โดย: พริกขี้หนู
สอนเด็กๆ ให้รู้จักการรักน้องหมาอย่างถูกวิธี
เด็กๆ เห็นน้องหมาน่ารักก็อยากเล่น....แต่ไม่ใช่ทุกตัวนะที่เล่นได้!
10 ตุลาคม 2556 · · อ่าน (6,835)
เด็กๆ เติบโตมากับตุ๊กตารูปสัตว์ต่างน่ารักๆ ดูการ์ตูนเห็นสัตว์ใจดี เวลาเจอน้องหมา ตัวจริงก็แทบจะโถมเข้าหา เพราะหากดูจากภายนอกแล้วน้องหมา มีหน้าตาน่ารัก ชวนให้เด็กๆ เข้าไปเล่นด้วย แต่ในความเป็นจริงนอกเหนือจากความน่ารัก สัตว์แต่ละตัวก็จะมีอารมณ์และนิสัยที่หลากหลายแตกต่างกันไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะคอยช่วยสอนให้เด็กๆ ทำความเข้าใจกับสัตว์เลี้ยงกันใหม่ โดยเฉพาะน้องหมาที่ดูแสนจะใจดี หน้าตาจิ้มลิ้ม น่ารักสดใส ว่าแท้ที่จริงแล้ว พวกเขาก็อารมณ์เสียเป็น กลัวเป็น ไม่ไว้ใจเป็น และมีพื้นที่ส่วนตัวที่ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเคารพและมีกฏกติการ่วมกันค่ะ
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวเด็กๆ เอง และตัวของน้องหมา เราควรจะสอนให้พวกเขาเข้าใจธรรมชาติของน้องหมา และรู้จักวิธีสร้างสัมพันธไมตรีกับน้องหมาอย่างถูกวิธี ...
ทำความเข้าใจกฏกติกาการทำความรู้จักน้องหมา
ควรขออนุญาตเจ้าของก่อนเล่นกับน้องหมา เมื่อเด็กๆ เจอน้องหมาแปลกหน้า แม้จะมีเจ้าของใส่สายจูงหรืออยู่ในรถเข็นมา ก่อนจะจับน้องหมาควรจะสอบถามเจ้าของก่อนว่าสามารถจับเล่นได้หรือเปล่า ไม่ควรยื่นมือเข้าไปจับหรือลูบน้องหมาถ้าเจ้าของไม่อยู่หรือยังไม่อนุญาต เพราะ น้องหมาอาจไม่คุ้นชิน หรือไม่ชอบคนแปลกหน้า อาจจะป้องกันตัวโดยการงับหรือกัดได้ค่ะ นอกจากการการขออนุญาตจะเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเด็กๆ แล้วยังเป็นการสร้างวินัยและสร้างมารยาทที่ดีในการเข้าสังคมของเด็กๆ อีกด้วยค่ะ
สอนให้เด็กๆ รู้ว่าอวัยวะส่วนใดของน้องหมาไม่ควรจับ หรือ ดึง น้องหมามีความไวต่อการสัมผัสทุกส่วนในร่างกาย โดยเฉพาะ หู หาง ขา ท้อง ที่เป็นอวัยวะสุดฮิตของเด็กที่มักจะคว้าไปจับ หรือดึง เด็กเล็กๆ บางคนเห็นน้องหมาตัวก็คว้าโอบใต้ท้องหมา ทำให้พวกเขาเจ็บ หวาดกลัว ไม่มั่นคง แล้วงับมือเด็กทันทีเพื่อเป็นการป้องกันตัว ผู้ใหญ่ควรบอกเด็กๆ ว่าอวัยวะส่วนไหนของน้องหมาที่ไม่ควรจับหรือดึง และสอนเด็กๆ ให้ปฏิบัติต่อน้องหมาด้วยความนุ่มนวล ไม่รุนแรง น้องหมาจะได้รู้สึกปลอดภัยและไม่ทำร้ายเด็กๆ
สอนวิธีการเข้าหาน้องหมาแก่เด็กๆ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลควรสอนให้เด็กๆ ทำความรู้จักน้องหมาโดยเริ่มให้น้องหมาเข้ามาทำความคุ้นเคยกับเด็กๆ ก่อน โดยการให้ดม ให้มอง แล้วก็เรียกชื่อน้องหมา จากนั้นถึงค่อยๆ ลูบน้องหมาที่บริเวณหัวไหล่ ให้พวกเขาคุ้นเคยกับเด็กๆ ค่ะ ส่วนเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่ควรทำเมื่อเจอน้องหมาแปลกหน้าก็เป็นสิ่งที่ต้องเตือนให้เด็กรู้ เช่น อย่าวิ่งเวลาสุนัขอยู่ใกล้ อย่ากรี๊ด เพราะเป็นการกระตุ้นให้น้องหมาไล่ล่าจู่โจม อย่าจ้องตาน้องหมา เพราะเป็นการแสดงการท้าทาย เป็นต้นค่ะ (อ่านเพิ่มเติม 6 สิ่งที่ห้ามทำถ้าไม่อยากเจอหมาแปลกหน้ากัด [Infographic] และ บทความ ถึงเวลาทำความเข้าใจ "ความรู้สึกน้องหมา" อย่างถูกต้อง นะคะ)
สอนให้สังเกตสิ่งแวดล้อมของน้องหมา เช่น ไม่ควรเล่นกับสุนัขที่ถูกล่ามโซ่เพราะอาจเป็นน้องหมาดุ หรือมีความเครียดมากๆ ไม่ควรเล่นกับน้องหมาที่อยู่ในบริเวณรั้วบ้านของคนอื่น เพราะการที่เรายื่นมือเข้าในในบ้านหมายถึงการรุกล้ำเข้าไปในอาณาเขตของน้องหมา พวกเขาอาจจะหวงและทำร้ายเราได้ และ ไม่ควรเล่นกับน้องหมาที่อยู่ในรถยนต์หรือท้ายปิคอัพที่ไม่มีเจ้าของอยู่ เนื่องจากน้องหมาอาจจะเกิดอาการหวงพื้นที่ หรือหวั่นกลัวไม่ไว้ใจว่าเราจะทำร้ายหรือไม่ อาจจะงับหรือกัดได้ เป็นต้นค่ะ
ทำความเข้าใจพื้นที่ส่วนตัวของน้องหมาที่เราเลี้ยง
เรื่องอาณาเขตกับน้องหมาไม่เข้าใครออกใครนะคะ พวกเขาต้องการความปลอดภัยแต่มั่นคงทางอารมณ์สูง ขี้หวง และพร้อมจะปกป้องพื้นที่ของตัวเองทันทีที่มีใครมารุกราน ซึ่งพริกได้ข้อมูลมาจากนิตยสาร Real Parenting เขียนโดย น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์ และการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงกับมนุษย์ ว่าด้วยสถานการณ์เสี่ยงที่เด็กๆ สามารถถูกน้องหมากัดได้ ดังต่อไปนี้ค่ะ
ไม่ควรเข้าไปอุ้มน้องหมาที่นอนหรือหลบอยู่ ใต้เตียง ใต้ตู้ หรือ ใต้เก้าอี้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่น้องหมาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ต้องการการพักผ่อน การพาพวกเขาออกจากพื้นที่โดยไม่สมัครใจ ส่งผลให้น้องหมารู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ หวาดกลัว อีกทั้งยังเป็นการไม่เคารพพื้นที่ของพวกเขา ซึ่งเป็นการแสดงอำนาจเหนือรูปแบบหนึ่ง น้องหมาอาจจะงับมือ หรือกัด เพื่อแสดงอำนาจของพวกเขาค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่งเมื่อน้องหมากำลังพักผ่อน และที่สำคัญผู้ใหญ่ไม่ควรจับ อุ้ม หรือเคลื่อนย้ายน้องหมาที่หลบอยู่ให้เด็กๆ เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะนั่นจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบได้ค่ะ ควรใช้วิธีเรียก หาขนม หรือของเล่นมาล่อน้องหมาให้ออกมาแทน
ไม่ควรป้อนอาหารให้น้องหมา เด็กๆ หลายคนอาจมีความเข้าใจว่าน้องหมาเป็นตุ๊กตาน้อย หรือน้องหมาที่สามารถเล่นบทบาทสมมติป้อนข้าว ป้อนน้ำให้ได้ หรือเด็กๆ บางคนอาจรักเอ็นดูน้องหมามากๆ จึงอยากจะป้อนอาหารให้กินเองกับมือ แต่อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้โดยที่น้องหมาไม่เจตนา อย่างเช่น น้องหมาหิวจัด รีบกินจนงับมือ หรือในกรณีที่มีน้องหมามากกว่า 1 ตัว อาจทำให้เกิดความอิจฉา ขู่ และกัดกัน ตะลุมบอลจนเด็กๆ โดนลูกหลงไปด้วย ผู้ใหญ่จึงต้องระมัดระวัง สอดส่องดูแลไม่ให้คลาดสายตาคอยเตือนเด็กๆ และไม่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างค่ะ
ไม่ควรเข้าใกล้หรือแย่งชามอาหาร และของเล่นของน้องหมา ปกติเด็กๆ มักจะรู้หมั่นเขี้ยงน้องหมา หรืออยากจะมีส่วนร่วมกับน้องหมา ไม่ว่าจะเล่นของเล่นด้วยกัน อยากเข้าไปจับถาดอาหาร ดูอาหาร เล่นอาหาร หรือป้อนอาหารน้องหมา แต่สำหรับน้องหมาแล้วกลับเข้าใจว่าเด็กๆ กำลังเข้ามาแย่งอาหาร หรือของเล่นของพวกเขา ผู้ใหญ่ควรอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจว่าน้องหมาก็สามารถหวงของได้เช่นเดียวกับพวกเขา แต่ในกรณีที่ต้องการให้การเคลื่อนชามอาหาร หรือ เอาของเล่นออกจากปากน้องหมาเป็นกฏระเบียบหนึ่งที่คนในครอบครัวทุกคนสามารถทำได้ และน้องหมาจำเป็นต้องยอมรับอยู่ในกฏ ก็ควรจะสอนให้เด็กๆ รู้จักกฏนั้น โดยการฝึกวินัยให้เด็กๆ รู้ว่าตนเองจะต้องใจเย็น ออกคำสั่งน้องหมา ว่าให้นั่ง หมอบ รอให้พวกเขาปล่อยของเอง แทนที่จะแย่งออกมาจากปาก จากนั้นต้องให้ของคืน และให้คำชม เป็นต้นค่ะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ เคล็ด (ไม่) ลับ! การฝึกให้น้องหมารู้จักควบคุมตัวเอง และบทความ เทคนิคการฝึกน้องหมาให้ปล่อยของออกจากปาก ค่ะ)
ไม่ควรจับ ไล่ หรือตีน้องหมาที่นอนอยู่บนเตียง หรือโซฟา น้องหมาที่ชอบนอนอยู่บนโซฟาทั้งวันไม่ไปไหน ส่วนหนึ่งเพราะถือว่านั่นคือพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขา คนที่บอกให้พวกเขาลงไปได้คือจ่าฝูง หรือเจ้านายของพวกเขาเท่านั้น เด็กๆ ตัวเล็กๆ ไม่มีสิทธิ์แหยม ดังนั้นเมื่อเด็กๆ ขับไล่ให้ลงไป หรือ อุ้มพวกเขาลง จึงมีความรู้สึกว่าถูกท้าทาย และกำลังถูกรุกล้ำอาณาเขตอาจจะกัดเด็ก หรือ บางตัวอาจนอนหลับอยู่ ตกใจงับมือโดยไม่ตั้งใจ ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กๆ รู้วิธีการเรียกให้น้องหมาลงจากโซฟา เช่น ให้เอาขนมล่อ หรือ ให้เด็กๆ ฝึกวินัยน้องหมา เพื่อให้น้องหมาเชื่อฟังและ น้องหมาจะได้เห็นเด็กๆ เป็นหนึ่งในจ่าฝูง ส่วนอีกวิธีก็คือ จัดสรร แบ่งเขตพื้นที่ให้ชัดเจนว่า โซฟาเป็นพื้นที่ของคน ส่วนน้องหมาก็ให้นอนอยู่มุมอื่นๆ ของบ้าน อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง
ถ้าน้องหมาสุนัขแย่งของเล่นจากเด็กๆ ไป ไม่ควรแย่งคืน ปัญหาหลายครั้งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ คือ เมื่อน้องหมาแย่งของเล่นไป เด็กๆ จะหวงจะรีบกระชากคืนในทันที น้องหมาบางตัวเร็วกว่าอาจวิ่งคาบหนีไปได้ เด็กๆ ก็จะเริ่มจัดการด้วยความรุนแรงมากขึ้น เช่น ไล่ตะโกนด่าว่า กรีดร้อง เอาไม้ไล่ตี ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้น้องหมาพยายามเอาชนะ วิ่งคึกไม่ยอมปล่อยของ น้องหมาบางตัวหวงมากอาจจะงับเด็กๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ ดังนั้นผู้ใหญ่ควรเป็นฝ่ายเรียกให้น้องหมาคืนของเอง และควรสอนให้เด็กๆ รู้วิธีการให้น้องหมาคืนของอย่างถูกต้องนะคะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ เทคนิคการฝึกน้องหมาให้ปล่อยของออกจากปาก ค่ะ)
ทำความเข้าใจพฤติกรรมและภาษากายของน้องหมา
ถึงแม้วิธีการสังเกตพฤติกรรมของสุนัขว่ามีแนวโน้มจะกัดแก่เด็กๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเขาต้องรู้ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่เด็กๆ จะเข้าใจ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้วิธีการพาเด็กๆ พบไปน้องหมามากขึ้น เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงทีละเล็กทีละน้อยค่ะ
เริ่มจากการเรียนรู้ภาษากายที่แสดงออกทางเชิงทางบวกของน้องหมา เพื่อที่ให้เด็กๆ จับสังเกตได้ว่า น้องหมาที่ทำท่าทางอย่างนี้ คือสามารถเข้าไปหาได้ เล่นได้ แต่ก็อย่าลืมวิธีการเข้าหาน้องหมาอย่างถูกวิธีที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งภาษากายที่แสดงออกในเชิงบวกก็เช่น กระดิกหาง นอนหงายกระดิกหาง ยืดตัวใส่ เลียมือ เป็นต้นค่ะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ มาดูน้องหมาบอกรักผ่านภาษากายกัน นะคะ)
ให้เด็กๆ เรียนรู้ได้กรณีที่น้องหมาแสดงภาษากายว่ากำลังอารมณ์ไม่ดี มีความเครียด หงุดหงิด ไม่ต้องการให้ตอแย ผู้ใหญ่อาจจะต้องเป็นคนที่คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเด็กๆ ไม่ให้เข้าไปยุ่งกับน้องหมาที่อารมณ์ไม่ดีด้วยการดูลักษณะการแสดงออกของน้องหมาเมื่อเด็กๆ เข้าไปใกล้ว่าเครียด หวาดกลัว หรือไม่ เพราะไม่ใช่น้องหมาทุกตัวที่แสดงความก้าวร้าวโดยการขู่ คำราม เห่ากระโชกเมื่อหงุดหงิด ก้าวร้าว โดยลักษณะการแสดงออกว่าน้องหมาเครียด รู้สึกกดดันจะมีลำดับขั้นของอารมณ์จากน้อยไปสู่มาก ซึ่ง น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ ได้มีข้อมูลระบุไว้ดังต่อไปนี้ค่ะ
- หันหน้าหนี เมื่อเด็กๆ เดินเข้าไปหา หรือทักทาย
- เบี่ยงตัวหนี ยกขาหน้าขึ้นค้าง เป็นการแสดงออกว่าพวกเขารู้สึกกังวล อึดอัดไม่สบายใจแล้วนะ
- เดินหลบ ไปที่อื่นตามมุม หรือใต้โต๊ะใต้ตู้
- หูจะลู่ไปทางข้างหลัง ด้วยความกลัว ถ้าเด็กๆ ยังเดินต้อนจน น้องหมาจะรู้สึกจนมุม
- เริ่มย่อตัวลง หางจุกตูด กลัวไม่ไหวแล้ว รู้สึกไม่มั่นคงมากๆ
- นอนหงายท้องยกขา เมื่อน้องหมารู้สึกถูกกดดันมากๆ นั่นเป็นการแสดงออกว่าพวกเขายอมแพ้แล้ว กลัวถึงขีดสุด ปกติถ้าเป็นน้องหมาด้วยกันเอง อีกฝ่ายที่คุกคามจะหยุดเพราะถือว่าอีกฝ่ายยอมโดยศิโรราบ แต่เด็กๆ ส่วนใหญ่จะยิ่งเดินเข้าไปหา ลูบตัวหรือเล่นด้วยแทน
- ขู่ ขนตั้งชัน คำราม เมื่อน้องหมายอมแพ้แล้วแต่ยังโดนคุกคาม
- งับ และ กัด เป็นการแสดงความก้าวร้าวออกมาเพื่อป้องกันตัว
ลำดับขั้นการแสดงออกของน้องหมาที่อยู่ในภาวะเครียด หวาดกลัว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามแต่ละสภาวะอารมณ์ ความมั่นคง และประสบการณ์ที่เคยได้รับของแต่ละตัวนะคะ แต่อย่างน้อยผู้ใหญ่ก็ควรจะสังเกตพฤติกรรมของน้องหมาขณะกำลังเล่นกับเด็กๆ อยู่ด้วย ถึงแม้จะเป็นน้องหมาในครอบครัวก็ตาม ไม่ควรคลาดสายตาเด็ดขาดค่ะ(อ่านเพิ่มเติม บทความ 10 ภาษากายน้องหมาที่กำลังบอกว่าเครียด วิตกกังวล และ และเรียนรู้การสื่อสารของน้องหมาผ่านภาษากาย ค่ะ)
การทำความเข้าใจให้เด็กๆ รู้จักรักน้องหมาอย่างถูกวิธีเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา การเรียนรู้ และประสบการณ์ตรง ผู้ใหญ่ควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิด หากต้องการสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้อย่างจริงจังควรจะเริ่มต้นสอนให้ทำความรู้จักจากน้องหมาในบ้านก่อนนะคะ แต่ถ้าที่บ้านไม่มีน้องหมา ก็สามารถพาเด็กๆ ไปตามสถานสงเคราะห์ให้พวกเขาได้เรียนรู้น้องหมาหลากหลายนิสัย เรียนรู้ได้หลายวิธี อีกทั้งยังเป็นการสอนให้เด็กๆ มีจิตใจเมตตา เห็นอกเห็นใจ เข้าใจถึงความรู้สึก และธรรมชาติของน้องหมาได้อย่างแท้จริงค่ะ
บทความโดย : Dogilike.com
ข้อมูลอ้างอิง :
นิตยสาร Real Parenting เดือน ตุลาคม 2555
http://dogcare.dailypuppy.com/teach-children-respect-dog-1526.html
https://www.avma.org/public/Pages/Teaching-children-about-dog-bite-prevention.aspx
ภาพประกอบ :
www.metro.us
veterinarymotion.net
momgelina.com
www.skimbacolifestyle.com
www.pawprintsthemagazine.com
www.petwave.com
www.diamondsintheruff.com
www.mnn.com
blog.eukanuba.com
SHARES