โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

How to พาน้องหมาไปแคมป์ปิ้ง แบบไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

ไปดูกันค่ะว่าจะต้องเตรียมตัวยังไงกันบ้าง

19 พฤศจิกายน 2564 · · อ่าน (2,741)
0

SHARES


0 shares
  • เทรนด์การท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้งกำลังเป็นที่นิยม การท่องเที่ยวสไตล์นี้นอกจากจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการเที่ยวอีกรูปแบบที่เปิดโอกาสให้คนมีสัตว์เลี้ยงได้พาสัตว์เลี้ยงไปเที่ยวพักผ่อน
 
  • แต่การที่จะพาน้องหมาไปแคมป์ปิ้งนั้น การวางแผนอย่างรัดกุมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงถึงที่สุดก็คือ น้องหมาของเราต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
 
  • การเตรียมตัว เช่น หาสถานที่ที่อนุญาตให้น้องหมาเข้าพักได้ , การฝึกน้องหมาให้รู้จักการนอนเต้นท์ , การทดลองให้น้องหมานั่งรถ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของจะต้องเตรียมพร้อม


     ช่วงนี้สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่เริ่มเปิดให้ไปเที่ยวและเข้าพักได้แล้ว เชื่อว่าหลังจากที่ต้องอยู่บ้านติดต่อกันเกือบทั้งปี หลายคนก็คงจะมีแพลนที่จะพาน้องหมาออกไปเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ และตัวเลือกที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจก็คือการไปแคมป์ปิ้ง เพราะว่ามีพื้นที่ให้น้องหมาได้วิ่งเล่นแล้วก็ใกล้ชิดธรรมชาติด้วย

     แต่ ถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เปิดรับน้องหมาแค่ไหนแต่การพาน้องหมาไปเที่ยว - ไปพัก ก็ควรจะมีข้อควรปฏิบัติที่ต้องทำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมาของเราสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้เข้าพักคนอื่น เพราะ "น้องหมาของเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน"


Dogilike.com :: How to พาน้องหมาไปแคมป์ปิ้ง แบบไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน


     วันนี้แอดมินก็เลยมี How to ในการพาน้องหมาไปนอนเต้นท์ไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน มาฝากกันค่ะ


>> ซ้อมเที่ยวทิพย์ก่อนเดินทางจริง

     ลองพาน้องหมาใส่สายจูงเดินเล่นแถวบ้าน , พานั่งรถเที่ยวใกล้ ๆ บ้าน เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ รู้จักสถานที่แปลก ๆ ผู้คนหน้าใหม่ ๆ เพื่อที่จะให้น้องหมาปรับตัวได้ง่ายขึ้น และก้อาจจะลองกางเต้นท์เองที่บ้านแล้วพาน้องหมาเข้าไปนอนด้วยดูซักคืนนึงเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับบรรยากาศใหม่ ๆ


>> เลือกสถานที่กางเต้นท์ที่น้องหมาเข้าได้

     ต้องเช็กให้แน่ใจว่าสถานที่นั้นอนุญาตให้น้องหมาเข้าพักได้จริง ๆ ห้ามแอบนำน้องหมาเข้าไปในที่ที่ไม่อนุญาตเด็ดขาด ... ในส่วนของอุทยานแห่งชาติทุกที่ "ไม่อนุญาตให้นำน้องหมาเข้าไปเที่ยว - เข้าพัก" สำหรับโทษของการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่​ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 21 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 47 ​ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ​10,0000​ บาท

     **ข้อนี้ซีเรียสนะคะ เพราะเราต้องการให้สังคมส่วนรวมยอมรับครอบครัวที่มีน้องหมาเป็นสมาชิกมากขึ้น ดังนั้นเราต้องรู้จักเคารพกฏและข้อห้ามต่าง ๆ ของแต่ละสถานที่ด้วยค่ะ**


>> ถึงจุดกางเต้นท์แล้วให้น้องหมาสำรวจพื้นที่

     เมื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ น้องหมาก็มักจะตื่นเต้นเป็นธรรมดา เจ้าของต้องเปิดโอกาสให้น้องหมาได้สำรวจพื้นที่สักหน่อย โดยเจ้าของควรพาน้องหมาเดินไปรอบ ๆ จุดที่จะกางเต้นท์ น้องหมาจะต้องอยู่ภายใต้สายจูงตลอดเวลา และควรระวังน้องหมาเจ้าถิ่นด้วยนะคะ ทางที่ดีสอบถามกับทางผู้ดูแลที่พักก่อนว่ามีน้องหมาเจ้าถิ่นไหมเพื่อความปลอดภัยของน้องหมาค่ะ


>> เก็บทำความสะอาดเวลาน้องหมาขับถ่าย

     ท่องจำเอาไว้ว่า อึ - ฉี่ น้องหมาเป็นแบงค์พัน เห็นตกที่พื้นเมื่อไหร่ให้รีบเก็บทันที! ... บริเวณลานกางเต้นท์จะเป็นที่โล่ง จุดที่น้องหมาขับถ่ายอาจะเป็นจุดที่คนอื่นจะมากางเต้นท์ หรืออาจจะเดินมาเหยียบทำให้เลอะเทอะ ดังนั้นอุปกรณ์เก็บทำความสะอาด ถุงพลาสติก ทิชชู่แห้ง ทิชชู่เปียก น้ำสะอาด ต้องพร้อมติดตัวไว้เสมอ ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจะละเลยไม่ได้ค่ะ


>> เลือกจุดกางเต้นท์ห่างจากเต้นท์อื่น

     เพราะเรามีน้องหมาไปด้วย เพื่อป้องกันน้องหมาเห่าเสียงดังเวลาเห็นคนแปลกหน้า เราจึงควรพักในจุดที่มีความสงบ ห่างจากคนอื่นพอสมควร เพื่อลดความเสี่ยงที่น้องหมาจะส่งเสียงรบกวนคนอื่นค่ะ


>> ไม่ปล่อยน้องหมาวิ่งเล่นไปทั่ว

     ไม่ควรปล่อยให้น้องหมาวิ่งอิสระเพราะน้องหมาอาจจะไปรบกวนผู้อื่น อาจจะไปขับถ่ายใกล้เต้นท์ของคนอื่นโดยที่เจ้าของไม่รู้ อาจหลงทาง หรืออาจโดนน้องหมาเจ้าถิ่นทำร้าย ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่น้องหมาจะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น และเพื่อความปลอดภัยของน้องหมาเอง เจ้าของควรเอาคอกกั้นติดไปด้วยเพื่อใช้จำกัดบริเวณน้องหมา


>> ไม่ปล่อยให้น้องหมาเห่ารบกวนให้เสียบรรยากาศ

     เป็นธรรมดาที่น้องหมาอาจจะเห่าเวลาได้ยินเสียงหรือเห็นคนแปลกหน้า แต่สิ่งที่เจ้าของอย่างเราต้องทำก็คือคอยปรามไม่ให้น้องหมาทำเสียงดังรบกวนผู้อื่น การพาน้องหมาเดินเล่นเพื่อเผาผลาญพลังงานจะช่วยให้น้องหมาสงบลงได้ค่ะ


     ใครที่กำลังวางแผนพาน้องหมาไปแคมป์ปิ้งก็เอา How To นี้ไปใช้ดูนะคะ ...
 


บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/