โดย: Tonvet

โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ

อ่านเพื่อให้รู้สูตรสำเร็จ หลักการพิชิตโรคพยาธิในเม็ดเลือดอย่างเบ็ดเสร็จ ว่าต้องทำยังไง

18 กรกฏาคม 2555 · · อ่าน (516,994)
3,783

SHARES


3,783 shares

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


       ช่วงฤดูฝนอย่างนี้ ปัญหาที่เจ้าของน้องหมาหลายคนคงหนีไม่พ้น ก็คือ ปัญหาเรื่องเห็บ แต่ที่เห็นจะร้ายกว่าเห็บก็คือ ภัยเงียบที่มากับเห็บเนี่ยะแหละครับ “โรคพยาธิในเม็ดเลือด” หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามเจ้าโรคนี้กันมาบ้างแล้ว

     โรคพยาธิในเม็ดเลือด เกิดจากการติดเชื้อของสัตว์เซลล์เดียวในเม็ดเลือด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโปรโตซัวและริคเก็ตเซีย ได้แก่ บาบิเซีย (Babesia sp.) เฮปปาโตซูน (Hepatozoon sp.) เออร์ลิเชีย (Ehrlichia sp.) อะนาพลาสมา (Anaplasma sp) และบาร์โทเนลล่า (Bartonella sp.) แต่ที่พบได้บ่อยในบ้านเราคือ 3 ตัวแรก

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


       ซึ่งชื่ออาจจะคล้ายกับโรคพยาธิหนอนหัวใจ แต่อย่าสับสนกันนะครับ เป็นคนละโรคกัน เพราะโรคพยาธิหนอนหัวใจติดจากยุงเป็นพาหะ ส่วนโรคพยาธิในเม็ดเลือดติดจากเห็บเป็นพาหะ เราเรียกรวมๆ กันว่า โรคที่ติดต่อจากเห็บ (Tick-borne diseases)

     สำหรับความชุกของโรคนี้ในบ้านเราถือว่าค่อนข้างสูงพบได้ทั้งปี ซึ่งส่วนตัวผมเองก็พบน้องมาที่ป่วยด้วยโรคนี้แวะเวียนเข้ามารักษาเป็นประจำแทบจะทุกเดือนก็ว่าได้ เพราะโรคนี้เป็นโรคที่พบในสุนัขทุกเพศ ทุกพันธุ์ และทุกวัยเลยครับ แถมยังส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้เป็นวงกว้าง นั่นจึงเป็นโอกาสที่สามารถทำให้น้องหมาอาจเสียชีวิตได้ หากไม่ได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ

      
     เรามาแยกทำความรู้จักกับเชื้อที่ทำให้เกิดเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือดไปทีละตัวกันนะครับ มาดูสิว่าเชื้อแต่ละตัว ก่อให้เกิดอาการกับน้องหมาได้อย่างไรบ้าง

     บาบิเซีย พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด แต่ที่พบในน้องหมาชื่อว่า Babesia canis, Babesia gobsoni ก่อให้เกิดโรค Babesiosis ติดจากการที่สุนัขถูกเห็บที่มีเชื้อกัดหรือติดจากการถ่ายเลือด ซึ่งตัวเชื้อจะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดแดง โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 10-21 วัน

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


       อาการที่พบ คือ น้องหมาจะมีไข้สูง ซึม ไม่อยากกินอาหาร ไม่อยากเคลื่อนไหว โลหิตจาง เยื่อเมือกซีดมาก อาจมีดีซ่านร่วมด้วย ปัสสาวะสีแดงเข้ม (สีโค้ก/โคล่า) ในรายที่เป็นรุนแรง

     เฮปปาโตซูน พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดเช่นกัน แต่ที่พบในน้องหมาชื่อว่า Hepatozoon canis, Hepatozoon americanum ก่อให้เกิดโรค Hepatozoonosis โดยน้องหมาจะติดเชื้อจากการที่กินตัวเห็บที่มีเชื้อเข้าไปหรือติดจากการถ่ายเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ เมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในลำไส้จะชอนไชทะลุผ่านผนังลำไส้ เข้าไปตามกระแสเลือดไปอยู่ตามต่อมน้ำเหลือง ม้าม ตับ ปอดและไขกระดูก และจะพบเชื้อได้ในเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


     อาการที่พบจะมีได้หลากหลาย เช่น ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เยื่อเมือกซีด โลหิตจาง มีไข้สูง มีน้ำมูก มีขี้ตา เป็นอัมพาตขาหลัง ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของน้องหมาด้วย ส่วนใหญ่ถ้าภูมิคุ้มกันดีจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่จะเป็นแบบเรื้อรังแทน เช่น เม็ดเลือดถูกทำลายมาก จนเกิดดีซ่าน ทำให้เยื่อเมือกมีสีเหลือง ส่วนน้องหมาที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีหรือน้องหมาเด็กจะแสดงอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
 
       เออร์ลิเชีย พบได้ในสุนัขและม้า แต่ที่พบในน้องหมามีชื่อว่า Ehrlichia canis ซึ่งก่อให้เกิดโรค Canine ehrlichiosis ติดจากการที่ถูกเห็บที่มีเชื้อกัดหรือติดจากการถ่ายเลือด ซึ่งเชื้อจะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิด monocyte และ neutrophil โดยมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 7-12 วัน 

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


      อาการที่พบ คือ ทำให้น้องหมามีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร โลหิตจาง มีขี้ตา มีน้ำมูก และมีเลือดกำเดาไหล เนื่องจากโรคนี้ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ พอเลือดไหลก็จะหยุดได้ยาก และอาจพบจุดเลือดออกบริเวณตาขาว เหงือกและผิวหนังได้ ในรายที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีจะแสดงอาการแบบเฉียบพลัน ส่วนรายทีมีภูมิคุ้มกันดีจะแบบอาการแบบเรื้อรัง (แสดงอาการใน 30-120 วัน) ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะมีแดงเข้ม (สีโค้ก/โคล่า) มีภาวะแทรกซ้อมตามมากมาย เช่น ภาวะไตวาย ไขกระดูกทำงานบกพร่อง ม้ามโต และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

     จะทราบได้อย่างไรว่าเป็น หากดูจากอาการเพียงอย่างเดียวอาจยังสรุปได้ยาก เนื่องจากมีอาการที่ไม่จำเพาะ ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยอาการซึม เบื่ออาหาร ดังนั้นการซักประวัติเพิ่มเติมโดยละเอียด ตลอดจนข้อมูลความชุกของเห็บบนตัวน้องหมาและในสิ่งแวดล้อมที่น้องหมาอยู่จึงมีส่วนสำคัญ แต่สิ่งที่ช่วยยืนยันได้ดีที่สุด คือ การตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการย้อมสีแผ่นสไลด์ของเลือดแล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ครับ

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


       แต่ในปัจจุบันคุณหมอก็มีเครื่องมือสำหรับใช้ตรวจยืนยันโรคนี้มากมาย เช่น การตรวจหาแอนติบอดี้ของเชื้อจากเลือด ซึ่งทำให้ทราบผลได้รวดเร็ว แต่วิธีนี้ก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า แอนติบอดี้ที่ตรวจพบนั้นเป็นผลมาจากการติดเชื้อจากในอดีตหรือไม่ อีกวิธีคือการตรวจด้วย PCR ซึ่งได้ผลแม่นยำ แต่ราคาค่อนข้างแพง

     สำหรับการรักษาก็จะแยกไปตามชนิดของเชื้อครับ หากน้องหมาป่วยด้วยเชื้อเออร์ลิเชียคุณหมอจะฉีดยาหรือจ่ายยาในกลุ่ม tetracycline ให้ป้อนกินติดต่อกันอย่างน้อย 21-28 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น หากมีภาวะโลหิตจางก็ต้องให้ยาบำรุงเลือดหรือถ่ายเลือดให้ เป็นต้น
 

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


       ส่วนกรณีที่ป่วยด้วยเชื้อบาบิเซียและเฮปปาโตซูน คุณหมอจะรักษาด้วยการฉีดยา เช่น กลุ่ม aromatic diamidine (Imidocarb) จำนวนสองครั้ง โดยฉีดห่างกัน 14 วัน แต่ยานี้เป็นสารเคมีซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ไอ น้ำลายไหล จึงจำเป็นต้องให้ร่วมกับในกลุ่ม anti-colinergic เพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว

     แต่ไม่ว่าจะติดเชื้อชนิดใดก็ตาม หลังจากการรักษา ก็ควรจะต้องมีการตรวจเลือดซ้ำ เพื่อประเมินสภาพไปเป็นระยะๆ ครับ ซึ่งโรคพยาธิในเม็ดเลือดนี้ บางเชื้อ เช่น เฮปาโตซูนอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อสามารถซ่อนตัวอยู่ในตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองได้ เมื่อสัตว์ที่เคยเป็นโรคนี้อ่อนแอลง ก็อาจจะกลับมาป่วยได้อีก

     และตราบใดที่ยังมีเห็บอยู่ในสภาพแวดล้อม น้องหมาก็พร้อมที่จะกลับติดเชื้อและป่วยได้ใหม่อีกครั้งเช่นกัน  ที่สำคัญ คือ ควรต้องป้อนยาให้ครบตามที่คุณหมอจัดให้ เพราะมีเจ้าของบางท่านที่มักจะหยุดป้อนยาเมื่อน้องหมามีอาการดีขี้น ซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพ และโรคอาจพัฒนาเป็นแบบเรื้อรังในที่สุด

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


สูตร การควบคุมป้องกันโรคพยาธิในเม็ดเลือด = การควบคุมป้องกันเห็บ

     สมการนี้เป็นสูตรสำเร็จที่เข้าใจได้ง่าย เพราะเห็บไม่มา หมาย่อมไม่ป่วย ซึ่งผมมักจะแนะนำเจ้าของให้กำจัดเห็บทั้งบนตัวน้องหมาและในสิ่งแวดล้อมที่น้องหมาอยู่ควบคู่กันไป เพราะหากไม่กำจัดตามสิ่งแวดล้อมแล้ว เห็บพวกนี้ก็จะกระโดดกลับมาอาศัยอยู่บนตัวน้องหมาได้ใหม่ไม่สิ้นสุด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดเห็บมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยาฉีด ยาหยอดหลัง ยาพ่น แชมพู สวมปลอกคอ ฯลฯ ให้เราได้เลือกใช้ แต่อย่างไรก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมี ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและน้องหมา หากใช้ไม่ถูกหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไป

Dogilike.com :: โรคพยาธิในเม็ดเลือด ภัยเงียบที่มากับเห็บ


       อันตรายที่ควรรู้...โรคพยาธิเม็ดเลือดบางเชื้อสามารถติดต่อสู่คนได้ คือ Ehrlichia sp. และ Anaplasma sp.  ผ่านทางการถูกเห็บสุนัขที่มีเชื้อกัดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะทำให้คนแสดงอาการต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ และปวดศีรษะ เรียกโรคนี้ในคนว่า "human granulocytic ehrlichiosis" 

       ท้ายนี้อยากเน้นย้ำว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่การไม่เห็นตัวเห็บเลย แล้วน้องหมาจะไม่ป่วย เพราะแค่เห็บเพียงตัวเดียวก็สามารถนำโรคมาสู่น้องหมาได้แล้วครับ อย่าลืมว่าเห็บมันกระโดดขึ้นๆ ลงๆ ไปมาได้ การป้องกันเห็บและหมั่นพาน้องหมาไปตรวจเลือดเป็นประจำอย่างน้อยๆ ปีละ 2 ครั้ง จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำอย่างสม่ำเสมอครับ




บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
รูปภาพประกอบ:
www.dogs.lovetoknow.com
www.doglawreporter.blogspot.com
www.tpvexperiences.blogspot.com
www.instruction.cvhs.okstate.edu
www.sciencedirect.com
www.scielo.br
www.theanswervet.com
www.moveoneinc.com
www.ticktalkireland.org
www.osuemed.wordpress.com