอายุเพียงแค่ 1 เดือน ยังไม่มีความต้องการในการสืบพันธุ์แน่นอน
การที่ลูกหมาตัวเล็กๆ ขึ้นขี่กันนั้น เป็นวิธีการทดสอบสถานะของตนเองในฝูง และเป็นการเรียนรู้ความเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่า เรียนรู้ว่าใครคือผู้ที่อยู่ต่ำกว่า ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้ในการเข้าสังคมของน้องหมา
นอกจากนี้แล้ว พฤติกรรมการขึ้นขี่หรือขี่คร่อมยังสามารถเกิดได้กับน้องหมาตัวเมีย เช่น ตัวเมียขี่ตัวเมีย ตัวเมียขี่ตัวผู้ หรือ ตัวผู้ขี่ตัวผู้ด้วยกัน ... จุดนี้ผู้เลี้ยงหลายคนอาจอินกระแส “คู่จิ้น” จิตนาการกันไปเองโดยใช้หลักจิตวิทยาของคนมาตัดสินน้องหมา บ้างก็คิดว่าน้องหมาเป็นทอม น้องหมาเป็นดี้ น้องหมาเป็นเกย์ น้องหมาเป็นตุ๊ด -*-
... จริงๆ แล้วพฤติกรรมการขึ้นขี่ของน้องหมาตัวเมียนั้น ก็เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการวางอำนาจเหนือกว่าอีกตัวเช่นกันค่ะ เป็นการแสดงภาษากายว่าตนอยู่เหนือกว่า มีอำนาจมากกว่า โดยอาจแสดงทั้งกับน้องหมาตัวเมียด้วยกัน หรืออาจแสดงกับน้องหมาตัวผู้ก็ได้ ดังนั้นพฤติกรรมนี้จึงไม่ได้หมายความว่าน้องหมามีภาวะผิดเพศแต่อย่างใด
จริงหรือไม่ ... น้องหมาที่เกาตามร่างกายตลอดเวลาต้องเป็นขี้เรื้อน
ความเชื่อ ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเจ้าของเห็นน้องหมาเกาตามร่างกายอยู่เป็นประจำ บางตัวเกาตลอดเวลา เจ้าของมักจะคิดว่าน้องหมาอาจกำลังเป็นขี้เรื้อนไม่น่าจะป่วยเป็นอะไรร้ายแรงมาก บางคนจึงไปพบคุณหมอโดยไม่พาตัวน้องหมามาให้คุณหมอตรวจ เมื่อมาถึงคลีนิคก็จะขอซื้อยาแก้ขี้เรื้อน
ข้อเท็จจริง อาการคันอย่างต่อเนื่องของน้องหมาไม่ได้บ่งชี้ว่าเขาจะป่วยเป็นขี้เรื้อนอย่างเดียวนะคะ แต่อาการคัน เกา หรือเลีย ตามผิวหนัง หรือตามแผล ของน้องหมานั้นเป็นเพียงอาการเบื้องต้นที่กำลังบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมายที่กำลังเกิดขึ้นกับน้องหมาค่ะ ตัวอย่างเช่น
- ภาวะผิวแห้ง จากหลายสาเหตุเช่น การขาดกรดไขมันจำเป็น สารอาหารไม่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ฯลฯ
- อาการแพ้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพ้อาหาร แพ้สารเคมี แพ้สิ่งรอบตัว แพ้แชมพู แพ้น้ำหอม แพ้น้ำยาถูพื้น และอื่นๆ อีกมากมาย
- ภาวะความไม่สมดุลของฮอร์โมน โดยภาวะที่พบมากๆได้แก่ ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ , ภาวะฮอร์โมนคอร์ติซอลมากกว่าปกติ เป็นต้นค่ะ
- ปรสิตต่างๆ ได้แก่ เห็บ หมัด เหา ไร
- โรคผิวหนัง ข้อนี้เองที่เจ้าของน้องหมามักจะเหมารวมว่าน้องหมาคันคือหมาขี้เรื้อน โรคผิวหนังในสุนัขมีมากมายหลายโรคไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ เชื้อรา โรคที่เกิดเฉพาะสายพันธุ์ โรคของระบบภูมิคุ้มกัน และอื่นๆ แต่ละโรคมีลักษณะของรอยโรคบนผิวหนังต่างกัน ทั้งนี้สามารถทำการวิฉัยโรคได้โดยการที่คุณหมอสอบถามประวัติของน้องหมาอย่าง ละเอียด ร่วมกับการตรวจผิวหนังหลายวิธี ทั้งขูดตรวจ ย้อมสี เพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุ เป็นต้นค่ะ
- มีอาการป่วยที่ทำให้มีการเจ็บป่วยทางร่างกาย กรณีนี้น้องหมามักจะเลียหรืองับบริเวณที่ตัวเองรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว
เมื่อทราบแล้วว่าอาการคันของน้องหมาไม่ได้บ่งชี้ว่าน้องหมาจะเป็นขี้เรื้อนเพียงอย่างเดียว เจ้าของจึงควรหาสาเหตุของอาการคันนั้นให้พบแล้วรีบพาไปให้คุณหมอรักษาโดยทันทีค่ะ
... มะเหมี่ยวเองก็หลงเข้าใจพฤติกรรมของน้องหมาผิดๆ มาซะตั้งนาน ที่ไหนได้ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้นี่เอง เห็นทีคงต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจพฤติกรรมแปลกๆ ของน้องหมาใหม่ซะแล้วล่ะค่ะ ... แล้วน้องหมาของเพื่อนๆ ล่ะคะ มีพฤติกรรมแปลกๆ อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้บ้างรึเปล่า ถ้ามีล่ะก็มาแชร์กันนะคะ ><
บทความโดย : Dogilike.com
ภาพประกอบ :
http://www.petinsurance.com/healthzone/pet-articles/pet-behavior/Why-Dogs-Do-Strange-Things.aspx
http://www.pawnation.com/2011/10/17/10-spooky-dog-tales/
http://news.bbc.co.uk/2/hi/in_pictures/6282743.stm
http://images.yourdictionary.com/fierce
http://www.sherdog.net/forums/f12/advanced-leg-riding-1056987/
http://spotorganics.wordpress.com/
SHARES