โดย: พริกขี้หนู
เปิดหู เปิดตา เปิดใจ เรียนรู้ภาษาน้องหมาฉบับเต็ม!
ทั้งผู้เลี้ยงมือเก่า มือใหม่มามะลอง มาพยายามสื่อสารกับมะหมาให้รู้เรื่องกันเถอะ
9 มกราคม 2557 · · อ่าน (198,305)
สำหรับคนที่เลี้ยงน้องหมา คงจะพอทราบกันดีว่า นอกเหนือจากการดูและเอาใจใส่ให้ความรักกับน้องหมาของเราแล้ว เรื่องของการสื่อสารกับเจ้าตูบก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย เพราะน้องหมาไม่สามารถพูดโต้ตอบกับเราได้ หากเราซึ่งเป็นเจ้าของไม่สามารถสื่อสารกับน้องหมาได้ เราก็จะไม่เข้าใจความต้องการของเขา ไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่น้องหมาต้องการสื่อสารได้ ... ดังนั้น เราในฐานะองหผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องเปิดตา เปิดหู เปิดใจ เรียนรู้การสื่อสารว่าน้องหมากำลังบอกอะไรแก่เรา เพื่อให้ได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดี
บทความนี้จึงได้รวมภาษากายและพฤติกรรมน้องหมาให้เพื่อนๆ ผู้เลี้ยงสุนัข ทั้งมือใหม่ มือเก่า มือเก๋า ให้ได้นำไปเป็นแนวทางในการอ่านภาษาน้องหมาอย่างเต็มอิ่ม รวมทั้งการสังเกต ความผิดปกติของพฤติกรรม จดบันทึกรวบรวมไว้เป็นข้อมูลให้แก่คุณหมอ เมื่อน้องหมามีปัญหาเพื่อประกอบการวินิจฉัยค่ะ ใครต้องการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารของน้องหมาเรื่องอะไร สามารถเซฟลิงค์ไว้แล้วค่อยๆ เรียนรู้ไปวันละนิด วันละน้อยได้เรื่อยๆ เลยค่ะ
เปิดตา ... มองภาษากายน้องหมา
เข้าใจภาษากายผ่าน "หาง"
- น้องหมา ส่ายหาง หรือ กระดิกหาง เป็นการบอกว่าพวกเขากำลังอยู่ในอารมณ์ที่สมบูรณ์เต็มที่ เช่น พร้อมที่จะเล่น พร้อมที่จะทำกิจกรรม พร้อมที่จะทักทาย ยินดีที่จะรู้จักมิตรใหม่ แต่ถ้าเป็นน้องหมาดุ ที่เห่า ขู่คำราม ส่ายหาง แสดงว่าพวกเขาพร้อมที่จะจู่โจมเรานั่นเองค่ะ
- น้องหมาหางตั้งขึ้น (จากปกติที่หางทิ้งลงเล็กน้อย) เป็นการแสดงอำนาจเหนือข่มน้องหมาตัวอื่นๆ อย่างท้าทายไม่เกรงกลัว
- น้องหมาหางจุดตูด แสดงว่าน้องหมากำลังหวาดกลัว ยอมแพ้ ไม่สู้ ปกติแล้วหางที่จุดตูดจะเกิดขึ้นพร้อมกับการย่อตัวลงนอนหงาย หนักหน่อยอาจฉี่ราดค่ะ
- น้องหมา หางตกลงพื้น เป็นการบอกว่าน้องหมากำลังรู้สึกได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ จดจ่ออยู่กับสิ่งที่สนใจประมวลผลคำสั่งต่างๆ ว่าใช่หรือไม่ เชื่อหรือไม่เชื่อดีนะ
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ หางน้องหมา ... เรดาร์ บอกอารมณ์ ค่ะ)
เข้าใจพฤติกรรมว่าน้องหมาต้องการทำธุระส่วนตัว
- เดินวนไปวนมาตามซอกมุมต่างๆ พฤติกรรมนี้แสดงว่าน้องหมากำลังหาที่ที่มีกลิ่นเหมาะสมต่อการทำธุระส่วนตัวค่ะ
- ใช้จมูกดมไปตามพื้น เป็นอาการของน้องหมาที่กำลังเสาะหาตำแหน่งขับถ่าย หรือหากลิ่นเก่าๆ ที่เคยขับถ่ายทิ้งไว้เมื่อครั้งก่อน เป็นต้นค่ะ
- เดินวงเป็นวงกลม ณ ตำแหน่งเดียว แสดงว่าน้องหมาเพราะหามุมเหมาะเหม็งก่อนหย่อนก้นถ่ายอุจจาระค่ะ
เข้าใจภาษากายที่แสดงว่าน้องหมากำลังบอกรัก
- ทำตาบ้องแบ๊ว หูตก เป็นการบอกว่า สำนึกผิดแล้วนะ มาดีกันเถอะ
- นอนหงายท้อง แสดงว่าพวกเขา ยอมถวายตัว ยอมแพ้ ต้องการความรัก การสัมผัส
- ยืดตัวขึ้นเกาะเจ้าของ เป็นการบอกว่ารัก เริ่มชวนเล่น ชวนให้เราลูบหัว
- เลียมือ พฤติกรรมนี้ถือว่าเป็นวิธีเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ อยากอยู่ใกล้ชิด
- โก่งตูด-กระดิกหาง เป็นการบบอกว่าน้องหมากำลังอารมณ์ดี พร้อมทักทายมิตรใหม่ เชื้อเชิญให้
มาเล่นกันเถอะ
- เหยียดตัว ลักษณะนี้เป็นท่าทางที่แสดงออกถึงการทักทายเจ้าของ เขามักทำเวลาเห็นเราตอนเช้า หรือเมื่อเห็นเรากลับมาบ้านในตอนเย็นๆ
(อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดและดูรูปภาพประกอบได้ที่บทความ มาดูน้องหมาบอกรักผ่านภาษากายกัน ค่ะ)
เข้าใจภาษากายที่แสดงว่าน้องหมากำลังกลัว เครียด วิตกกังวล
- ยกขาหน้า เป็นการบอกว่าอึดอัดไม่สบายใจ ไม่ต้องการการเผชิญหน้า ออกไปห่างๆ หน่อยได้ไหม
- กระพริบตาถี่ๆ เป็นการบอกว่าพวกเขากำลังอยู่ในช่วงใช้ความคิดอย่างหนัก หวั่นใจ ไม่ไว้ใจ กลัวมากจนเกิดเป็นความเครียดสะสม
- หางตกลู่เข้าไปใต้ลำตัว แสดงออกถึงความหวาดกลัว ไม่ไว้ใจ ไม่ต้องการการเผชิญหน้า
- หูแบนลู่ไปทางด้านหลัง เป็นสัญญาณบอกว่าพวกเขารู้สึกหวาดกลัว ไม่ไว้ใจ กระวนกระวาย ไม่ต้องการเผชิญหน้า หรือการต่อสู้
- หาวบ่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุที่เกิดจากความเครียด กระวนกระวาย รู้สึกขัดแย้งในใจ ต้องใช้ความคิด
- เกาหรือกัดตัวเอง หากไม่ได้เป็นโรคผิวหนังการกัดหรือเกาตัวเองอาจจะกำลังบอกว่าน้องหมากำลังมีเรื่องกังวลย้ำคิดย้ำทำ รู้สึกเบื่อหน่าย
- ตาขาวมีพื้นที่มากกว่าตาดำ เป็นการบอกว่ารู้สึกกลัว หรือ รู้สึกหดหู่อย่างหนัก รู้สึกกระวนกระวายภายในจิตใจ ปล่อยให้ฉันอยู่ตามลำพังที
- นอนหมอบคุดคู้เก็บตัวในพื้นที่แคบ เป็นการบอกว่าพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ไว้ใจ เครียด ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง
- เหงื่อออกที่อุ้งเท้า แสดงว่าน้องหมาเครียดจัด ประหม่า ตกใจ
- หลบสายตา หมายถึงพวกเขารู้สึกเครียดจัด หรือซึมเศร้า ไม่มั่นใจ ไม่ไว้ใจ และหวาดกลัว
(อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดข้อมูล รูปภาพและวิธีการดูแลน้องหมาเครียดวิตกกังวลได้ที่บทความ 10 ภาษากายน้องหมาที่กำลังบอกว่าเครียด วิตกกังวล ค่ะ)
เข้าใจพฤติกรรมการฉี่ของน้องหมา
- การฉี่ทับที่ของสุนัขตัวอื่น เป็นการสร้างอาณาเขตให้ตัวเอง ต้องการแสดงความเป็นเจ้าของที่ ประหนึ่งเป็นการเปิดสงครามระหว่างกัน
- การฉี่เรี่ยราดเมื่อแสดงอาการยอมแพ้ เป็นการแสดงความหวั่นกลัว ยอมแพ้ ไม่สู้ ขอยกธงขาว ณ บัดนี้
- การฉี่เรี่ยราดเวลาที่ดีใจมากๆ เป็นการดีใจ ตื่นเต้นเกิดเหตุ
- การฉี่หรืออึเวลาที่หมาถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียว หากผู้เลี้ยงพาน้องหมาออกไปทำธุระก่อนจะปล่อยให้พวกเขาอยู่ลำพัง หรือน้องหมาไม่ได้มีอาการท้องทิ้งเพราะกินอะไรผิดสำแดงไป แสดงว่าอาจเป็นการแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจได้ เหงา เจ็บปวดที่ต้องถูกทิ้งให้อยู่ลำพังค่ะ
- การฉี่หรืออึเวลาที่หมาอยู่ในการที่กลัวจัด อย่างที่บอกว่าเวลากลัวจะหางจุกตูด บางตัวกลัวหนักก็จะฉี่ราด ฉี่เล็ด อึราดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ก็ต้องดูภาษากายอื่นๆ ประกอบค่ะ เช่น หอบ ย่อตัวลง เป็นต้น
- การฉี่เพื่อนหาคู่ หากน้องหมาเพศเมียของเพื่อนๆ ฉี่ไม่เป็นที่ แสดงว่ากำลังจะทิ้งร่องรอยเพื่อรอตัวผู้มาให้เลือกคู่นั่นเองค่ะ
- การอึหรือฉี่ไม่เป็นที่จริงๆ น้องหมามีปัญหาพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ทำธุระของตัวเอง ไม่ได้มีความต้องการแสดงความรู้สึก หรือมีจุดมุ่งหมายอื่นใดแอบแผง พฤติกรรมนี้ต้องจัดการค่ะ
(อ่านเพิ่มเติมวิธีการจัดการน้องหมาฉี่ไม่เป็นที่ได้ที่บทความ ฝึกน้องหมาขับถ่าย และบทความ จัดการพฤติกรรมขับถ่ายไม่เป็นที่ของน้องหมาด้วย "พริกไทย"ค่ะ)
เปิดหู ... ฟังเสียงร้อง เห่า หอนของน้องหมา
เข้าใจภาษาผ่านเสียงร้อง
- ครางหงิงๆ เป็นเสียงแสดงการเรียกร้องความสนใจ ให้หันมาหาเพื่อทำตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ เช่น ขอข้าว ขอขนม หรือ เจ็บ ไม่สบาย คล้ายๆ กับเสียงร้องของทารกที่เป็นการเรียกร้องให้แม่มาสนใจ แต่สาเหตุมาจากอะไรก็อาจจะต้องสังเกคุดูจากบริบทค่ะ
- ขู่คำราม เป็นการให้สัญญานว่าพวกเขาไม่ไว้ใจ รู้สึกเป็นศัตรู บอกให้อีกฝ่ายหนึ่งถอย ไม่เช่นนั้นจะกัด หากน้องหมามีพฤติกรรมขู่คำรามบ่อยครั้งแสดงว่าพวกเขามีพฤติกรรมก้าวร้าวค่ะ
เข้าใจภาษาผ่านเสียงเห่า
- เห่าต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เจอคนแปลกหน้า เป็นการเห่าแบบระวังภัย
- เห่าติดต่อกันเป็นชุด ๆ 3-4 ครั้ง โดยมีช่วงหยุดระหว่างชุด ป็นการชี้ชวนเจ้าของมาดูบางสิ่งบางอย่าง
- เห่าเร็ว ๆ ติดต่อกันด้วยโทนเสียงปานกลาง เป็นการเห่าในลักษณะเตือนภัย มีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติไม่น่า ไว้ใจ
- เห่าด้วยเสียงต่ำๆ ติดต่อกันอย่างช้าๆ แสดงว่ามีสิ่งที่อันตรายมากๆ เกิดขึ้นระยะประชิดตัว ไม่ไว้ใจมากที่สุด
- เห่าแล้วหยุด เห่าแล้วหยุด ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ มักเห่าเวลาถูกปล่อยอยู่ตัวเดียวตามลำพัง เป็นการเรียกร้องความสนใจว่ามีใครอยู่ไหมมมมม
- เห่าสั้นๆ ครั้งสองครั้ง เป็นการทักทายปกติของน้องหมาค่ะ
- เห่าครั้งเดียวสั้นๆ (ถ้าผู้เลี้ยง หรือน้องหมาตัวอื่นเข้าไปยุ่ง) จะเป็นการเห่าเตือนว่าไม่อยากให้เข้ามายุ่ง ขอเวลาส่วนตัวหน่อย
- เห่าครั้งเดียวสั้นๆ (ในกรณีที่อยู่คนละที่กับเจ้าของ) เป็นการเรียกเจ้าของให้ทำอะไรสักอย่าง เช่น หิว หรืออาจอยากออกไปขับถ่ายนอกบ้านค่ะ
- เห่าติดๆ กันรัวๆ และดังขึ้นเรื่อยๆ น้องหมามักเห่าลักษณะนี้เมื่อกำลังเล่นอยู่กับเจ้าของ เป็นการบอกว่า มีความสุข สนุกจังเลย
- เห่าด้วยโทนเสียงต่ำ หูตั้ง ขนหลัง ตั้งชัน ชูหาง และยืนอยู่ในท่าเตรียมพร้อม การเห่าแบบนี้เป็นการส่งสัญญาณบอกว่า ศัตรูอยู่เบื้องหมา ถ้าเข้ามา พร้อมจู่โจม
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เมื่อสุนัขเห่า เขาต้องการสื่อสารอะไร? ค่ะ)
เข้าใจภาษาผ่านเสียงหอน
การหอนของน้องหมามีอยู่เพียงลักษณะเดียว คือ หอนด้วยเสียงต่ำลากยาวไปเรื่อยๆ จนเสียงสูงขึ้น โหยหวน จนเราหวั่นกลัว (ว่าจะเจอผี) แต่โดยทั่วไปแล้วการหอนของน้องหมาเป็นการสื่อสารในระยะไกล เป็นการบอกข่าวคราว สื่อสารระหว่างฝูง อีกทั้งยังเป็นการบ่งบอกความรู้สึก โดยสาเหตุที่น้องหมาหอนสามารถเกิดขึ้นได้ดังนี้
- หอนเพราะต้องการสื่อสารทั่วไประหว่างกลุ่ม หากสังเกตการหอนเป็นหมู่คณะของน้องหมาตอนกลางคืน จะได้ยินเสียงหอนดังขึ้นแต่กัน แล้วค่อยๆ มีลูกคู่รับมาเป็นทอดๆ ไปเรื่อยๆ นั่นเองค่ะ
- หอนเพราะอยู่ในช่วงติดสัด น้องหมาต้องการหอนหาคู่ เรียกร้องความสนใจ บอกตำแหน่งว่าฉันอยู่ตรงนี้ต้องการใครสักคน มาหาฉันสิ >///<
- หอนเพราะเหงา เมื่อถูกปล่อยให้อยู่บ้านลำพัง น้องหมามักจะหอนเพราะคิดถึงเจ้าของเจียนจะขาดใจ
- หอนเพราะต้องการปลดปล่อยพลังงาน สำหรับน้องหมาที่เป็นสายพันธุ์ชอบหอนอย่างไซบีเรียน ฮัสกี้ บางครั้งการหอนก็อาจเป็นเพียงการปลดปล่อยพลังงาน เมื่อไม่ค่อยได้ไปออกกำลังกาย
- หอนเพราะเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ น้องหมาบางตัวหอนเพราะต้องการสื่อสาร แต่เจ้าของกลับให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ลุกขึ้นมาตะโกนด่า ตี หรือ โอ๋ น้องหมาก็จะคลิกไอเดียขึ้นมาทันที ว่า เฮ้! วิธีได้ผลนี่นา แล้วเมื่อใดก็ตามที่เขาต้องการให้เราสนใจ ก็จะใช้วิธีหอน สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาพฤติกรรม
(อ่านเพิ่มเติมการจัดการน้องหมาเห่าหอนได้ที่บทความ ฟังอย่างเข้าใจ ... พฤติกรรมการหอนของไซบีเรียน ฮัสกี้ และ บทความ หมาหอนเพราะเห็นผี ? ค่ะ)
เปิดใจ ... เข้าถึงความรู้สึกแบบหมาๆ
พฤติกรรมการเป็นการแสดงความท้าทายของน้องหมา
- มองตาน้องหมา เป็นการท้าทาย รวมทั้งแสดงอำนาจเหนือ น้องหมาจะรู้สึกอึดอัด บางตัวจะพยายามหลบสายตาเราเพื่อแสดงออกว่าพวกเขารู้สึกมั่นคง หวั่นกลัว ถ้าไม่ใช่น้องหมาของเรา แล้วยิ่งไปจ้องตาพวกเขาอาจจะถูกกัดได้ค่ะ
- ใช้มือลูบหัว หรือโน้มตัวเข้าหาน้องหมา คือการจู่โจมมือจับน้องหมา หากมองในมุมน้องหมา การใช้ 2 ขาหน้าเกาะก่ายอีกตัวแสดงดึงการคุกคามอีกฝ่าย เมื่อเราใช้มือเอื้อมไปหาเขาจึง รู้สึกว่าถูกจู่โจม เขาก็จะผงะถอยหนี หรือไม่ก็กระโจนเข้าใส่ก่อนทันทันที เพื่อเป็นการป้องกันตัว
- การยิ้มเห็นฟัน ในมุมมองน้องหมาคล้ายกับการแยกเขี้ยว เวลาที่น้องหมาต้องการแสดงอำนาจเหนือพวกเขาจะขู่คำรามแยกเขี้ยวใส่กัน หากน้องหมาไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ใกล้ชิดกันคน หรือเข้าสังคมมากพอ อาจไม่คุ้นชินกับภาษากายของเรา เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าเรากำลังท้าทายหาเรื่อง อาจขู่ตอน กลัวหนี หรือทำร้ายร่างกายเราได้ ในทางกลับกัน การฉีกยิ้มของน้องหมาก็สามารถเป็นการแสดงการยอมแพ้ได้เช่นกัน หากน้องหมาที่เรายิ้มให้เป็นพวกก้าวร้าว นิสัยไม่ดี เขาอาจจะเข้าใจว่าเราสยบยอมต่อเขา และไม่ให้ความเคารพเราในฐานะเจ้าของได้ค่ะ
(อ่านรายละเอียดได้ที่บทความ ถึงเวลาทำความเข้าใจ "ความรู้สึกน้องหมา" อย่างถูกต้อง ,น้องหมายิ้มเพราะรู้สึกมีความสุขจริงหรือ?! ค่ะ)
พฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจของน้องหมา
ในกรณีที่น้องหมาไม่มีอาการผิดปกติทางกาย เป็นโรค หรือบาดเจ็บใดๆ พฤติกรรมต่างๆ อาจเป็นการเรียกร้องความสนใจ ให้เจ้าของหันมาหาไม่ว่าจะเป็นการปลอบโยนหรือการทำโทษก็ตาม
- ไล่งับแสง หรือไล่เงาตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นน้องหมาที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รัก ไม่ได้รับความเอาใจใส่ที่เพียงพอ น้องหมาพวกนี้ก็จะหันเหความสนใจออกจากความรู้สึกไม่มั่นคงของตัวเอง
- ดื่มแต่น้ำ น้ำหนักลด น้องหมาถูกบังคับ กักขัง ไม่เป็นตัวตัวตัวเอง อิจฉาน้องหมาตัวใหม่จะหงอยเหงาซึมเศร้า กินอาหารไม่ลง
- นั่งทับขาเจ้าของ หวงเจ้าของ กลัวใครเข้ามาแทนที่
- กัดฟันตัวเอง รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรทำ อึดอัด พลังงานเหลือเฟือต้องการให้เจ้าของมาสนใจ
- ท้องเสีย อาเจียน วิตกกังวล โดยเฉพาะเมื่อถูกทิ้ง ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ระบบต่างๆ ในร่างกายแปรปรวน
- เห่าพร่ำเพรื่อ น้องหมารู้สึกไม่มั่นคง ไม่ได้รับความรักความสนใจที่เพียงพอ หรือรู้สึกเบื่อหน่าย
- ทำลายสิ่งของ ส่วนมากจะเป็นเมื่อถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ความกลัว ความโกรธความกระวนกระวายความวิตกกังวล ทำให้พวกเขา ต้องระบายด้วยการทำลายข้ามของ
(อ่านรายละเอียดได้ที่บทความ อาการ Phobia ในน้องหมา ... เรื่องใกล้ตัวที่อาจคาดไม่ถึง ,ปัญหาใกล้ตัว! พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำในสุนัข ,พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจของน้องหมาแบบแปลกๆ ค่ะ)
พฤติกรรมแสดงความดีใจจนเกินเหตุ
- ฉี่ราด ดีใจมากที่สุด จนควบคุมตนเองไม่ได้ รู้สึกสยบยอม สวามิภักดิ์ต่อเจ้าของเป็นที่สุด
- เลียมือ แสดงความรัก ความไว้เนื้อเชื้อใจที่มีต่อเรา อยากให้เราได้อยู่ใกล้ชิดกับเขามากๆ คิดถึงเหลือเกิน
- นอนหงายท้อง เป็นการแสดงความไว้เนื้อเชื่อใจ ต้องการการสัมผัส ต้องการความรักจากเรา
- ไถหน้า ไถตัวกลิ้งกับพื้น ตื่นเต้นมากที่ได้เจอเจ้าของจนรู้สึกคั่นเนื้อคั่นตัว จนต้องปลดปล่อยความรู้สึกตื่นเต้น แต่ยิ่งถู ยิ่งมันส์ ยิ่งไม่เลิก
- หมุนตัว เป็นการบอกว่าดีใจมาก คิดถึงว่า ตื่นเต้น มาเล่นกันฉันสิ มาจับฉันสิ แต่พอเราจะจับก็วิ่งหนีหลบไม่ให้จับ เหมือนเป็นการหยอกล้อ ชวนเล่น
- เห่า ขู่ งับ น้องหมาที่แสดงออกด้วยวิธีนี้ มักจะเป็นน้องหมาที่อยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยชอบออกสังคม ค่อนข้างก้าวร้าว เขาจะใช้วิธีเห่า ขู่ งับ ทีเล่นทีจริงเป็นการบอกว่า “ฉันดีใจได้เจอ เธอหายไปไหน ทิ้งฉันทำไม” นั่นเอง
(อ่านรายละเอียดได้ที่บทความ การแสดงความดีใจของน้องหมาแบบแปลกๆ ค่ะ)
สังเกต บันทึก ประมวลผลพฤติกรรม
ในกรณีที่น้องหมาของเราแสดงภาษาการหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ ดูซึมเศร้า โดยไม่พบบาดแผลหรืออาการผิดปกติทางร่างกาย และเริ่มไม่กินข้าว กินน้ำ ไม่ควรนิ่งนอนใจนะคะ เพราะปัญหาอารมณ์ ที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมในทางลบ หลายครั้งเป็นเหตุให้เกิดขึ้นปัญหาต่อระบบภายในต่างๆ ของร่างกาย หรือในทางกลับกัน พฤติกรรมต่างๆ อาจเกิดจากความเจ็บป่วยภายใน ระดับฮอร์โมน ความดันเลือด ที่ผิดปกติ จึงส่งผลต่อสภาพอารมณ์ ควรพาไปพบคุณหมอ พร้อมกับตารางบันทึกพฤติกรรม อาการ ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยได้ไม่มากก็น้อยค่ะ
การเรียนรู้ภาษาน้องหมาก็คล้ายๆ กับการที่เราต้องหัดเรียนรู้ภาษาของเด็กอ่อนที่สื่อสารกับเราด้วยคำพูดไม่ได้ เพื่อที่จะได้รับรู้ความต้องการของพวกเขา เข้าใจความทุกข์ ความสุข จะสามารถแก้ปัญหา และดูแลได้อย่างถูกต้อง การเปิดตามอง เปิดหูฟัง เปิดใจรับรู้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงน้องหมาทุกคนไม่ว่าจะมือเก่าหรือมือใหม่ควรให้ความสำคัญ เพราะการสื่อสารกันอย่างถูกจุด คือจุดเริ่มต้นที่ดีของความสัมพันธ์ค่ะ ^^
บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/
ภาพประกอบ :
www.pethealthnetwork.com
nikki-brown.com
www.phillydogtraining.com
www.4pawsu.com
didyouknowarchive.com
www.apsense.com
www.petinsurance.com
www.northcountydogtraining.net
www.patriciamcconnell.com
plantfreak.wordpress.com
www.diegobraghi.com
habee.hubpages.com
SHARES