โดย: พริกขี้หนู

วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

เมื่อมีสมาชิกคนใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน ควรเตรียมตัวน้องหมาของเราอย่างไร

3 ตุลาคม 2556 · · อ่าน (11,247)
134

SHARES


134 shares
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 
     น้องหมาบางตัวอยู่ในครอบครัวที่มีแต่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยชราพวกเขาจะคุ้นชินกับลักษณะ ท่าทางของเจ้าของที่พวกเขาเห็นในแต่ละวัน จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาได้เห็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ หัวเหม่งๆ กลิ่นตัวหอมๆ ร้องเสียงดังตลอดเกือบทั้งวันมาอยู่ในบ้าน คนในครอบครัวทุ่มความสนใจไปยังสิ่งนั้นมากกว่าพวกเขา น้องหมาอาจเกิดความสับสน ทำตัวไม่ถูก ยิ่งถ้าไม่ค่อยได้ออกไปนอกบ้านเจอเด็กทารกมาก่อน ก็จะยิ่งสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้แก่พวกเขา หรือน้องหมาบางตัวคิดว่าทารกเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นของเล่นให้ไล่ล่า ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ ตามมา เช่นหวาดกลัว ซึมเศร้า หรือ แสดงความก้าวร้าว ดุร้าย ข่มขู่ เป็นต้น
 
     ด้วยเหตุข้างต้นนี้เอง จึงจำเป็นจะต้องฝึกฝน และเตรียมความพร้อมให้แก่ต้องหมา เรียนรู้พฤติกรรมของพวกเขา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างน้องหมากับสมาชิกใหม่ที่กำลังจะเกิดมา และจัดการผูกมิตรทั้ง 2  ให้เป็นเพื่อนกันค่ะ
 


 

น้องหมาสามารถรับรู้ได้ไหมว่าเจ้านายกำลังท้อง 

 
 
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 
     มีงานวิจัยของเจนนี่ เค. วิลลิส นักพฤติกรรมสัตว์ที่ได้จัดทำขึ้นร่วมกับวิทยาลัยสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงขึ้น เช่นเดียวกับน้องหมาเพศเมียที่ท้อง ซึ่งแน่นอนค่ะว่า น้องหมาที่เราเลี้ยงอยู่ย่อมสามารถได้กลิ่น รับรู้การเปลี่ยนแปลงของเจ้าของที่เกิดขึ้นว่ากำลังตั้งครรภ์ ในน้องหมาบางตัวที่ประสาทการดมกลิ่นดีมากๆ จะสามารถรับรู้ว่าเจ้าของตั้งครรภ์ก่อนที่เจ้าตัวจะรับรู้เสียด้วยซ้ำค่ะ แล้วเมื่อเจ้าของมีครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น น้องหมาจะสามารถรับรู้ถึงอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปของเจ้าของ มีความร้อนมากเป็นพิเศษบริเวณสะดือ พวกเขาจึงชอบเข้าไปนอนแนบชิดรับไออุ่น ฟังเสียงหัวใจของอีกหนึ่งชีวิต และรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวในครรภ์ได้อีกด้วย 
 
     นอกจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน และรูปร่างของเจ้าของที่น้องหมาสามารถรับรู้ได้แล้ว พวกเขายังสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน จัดห้องใหม่ เริ่มกันพื้นที่บางส่วนไม่ให้พวกเขาเข้าไป กิจวัตรหรือกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขาเปลี่ยนไป ไม่ค่อยได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน เปลี่ยนคนดูแลพวกเขา เจ้าของนั่งพักผ่อนมากกว่าปกติ อารมณ์หงุดหงิด แปรปรวน มีการการจัดลำดับในครอบครัวชัดเจนมากขึ้น กฏระเบียบต่างๆ ในบ้านเข้มงวดมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ความอ่อนไหวของประสาทสัมผัสการรับรู้กลิ่น หรือ การสังเกตพฤติกรรมของน้องหมาแต่ละสายพันธุ์ก็แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น น้องหมาบีเกิลอาจรับรับรู้ได้ดีกว่าน้องหมาชิสุ เป็นต้น ซึ่งน้องหมาบางตัวอาจจะรับรู้ไม่ได้เลยว่าเจ้าของกำลังตั้งครรภ์ค่ะ 
 


 

วิธีการเตรียมตัวน้องหมาก่อนพบเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 

    การเตรียมความพร้อมให้น้องหมาก่อนพบกับสมาชิกคนใหม่ของครอบครัวมีความจำเป็นทั้งในเชิงความรู้สึกและการใช้ชีวิต ซึ่งการเตรียมความพร้อมให้กับน้องหมาควรเริ่มขึ้นประมาณ 3-4 เดือนก่อนวันที่พาสมาชิกใหม่เข้าบ้าน ยิ่งเริ่มเร็วได้เท่าไหร่ก็ยิ่งดีค่ะ เพราะจะทำให้น้องหมาคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง ลดความตึงเครียด และลดโอกาสในการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวให้น้อยลงค่ะ
 
 
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 
     1. เตรียมความพร้อมทางด้านความรู้สึกให้น้องหมา
 
     - ระมัดระวังภาษากายที่อาจทำให้น้องหมารู้สึกไม่ดี เมื่อผู้เลี้ยงตั้งท้องจะหันมาให้ความสนใจกับทารกที่อยู่ในครรภ์ อาจมีอารมณ์แปรปรวน บางคนค่อยๆ แยกน้องหมาออกจากห้องนอน ซึ่งน้องหมาจะสามารถรับรู้ได้จากพลังงานว่ามีบางสิ่งเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม รู้ไม่มั่นคง ได้รับความรักไม่เต็มที่ นอกจากนี้ท่าทางการเดิน การวางมือทั้ง 2 ข้างประสานกันลงบนท้อง ในทางภาษากายอาจมีความหมายว่า “ไม่ว่างจะเล่นด้วย” “อย่ามายุ่ง” “ออกไปอยู่ห่างๆ”  ได้ค่ะ แต่ถ้ามือหนึ่งวางบนท้อง ส่วนแขนอีกข้างเปิดออกด้านข้างจะเป็นการส่งข้อความบอกน้องหมาว่า “มานี่ๆ” น้องหมาจะรู้สึกดีกว่า ไม่รู้สึกว่าถูกปฏิเสธค่ะ 

 
     - สังเกตพฤติกรรมน้องหมาว่าพวกเขากลัวหรือก้าวร้าวเมื่อพบเด็กทารก อันที่จริงเราสามารถสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาได้ในชีวิตประจำวันว่ามีแนวโน้มก้าวร้าว หรือ หวาดกลัว เมื่อพบเจอคนแปลกหน้าการพาพวกเขาเข้าสังคม พบปะผู้คนหลากหลาย โดยเฉพาะวัยทารก จะช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง เตรียมรับมือได้ถูกวิธีค่ะ  
 
 
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 
      -  หากจะโยกย้ายที่นอนน้องหมา ควรค่อยๆ เปลี่ยนทีละนิด ให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง  ในกรณีที่ปกติน้องหมานอนอยู่บนเตียงกับเจ้าของ อาจจะมีการโยกย้ายเปลี่ยนที่นอนของน้องหมาออกมาอยู่นอกห้อง เราควรค่อยๆ เปลี่ยนที่ให้พวกเขา โดยย้ายให้มานอนอยู่ที่เบาะมุมหนึ่งของห้องแทน ถ้าเขาไม่ยอมอาจจะต้องให้นอนในกรงแต่ยังคงอยู่ในห้องของเรา เพื่อให้พวกเขาค่อยๆ ปรับตัว ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง แต่เป็นการฝึกวินัยรูปแบบหนึ่ง เมื่อพวกเขาคุ้นเคยกับการนอนในเบาะหรือในกรงแล้วค่อยย้ายไว้นอกห้องค่ะ 

 
     - สร้างความมั่นใจน้องหมาด้วยการทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ บางคนอาจมีความเชื่อที่ว่า เมื่อตั้งครรภ์ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำงานหนัก เพราะอาจจะทำให้ครรภ์ได้รับการกระทบกระเทือน ในหนึ่งๆ วันจึงทำเพียงนั่ง นอน เดินไปมาเล็กน้อย ละเลยการพาน้องหมาไปออกกำลังกาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การได้เดินพาน้องหมาออกกำลังกาย การได้ยืดเส้นยืดสายจะยิ่งเป็นการทำให้กล้ามเนื้อ ร่างกาย มีสุขภาพแข็งแรง น้องหมารู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ ไม่รู้สึกสับสน รู้สึกถูกทอดทิ้ง จนสร้างพฤติกรรมแปลกๆ เรียกร้องเจ้าของให้กลายเป็นปัญหาครอบครัวต่อไป  

 
     - ปล่อยให้น้องหมามีอิสระมากขึ้น  ลดความสนใจให้น้อยลงทีละนิด เช่น แต่เดิมที่เรามักเรียกร้องความสนใจให้น้องหมาเดินมาหาเรา มีคลุกคลีกับเรา อยู่กับเราตลอดเวลา อาจจะค่อยๆ ปล่อยให้พวกเขาได้มีอิสระ สนใจ ตอแยเขาน้อยลง ให้น้องหมาได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง นอนเล่น หรือหาของเล่นให้พวกเขาเล่นเพลินๆ ให้ความรักพวกเขาเป็นเวลา เช่น ตอนพาไปออกกำลังกาย ตอนฝึกวินัย ให้ทำตามคำสั่ง เป็นต้นค่ะ เมื่อสมาชิกคนใหม่ของบ้านเข้ามาจนทำให้ผู้เลี้ยงไม่มีเวลาให้น้องหมา พวกเขาก็จะไม่รู้สึกว่าขาดความรัก ความเอาใจใส่นั่นเองค่ะ
 
 
 
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 
     2. เตรียมความพร้อมเรื่องวินัยและกิจวัตรใหม่ให้น้องหมา
 

     - ฝึกให้พวกเขารู้จักตำแหน่ง และพื้นที่ของตัวเอง ก่อนที่สมาชิกใหม่เข้าบ้าน หากจะมีการเปลี่ยนสถานที่ หรือ พื้นที่ของน้องหมาก็ควรจะทำโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีปัญหาการหวงที่ หวงถิ่น จนส่งผลให้เกิดการบาดหมางแก่ทารกน้อย เช่น ถ้าปกติเขานอนอยู่บนเตียงในห้องของเรา ก็ควรจะฝึกให้พวกเขารู้จักตำแหน่งใหม่ในบ้าน เช่น ฝึกให้นอนในกรง หรือ หาพื้นที่ใหม่ในบ้านให้พวกเขาอยู่เสียตั้งแต่เนิ่นๆ ค่ะ  
 
     - ฝึกวินัยกฏระเบียบ ค่ำสั่งต่างๆ  การฝึกให้น้องหมารู้จักคำสั่ง กฏระเบียบ คำห้ามปรามต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมากระโดด หรือกระโจนใส่เจ้าของเมื่อตั้งครรภ์อยู่ หรือเมื่อพาสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้าน โดยมีวิธีการคือ ใช้หาตุ๊กตามาอุ้ม ทำท่าเหมือนอุ้มลูก เมื่อน้องหมาจะเข้ามาหา หรือ กระโจนใหเบอกว่า “หยุด” เมื่อหยุกก็ให้ขนมกับคำชมเป็นรางวัลค่ะ  (อ่านเพิ่มเติมบทความ เคล็ด (ไม่) ลับ! การฝึกให้น้องหมารู้จักควบคุมตัวเอง  ค่ะ) 

 
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 
    - สร้างความคุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวัน หรือ บรรยากาศใหม่ๆ  เมื่อสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้าน กิจวัตรว่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น เจ้าของตื่นเช้าตรู่อาบน้ำให้ลูก เสียงเด็กร้องตลอดคืน มีคนมาเยี่ยมเยียนบ้าน เจ้าของอาจไม่ค่อยมีเวลาพาไปออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรม กิจวัตรที่เปลี่ยนไปนี้อาจส่งผลให้น้องหมาสับสน หวาดกลัว เกิดความเครียดขึ้นมาได้ ทางที่ดีก่อนที่สมาชิกใหม่เข้าบ้าน ควรมีการเริ่มทำกิจวัตรใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อพาทารกมา เช่น ให้คนอื่นในครอบครัวพาน้องหมาไปออกกำลังกายแทน ตื่นให้เร็วขึ้น ใช้แป้งเด็กให้น้องหมาคุ้นเคยกับกลิ่น เปิดเสียงดนตรีเด็กๆ หรือเปิดเสียงเด็กร้องไห้ เสียงเด็กหัวเราะ คุยกับน้องหมาเรื่องลูก หรือถ้ารู้เพศลูก อาจจะตั้งชื่อเล่นๆ ไว้ในใจแล้วก็ให้เรียกชื่อนั้นบ่อยๆ และพาน้องหมาออกไปพบปะทารกน้อยนอกบ้าน เป็นต้นค่ะ  
 


 

วิธีการผูกมิตรน้องหมากับสมาชิกใหม่ของครอบครัว


 
     น้องหมาบางตัวที่เคยมีประสบการณ์การพบเจอสมาชิกของครอบครัวมาก่อนแล้ว มักจะปรับตัวได้ ไม่ค่อยมีปัญหา แต่สำหรับน้องหมาที่เพิ่งเคยมีประสบการณ์ต้อนรับสมาชิกคนใหม่เป็นครั้งแรก อาจจะรู้สึกตกใจ เกิดความเครียดกับกลิ่นใหม่ๆ รูปร่างคนที่ไม่คุ้น เสียงร้องปวดหู การผูกมิตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งน้องหมา เด็กน้อย และคนในครอบครัวค่ะ 
 
 
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว
 
 
     1.สร้างความประทับใจแรกที่ดีให้น้องหมา เมื่อพาสมาชิกใหม่เข้าบ้าน 
 
     ความประทับใจแรกเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับการสร้างประสบการณ์ ความทรงจำที่ดี เจ้าของควรสร้างพลังงานที่ดี สุขุม ผ่อนคลาย เมื่อพาเจ้าตัวน้อยเข้าบ้าน ไม่ตวาดใส่น้องหมา แต่ปล่อยให้น้องหมาดมกลิ่นตัวของทารก ทักทายเขาด้วยน้ำเสียงปกติ  บอกให้น้องหมานั่งลงดีๆ จากนั้นให้ขนมเป็นรางวัล    
 

     2. แนะนำน้องหมาให้รู้จักสมาชิกใหม่ 
 
     การจะให้น้องหมาทำความรู้จักทารกน้อย จะต้องค่อยๆ เริ่มที่ละนิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการเลือกห้องเงียบๆ ในบ้าน ปิดประตูกันไม่ให้เลี้ยงภายนอกรบกวนทำให้ทั้งน้องหมากับทารกตกใจ ผู้เลี้ยงควรอุ้มทารกน้อยหรือวางไว้บนตัก จากนั้นให้มีใครสักคนในบ้านใส่สายจูงให้น้องหมาพาเข้ามาในห้องบอกให้นั่งลงพร้อมกับให้ขนมเป็นรางวัล บรรยากาศภายในห้องควรผ่อนคลาย สบายๆ ไม่ตึงเครียด เพื่อให้น้องหมาไม่รู้สึกอึดอัดและรับประสบการณ์ที่ไม่ดี

     ลำดับต่อไปผู้เลี้ยงควรปล่อยให้น้องหมาเข้าหาทารกน้อยค่อยๆ ให้เขาได้ดมเพื่อทำความคุ้นเคย พลางพูดชมเชยน้องหมา ให้ขนมเขาเป็นรางวัล อย่าลืมสังเกตภาษากายน้องหมาว่ารู้สึกดีกับสมาชิกใหม่หรือไม่ เช่น กระดิกหาง เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังคงใส่สายจูงเอาไว้นะคะ เผื่อน้องหมาเกิดไม่ถูกใจขู่จะทำร้าย หรือหวาดกลัวสมาชิกใหม่ขึ้นมาจะได้ห้ามปรามทัน โดยการกระตุกสายจูงเบาๆ บอกให้เขานั่งลง เมื่อเขายอมนั่งก็ให้ขนมเป็นรางวัล การฝึกควรทำซ้ำ 2-3 ครั้ง จึงปล่อยให้น้องหมาไปพัก แล้วค่อยกลับมาฝึกต่อไปเรื่อยๆ จนน้องเคยเริ่มคุ้นค่ะ 
 
 

Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 
     3. ทำให้น้องหมารักเจ้านายใหม่ของบ้าน
 
     น้องหมาก็ต้องการความรักไม่ต่างจากคนค่ะ ถ้าวันหนึ่งความรักที่มีให้ขาดหายไป พวกเขาจะรู้สึกน้อยใจ และบางตัวอาจเกิดความอิจฉา ไม่ถูกชะตาสมาชิกใหม่ของครอบครัวได้ ดังนั้นการแบ่งปันความรักให้เท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่น เวลาวางทารกน้อยนั่งเล่นอยู่บนโซฟา น้องหมาอาจจะมานั่งอยู่ข้างๆ ไม่ควรจะนิ่งเฉย แต่ควรให้ความสนใจ พูดคุยกับน้องหมา ลูบตัว ให้ขนมหรือของเล่นแก่พวกเขา   
 
     อีกวิธีหนึ่งคือ ให้ผู้เลี้ยงเพิกเฉยต่อน้องหมาเมื่อทารกน้อยไม่ได้อยู่กับผู้เลี้ยง หรือทารกนอนหลับอยู่ น้องหมาจะเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายที่ไม่ได้รับความสนใจ แต่ในทางกลับกัน เมื่อทารกอยู่กับผู้เลี้ยง ให้ชวนน้องหมาเข้ามาเล่น มานั่งด้วยใกล้ๆ ซึ่งพวกเขาก็จะรู้สึกว่าเวลามีสมาชิกใหม่ในบ้านอยู่ด้วยเป็นเวลาที่สนุก มีความสุข แล้วพวกเขาทั้ง 2 ก็จะค่อยๆ ผูกมิตรกันค่ะ 

 
     4.การห้ามปรามน้องหมาไม่ให้รบกวนหรือเข้าใกล้ทารก
 
     การห้ามน้องหมาไม่ให้เข้าใกล้ทารกในบางเวลา อาจทำให้พวกเขารู้สึกถูกกีดกัน และรู้สึกไม่ดีกับสมาชิกใหม่ของบ้านได้ การห้ามปรามน้องหมาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ด้วยเหตุนี้เองการบอกให้น้องหมาออกไปห่างๆ ไม่ให้เข้ามาจะต้องพูดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น สุขุม ไม่ขึ้นเสียง แล้วเมื่อเขาทำตามก็ต้องให้คำชม ขนมหรือของเล่นเป็นรางวัล เพียงเท่านี้ความสัมพันธ์อันดีของทั้งคู่ก็จะไม่กลายเป็นความบาดหมางค่ะ
 

 
 

สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการผูกมิตรน้องหมากับสมาชิกใหม่


 
 
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว

 
     การจะให้น้องหมาผูกมิตรกับสมาชิกใหม่ต้องขึ้นอยู่กับความความสมัครใจของเขาเท่านั้นนะคะ ให้น้องหมาค่อยๆ เข้าหาเองที่ละนิด ดมกลิ่นให้คุ้นเคย ส่วนผู้ควรก็ให้ค่อยๆ ลูบน้องหมาเบาๆ ใช้เสียงอ่อนๆ ต่ำๆ ชื่นชม เชิญชวนเขา ไม่ควรบังคับให้พวกเขาเข้าไปทำความรู้จักเด็ดขาดค่ะ

     ในขณะเดียวกัน ถ้าต้องการห้ามเขาไม่ให้ไปยุ่งก็ควรสัมผัสให้เขารู้ตัว บอกด้วยน้ำเสียงที่มั่นคงเป็นการห้ามปรามไม่ควรตะโคกใส่ หรือใช้กำลังค่ะ  เพราะ ยิ่งจะทำให้พวกเขาหวั่นกลัว วิตกกังวล เกิดความเครียด ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี และต่อต้านสมาชิกใหม่ค่ะ 
 
     กรณีที่น้องหมามีพฤติกรรมก้าวร้าว เมื่อพาสมาชิกใหม่เข้าบ้าน เช่น ขู่ เห่า แยกเขี้ยวใส่ หรือจะเข้าไปกัด เพราะคิดว่าเป็นของเล่น เป็นสัตว์ตัวน้อยๆ อาจจะต้องแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน แต่ก็ควรอุ้มพาเด็กน้อยเดินอยู่ในบ้าน และรอบๆ บ้าน ให้น้องหมาได้รู้ว่าเด็กคนนี้มีสิทธิ์อยู่ในบ้านนี้ เป็นเจ้านายของพวกเขา นอกจากนี้เวลาพาน้องหมาไปเดินเล่น อาจจะพาพวกเขาเดินไปพร้อมกับทารกในรถเข็นก็ได้ค่ะ แต่ต้องแยกคนจูงน้องหมานะคะ และไม่ควรด่าว่า หรือทำโทษน้องหมา อย่างไรก็ตาม หากน้องหมาก้าวร้าวจนเกินความสามารถจะจัดการได้เอง อาจจะต้องพาไปยังโรงเรียนฝึกสุนัขปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยแก้ไขค่ะ 
 
 
Dogilike.com :: วิธีการผูกมิตรน้องหมาให้เข้ากับเจ้านายคนใหม่ของครอบครัว
 
 
     การมีสัตว์เลี้ยงหรือน้องหมาอยู่ร่วมครอบครัว รักใคร่กลมเกลียวกันดีเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นทั้งน้องหมาและคนในครอบครัว ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า การเลี้ยงน้องหมาสามารถช่วยให้ลดความตึงเครียด ความหดหู่ มีความสุขมากขึ้น เพิ่มระดับความดันเลือด ไม่ให้ต่ำจนเกินไป  และยังสามารถช่วยให้อายุยืนได้อีกด้วย ถ้าใครกำลังจะมีน้องหนูตัวเล็กลองใช้เวลาอยู่กับน้องหมามากขึ้น อาจพาไปเดินเล่น หรือให้น้องหมานอนอิงแอบท้องอุ่นๆ ก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีความสุข เสริมสร้างความสัมพันธ์ รักกันยาวนานยิ่งกว่าเดิมอีกค่ะ (สามารถเข้าไป อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 4 วิธี เตรียมความพร้อมให้น้องหมาอยู่ร่วมกับหญิงตั้งครรภ์ ได้นะคะ ^^) 


 
 
บทความโดย : Dogilike.com

 
ข้อมูลอ้างอิง :
 
http://www.aspca.org/pet-care/virtual-pet-behaviorist/d
og-behavior/introducing-your-dog-your-new-baby
http://dogs.about.com/od/childrenanddogs/a/Preparing-Dog-for-New-Baby.htm
http://www.aspca.org/pet-care/virtual-pet-behaviorist/
dog-behavior/preparing-your-dog-new-baby
http://www.vetstreet.com/our-pet-experts/bringing-home-a-baby-get-your-dog-ready
http://www.humanesociety.org/animals/resources/tips/pets_babies.html
http://animal.discovery.com/pets/do-dogs-know-when-i-am-pregnant.htm
http://www.babycenter.com/400_do-dogs-know-youre-pregnant_9166849_550.bc
http://www.woofreport.com/more-bones-to-chew-on/2601-can-dogs-sense-a-womans-pregnancy.html
 
 
ภาพประกอบ :
 
nameberry.com
www.dailymail.co.uk
beesferryvet.wordpress.com
wearehishands.blogspot.com
pawmettolifeline.org
dogs.about.com 
www.dogguide.net
www.dogster.com
mamatatiiaz.com