โดย: Tonvet

ความผิดปกติของลูกสุนัขที่ผู้เลี้ยงไม่ควรมองข้าม

มาดูอาการที่หลายคนมักมองข้ามไป แต่อาจก่อให้เกิดความอันตรายกับลูกสุนัขได้

8 กรกฏาคม 2558 · · อ่าน (18,785)
6,868

SHARES


6,868 shares
Dogilike.com :: ความผิดปกติของลูกสุนัขที่ผู้เลี้ยงไม่ควรมองข้าม

     สวัสดีครับเพื่อน ๆ มีใครได้สังเกตตัวเองกันบ้างหรือเปล่า ว่าเมื่อเช้าเพื่อน ๆ ลุกเดินออกจากเตียงนอนด้วยเท้าซ้ายหรือเท้าขวา?  คำถามเรื่องใกล้ตัวพวกนี้บางทีเราก็ตอบไม่ได้เหมือนกันนะครับ เรื่องบางเรื่องก็เหมือนไม่จำเป็นต้องรู้ จะรู้ไปทำไม รู้แล้วได้ประโยชน์อะไร จนบางทีเราก็มองข้ามมันไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่เพื่อน ๆ เชื่อไหมครับว่า เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้บางทีก็สำคัญเหมือนกันนะ

     ที่เกริ่นถึงเรื่องนี้ เพราะอยากจะชี้ให้เพื่อน ๆ เห็นว่า การที่เราหมั่นสังเกตอาการลูกสุนัขเป็นประจำนั้นมีความสำคัญ บางครั้งเราอาจไม่ทราบหรือแยกไม่ออกเลยว่า อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ใช่ความผิดปกติของลูกสุนัขหรือไม่ ถ้าไม่เห็นความแตกต่างนั้นด้วยตัวของเราเอง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงลูกสุนัขมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์มาก่อน  บทความตอนนี้ มุมหมอหมา จึงอยากพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้ความผิดปกติที่สำคัญในลูกสุนัข ที่หลายคนมักมองข้ามไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกสุนัขได้ จะมีอะไรบ้างนั้น เรามาดูกันเลยครับ

นอนมากกว่าปกติ

     กิจกรรมหลักๆ ของลูกสุนัขมีอยู่ไม่กี่อย่างหรอกครับ คือ การกิน การเล่น แล้วก็การนอน ลูกสุนัขแรกเกิดอาจนอนมากสักหน่อย คิดเป็นประมาณร้อยละ 80-90 ของชิวิตประจำวันเลยทีเดียว ส่วนอีกร้อยละ 10-20 ก็จะตื่นขึ้นมากินนมแม่ พออายุประมาณ 3 สัปดาห์ลูกสุนัขก็จะเริ่มหัดเดิน ทีนี้ก็จะเริ่มหัดเล่น เริ่มเข้าสังคม การนอนก็อาจจะลดลงไปบ้างตามกิจกรรมที่ทำ การที่สุนัขนอนมากกว่าปกติ ถือเป็นสัญญาณหนึ่งของความผิดปกติได้ บางตัวนอนมากเพราะอ่อนแรง หรือนอนไม่ได้สติก็มีปัญหาหนึ่งที่มักพบบ่อยในลูกสุนัข ก็คือ ภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ ซึ่งลูกสุนัขจะแสดงอาการอ่อนแรง เซื่องซึม ไม่อยากกินนม กล้ามเนื้อกระตุก ชัก เนื่องจากสมองขาดพลังงานจากกลูโคส ลูกสุนัขแรกคลอดนั้น การทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ ทำให้การสะสมและการนำน้ำตาล (ไกลโคเจน) จากตับมาใช้ ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีขีดจำกัดในการสำรองพลังงาน หากมีสาเหตุอันใดทำให้ร่างกายไม่ได้รับ หรือมีการใช้พลังงานจากน้ำตาลมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะนี้ตามมาได้

     สิ่งแรกที่เจ้าของต้องประเมิน ก็คือ น้องหมาอ่อนแรงและยังมีสติหรือไม่ ถ้ายังมีสติ สามารถเลียกินน้ำและกลืนได้เอง เจ้าของอาจให้น้ำหวาน น้ำผึ้ง หรือสารอาหาร 5-10 % dextrose (เดกซ์โทรส) ป้อนขนาด 1 มิลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 100 กรัม โดยค่อย ๆ ป้อนที่ละน้อย ๆ จนเมื่อน้องหมากลับมามีเรี่ยวแรงตามเดิม จึงค่อยกลับมาป้อนนม แต่หากลูกสุนัขแลดูอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออยู่ในสภาพแย่ เช่น มีอาการชัก อ่อนแรง นอนไม่ได้สติ ฯลฯ จะต้องรีบพาน้องหมาไปพบคุณหมอทันที เพราะจำเป็นจะต้องได้รับสารอาหาร dextrose ละลายในสารน้ำเข้าทางเส้นเลือด และทำการปรับระดับอิเล็กโตรไลต์ในร่างกายให้เป็นปกติครับ
 

นอนขดตัวหรือนอนเบียดรวมกลุ่มกัน

     การสังเกตการนอนของลูกสุนัขมีประโยชน์หลายอย่างเลยครับ ไม่เพียงแค่เราจะสังเกตว่า นอนมากขึ้นหรือเซื่องซึมหรือไม่ การสังเกตลักษณะรูปแบบของนอนของลูกสุนัขก็สามารถทำให้เราทราบถึงความผิดปกติได้เช่นกัน หากลูกสุนัขนอนขดตัว หรือนอนเบียดรวมกลุ่มกับพี่น้องในครอกมากขึ้น อาจกำลังแสดงว่าลูกสุนัขกำลังหนาวเนื่องจากเกิดภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำได้ครับ

     ในขณะยังเป็นลูกสุนัขระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ การปรับตัวหรือการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายยังไม่ดีเท่าที่ควร แม่สุนัขจะเป็นผู้ที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของลูก ไม่ว่าจะเป็นการนอนกก หรือการสร้างรังขึ้นมาเพื่อบังลม บังฝนให้กับเหล่าลูก ๆ แต่หากลูกสุนัขไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่สุนัขดีพอ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ หนาวเย็นจนเกินไป ทำให้มีโอกาสที่ลูกสุนัขจะสูญเสียความร้อนออกมาตามช่องทางต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของจะสังเกตพบว่า ลูกสุนัขจะนอนขดตัว ตัวสั่น และนอนเบียดรวมกลุ่มกับพี่น้องในครอกมากขึ้น    

     เห็นอย่างนี้เพื่อน ๆ ก็อย่ามองข้ามไปนะครับ เพราะถ้าหากอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 94 องศาฟาเรนไฮต์ จะส่งผลทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดมีปัญหา หัวใจเต้นช้าลง ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ จะต้องรีบทำการแก้ไขทันที โดยค่อย ๆ ทำการเพิ่มอุณหภูมิให้กับลูกสุนัขอย่างช้า ๆ ด้วยการย้ายลูกสุนัขมาอยู่ในที่ที่อบอุ่น เช่น ให้อยู่ในกล่องหรือในตะกร้า ห่มผ้าให้ อาจจะหากระเป๋าน้ำอุ่นหรือแผ่นให้ความร้อน (bed heating pads) ที่รองด้วยผ้าขนหนู เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของผิวหนังจากความร้อน มาให้ลูกสุนัขนอนทับ หรือทำการประคบอุ่นตามบริเวณอก ท้อง รักแร้ ขาหนีบ

     ดังนั้น เจ้าของอาจจะเปิดไฟกก โดยใช้หลอดไส้ที่มีกำลัง 60 วัตต์ เปิดห่างจากตัวลูกสุนัขอย่างน้อย 1 ฟุต โดยติดตั้งไว้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของกล่องหรือตะกร้า เพื่อให้ลูกหมาได้เลือกที่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับตนเอง (ป้องกันไม่ให้ลูกหมาร้อนจนเกินไป) แล้วเฝ้าสังเกตอาการ และวัดอุณหภูมิร่างกายทุก ๆ 15-20 นาที จนกว่าอุณหภูมิของร่างกายจะกลับมาเท่ากับอุณหภูมิปกติ แต่สำหรับในรายที่ไม่ตอบสนองภายใน 2 ชั่วโมง หรือมีอุณหภูมิร่างกายต่ำรุนแรงมาก ๆ (ต่ำกว่า 90 องศาฟาเรนไฮต์) ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที อาจต้องได้รับสารน้ำอุ่น ๆ เข้าทางเส้นเลือด และอยู่ในตู้อบ (ตู้ออกชิเจน) เพื่อปรับอุณหภูมิให้กับร่างกายครับ

นอนกางขาออกไปด้านข้างหรือด้านหลัง

     คนเราเกิดมาไม่สามารถเดินได้ทันที จำเป็นต้องมีการหัดเดินก่อน บางคนกว่าจะเดินได้อาจใช้เวลานานกว่าเด็กคนอื่น ๆ น้องหมาก็ต้องหัดเดินเช่นกัน พออายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะเริ่มหัดเดิน แต่ก็มีน้องหมาบางตัวที่เจ้าของจะสังเกตพบว่า ชอบนอนกางขาออก ทำท่าเหมือนจะหัดเดิน โดยพยายามใช้ขาคลานกระดื้บ ๆ ไปกับพื้น คล้ายกับกำลังตีกรรเชียงว่ายน้ำ แต่ไม่ยอมลุกยืนใช้ทรงตัวได้ด้วยขาสักที บางรายเป็นเพียงสองขาหน้าหรือสองขาหลัง บางรายอาจเป็นทั้งสี่ข้างเลยก็มี ปัญหาเช่นนี้ เราเรียกว่า กลุ่มอาการ swimming puppy syndrome ครับ    

     เจ้าของบางคนอาจมองเผิน ๆ แล้วก็คงไม่รู้สึกถึงความผิดปกติอะไร เข้าใจว่าน้องหมากำลังหัดเดิน แต่ความจริงแล้ว อาการเช่นนี้เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งในลูกสุนัข ซึ่งอาจจะเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น บนพื้นลื่นๆ หรือได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม มีน้ำหนักตัวมากทำให้ไม่สามารถลุกยืนได้ ฯลฯ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ผู้เลี้ยงควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายสุนัข ร่วมกับการถ่ายภาพรังสีเพื่อหาความผิดปกติของกระดูกและใช้ประเมินความรุนแรง ส่วนการรักษานั้นจะต้องได้รับการจัดแนวขาให้อยู่ในท่าที่ปกติ เสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ และฝึกน้องหมาให้ลงน้ำหนักและหัดเดินครับ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้สุนัขบางรายเป็นมานานจนโครงสร้างกระดูกขาเกิดการผิดรูป ทำให้การแก้ไขทำได้ยากลำบากมากขึ้น

ฟันขึ้นซ้อนกัน

     ตามธรรมชาติแล้วน้องหมาก็มีฟันสองชุดเช่นเดียวกับคนเราครับ คือ ฟันน้ำนมกับฟันแท้ โดยฟันน้ำนมของสุนัขนั้นจะเริ่มงอกเมื่ออายุประมาณ 4 สัปดาห์ จากนั้นก็จะเริ่มผลัดเปลี่ยนเป็นฟันแท้เมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน โดยฟันน้ำนมในตำแหน่งเดียวกันกับฟันแท้ที่งอกนั้น ก็ควรจะต้องหลุดล่วงไป เมื่อมีฟันแท้โผล่พ้นเหงือกขึ้นมา แต่ทว่ามีน้องหมาบางตัวกลับไม่เป็นเช่นนั้น ฟันน้ำนมไม่ยอมหลุดออก ภาวะเช่นนี้เราเรียกว่า ภาวะฟันน้ำนมค้าง ซึ่งที่พบบ่อยๆ ก็ คือ ตำแหน่งฟันเขี้ยว

     ปัญหานี้เจ้าของบางคนมักมองข้ามและไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา แต่ความจริงแล้วปัญหานี้ส่งผลให้เกิดปัญหาในการสบฟันตามมาได้เลยทีเดียว คือ เมื่อฟันแท้งอกขึ้นมาในขณะที่ยังมีฟันน้ำนมอยู่ ฟันแท้จะถูกเบียดและทำให้เจริญผิดที่ เมื่อใดที่สบฟันหรือเคี้ยวอาหาร ฟันก็อาจไปทำอันตรายกับเหงือกหรือเพดานปากได้ ทั้งยังเป็นแหล่งสะสมเศษอาหาร หากดูสุขภาพช่องปากไม่ดีพอ ก็อาจทำให้เกิดโรคปริทันต์ตามมาได้    

     ซึ่งหากเจ้าของพบปัญหาฟันขึ้นซ้อนกันเช่นนี้ต้องรีบแก้ไข หากฟันแท้โผล่พ้นเหงือกขึ้นมาแล้ว ฟันน้ำนมยังไม่มีทีท่าว่าจะหลุดออก จำเป็นต้องทำการถอนฟันน้ำนมนั้นออก โดยให้เจ้าของพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพและตรวจเลือดก่อนทำการวางยาสลบเพื่อทำการถอนฟันออกครับ


     เพื่อน ๆ ก็คงได้เห็นแล้วนะครับว่า การหมั่นสังเกตอาการของลูกสุนัขนั้นมีความสำคัญเพียงใด เราจึงไม่ควรมองข้ามความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของลูกสุนัขได้ อย่างการสังเกตการนอน ก็ทำให้เราทราบถึงความผิดปกติได้ตั้งหลายอย่าง ทั้งการนอนมากกว่าปกติ นอนขดตัว หรือนอนกางขา ตามที่ได้นำเสนอไปในข้างต้นครับ
บทความโดย : Dogilike.com