โดย: Tonvet

ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ

มาดูให้รู้กัน ว่ายาซึมควรใช้กับหมาดุได้หรือไม่ แล้วถ้าไม่ใช้ จะมีวิธีจัดการกับหมาดุได้อย่างไร

12 กันยายน 2555 · · อ่าน (66,312)
364

SHARES


364 shares

Dogilike.com :: ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ

 
       หมาดุกับมนุษย์อย่างเราเป็นไม้เบื่อไม้เมากันอยู่เสมอนะครับ บ้านไหนที่มีหมาดุก็คงจะทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้าได้ไม่น้อย ความดุหรือความก้าวร้าวจัดเป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบได้มากที่สุด และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้มากพอๆ กับการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บเลยทีเดียว 
 
      
       มีคำถามจากเจ้าของที่เลี้ยงสุนัขดุ ชอบถามอยู่เป็นประจำเกี่ยวกับการใช้ยาซึมกับหมาดุเพื่อลดความก้าวร้าว หรือใช้เพื่อที่จะได้พาไปหาหมอ ใช้ขณะที่อาบน้ำ-ตัดขน ใช้ขณะขนส่งย้ายที่ หรือแม้แต่ต้องการใช้เพื่อที่จะยุติการเห่าเสียงดังรบกวน ว่าแต่ ...“ยาซึม” ช่วยคุณได้จริงหรือ? 
      
       ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับยาซึมกันก่อน ยาซึมหรือยากล่อมประสาท (Sedative or Tranquilizer drugs) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ส่งผลให้สัตว์สงบหรือซึมลง และตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลง ในวงการแพทย์เราใช้ประโยชน์จากยาซึมมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นใช้ชักนำการสลบร่วมกับยาสลบ ใช้ในการตรวจและรักษาโรค ใช้ช่วยในการจับหรือบังคับสัตว์เพื่อลดความเครียด ใช้เพื่อป้องกันอันตรายทั้งคนและสัตว์เองจากการดิ้นรนต่อสู้ และใช้ในการดักจับและควบคุมขณะขนส่ง 

Dogilike.com :: ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ

       ในแง่ของการรักษาพฤติกรรมที่ผิดปกติก็มีการนำยามาใช้เช่นกัน ซึ่งเราจะใช้ใน 2 กรณี คือ กรณีเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรืออารมณ์เพียงชั่วคราว และกรณีที่ใช้เพื่อรักษาสัตว์ให้หายจากการแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ โดยเป็นการใช้ยาร่วมกับการรักษาโดยวิธีพฤติกรรมบำบัด และการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อลดสิ่งเร้า

1. กรณีใช้เพื่อการรักษาให้หายจากการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว
 
      
       ไม่มียาตัวใดในโลกที่ใช้รักษาได้ผลกับทุกกรณี ยาซึมก็เช่นกัน ยาซึมไม่สามารถใช้รักษาพฤติกรรมก้าวร้าวได้ทุกประเภท ความก้าวร้าวแต่ละประเภทมีวิธีการแก้ไขแตกต่างกันไป บางประเภทไม่จำเป็นต้องใช้ยาซึม ยกตัวอย่างเช่น
      
ความก้าวร้าวจากการเป็นแม่ในช่วงเลี้ยงลูกหรือช่วงเกิดภาวะท้องเทียม 
       แนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด คือ การทำหมัน แต่ในช่วงที่น้องหมาแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เราอาจจะใช้วิธีการเรียกให้ออกจากบริเวณรังคลอด ถ้าแม่หมายอมเดินออกมา เราอาจจะให้รางวัลหรือวางอาหารไว้ระยะห่างพอสมควรปล่อยให้ออกมากินเองโดยไม่รบกวน จากนั้นจึงค่อยลดระยะห่างลงทีละน้อย
      
ความก้าวร้าวจากการเล่น
       แนวทางแก้ไข คือ ให้หยุดทันทีที่น้องหมาเริ่มกัดเล่นที่มือ หรือเริ่มใช้เสียงขู่ ต้องสั่งให้หยุดและนั่งทันที พร้อมกับเปลี่ยนมาเป็นการสอนให้รู้คำสั่งแทน ไม่ควรตีเมื่อเห็นว่าเริ่มกัด หรือเห่า เพราะจะเสริมให้ความก้าวร้าวความรุนแรงมากขึ้น 

Dogilike.com :: ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ

       ส่วนความก้าวร้าวประเภทที่อาจจำเป็นต้องใช้ยาซึม เช่น ความก้าวร้าวจากความกลัว ความก้าวร้าวระหว่างสุนัขด้วยกัน เป็นต้น โดยต้องใช้ยาซึมร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น และร่วมกับยากลุ่มอื่นๆ เช่น ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors

2. กรณีใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรืออารมณ์เพียงชั่วคราว
 
      
       เป็นกรณีที่ใช้ยาซึมกันมาก บางคนมองว่าเป็นการจัดการที่ง่ายและสะดวก แต่หารู้ไม่ว่า ยากล่อมประสาทพวกนี้อาจไม่ได้ทำให้สุนัขหลับ บางตัวแค่ทรงตัวไม่อยู่ เคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ยังคงรับรู้ต่อสิ่งเร้าอยู่ (สัตว์แค่รับรู้ต่อสิ่งเร้าลดลงเท่านั้น) บางรายจะเรียนรู้และทำให้เกิดปัญหารุนแรงขึ้นได้ในอนาคต
     
       โดยเฉพาะกับยาซึมรูปแบบกิน ซึ่งได้ผลไม่แน่นอน บางรายตอบสนองดี แต่บางรายให้เท่าไหร่ก็ไม่ตอบสนอง อีกทั้งการควบคุมระยะเวลาและระดับความลึกค่อนข้างยาก ในช่วงที่ยากำลังออกฤทธิ์ หากไปยุ่มย่ามรบกวน จะทำให้สัตว์ตื่นเต้นและตกใจกลัว แทนที่สัตว์จะซึมอาจกลายเป็นได้ผลตรงกันข้ามได้ 
      
       หากจำเป็นต้องใช้ จะให้ยาซึมในรูปแบบฉีดซึ่งเหมาะสมกว่า ให้ในเฉพาะกรณีเพื่อการจับบังคับและการขนย้ายสัตว์ โดยจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายกับสัตว์ที่จับบังคับยาก หรือพยายามใช้วิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล และไม่ควรใช้ในสถานที่ที่อาจทำให้สัตว์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย เช่น แหล่งชุมชน ข้างถนน โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ตลอดเวลา 

Dogilike.com :: ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ

      
       ถึงตรงนี้คงมีคำถามว่าแล้วเราจะจัดการกับหมาดุในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างไร วันนี้ มุมหมอหมา มีแนวคิดและวิธีการจัดการกับหมาดุมาฝากครับ 

1. กรณีการจับบังคับหมาดุ
 
      
       การจับบังคับสัตว์สิ่งที่ต้องคำนึง คือ ความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์ ควรใช้เทคนิคที่นุ่มนวล เงียบและสงบ เราควรประเมินตัวน้องหมาและสภาพแวดล้อมก่อน เพื่อเลือกใช้อุปกรณ์และวิธีการจับที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการจ้องตา และเข้าหาน้องหมาด้วยท่าทางเป็นมิตร ไม่ทำให้สัตว์ตื่นเต้น ตกใจ อาจให้อีกคนหนึ่งใช้อาหารล่อ ส่วนอีกคนอ้อมเข้าจับ หากน้องหมาวิ่งหนี เราห้ามวิ่งไล่ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายกับน้องหมาได้ และจะยากในการจับในครั้งต่อไป 
      
       การจับบังคับจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ เช่น เชือกคล้องปาก ที่ครอบปาก ซึ่งเหมาะกับน้องหมาที่ยอมให้เจ้าของหรือคนที่คุ้นเคยสวมให้ ซึ่งมีหลายรูปแบบสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับรูปหน้าของน้องหมาและสถานการณ์ต่างๆ ตาข่ายลึกแบบมีด้ามจับ เหมาะกับน้องหมาที่ไม่คุ้นเคยกับคน ผู้ใช้สามารถบิดตาข่ายเพื่อทำให้อยู่นิ่งได้ แหแบบขอบถ่วงน้ำหนัก เหมาะกับน้องหมาที่ไม่ทันได้รู้ตัว กรงดัก เป็นกรงพิเศษที่ทำขึ้นคล้ายกรงดักหนูแต่มีขนาดใหญ่กว่า โดยใช้อาหารล่อ เหมาะกับน้องหมาที่หลบหลีกเก่ง ฯลฯ เป็นต้น การใช้ยาซึมจะเป็นทางเลือกสุดท้าย

Dogilike.com :: ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ


2. กรณีการพาหมาดุมาหาคุณหมอ 
 
      
       ก่อนอื่นควรโทรศัพท์แจ้งข้อมูลสัตว์ ประวัติการป่วย กับทางคุณหมอก่อน เพื่อที่คุณหมอได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ไว้ก่อน หากเป็นสถานการณ์ที่ไม่เร่งรีบ อาจนัดเวลากับคุณหมอก่อนพามา เวลาที่เหมาะสมในการพาหมาดุมาหาคุณหมอ คือ เวลาช่วงเช้าหรือช่วงเวลาที่คนมาใช้บริการไม่มาก เพราะจะช่วยลดสิ่งเร้าที่มากระตุ้นทำให้น้องหมาเครียดได้ ในการนำหมาดุมา เจ้าของควรมาด้วยอย่างน้อย 2 คน เพื่อที่หนึ่งคนจะได้ทำการกรอกข้อมูลหรือให้ประวัติ ส่วนอีกคนจะเป็นคนที่อยู่กับน้องหมา น้องหมาดุควรถูกสวมที่ครอบปากหรือใส่ปลอกคอกันเลีย พร้อมกับคล้องสายจูงมาก่อนด้วย
      
       เมื่อมาถึงให้รออยู่ด้านนอกก่อน ซึ่งอาจจะเป็นหน้าคลินิก ลานจอดรถ หรือบริเวณที่เงียบสงบ โดยให้เจ้าของอีกคนเข้าไปให้ข้อมูลกับคุณหมอก่อน เมื่อถึงเวลาเข้าตรวจจึงค่อยพาน้องหมาเข้าไป น้องหมาจะได้เครียดน้อยที่สุด ในห้องตรวจผู้ช่วยสัตวแพทย์จะเป็นผู้ที่จับบังคับน้องหมา เจ้าของอาจช่วยจับในกรณีที่น้องหมาตัวใหญ่แรงเยอะ เทคนิคการจับบังคับมีมากมายหลายวิธีตามรูป (ข้างล่าง) แต่บางกรณีอาจต้องให้เจ้าของออกไปรอข้างนอกก่อน เพื่อไม่ให้น้องหมาเห็นเจ้าของ จะได้ยอมให้คุณหมอตรวจและทำการรักษาได้ง่ายขึ้น
      
       บางคนแนะนำให้งดอาหารมาก่อนเพื่อที่จะได้ลดพลังงาน แล้วค่อยให้เป็นรางวัลหลังจากที่พบคุณหมอแล้ว จะได้เป็นการสอนและปรับพฤติกรรมไปในตัว การให้ยาซึมในการจับบังคับจะให้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนใหญ่คุณหมอจะให้ในกรณีเพื่อการตรวจและการรักษาบางอย่าง เช่น การตรวจช่องปาก การถ่ายภาพรังสี การสวนท่อปัสสาวะ ฯลฯ เป็นต้น 

Dogilike.com :: ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ

 
3. กรณีการอาบน้ำ-ตัดขนหมาดุ
 
      
       การอาบน้ำ ตัดขน ตัดเล็บ เช็ดหูนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นสิ่งแรก คือ ความสามารถของช่าง ช่างมืออาชีพจะไม่กลัวหมาดุ เพราะเค้ารู้วิธีการจัดการกับหมาดุ เช่น การพูดจาปลอบประโลมน้องหมาให้คลายการวิตกกังวล แยกน้องหมาออกจากเจ้าของ เมื่อน้องหมาไม่เห็นเจ้านายที่คอยปกป้อง บางตัวจะกลัวและยอมให้ช่างทำงานได้
      
       การใช้ยาซึมอาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ขณะอาบน้ำร่างกายจะเย็นลง อาจทำให้น้องหมาช็อกเนื่องจากอุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงได้ อีกทั้งการมัดหรือครอบปากจะส่งผลการระบายความร้อนของร่างกายเสียไป (สุนัขระบายความร้อนผ่านการหอบและหายใจ) ในขณะที่ช่างเป่าขนให้แห้งด้วยลมร้อนจะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น น้องหมาอาจเกิดภาวะ Heat strokeได้ ถ้าช่างคนไหนบังคับสัตว์ไม่ได้ก็ควรปฏิเสธไปเลย เพื่อความปลอดภัยของน้องหมาและตัวของช่างเอง

Dogilike.com :: ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ

 
4. กรณีการขนย้ายหมาดุ (รวมทั้งน้องหมาที่ตื่นกลัว)
 
      
       หลังจากจับหมาดุได้แล้วขั้นตอนต่อมา คือ การขนย้าย อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด คือ กรงและยานพาหนะ สำหรับกรงควรเลือกให้มีขนาดเหมาะสม แข็งแรง เบา และมีที่ล็อคมั่นคงแข็งแรงป้องกันการหลุดหนี ยานพาหนะควรมีระบบระบายอากาศที่ดี มีที่กันแดด กันลม กันฝน สะอาดและปลอดภัย ก่อนการขนย้ายควรงดอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เพื่อป้องการการคลื่นไส้ เนื่องจากเมารถ ในระหว่างการขนย้ายควรขับรถด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ ไม่เบรกหรือเลี้ยวกะทันหัน คำนวณระยะทางให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติด ใช้เวลาในการเดินทางให้น้อยที่สุด
      
       ถ้าเป็นไปได้ก่อนออกเดินทางวัน 1-2 วันควรพาไปให้คุณหมอตรวจสุขภาพก่อน ถ้ากลัวจะเกิดอาการเมารถ อาจขอให้คุณหมอจ่ายยาแก้เมารถ (แก้แพ้) ได้แก่  diphenhydramine มาเตรียมไว้ก่อนก็ได้ ขณะอยู่บนรถ การให้น้องหมาได้มองออกไปนอกหน้าต่าง สามารถช่วยป้องกันการเมารถได้ สำหรับน้องหมาที่ตื่นกลัวการฝึกการนั่งรถบ่อยๆ จะช่วยให้คุ้นชินและลดการตื่นกลัวลงได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาซึม

Dogilike.com :: ยาซึมกับหมาดุ จำเป็นจริงหรือ

       เห็นแล้วใช่หรือไม่ครับเพื่อนๆ ว่ายาซึมไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่เราจะใช้จัดการกับหมาดุ ยังมีวิธีการอีกมากมายที่เราสามารถเลือกใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ "เพราะยาไม่ใช่ของวิเศษที่จะดลบันดาลอะไรได้ตามที่ใจเราต้องการ ที่สำคัญมันไม่ใช่ขนมที่นึกจะหยิบมากิน ก็กินกันได้ง่ายๆ"  

       โดยเฉพาะกับยาซึม ซึ่งมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายค่อนข้างสูงต่อการทำงานของระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด และการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ในระยะสั้นหากใช้ไม่ถูกต้องอาจทำให้สัตว์ถึงกับเสียชีวิตได้ ในระยะยาวหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หรืออาจทำให้เกิดอาการทางประสาทอื่นๆ ได้

       ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาซึมจำเป็นต้องมีความรู้และมีประสบการณ์ในการใช้ยานี้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือยาซึมเป็นยาที่มีกฎหมายควบคุม หากใช้โดยฝ่าฝืนกฎหมายก็จะถูกลงโทษได้





บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์


รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 1,5 และ 6 โดย Dogilike.com
รูปภาพที่ 2-4,7,8 จาก
www.widescreenwallpapers.org
www.stejskal-lex.com
www.examiner.com
www.labanimals.awionline.org
www.doggroomingsite.net
www.petautosafetyblog.com