โดย: Tonvet

การรักษาตัวเองของสุนัข ตอน สุนัขเลียแผล

มาดูสิว่า น้ำลายของสุนัขช่วยให้แผลหายได้...จริงหรือไม่

27 มิถุนายน 2555 · · อ่าน (112,639)
1,659

SHARES


1,659 shares

 

Dogilike.com :: การรักษาตัวเองของสุนัข ตอน สุนัขเลียแผล

       “น้ำลายของสุนัขช่วยให้แผลหายได้” หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรปล่อยให้สุนัขเลียแผลเลยสิ แผลจะได้หายไวๆ แต่เอ๊ะ...ทำไมคุณหมอถึงเตือนนักเตือนหนาว่า ห้ามไม่ให้สุนัขเลียแผลเด็ดขาด แถมพันแผลมาซะแน่นหนาเลย ไม่เพียงเท่านั้นยังใส่ปลอกคอกันเลียให้อีก ทำไมคุณหมอถึงไม่เชื่อเรื่องนี้ วันนี้เรามาหาคำตอบกันว่า สุนัขเลียแผลช่วยให้แผลหายได้...จริงหรือ ผ่านมุมมองของหมอหมากันนะครับ

       ในปี ค.ศ. 1990 Hart B.L. และ Powell K.L. แห่ง University of California ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษา คุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรียของน้ำลาย : บทบาทของการเลียของแม่สุนัขและการเลียแผลในสุนัข พบว่า น้ำลายของสุนัขมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียอย่างอ่อน โดยจำเพาะกับแบคทีเรียบางชนิด คือ  Streptococcus canis และ E. coli  แต่ฤทธิ์ที่ได้มีไม่มากและได้ผลไม่แน่นอน

Dogilike.com :: การรักษาตัวเองของสุนัข ตอน สุนัขเลียแผล

       มีการศึกษาถึงเรื่อง “การหายของแผลในช่องปาก” พบว่า แผลในช่องปากมักหายเร็วกว่าแผลที่บริเวณผิวหนัง จึงมีคนตั้งข้อสังเกตว่า น้ำลายอาจมีส่วนช่วยให้แผลหายได้ มีนักวิจัยของ University of Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบโปรตีนที่ชื่อว่า nerve growth factor (NGF) ในน้ำลายของหนู mice ซึ่งทำให้แผลที่ได้รับการเลียจะหายได้เร็วขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับแผลที่ไม่ได้รับการเลีย ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า น้ำลายสามารถช่วยให้แผลหายได้ในสัตว์บางสปีชีส์ แต่น่าเสียดายที่ NGF นี้ไม่พบในน้ำลายของคน นอกจากนี้นักวิจัยได้ทำการศึกษาองค์ประกอบในน้ำลาย จนพบว่าน้ำลายประกอบด้วย

       1. เอนไซม์ที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น lysozyme,  peroxidase, lactoferrin, defensins, cystatins และ antibody IgA ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียชนิด เช่น Streptococcus canis และ E. coli  ได้
       2. มี nitrates ที่จะเปลี่ยนไปเป็น nitric oxide ที่ผิวหนัง ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
       3. สารต้านเชื้อไวรัส ได้แก่ thrombospondin
       4. สารเร่งกระบวนการหายของแผล ได้แก่ พวก growth factor ต่างๆ เช่น NGF
       5. สารลดความเจ็บปวด คือ opiorphin 
       6. น้ำลายยังมีส่วนช่วยชะล้างสิ่งสกปรกที่แผลออกไปด้วย

Dogilike.com :: การรักษาตัวเองของสุนัข ตอน สุนัขเลียแผล

       ถึงตรงนี้แล้ว...จะเสียหายอะไร ถ้าจะปล่อยให้น้องหมาเลียแผล ช้าก่อน...ประสพ เหรียญมีสองด้านฉันใด น้ำลายน้องหมาก็ย่อมมีข้อเสียด้วยฉันนั้น เรามาดูสิว่าในน้ำลายยังมีอะไรอีกบ้าง

       ในน้ำลายของสุนัขยังมีเชื้อโรคอันตรายอื่นๆ อีก ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นที่บาดแผลได้ มีการศึกษาแยกชนิดแบคทีเรียในช่องปากของสุนัขพบว่ามี ดังนี้

Staphylococcus aureus, Pasteurella multocida, E. coli, Moraxella species, Pasteurella canis, Enterobacter cloacae, Eikenella species, Klebsiella species, Prevotella species, Fusobacterium species, Capnocytophaga species, Canimorsus species, Streptococcus species, Proteus species, Haemophilus  species, Porphyromonas species, Bacteroides species, Corynebacterium species และ Neisseria species...(เยอะจัง)

Dogilike.com :: การรักษาตัวเองของสุนัข ตอน สุนัขเลียแผล

       ซ้ำร้ายแบคทีเรียจำพวก Gram negative anaerobic bacteria ยังสามารถสร้างสาร endotoxins ไปทำลายเนื้อเยื่อ และอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด (septicemia) ตามมาได้ หากมีสุนัขอีกตัวมาเลียแผลให้ อาจมีการส่งต่อเชื้อโรคผ่านกันได้ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น และหากปล่อยให้เลียแผลมากๆ จะทำให้เกิดขนร่วง ผิวหนังแดง อักเสบ และน้ำลายยังทำให้เกิดรอยโรคขึ้นมาตรงบริเวณที่เลียได้ เรียกว่า lick granuloma ซ้ำร้ายหากปล่อยให้เลียไปเรื่อยๆ น้องหมาจะเริ่มสนุก หมั่นเขี้ยว อาจจะกัดแผล งับแผล จนทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ แผลเกิดความเสียหายมากขึ้นได้

       ถ้าน้ำลายของสุนัขสามารถฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคได้จริง เหตุใดน้องหมาก็ยังคงเป็นโรคในช่องปากไม่ต่างกับคน อันที่จริงช่องปากของน้องหมาค่อนข้างสกปรก ขนาดคนที่แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ยังมีกลิ่นปากจากคราบน้ำลาย เชื้อโรคและหินปูนได้ ไฉนเลยกับน้องหมาที่ไม่เคยได้แปรงฟัน ซ้ำบางตัวยังมีพฤติกรรมกินของที่สกปรก เช่น กินขยะ เล่นกับซากสัตว์ที่ตาย ฯลฯ แล้วแบบนี้จะไม่ทำให้น้ำลายของสุนัขอุดมไปด้วยเชื้อโรคได้อย่างไร

Dogilike.com :: การรักษาตัวเองของสุนัข ตอน สุนัขเลียแผล

lick granuloma

       มีรายงานผู้ติดเชื้อ Pasteurella dagmatis เข้าไขสันหลัง จากสุนัขที่เลียแผลที่เท้าของเขา (Dupuy O. et al., 2006) มีรายงานการติดเชื้อ Capnocytophaga canimorsus ในกระแสเลือดในหญิงชาวออสเตรเลียที่ถูกสุนัขเลียเท้าและนิ้ว จนต้องตัดขาและนิ้วทิ้งเนื่องจากเกิดเนื้อตาย (Low and Greenwood, 2008) มีรายงานทารกวัย 7 สัปดาห์ ติดเชื้อ Pasteurella spp. ที่เยื่อหุ้มสมอง จากการสัมผัสน้ำลายสุนัข (Wade T et al., 1999)

บทสรุป น้ำลายของสุนัขช่วยให้แผลหายได้...จริงหรือ?

       เมื่อทราบถึงความจริงของน้ำลายสุนัขเช่นนี้แล้ว และได้ชั่งน้ำหนักถึงผลดี-ผลเสีย ประกอบกับประสบการณ์จากการทำงานคลุกคลีรักษาสัตว์มา ผมก็พอจะสรุปได้ง่ายๆ เลยว่า "น้ำลายสุนัขไม่ได้ช่วยให้แผลหาย สุนัขจึงไม่ควรเลียแผล" เพราะแม้ว่าน้ำลายจะมีส่วนลดความเจ็บปวด ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และช่วยเร่งในกระบวนการหายของแผล แต่ก็มีฤทธิ์อย่างอ่อนและฆ่าเชื้อได้ไม่กี่ชนิดเท่านั้น ในทางกลับกันน้ำลายของสุนัขกลับมีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายอีกมากมายเสียยิ่งกว่า แผลที่ดีควรเป็นแผลที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรคครับ

จัดการอย่างไรกับแผล

       หากแผลที่เกิดเป็นรอยข่วน ถลอก ไม่ลึก เป็นแค่ชั้นผิวหนังด้านนอก สามารถทำแผลเองที่บ้านได้ โดยการล้างแผลด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด ฟอกด้วยแชมพูฆ่าเชื้อ เช่น คลอเฮกซิดีน หรือ เบตาดีน-สคับ จากนั้นซับให้แห้ง แล้วแต้มด้วยเบตาดีนหรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อส  เพื่อป้องกันไม่ให้แผลสกปรกและห้ามไม่ให้สุนัขเลียแผล หากแผลลึก เป็นโพรง มีหนอง ควรพาสุนัขไปพบหมอ ส่วนแผลมีเลือดออกมาก ควรทำการห้ามเลือดก่อน แล้วจึงพาสุนัขไปพบหมอครับ

Dogilike.com :: การรักษาตัวเองของสุนัข ตอน สุนัขเลียแผล

       ทุกเรื่องในโลกล้วนมีเหตุมีผลอยู่ในตัวของมัน ความรู้เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้เราตัดสินใจได้ว่า สุนัขไม่ควรเลียแผล ส่วนอนาคตจะมีข้อมูลอะไรมาสนับสนุนทำให้การตัดสินใจของเราเปลี่ยนไปหรือไม่...ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้น ณ. ตอนนี้หากสุนัขของเรามีแผล ก็อย่าปล่อยให้เค้าเลียแผล ควรใส่ปลอกคอกันเลียตามคำแนะนำของคุณหมอ ที่สำคัญอย่าให้สุนัขมาเลียแผลเราด้วยนะครับ

 

บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
http://family.dogilike.com/tonvet/

ที่มาของข้อมูล:
www.sciencedirect.com
http://en.wikipedia.org

รูปภาพประกอบ:
www.ehow.com
www.vetstreet.com
www.indianapublicmedia.org
www.anguishedrepose.com
www.gsdhelp.info