โดย: somo2

วิธีรับมือกับสุนัข ฉบับ "คนขี้กลัว" ที่อยากเลี้ยงสุนัข

กลัวหมาแต่อยากเลี้ยงหมา มาดูกันว่าจะมีวิธีจัดการนี้ยังไง

13 มกราคม 2564 · · อ่าน (4,389)
236

SHARES


236 shares
  • เราอาจจะเคยเห็นคนกลัวสุนัขซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่าเป็นอาการผิดปกติของคนที่ไม่ชอบสัตว์ แต่จริง ๆ แล้วอาการกลัวสุนัขนั้นเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง
 
  • สาเหตุของการกลัวสุนัขในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เช่น เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี , มีภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคน ขี้กลัว หวาดระแวงตกใจง่าย , มีสมาชิกบางคนในครอบครัวที่กลัว เป็นต้น



     เราอาจจะเคยเห็นเพื่อนหรือคนที่แสดงท่าทางกลัวน้องหมาชนิดที่ว่าแค่เห็นตั้งต่ระยะ 100 เมตรก็กลัวตัวสั่น พยายามเดดิน ไม่ก็ให้คนอื่นเป็นกำบังแทน ที่เราเห็นแบบนั้นอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเขาแกล้งรึป่าว? เว่อร์ไปมั้ยเนี่ย?! แต่จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้มีชื่อเรียกทางจิตวิทยาว่า "โรคกลัวสุนัข" หรือที่เรียกว่า Cynophobia เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยมีอาการหวาดกลัวสุนัข ระดับความกลัวและความรุนแรงนั้นแตกต่างกันไปแล้วแต่ปัจจัย และสภาพแวดล้อมของตัวบุคคลนั้น ๆ ซึ่งอาการโฟเบียนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยอาการกลัวนั้นอาจมีเหตุผลและไม่มีเหตุผล เช่น สุนัขที่ท่าทางดุร้าย เราจะหวาดกลัวไม่กล้าเข้าใกล้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการโฟเบียนี้ต่อให้เป็นสุนัขตัวเล็กที่น่าเอ็นดู น่าทะนุถนอม หรือมีสายตาบ๊องแบ๊วน่ารัก แต่หากมาเผชิญหน้ากันแล้ว คนที่เป็นโรคกลัวสุนัขจะหวาดกลัวอย่างมากซึ่งอาจดูไม่มีเหตุผลในสายตาคนอื่นไปเลยก็ได้


Dogilike.com :: วิธีรับมือกับสุนัข ฉบับ คนขี้กลัว ที่อยากเลี้ยงสุนัข


 

อาการของคนที่เป็นโรคกลัวสุนัข


     1. มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น
     2. หน้ามืด หายใจไม่ทั่วท้องเหมือนจะเป็นลม
     3. เหงื่อแตกพลั่ก ตัวสั่น มือเท้าเย็น
     4. อยากวิ่งหนี หรืออาจร้องไห้จนทำอะไรไม่ถูก

     อาการเหล่านี้พวกเขาจะรู้สึกเมหือนตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับสัตว์ร้าย หรือสิ่งที่อันตรายที่สุด สมองจะทำงานหนักขึ้นเพื่อไตร่ตรองและคิดหาวิธีเอาตัวรอด หรือที่เรียกว่า ระบบประสาทอัตโนมัติ (Symphathetic Nervous System - SNS) ตอบสนองต่อภัยอันตรายที่อยู่ตรงหน้า ไม่เพียงเท่านั้นสมองอะมิกดาลา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์โดยเฉพาะความกลัว ความวิตกกังวลจะทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความกลัวนั้นกลายมาเป็นอาการโฟเบียเช่นกัน
 

Dogilike.com :: วิธีรับมือกับสุนัข ฉบับ คนขี้กลัว ที่อยากเลี้ยงสุนัข


 

โรคกลัวสุนัขมีสาเหตุมาจาก...



1. ประสบการณ์
     หากคุณเคยเป็นคนที่มีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับสุนัขใน "วัยเด็ก" ไม่แปลกเลยที่มันจะส่งผลให้คุณหวาดกลัวจนไม่กล้าแม้แต่จะมอง หรือเข้าใกล้มันอย่างเด็ดขาด เช่น เคยถูกไล่ กัด ซึ่งบาดแผลเหล่านี้จะถูกสั่งสมมาเรื่อย ๆ แล้วกลายมาเป็นบาดแผลทางใจ (Traumatic situations) ที่ทำให้คุณนึกย้อนกลับไปเหตุการณ์นั้นซ้ำ เวลาเจอสุนัข

2. อายุ
     อาการโฟเบียมักส่งผลในช่วงระหว่าง "วัยเด็ก" กับ "วัยรุ่น" อาจเริ่มตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไป ยิ่งเกิดกับเด็กเล็กจะยิ่งจำฝังใจมากขึ้น

3. ครอบครัว
     หากคุณมีคนในครอบครัวที่มีอาการโฟเบีย คุณเองก็อาจได้รับอิทธิพลของความกลัวนั้นมาด้วย เนื่องจากคุณจะเรียนรู้พฤติกรรมหวาดกลัวที่สมาชิกในครอบครัวทำแล้วเลียนแบบมันโดยไม่รู้ตัว

4. อุปนิสัย ใจคอ
     ความหวาดกลัว วิตกกังวลมักมีผลอย่างมากกับคนที่มีลักษณะนิสัยอ่อนไหวง่าย ขี้ระแวง ขี้ตกใจ หวาดกลัวกับสิ่งรอบข้าง  รับรู้ถึงภัยอันตรายตลอดเวลา ซึ่งนั่นอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกลายเป็นอาการโฟเบียในอนาคตได้เช่นกัน

5. ข้อมูลข่าวสาร
     ช่องทางข่าวสารในโลกดิจิตอลปัจจุบันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากคุณได้รับข่าวสารที่มีเนื้อหาความรุนแรงเกี่ยวกับสุนัขที่แสดงให้เห็นแต่ด้านโหดร้าย อาจทำให้คุณซึมซับและเรียนรู้จากข้อมูลเหล่านั้นว่า "สุนัขเป็นตัวอันตราย" และความคิดแบบนี้เองที่จะส่งผลให้คุณมีอาการหวาดกลัวพวกมัน


Dogilike.com :: วิธีรับมือกับสุนัข ฉบับ คนขี้กลัว ที่อยากเลี้ยงสุนัข


     กลัวมากถึงขั้นให้เกียรติน้องหมาเดินผ่านไปก่อน แล้วแบบนี้เราจะตั้งรับยังไงไม่ให้สติแตก บอกเลยว่ายังมีเทคนิคดี ๆ อยู่ ตามมาดูกัน!!

1. ห้ามวิ่งเด็ดขาด
     ไม่ว่าจะกลัวยังไง แต่สิ่งสำคัญถ้าต้องเจอน้องหมาข้างทางแล้วเราต้องอยู่ยิ่ง ๆ สูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วเดินผ่านไปช้า ๆ เพราะถ้าเราวิ่งเมื่อไรอาจไปกระตุ้นให้น้องหมาหันมาวิ่งไล่ได้ ดีไม่ดีอาจโดนงั่มเข้าให้ด้วย

2. ใจดีสู้เสือ
     ของแบบนี้ต้องไม่แสดงออกว่าให้อีกฝ่ายรู้ว่าเรากำลังกลัว ห้ามแสดงท่าทางที่คุณรู้สึกจนมุมเด็ดขาด เพราะสัญชาตญาณของน้องหมาจะชื่นชอบความเป็นผู้นำ การไล่ล่าและการข่มขวัญศัตรู

3. ยิ้มสู้ แต่อย่าสบตา
     ยิ่งจ้องหน้าก็เหมือนยิ่งหาเรื่องไม่ต่างจากเวลาเรามองหน้าคนที่ไม่รู้จักกัน ถ้าเกิดมีคนแปลกหน้ามาจ้องหน้าเราเองก็คงไม่สบอารมณ์ เข้าใจว่าอีกฝ่ายจะหาเรื่อง น้องหมาก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน

4. ของใกล้ตัวช่วยชีวิต
     ถ้าถึงจุดวิกฤตแล้วให้เรามองหาของอะไรก็ได้ที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของน้องหมา โยนไปทิศทางตรงกันข้ามให้ไกลที่สุด พอน้องหมาเปลี่ยนเป้าหมายได้ก็ให้รีบสับขาหนีให้ไวเลย


Dogilike.com :: วิธีรับมือกับสุนัข ฉบับ คนขี้กลัว ที่อยากเลี้ยงสุนัข


     บางครั้งการหาสัตว์เลี้ยงมาอยู่เป็นเพื่อนก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะคนในครอบครัวรับมาเลี้ยง หรือเกิดจากความตั้งใจของเราเองที่อยากเลี้ยงน้องหมาก็ตาม ทีนี้ "คนกลัวหมา" จะทำยังไงให้กล้าเปิดใจ "เลี้ยงหมา" เรามาดูกัน

1. หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง
     เป็นสำนวนที่ฟังดูรุนแรงแต่เป็นเทคนิคที่ถูกอยู่ในขั้นตอนการรักษาอาการของผู้ป่วยโฟเบียอย่างหนึ่งตามแบบฉบับทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของนักจิตวิทยาอย่างวัตสัน (John B. Watson) ได้ทดลองการตอบสนองความกลัวของเด็กชายอัลเบิร์ตกับหนูขาว โดยให้แม่ของเขาคอยปลอมประโลมว่าไม่น่ากลัว พร้อมจับหนูขาวจนกระทั่งความกลัวค่อย ๆ หายไป เราสามารถเริ่มจากอะไรง่าย ๆ อย่างการดูภาพยนตร์หรือรูปภาพที่เกี่ยวกับสุนัขไปเรื่อย ๆ เพื่อให้รู้สึกคุ้นชินคลายความกังวล แสดงให้เห็นถึงด้านดี ๆ ด้านที่น่ารักน่าเอ็นดูของสุนัขว่าไม่เป็นอันตราย ปลอดภัย

2. เข้าใกล้อย่างเป็นมิตร
     แรกเริ่มลูกสุนัขจะสำรวจบริเวณรอบ ๆ ตั้งแต่สถานที่สภาพแวดล้อมและผู้เลี้ยง แน่นอนว่าเราเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวเดียวกันแล้ว การสร้างพันธมิตรที่ดีต่อกันจะช่วยให้เรากล้าเล่นกับสุนัขแล้วค่อย ๆ หายกลัว โดยทุกครั้งที่เข้าใกล้ลูกสุนัขต้องย่อตัวลง เพราะหากยืนในสายตาของลูกสุนัขอาจมองว่าเราเป็นยักษ์ใหญ่ที่ดูน่ากลัว กลายเป็นเราจะโดนเห่าสู้กลัวหนักกว่าเดิม และที่สำคัญเราไม่ควรยึกยัก หรือแสดงออกชัดเจนว่ากลัวด้วยการวิ่ง กระโดด เพราะนั่นอาจจะทำให้ลูกสุนัขเข้าใจว่า "เรากำลังเล่นกับเขา" วินาทีนั้นถ้าไม่พร้อมจริง ๆ เรานี่แหละจะเป็นฝ่ายหนีแล้วไม่เปิดใจอีกเลย

3. น้ำเสียงนุ่มนวลน่าฟัง
     ก้าวแรกของการทำความรู้จักเราควรเรียกชื่อน้องหมาบ่อย ๆ โดยใช้โทนเสียงปรกติ เพราะตามหลักจิตวิทยาแล้วถ้าเราใช้เสียงแหลมสูงจนเกินไป อาจไปกระตุ้นให้น้องหมาหันมาขู่จนเราขวัญกระเจิงไปเสียก่อน

4. ทำความคุ้นชินด้วยอาหาร
     จะสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แน่นอนว่าการให้อาหารก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้น้องหมาจดจำกลิ่นของเราได้ดีขึ้น ลูกสุนัขจะเมมโมรี่เอาไว้ "คน ๆ นี้แหละ! ที่ให้ของกินฉัน" เท่านี้เราก็จะค่อย ๆ คุ้นเคยกับลูกสุนัขไปในตัว

5. สัมผัสบ่อย ๆ
     การสัมผัสกันบ่อย ๆ จะช่วยกระตุ้นความคิดรวมถึงสร้างความคุ้นชินให้มากขึ้นกับลูกสุนัข นอกจากนี้ยังจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ตัวคุณกล้าที่จะสัมผัสเขาไปเรื่อย ๆ เพราะยิ่งเราให้เวลากับเขา เล่นด้วยกันมากเท่าไร ความกลัวจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นความไว้วางใจ รู้ตัวอีกทีเราก็เปิดใจให้น้องหมาเข้ามาซ่ะแล้ว


     แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเลี้ยงสุนัขต้องมาพร้อมความรับผิดชอบหน้าที่ ก็เหมือนกับเรามีน้องเพิ่มมาอีกคน สุนัขเองก็ไม่ต่างจากมนุษย์ที่มีความคิด ความรู้สึกแสดงออกผ่านการกระทำอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น หากเราเรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกันก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ค่ะ



 

บทความโดย: Dogilike.com

http://www.dogilike.com/


ที่มาและภาพประกอบ :
https://www.healthline.com/health/cynophobia
https://dogtime.com/dog-names/dog-names-by-breed/1574-dog-names-golden-retriever-names
https://dogspaceblog.com/6-ways-to-show-your-dog-love-that-they-can-understand/