เมื่อหมาหวงชามอาหารจนกัดเจ้าของ ... ปัญหาอยู่ที่ "หมา" หรือ "เจ้าของ"?

เกาะกระแสข่าวดัง เมื่อน้องหมาพิทบูลกัดเจ้าของเพราะหวงชามอาหาร ปัญหานี้เกิดจากอะไร และเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง ไปติดตามกันค่ะ

21 เมษายน 2560 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (1) · อ่าน (43,719)
2,782

SHARES


2,782 shares
     หลังจากเกิดเหตุ "ปาเกียว" น้องหมาสายพันธ์อเมริกันพิทบูล เทอร์เรีย กัดเจ้าของหลังจากเจ้าของลูบหัวขณะที่เจ้าปาเกียวกำลังกินอาหาร ทำให้ตอนนี้น้องหมาสายพันธุ์พิทบูลกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับ "ความดุร้าย" เพราะพอได้ยินชื่อ "พิทบูล" พวกเขาก็จะถูกตัดสินว่าเป็นน้องหมาอันตราย มีความก้าวร้าวดุร้าย ยากที่จะควบคุม ... แต่นั่นคือความเข้าใจในมุมของคนทั่วไป
Dogilike.com :: เมื่อหมาหวงชามอาหารจนกัดเจ้าของ ... ปัญหาอยู่ที่ หมา หรือ เจ้าของ?

     แต่ถ้าหากมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ในมุมของจิตวิทยาสุนัข จุดสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็คือ การที่เจ้าของลูบหัวน้องหมาในขณะกินข้าว นั่นเอง ... ฟังแล้วอาจจะมีคำถามเกิดขึ้นว่าการลูบหัวน้องหมาตอนกินข้าวเป็นสิ่งผิด หรือทำให้โดนน้องหมากัดเลยหรือ ... วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกันค่ะ
 


"ลูบหัวน้องหมาตอนน้องหมากินข้าวไม่ได้เหรอ?"

     ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับสัญชาตญาตตามธรรมชาติของน้องหมาก่อนนะคะว่า น้องหมาทั่วไปไม่จำเป็นต้องเป็นน้องหมาสายพันธุ์ดุ หรือพลังงานสูง ก็สามารถมีพฤติกรรมหวงอาหารได้ โดยพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการหวงอาหารของน้องหมาก็คือ เมื่อน้องหมากำลังกินอาหารอยู่แล้วมีคนหรือน้องหมาตัวอื่นเดินมาใกล้ ๆ (ยังไม่ต้องถึงขั้นสัมผัสตัว) เขาก็จะขู่หรือเห่า อาจก้มตัวแข็ง มองตาขวาง ปกป้องอาหารตัวเองสุดชีวิต เพราะคิดว่าคนหรือน้องหมาที่เข้ามาใกล้นั้นจะมาแย่งอาหารของเขา ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยค่ะว่าทำไมการลูบหัวน้องหมาตอนน้องหมากินข้าวถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องหมากัดเจ้าของได้ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นน้องหมาสายพันธุ์ดุเท่านั้นที่จะมีพฤติกรรมแบบนี้ น้องหมาสายพันธุ์ทั่วไปก็สามารถมีพฤติกรรมหวงอาหารได้เช่นกันค่ะ

 

Dogilike.com :: เมื่อหมาหวงชามอาหารจนกัดเจ้าของ ... ปัญหาอยู่ที่ หมา หรือ เจ้าของ?


พฤติกรรมหวงอาหารของน้องหมา สะท้อนอะไรถึงตัวเจ้าของบ้าง?

     สำหรับคนที่เลี้ยงน้องหมาคงคุ้นเคยกับคำว่า "จ่าฝูง" โดยในโลกน้องหมาจ่าฝูงคือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุด มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ สิ่งของต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารเป็นของจ่าฝูง จ่าฝูงจะใช้หรือจะกินเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่ลูกฝูงต้องยอมเสมอ ดังนั้น การที่น้องหมามีพฤติกรรมหวงของหรือหวงอาหาร จึงแสดงให้เห็นว่าน้องหมาคิดว่าตัวเองเป็นจ่าฝูง มีอำนาจเหนือทุกคน สิ่งนี้สะท้อนไปถึงตัวของผู้เลี้ยงว่าไม่มีอำนาจความเป็นจ่าฝูง หรือไม่ได้แสดงอำนาจความเป็นจ่าฝูงอย่างชัดเจน ทำให้น้องหมาไม่เกรงกลัว ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามคำสั่ง นั่นเอง และการยอมให้น้องหมาแสดงอำนาจอยู่เหนือกว่าเจ้าของนั้น ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะน้องหมาที่มีพลังงานสูงและมีความดุหรือก้าวร้าว และนอกจากพฤติกรรมหวงอาหารของน้องหมาจะเกิดจากการที่ผู้เลี้ยงไม่มีอำนาจความเป็นจ่าฝูงแล้ว การเลี้ยงน้องหมาแบบตามใจ (สปอยล์ เอาอกเอาใจ) มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ได้เช่นกัน

 

รักน้องหมาแบบลูก ก็มีสิทธิ์ทำให้ "เสียหมา" ได้ (ถ้าเลี้ยงผิดวิธี)

     เชื่อว่าสำหรับคนรักน้องหมา การเลี้ยงน้องหมาและให้ความรักเหมือนน้องหมาเป็นลูกนั้นเป็นเรื่องปกติ ผู้เลี้ยงบางคนเลี้ยงน้องหมาเหมือนเป็นเด็กเล็ก ๆ ให้นอนบนเตียงด้วยกัน แบ่งอาหารที่ตัวเองกินให้น้องหมากินด้วย ยอมให้น้องหมาเล่นแรง ๆ ด้วยเพราะคิดว่าพวกเขาไร้เดียงสาไม่รู้เรื่องอะไร หรือแม้กระทั่งทำความผิด แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ก็จะไม่ลงโทษเพราะกลัวว่าน้องหมาจะงอน โกรธ น้อยใจ ... แต่การแสดงความรักด้วยการตามใจยอมให้น้องหมาทำทุกอย่างตามใจชอบนั้น เป็นวิธีการมอบความรักที่ผิดและส่งผลเสียต่อตัวน้องหมาเอง เพราะเมื่อน้องหมารู้สึกว่าตนเองจะทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ พวกเขาก็อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อถูกขัดใจหรือไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งในระยะยาวก็จะทำให้น้องหมาคิดว่าตัวเองเป็นจ่าฝูง อยู่เหนือทุกคน ทีนี้ไม่ว่าผู้เลี้ยงจะสอน หรือสั่งให้ทำอะไร น้องหมาก็จะไม่เชื่อฟัง และอาจแสดงความก้าวร้าวได้ ซึ่งในที่สุดน้องหมาก็จะยึดอำนาจความเป็นจ่าฝูงของผู้เลี้ยงไปอย่าวถาวรค่ะ และเมื่อน้องหมามีปัญหาพฤติกรรม แสดงความก้าวร้าวหรือทำร้ายเจ้าของ สุดท้ายแล้วน้องหมาจากที่เคยเป็นลูกรักก็จะกลายเป็นตัวปัญหาของบ้านไปโดยปริยาย

     ดังนั้น เพื่อไม่ให้ความรักที่มีให้กับน้องหมาเป็นการทำร้าย ผู้เลี้ยงอย่างเราจึงความจะทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของน้องหมา และฝึกพวกเขาให้รู้จักจ่าฝูง รู้จักกฎระเบียบของบ้าน รวมถึงปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าของอย่างสม่ำเสมอด้วยค่ะ

 

Dogilike.com :: เมื่อหมาหวงชามอาหารจนกัดเจ้าของ ... ปัญหาอยู่ที่ หมา หรือ เจ้าของ?


จิตวิทยาในการให้อาหารน้องหมา ที่จะช่วยฝึกให้ผู้เลี้ยงเป็นจ่าฝูง

     สิ่งที่ผู้เลี้ยงทุกคนต้องรู้คือ คุณจะต้องแสดงให้น้องหมารู้ว่า อาหารที่เขาอยากกินนั้นเป็นของผู้เลี้ยง เขาจะได้กินก็ต่อเมื่อผู้เลี้ยงอนุญาตเท่านั้น ... โดยวิธีฝึกก็คือ

     1. เริ่มต้นจากเมื่อถึงเวลาให้อาหารให้เราใส่โซ่คอและสายจูงน้องหมาให้เรียบร้อย จากนั้นสั่งให้เขานั่งคอยนิ่ง ๆ
     2. เมื่อเขานั่งนิ่งแล้วให้วางชามเปล่าไว้ที่ด้านหน้าของน้องหมา โดยที่น้องหมาจะต้องนั่งคอยอยู่เหมือนเดิม ถ้าหากน้องหมาไม่ทำตาม ก็ให้นำสุนัขกลับไปที่เดิมแล้วทำการแก้ไขโดยออกคำสั่ง นั่ง คอย อีกครั้ง
     3. ถ้าหากน้องหมานั่งอยู่ในอาการสงบแล้ว ให้เราหยิบอาหารสักเล็กน้อยวางไปในชามอาหารของน้องหมา ต้องคอยดูให้น้องหมาอยู่ในท่านั่งคอยเหมือนเดิมด้วยนะคะ
     4. และถ้าหากเชื่อฟังและปฏิบัตตามคำสั่งของเรา ก็ให้เราให้รางวัลเขาด้วยการยกชามอาหารขึ้นแล้วยื่นให้น้องหมากิน พร้อมกับชมทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาหารหมด น้องหมาจะเริ่มเข้าใจว่าเราเป็นผู้ให้อาหารไม่ได้มาแย่งอาหาร
     5. แต่ในทางกลับกันถ้าน้องหมา มีพฤติกรรมขู่หรือแยกเขี้ยว ให้เราหยุดให้อาหารและออกสำสั่ง "ไม่" และ "นั่งลง" ดัง ๆ เพื่อให้เขารู้ตัวว่าหากทำพฤติกรรมแบบนี้จะอดกินอาหาร

     การฝึกด้วยวิธีนี้จะได้ผลมากถ้าฝึกตั้งแต่น้องหมายังเด็ก ๆ และทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีข้อยกเว้น การใช้จิตวิทยาในลักษณะนี้จะทำให้น้องหมาซึมซับความเป็นจ่าฝูงของผู้เลี้ยงได้ง่ายโดยที่ผู้เลี้ยงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการฝึกที่เข้มงวดหรือตึงเครียดเกินไปค่ะ


     สำหรับกรณีของเจ้าปาเกียวนั้น ข่าวอัพเดทล่าสุดคือ ทางเจ้าของได้นำไปรักษาและฝากไว้กับทางโรงพยาบาล ซึ่งหลังจากเจ้าปาเกียวหายดีแล้วทางเจ้าของจะประกาศหาบ้านใหม่ให้ปาเกียวเนื่องจากไม่พร้อมดูแลต่อ แต่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำหมันรวมทั้งค่าฝากเลี้ยง และจะเดินทางไปเยี่ยมบ่อย ๆ ... ยังไงก็ขอให้เรื่องราวของปาเกียวจบลงด้วยดี และก็ขอให้เจ้าปาเกียวโชคดีได้เจอกับครอบครัวใหม่ที่เข้าใจและเปิดใจยอมรับนะคะ

บทความโดย : Dogilike.com
www.dogilike.com

ภาพประกอบ :

http://www.thairath.co.th/content/915615
http://www.superas.info/catalog/c/canine-food-aggression-toward-owner.html
https://www.cesarsway.com/dog-behavior/food-aggressive/food-aggression-and-what-to-do-about-it